- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 18 October 2019 14:32
- Hits: 3253
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562
ประเมินปัจจัยแวดล้อมเช้านี้ ไม่มีประเด็นที่จะช่วยหนุนราคาหุ้น โดยต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนทั้งสงครามการค้า และ Brexit ส่วนในประเทศรอดูการโหวตวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ คาด SET Index วันนี้ผันผวนต่อเนื่อง กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วนหุ้น Top Picks เลือก 3 หุ้นที่มีปัจจัยบวกรอข้างหน้า ได้แก่ WORK (FV@B 29), MCS (FV@B 11.30) และ CK (FV@B 34)
SET Index 1,632.80
เปลี่ยนแปลง (จุด) -1.66
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 60,883
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนตลอดวัน สะท้อนจากปัจจัยลบของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัว รวมถึงอุปสรรคจากปัจจัยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน แต่อาจมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนสุดท้ายปิดลบเล็กน้อยที่ระดับ 1632.80 จุด ลดลง 1.66 จุด (-0.10%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 6.08 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มปิโตรเคมีได้แก่ IVL(-8.53%) PTTGC(-1.49%) กลุ่มพลังงานเช่น PTT(-1.67%) PTTEP(-1.68%) TOP(-1.82%) แต่ได้แรงพยุงจากหุ้นกลุ่มอสังหาฯเช่น AWC(+5.43%) CPN(+1.97%) FPT(+0.55%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวเช่น CBG(+5.64%) CPALL(+0.92%) TRUE(+2.91%) เป็นต้น
ปัจจัยแวดล้อมในต่างประเทศ ยังวนอยู่ใน 2 เรื่องหลักคือ สงครามการค้า (สหรัฐฯ-จีน) ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดกลับมาอยู่ภายใต้ความกังวลว่า การบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการที่ชะลอการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามบัญชีในการตั้งกำแพงภาษี 3 รอบแรกจาก 25% เป็น 30% อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะไม่เห็นผลในทางปฎิบัติ ส่วนอีกเรื่องเป็น Brexit ซึ่งแม้ UK จะได้บรรลุข้อตกลงกับ EU แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่ UK ต้องนำข้อตกลงดังกล่าวไปขอความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งก็ยังมีโอกาสไม่ผ่านอยู่ ดังนั้นทั้ง 2 เรื่อง ก็ยังจะมีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยต่อไป ส่วนปัจจัยในประเทศ ความสนใจอยู่ที่การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2563 ซึ่งอยู่ในการพิจารณาวาระที 1 ของสภาผุ้แทนราษฎร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการโหวตกันในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยเชื่อว่ามีโอกาสผ่านความเห็นชอบแม้คะแนนเสียงสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลจะปริ่มน้ำก็ตาม ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทจดทะเบียน ได้แก่เรื่องของวิธีการบัญชีสำหรับ Perpetual Bond ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนจากเดิมที่บันทึกอยู่ในส่วนของทุน มาเป็นการบันทึกเป็นภาระหนี้สิน ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างการเงิน โดยทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ปรับสูงขึ้น และอาจมีผลต่อเนื่องไปยังภาระผูกพันที่บริษัทต้องรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ไว้ให้ไม่เกินเกณฑ์ที่ตกลงกับเจ้างหนี้รายอื่นๆ ไว้ได้ และสุดท้ายน่าจะทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนปรับโครงสร้างการเงินใหม่ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นของแต่ละบริษัทได้ สำหรับภาพรวมของ SET Index วันนี้คาดว่าจะยังผันผวนในช่วง 1620 – 1640 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน Top Picks ยังคงเป็น CK , MCS และ WORK ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าล้วนเป็นหุ้นที่มีปัจจัยบวกรออยู่ข้างหน้า
สหรัฐ เดินหน้าขึ้นภาษียุโรป และ จีนรายงาน GDP Growth เช้านี้
วันนี้ครบกำหนดสหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป (EU) วงเงินราว 7.5 พันล้านเหรียญ เช่น อากาศยาน (อัตรา 10%), สินค้าเกษตร เช่น ไวน์ฝรั่งเศส, ชีสอิตาลี, วิสกี้ นม, ชีส, กาแฟ (อัตรา 25%) เป็นต้น ขณะไทย ดังที่เคยนำเสนอ ใน Market Talk ฉบับวันที่ 2 ก.ค. คาดผลกระทบจำกัด แม้ไทยมีการค้าขายยุโรปราว 9.5% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดทั่วโลก แต่สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกสินค้าไปยุโรปหลักๆ คือ คอมพิวเตอร์ราว 12.6% รองลงมายานยนต์ 7.2% ซึ่งไม่ใช่สินค้าสหรัฐเก็บภาษียุโรป
ส่วนเช้าวันนี้จีนจะมีรายงาน GDP Growth งวด 3Q62 ตลาดคาดขยายตัว 6.1%yoy ชะลอลงจาก 6.2% ในงวด 2Q62 (IMF คาดทั้งปี 2562 ขยายตัว 6.1% และชะลอ 5.8% ในปี 2563) ตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังยืดเยื้อ ล่าสุด ฝั่งจีนเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนที่เคยขึ้นไปในรอบที่ผ่านมาก่อน จีนถึงจะยอมเซ็นสัญญาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐเฟสที่ 1 จากเดิมกำหนดจะเซ็นกลางเดือน พ.ย. โดยรวม ASPS ยังคงมุมมองเดิมคือ คาดว่า สงครามการค้าจะมีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนกว่าจะถึงช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปี 2563 โดยระหว่างนี้ Pattern ของวัฎจักรสงครามการค้าจะเกิดวนเวียนซ้ำๆ โดยเป็นรูปแบบผ่อนคลาย-ตึงเครียด สลับกันไปเรื่อยๆ คล้ายอดีต
Brexit เสาร์นี้รู้ผล จะออก 31ต.ค.62 หรือเลื่อนไป 31ม.ค.63
ดังที่ ASPS นำเสนอใน Market talk เมื่อวานนี้ถึงประเด็น Brexit มีความคืบหน้าคือ ระหว่าง17-18 ต.ค. การประชุมประเทศยุโรปผู้นำ 27 ประเทศ (EU Summit) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เผยต่อสื่อพร้อมกัน คือ EU ได้ผ่านร่าง Brexit ฉบับใหม่ ของอังกฤษที่เสนอมาแล้ว ใจความสำคัญของร่าง Brexit ฉบับใหม่ หลักๆ คือ
1.) อังกฤษยอมเสียภาษีส่งออกสินค้า จากเดิมไม่ได้เสียภาษี
2.) ปัญหาเกาะไอร์แลนด์ คือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ฝั่งตอนล่าง (อยู่ภายใต้ EU อยู่แล้ว) และไอร์แลนด์เหนือ (ของอังกฤษ) คือ ยังให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบศุลกากรของอังกฤษเหมือนเดิม แต่ให้เป็นพื้นที่การดูแลภายใต้ยุโรป แต่กำหนดให้ต้องผ่านการโหวตของชาวไอร์แลนด์เหนือทุก 4 ปี
ขั้นตอนถัดไปหลังจากนี้ คือ ร่าง Brexit ใหม่ดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นสหภาพยุโรปและรัฐสภาในอังกฤษก่อนภายในวันเสาร์ 19 ต.ค. หลังจากนั้นอังกฤษถึงจะออกจาก EU วันที่ 31ต.ค.62 ได้
แต่หากไม่ผ่านจะทำให้อังกฤษต้องขอสหภาพยุโรป ให้เลื่อนวันถอนตัว (Brexit Day) ออกไปเป็น 31 ม.ค. 2563 ซึ่ง ASPS คาดว่าจะเป็นการซื้อเวลาต่อไป เพราะในท้ายที่สุด อังกฤษยังต้องออกจากยุโรป ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดน่าจะรับรู้ถึงผลกระทบไปในระดับนึง
Timeline Brexit ตามกำหนดการเดิม
งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จุดเริ่ม 17 ต.ค.62 สู่เป้าหมายเบิกจ่าย ก.พ.63
ในช่วงเวลาปกติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ... มักจะเริ่มกระบวนการพิจารณาในสภาฯ ในช่วงเดือน มิถุนายน และจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเดือน กันยายน พร้อมเบิกจ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม ของทุกปีอันเป็นจุดเริ่มต้นของปีงบประมาณ แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ถือว่าเริ่มต้นกระบวนการล่าช้ากว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกระบวนการทางสภาฯ ที่สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล เข้ามาแทรก
โดยกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์พิจารณาวาระที่ 1 (รับหลักการ) จะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจาณาช่วงวันที่ 17-19 ต.ค.2562 ตามด้วยการลงมติ ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร์ ในกรณีที่ผ่านความเห็นชอบ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตราของร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ
หลังจากนั้นนำเข้าสู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ซึ่งคาดหมายว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณ 8 ม.ค. 2563 โดยในการอภิปรายเพื่อแปรญัตติในรอบนี้จะใช้เวลาที่นานกว่าวาระที่ 1 หลังจากนั้นจะเป็นการลงมติ ในวาระที่ 2 และ 3 ตามลำดับ เมื่อผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว ก็จะนำ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นของ วุฒิสภา ซึ่งในรอบนี้เชื่อว่าไม่น่าจะใช้เวลามากนัก เนื่องจากถือว่ากฎหมายได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากสภาผู้แทนราษฎร์มาแล้วระดับหนึ่ง หากไม่มีความเห็นแย้งที่มีนัยสำคัญก็น่าจะผ่านไปได้ โดยคาดว่าการผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระในการประชุมวุฒิสภา น่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการนำขึ้น ทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
จากกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น ขั้นตอนที่ต้องติดตามมากที่สุด ได้แก่ กระบวนการพิจาณา และลงมติในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร์ ทั้ง 3 วาระ เนื่องจากคะแนนเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล กับ พรรคฝ่ายค้าน ห่างกันไม่มาก และหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ ร่าง พ.ร.บ. ฯ ไม่ผ่านการพิจารณา (ได้รับคะแนนสนับสนุนไม่มากพอ) ความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ก็จะตกอยู่ที่รัฐบาล แม้จะไม่มีกฎหมายที่เขียนบังคับไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร แต่โดยธรรมเนียมปฎิบัติที่ผ่านๆ มา ก็จะเห็นการแสดงความรับผิดชอบใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ การที่นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออก หรือ ยุบสภา ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาก็จะถือเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึง Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้น และทำให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะที่ สถานการณ์ทางการเมืองกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุน แต่ในทางตรงข้าม หาก ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ผ่านการพิจารณาออกมาด้วยดี และมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นการสร้าง Sentiment ที่ดีสำหรับการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายวิจัยเลือก CK เป็นหุ้น Top Pick
Time line กระบวนการพิจารณางบประมาณปี 2563
Prep. Bond กระทบโครงสร้างทางการเงินปี 2563
การปรับมาตรฐานและหลักการทางบัญชีใหม่ TFRS9, TAS32 และ TFRIC23 ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2563 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างมาก วันนี้ฝ่ายวิจัยนำมาเสนอเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชี TAS32 ที่กำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน โดยฝ่ายวิจัยวิเคราะห์และแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ คือ
1. TAS32 จะส่งผลต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เริ่มจากหาก D/E เพิ่มขึ้นจนไม่เป็นไปตามสัญญา ธ.พ. รวมถึงจะทำให้ต้นทุนทางการเงินมีโอกาสสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (แปรผันไปตามโครงสร้างทางการเงิน) สุดท้ายจะส่งผลให้ธุรกรรมการออก Perpetual Bond จะค่อยๆลดลง
2. ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนที่ออก Perpetual Bond ทั้งหมด 8 บริษัท มูลค่าที่เฉพาะที่ออกภายในประเทศมีมูลค่ารวม 7.7 หมื่นล้านบาท แต่หากไปดูในงบการเงินแต่ละบริษัท พบว่า มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.02 แสนล้านบาท เนื่องจากมีบางบริษัทที่ออก Perpetual Bond ในต่างประเทศ นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยยังทำการคำนวณเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน Net Gearing เดิม กับ Net Gearing ใหม่ ภายใต้มาตรฐานบัญชี TAS32 พบว่า Net Gearing ของแต่ละบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ส่งผหลให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น ตามตารางด้านล่าง
3. จากตารางข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตามมาตรฐานบัญชีให้จะส่งผลกระทบต่อ Issuer ทั้ง 8 บริษัท แต่อย่างไรก็ตามยังต้องดูท่าทีของสภาวิชาชีพบัญชี ว่าจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการบันทึกบัญชีสำหรับ บริษัทที่ออก Perpetual Bond ก่อนที่จะมีการเปลียนแปลงวิธีการบัญชีหรือไม่ และอย่างไร
สุดท้ายเมื่อมาตรฐานการบัญชี TAS32 มีการบังคับใช้จริงจะส่งผลให้ช่องทางในการระดมเงินทุน ผ่าน Perpetual Bond ถูกจำกัดลง ขณะที่ในระยะสั้น ราคาหุ้นของบริษัทที่มีสถานะของ Perpetual Bond อยู่น่าจะถูกกดดัน
หุ้น ICT เห็นปัจจัยบวก ในบางบริษัท
วันนี้ฝ่ายวิจัยเห็นประเด็นบวกที่น่าจะหนุนราคาหุ้น ICT ขนาดเล็กได้อย่างมีนัยฯ 2 บริษัท คือ
THCOM (FV@B 6.20) คาดว่าจะมีความชัดเจนของโครงการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขนาดใหญ่ ภายใต้การร่วมทุนกับพันธมิตรผู้ประกอบการดาวเทียมต่างประเทศ 3-4 ราย ต้นปี 2563 ถือเป็นพัฒนาการการปรับตัวของ THCOM รองรับความเสี่ยงดาวเทียม iPSTAR ที่จะใช้งานอีกไม่นาน (หมดอายุสัมปทานปี 2564) นอกจากนี้ การร่วมทุนจะช่วยให้ THCOM ประหยัดต้นทุนในการลงทุนลง ขณะที่การสร้างดาวเทียมคาดว่าจะอยู่บนหลักกการที่มีพื้นที่บริการครอบคลุมประเทศที่แต่ละผู้ร่วมทุนมีลูกค้าอยู่แล้ว จึงน่าจะคาดหวังอัตราใช้งานดาวเทียมที่สามารถทำกำไรได้ในระดับสูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่ลงทุนเอง และ การขอเรียกคืนคลื่น 3400-3700 MHz ของ กสทช. ที่น่าจะได้เงินชดเชยเข้ามา เนื่องจากทางบริษัทจะได้รับผลกระทบทั้งลูกค้าบริษัท กับ ลูกค้าของลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าที่มีนัยฯ หากพิจารณากรณี MCOT เรียกร้องค่าชดเชยเรียกคลื่น 2600 MHz จาก กสทช. ถึงราว 5.0 หมื่นล้านบาท
ประกอบกับ ประโยชน์ที่ THCOM จะได้ ในกรณีที่มีการจัดตั้งกองทุน SEF แทน LTF คาดจะมีเม็ดเงินกองทุน SEF เข้าเพิ่มสัดส่วนการถือครอง THCOM เพิ่มเติม เนื่องจาก THCOM เป็นหุ้นที่เข้าเงื่อนไข SEF ขณะที่สถานะปัจจุบันไม่มีกองทุน LTF ใดถือครอง THCOM อยู่เลย ทั้งหมดเชื่อว่าเป็นประเด็นที่สามารถเก็งกำไร THCOM ได้ จากราคาปัจจุบันเชื่อว่าสะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว จนมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน ซึ่งประเมินภายใต้สมมติฐานกรณีค่อนข้างเลวร้ายให้ THCOM หยุดดำเนินงานดาวเทียมสัมปทานทุกดวงหลังสิ้นสุดสัมปทาน และเหลือใช้งานเฉพาะไทยคม 7 และ 8 ที่ 6.2 บาท มี Upside เปิดถึง 33% โดยหลังจากนี้ฝ่ายวิจัยจะติดตามพัฒนาการของทุกประเด็น เพื่อทบทวนประมาณการและมูลค่าพื้นฐาน
INSET (FV@B 3.57) มี Upside ใหม่ที่สำคัญ คือ INSET ได้เซ็นสัญญารับงานท่อร้อยสายพื้นที่ กทม. มูลค่า 793 ล้านบาท กับ Consortium AWD (AIT , Wired&Wireless, DEMCO) ขณะที่ความเสี่ยงโครงการต่ำกว่าที่กังวลมาก เนื่องจาก INSET ไม่ได้รับงานตรงจากเจ้าของโครงการกรุงเทพธนาคม (KT) กรณีที่ KT ไม่สามารถจ่ายเงินได้ จะเป็นภาระของ AWD ส่วน INSET จะเป็นการเรียกเก็บจาก AWD ซึ่งมูลค่าโครงการที่ INSET รับ ฐานะการเงินของ Consortium รองรับได้ ขณะที่หนุน Backlog ก่อนรับรู้รายได้งวด 3Q62 สูง 2.7 พันล้านบาท แม้งานท่อร้อยสายจะเลื่อนไปรับรู้ปี 2563 จากการสำรวจพื้นที่ที่ล่าช้า แต่ผลชดเชยจากการส่งมอบงานอื่นใน Backlog ได้เร็วขึ้น คาดช่วยให้สามารถรับรู้รายได้ตามแผนที่ 440 ล้านบาท +37.3%qoq กอปรกับ ผลบวกการขยายตัวสู่งาน ที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย คาดหนุน Net Magin ขยับมีนัยฯ เป็น 11% จาก 8.5% ใน 2Q62 ประเมินกำไร 3Q62 ทำระดับสูงสุดประวัติการณ์ ที่ 49 ล้านบาท เติบโต 80%qoq ภาพรวมหนุนกำไร 9M62 อยู่ที่ 95 ล้านบาท สูงกว่ากำไรทั้งปี 2561 ซึ่งจะหนุนเห็นกำไร All Time High ในปี 2562 ตามคาดที่ 111 ล้านบาท (+17.5%)
โดยรวมยังคาดว่าจะเห็นความต่อเนื่องในระยะถัดไปอีกหลายปี โดยประเมิน Backlog สิ้นปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 2.0 พันล้านบาท (+12.3%) ครอบคลุมประมาณการรายได้ปี 2563 ที่ 1.4 พันล้านบาททั้งหมด ซึ่งจะหนุนกำไรเติบโตก้าวกระโดด 31% ขณะที่ระยะถัดไปยังคาดหวังจากผลบวกที่มีจุดแข็งความสามารถรับงานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมครบวงจร จนได้รับงานสม่ำเสมอจากผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิ งานประจำ Data Center ,โอกาสเข้ารับงานโครงการจัดให้มีอินเตอร์เนตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (USO) ในส่วนสัญญาที่ กสทช. บอกเลิก TOT และยังไม่รวมถึงงานที่ INSET ขยายขอบเขตมาระยะหนึ่ง คือ งานโทรคมนาคมระบบรถไฟฟ้า ซึ่งศักยภาพเติบโตสูงตามแผนเปิดส่วนต่อขยายใหม่ๆ รวมถึงโครงการ Google Station ที่จะเป็นฐานรายได้ประจำในระยะยาว
ขณะที่ ราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuation น่าสนใจมาก คือ มีค่า PER’62 ที่เพียง 13.4 เท่า และจะลดลงเหลือ 10.6 เท่าในปี 2563 ยังต่ำกว่า ITEL ที่ประกอบธุรกิจคล้ายกันที่มี PER’62 และ PER’63 ที่ 18.1 และ 15.7 เท่าอย่างมีนัยฯ ขณะที่มูลค่าพื้นฐานฝ่ายวิจัยที่ 3.57 บาท (อิง PER 18 เท่า) ยังมี Upside อีกถึง 33% แนะนำ ซื้อ
กลยุทธ์ลงทุน แนะนำ MCS, CK, WORK
SET Index ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จากประเด็นสงครามการค้าที่ผ่อนคลายช่วงสั้น รวมถึงปัจจัยหนุนจากอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ แต่อย่างก็ตามยังมีข้อจำกัดว่าจะผ่านสภาอังกฤษหรือไม่ ประกอบกับความผันผวนในช่วงรายงานผลประกอบการ กลยุทธ์ลงทุนจึงยังเน้นไปใน 2 ธีม ดังนี้
2)9 หุ้น Dometic พื้นฐานแข็งแกร่ง ซึ่งราคายัง laggard ตลาดอยู่มาก ชื่นชอบ CK (FV@B 34) และ WORK (FV@B 29.00)
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ