- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 22 October 2019 16:47
- Hits: 1932
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562
ปัจจัยแวดล้อมในเชิงพื้นฐานเช้านี้ ไม่มีประเด็นใดที่มีน้ำหนักมากพอสำหรับการขับเคลื่อนให้ SET Index เคลื่อนไหวไปในทิศทางใดที่ชัดเจน ทั้งนี้ประเด็นที่อยู่ในความสนใจเป็นเรื่องของภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และความคาดหวังว่าจะเห็นมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ Top Picks เลือก CPN (FV@B 92) ซึ่งมีแรงหนุนจากแผนการขายสินทรัพย์เข้า REIT และ CK (FV@B 34) ซึ่งมีแรงหนุนจากการเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
SET Index 1,620.78
เปลี่ยนแปลง (จุด) -10.65
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 40,965
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยโดนกดดันจากปัจจัยลบภายนอกประเทศที่ยังมีอยู่ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และ Brexit ส่วนในประเทศยังเน้นไปที่การเก็งผลประกอบการไตรมาส 3 จนทำให้ตลาดทยอยปรับตัวลงตลอดวันและสุดท้ายปิดที่ระดับ 1620.78 จุด ลดลง 10.65 จุด (-0.65%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 4.09 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานที่กดดันเกือบ 3 จุดเช่น EA(-3.02%) GPSC(-0.57%) PTT(-0.56%) PTTEP(-0.85%) กลุ่มค้าปลีกที่กดดันเกือบ 2 จุดเช่น CPALL(-1.21%) HMPRO(-3.57%) DOHOME(-3.31%) และกลุ่มธ.พ.ที่กดดันเกิน 1.5 จุดเช่น SCB(-3.00%) KBANK(-1.96%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวเช่น AWC(-6.11%) และ BH(-5.28%) เป็นต้น
ภาพรวมปัจจัยในต่างประเทศเช้านี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงถึงระดับที่จะมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index แต่ที่น่าสนใจน่าจะเป็นภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังปรากฎสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ย.62 ยังคงติดลบอยู่ที่ 1.4% YoY และส่งผลทำให้ยอดรวมงวด 9M62 ติดลบ 2.1% ขณะที่ในช่วงเวลาที่เหลือคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องโดยส่วนหนึ่งเป็นแรงกดดันที่มาจากสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินว่าภาพรวมของปี 2562 ยอดการส่งออกน่าจะติดลบ 3% สำหรับแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจไทย แม้จะเห็นพัฒนาการเชิงบวกของ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ และการเตรียมลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2562 ยังไม่น่าจะเห็นเม็ดเงินจากทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ดูเหมือนว่าเครื่องมือที่จะต้องถูกนำมาใข้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะถูกพุ่งเป้าไปสู่การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และน่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีก และท่องเที่ยวฯ นอกจากนี้ในเชิงนโยบายก็เชื่อว่า มีคววามเป็นไปได้มากขึ้นตามลำดับ ที่จะเห็นการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.5% มาสู่ระดับ 1.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง ของ กนง. ในช่วงปี 2562 ซึ่งทิศทางดังกล่าวถือเป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้น โดยน่าจะทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินลงทุนให้กลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นในโอกาสต่อไป สำหรับหุ้น Top Picks วันนี้ ฝ่ายวิจัยเลือก 2 บริษัทได้แก่ CK และ CPN
ส่งออก 9M62 หดตัวเฉลี่ย 2.1%
ยอดส่งออกไทย(X) ในรูปดอลลาร์อยู่ที่ 2.04 หมื่นล้านเหรียญฯ หดตัว 1.4%yoy ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน, เงินบาทที่แข็งค่า, ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าสำคัญซึ่งมีสัดส่วนสูงในเดือนนี้หลักๆยังหดตัว(-) อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบหดตัวแรง 12.3%yoy, เม็ดพลาสติกหดตัว 11.9%, เคมีภัณฑ์หดตัว 12% เป็นต้น
ขณะที่สินค้าที่ขยายตัวได้ดีและมีแนวโน้มขยายตัวต่อ(+) คือ หมวดเกษตร (แต่สัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด) อาทิ เครื่องดื่ม 14.6%yoy, ไก่สดแช่แข็ง และไก่แปรรูป 12.1% จากโรคอหิวาต์สุกรทำให้คนหันมาบริโภคไก่ เป็นต้น, หมวดอุตสหกรรม คือ เครื่องปรับอากาศ และอัญมณี และทองคำยอดส่งออกขยายตัวสูงที่ 110% จากราคาทองที่ทรงตัวในระดับสูง ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากหักทองคำออก การส่งออกเดือน ก.ย. จะหดตัว 2.8% ส่วนตลาดส่งออกสำคัญยังหดตัว คือ อาเซียนราว 25% ของตลาดส่งออกรวม หดตัว 6.7%, ยุโรปหดตัว 8.2% ขณะที่จีน เดือนนี้พลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง 6.1% ละสหรัฐ ตลาดอันดับ 1 ยังขยายตัว 7.8% เพราะสินค้าไทยบางส่วนสามารถทดแทนสินค้าจากจีนได้
โดยรวมยอดส่งออกเฉลี่ย 9M62 หดตัว 2.1% และแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คืองวด 4Q62 (ต.ค-ธ.ค.62) ASPS เชื่อว่าจะยังหดตัวในต่อจากฐานที่สูงในปี 2561 ทั้งนี้หาก
1.) ให้ยอดส่งออก ต.ค.-ธ.ค.62 เท่ากับเดือน ก.ย.ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญ จะทำให้ส่งออกทั้งปี 62 (–2%)
2.) ให้ยอดส่งออกในเดือน ต.ค.-พ.ย.62 เท่ากับ เดือน ก.ย.ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญ แต่เดือน ธ.ค.62 สมมติให้ใกล้เคียง เดือน ธ.ค.61(เนื่องจากเดือน ธ.ค.ของทุกปี ยอดส่งออกจะต่ำเป็นปกติ) จะทำให้ทั้งปี 2562 ส่งออก (–2.5%) VS. สมมุติฐานที่ ASPS คาดส่งออกหดตัว 3% ในปี 2562 โดยรวมทำสมมติฐานเดิมเป็นไปได้
ขณะที่นำเข้า(M) ในเดือนเดียวกัน อยู่ที่ 1.92 หมื่นล้านเหรียญฯ หดตัว 4.2% (9M62 หดตัว 3.7%) หลักๆ ชะลอจาก หมวดเชื้อเพลิง -20.1% หมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป -5.4% โดยรวมส่งออกลดลง แต่นำเข้าลดลงมากกว่าทำให้เดือนนี้เกินดุลการค้า 1.27 พันล้านเหรียญ เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา
เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำให้คาดหวังลดดอกเบี้ยฯ กระตุ้น...
ASPS ยังคงคาดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(GDP Growth) ทั้งปี 2562 ที่ 2.7%yoy ชะลอจาก 4.1%ในปี 2561 ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรก(1H62) GDP Growth ขยายตัวเฉลี่ย 2.6% ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดงวด 3Q61 ชะลอตัวลงเล็กน้อย และจะฟื้นตัวในงวด 4Q662 หากพิจารณาจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ แต่ละตัว อาทิ คือ C, I, G, X และ M ดังนี้
การบริโภคครัวเรือน(C) ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ชะลอ เห็นได้จากการจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว และหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุด อยู่ที่ 12.97 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 78.7%ของ GDP แต่ได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ที่เริ่มตั้งแต่ เดือน ก.ย.-ธ.ค.62 อาทิ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย, ชิมช็อปใช้เฟส 1&2 ประกันราคาสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และยาง เป็นต้น
การลงทุน(I) เริ่มเห็นกระแสเริ่มจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการ 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่ม CP เป็นผู้ชนะการประมูล และมีกำหนดจะลงนามเซ็นสัญญาในวันที่ 24 ต.ค. 2562 นี้ (เลื่อนเร็วขึ้นจากวันที่ 25 ต.ค. 2562) แต่ยังไม่น่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในปี 2562
การใช้จ่ายภาครัฐ(G) หลังจากสภาผู้แทนราษฎร์ลงมติผ่าน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายละเอียดและแปรญัตติ ซึ่งคาดว่าร่าง พ.ร.บ. จะพร้อมเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงเดือน ม.ค. 2563 หากการพิจารณาเป็นไปตามกระบวนการข้างต้น คาดว่าจะทำให้งบประมาณปี 2563 สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 ตามกำหนดการ
ภาคการค้าระหว่างประเทศ (X&M) ที่ชะลอดังกล่าวข้างต้น
โดยภาพรวม GDP Growth ปี 2562 เชื่อว่าไม่น่าจะหลุดกรอบ 2.7-2.8% ปัจจัยสำคัญอยู่ที่สมมติฐานส่งออกเป็นหลักดังกล่าว โดยเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าดังกล่าว ทำให้ ASPS ยังคงมุมมองเดิม คือต้องหวังพึ่งมาตรการทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม คือ คาดหวัง กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง คือ 6 พ.ย. และ 18 ธ.ค. โดยให้น้ำหนักรอบ พ.ย.มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยฯลง
เข้าสู่ช่วง Earnings Season 3Q62 เลือกลงทุนหุ้น 2C คือ CK, CPN
บริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศผลประกอบการงวด 3Q62 เริ่มจากกลุ่ม ธ.พ. โดยกำไรของทั้ง 10 บริษัทที่ฝ่ายวิจัยฯ ทำการศึกษา เท่ากับ 5.59 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.8%QoQ และ 1.8%YoY ซึ่งได้แรงหนุนจากรายการพิเศษเป็นหลัก เช่น SCB มีกำไรสุทธิสูงสุดในกลุ่มฯอยู่ที่ 1.48 หมื่นล้านบาท เติบโต 35%QoQ และ 41%YoY แต่เป็นกำไรจากการขาย SCBLife ราว 1.16 หมื่นล้านบาท และ TCAP มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.47 พันล้านบาท เติบโต 30%QoQ และ 32%YoY แต่เป็นกําไรจากการขายสินทรัพย์รอการขายเท่ากับ 483 ล้านบาท เพิ่มจาก 206 ล้านบาทในงวด 2Q62 ส่วนธุรกิจหลักเติบโตตามสถานการณ์สินเชื่อที่เติบโตเล็กน้อย เป็นต้น
ขณะเดียวกันภาพรวมสินเชื่อสุทธิ ณ 30 ก.ย. 62 ของกลุ่มธนาคารฯ เติบโต 1% qoq หากเทียบ YTD บวกราว 4% อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีหลายปัจจัยเสี่ยง ทำให้มูลหนี้ NPL เร่งตัวราว 4% จากสิ้นงวดก่อน ส่งผลให้สัดส่วน NPL ณ 30 ก.ย. 62 เทียบสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 3.26% เทียบกับ 3.20% สิ้นงวด 2Q62 โดยทำให้รวม Coverage ratio สิ้น 3Q62 ลงมาที่ 149% จาก 153% ณ สิ้นงวดก่อน
กำไรสุทธิงวด 3Q62 กลุ่มธ.พ. 10 บริษัทที่ฝ่ายวิจัยศึกษา
ภาวะการเร่งตัวของ NPL ตามสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับยังมีความเสี่ยงจากการที่ กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของการประชุมในปีนี้ โดยทุกๆ ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง 0.25% จะกระทบต่อกำไรกลุ่มฯ ราว 3.8% จึงให้ยังคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ น้อยกว่าตลาดฯ สำหรับตัวเลือกการลงทุนแนะนำ BBL(FV@B 217) คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยงวด 4Q62 เข้าสู่ฤดูกาลสินเชื่อธุรกิจ ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาปรับฐานไปพอสมควร พร้อมคาดหวัง Div Yield สูง 5% ต่อปี
ส่วนการรายงานงบฯ ของกลุ่ม Real sector คาด DELTA, HMPRO, SCC ประกาศในวันที่ 28 ต.ค. ตามด้วย PTTEP THCOM (30 ต.ค.) และ ADVANC (31 ต.ค.)ฝ่ายวิจัยฯ ทำการรวบรวมคาดการณ์ผลประกอบการงวด 3Q62 ได้ผลสรุปดังนี้
เบื้องต้นฝ่ายวิจัย ASPS ยังคงประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งปี 2562 อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงวดไตรมาส( 3Q62 และ 4Q62) ไตรมาสละ 2.59 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามผลกระทบของปัญหาสงครามการค้า ทำให้ความต้องการบริโภคในสินค้าโภคภัณฑ์และราคาปิโตรเลียมปรับตัวลดลง ต่ำกว่าสมมติฐานปี 2562 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล อีกทั้งโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทบต่อกำไรกลุ่ม ธ.พ. ดังที่กล่าวข้างต้น โดยรวมยังเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการกำไร
กลยุทธ์ในช่วงนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับหุ้นปันผลสูง และหุ้น Domestic ราคา Laggard เป็นหลักฯ โดยมีรายชื่อหุ้นที่ฝ่ายวิจัยคัดกรองว่าน่าลงทุนในช่วงนี้ ดังตารางด้านล่าง
Top picks เลือก CK (FV@B 34) และเพิ่ม CPN (FV@B 92.00) เป็นหุ้น Domestic ราคา Laggard และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
CK (FV@B 34) นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ราคาหุ้นยัง laggard ตลาดฯมาก อีกทั้งยังได้กระแสเชิงบวกจากร่าง พ.ร.บ งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 และที่สำคัญปัจจุบันยังคาดหมายได้ถึงกระแสเชิงบวกจากกลุ่ม CP เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในวันที่ 24 ต.ค. นี้ หนุน backlog ให้ CK แตะ 1 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากบริษัทย่อย 3 แห่ง (TTW, CKP, BEM) เข้ามาเสริมผลประกอบการในช่วงที่เหลือปีอีกแรง
CPN(FV@B 92.0) ราคาหุ้น CPN ปรับตัวลดลงมากว่า 14.4%ytd ยัง laggard SET Index เพิ่มขึ้น 3.6%ytd นอกจากนี้ CPN ยังมีประเด็นบวกเฉพาะตัวหนุน จากการมีมติจำหน่ายสิทธิการเช่า 5 ศูนย์การค้า มูลค่าไม่เกิน 4.86 หมื่นล้านบาท ให้แก่ CPNREIT โดยการบันทึกกำไรขายสินทรัพย์จะเกิดขึ้นทันทีในงวด 3Q62 จากโครงการ มารีนาและลำปาง ราว 1.3-1.6 พันล้านบาท ส่วนโครงการอื่นๆ จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่า โดยภาพรวมช่วยหนุนกำไร CPN และยังสามารถนำกระแสเงินสดไปลงทุนต่อยอดโครงการใหม่ รวมถึงลดเงินกู้ได้ ปัจจุบันราคาหุ้นมี Upside เปิดกว้างกว่า 43.75% จึงเป็นโอกาสในเข้าการลงทุน
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ