- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 16 October 2019 15:55
- Hits: 2615
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562
การปรับลด GDP Growth ของหลายประเทศทั่วโลกโดย IMF แม้จะเป็นปัจจัยลบในทางพื้นฐาน แต่อีกทางหนึ่งเชื่อว่าเห็นการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย และเพิ่ม QE อันจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในช่วงต่อไป วันนี้แนะนำปรับพอร์ตโดย ขายทำกำไรหุ้น JWD และ BCH และนำเงินเข้า MCS และ KKP Top Picks เลือก KKP(FV@B 75.33), MCS(FV@B 11.30) และ CK(FV@B 34)
SET Index 1,627.01
เปลี่ยนแปลง (จุด) 1.01
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 51,061
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวันวาน … จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนในกรอบแคบ 10 จุด จากที่ยังไม่มีปัจจัยผลักดันตลาดมากพอ ทำให้สุดท้ายตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1627.01 จุด เพิ่มขึ้น 1.01 จุด (+0.06%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 5.10 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มสื่อสารได้แก่ ADVANC(+2.18%) INTUCH(+1.50%) JAS(+0.78%) กลุ่มการเงินเช่น SAWAD(+3.36%) MTC(+1.28%) แต่โดนกดดันจากหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีกลุ่มขนส่งอย่างเช่น IVL(-0.76%) PTTGC(-1.90%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวอย่างเช่น PTTEP(-2.45%) PTT(-0.55%) BBL(-1.47%) เป็นต้น
IMF ปรับลดประมาณการ GDP Growth โลก ปี 2562 และ 2563 ลงมาอยู่ที่ 3% และ 3.4% ตามลำดับ โดยเป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิม 0.2% ในปี 2562 และ 0.1% ในปี 2563 ทั้งนี้การปรับลดประมาณการดังกล่าวเป็นการปรับลดลงแทบจะทุกประเทศ (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งถูกปรับลดตัวเลขในปี 2562 ลง 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ประเด็นปัญหาหลักเกิดจากปริมาณการค้าโลกที่หดตัว ภายใต้สถานการณ์ที่มีการกีดกันการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยถูกปรับลด GDP Growth ปี 2562 ที่ 2.8% ใกล้เคียงกับประมาณการของฝ่ายวิจัย พัฒนาการจากนี้ไปเชื่อว่าน่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดเห็นภาพการกลับมาใช้ QE ของทั้ง ยุโรป และ สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปด้วย สภาวะดังกล่าวจะส่งผลทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น และนำไปสู่การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน (Fund Flow) อีกครั้งหนึ่ง โดยฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการไหลของเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ น่าจะใกล้ถึงจุดที่อิ่มตัวทั้งนี้ประเมินจาก Bond Yield ที่ถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนเหลือส่วนต่างระหว่าง Bond Yield กับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างแคบ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการไหลเข้าขอองเม็ดเงินลงทุน สู่ตลาดหุ้นได้อีกครั้งหนึ่ง ในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ SET Index อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ฐานราคาบริเวณ 1600 จุด มีความมั่นคง ส่วน Upside ก็ควรจะเปิดกว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายแรกอยู่ที่ 1655 – 1660 จุด กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ แนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุน โดยขายทำกำไรหุ้น JWD และ BCH ซึ่งน่าจะได้เม็ดเงินกลับมา 20% ของพอร์ตการลงทุน หลังจากนั้นให้นำเงินเข้าลงทุนใน MCS และ KKP อย่างละ 10% โดยหุ้นทั้ง 2 บริษัทน่าจะผ่านช่วงการปรับฐานคราคาไปแล้ว และทำให้ราคาหุ้นปัจจุบันมี Dividend Yield เกิน 6% ต่อปี
IMF ปรับลด GDP Growth โลกลงครั้งที่ 4 ของปี จาก Trade war
IMF ปรับลด GDP Growth โลกลงเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ กล่าวคือ IMF คาด GDP Growth ของโลกปี 2562 ขยายตัว 3% (ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติ Sunprime ในปี 2552) และปี 2563 คาด 3.4% ลดลงจากประมาณการเมื่อรอบ ก.ค. 2562 ที่คาด 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ รวมถึงปรับลดปริมาณการค้าโลก (World Trade Volume) ปี 2562 ลดลงแรง เหลือ 1.1% และปี 2563 ขยายตัวเหลือ 3.2% จากเดิมที่คาด 2.5% และ 3.7% ตามลำดับ เหตุผลหลักๆ ยังคงเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง, การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปล่อยก๊าซของภาคยานยนต์ในยุโรป ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิต และควาไม่แน่นอนของ Brexit เป็นต้น
ฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ปรับปี 2562 เกือบทุกประเทศ ยุโรปปี 2562 คาดที่ 1.2% ลดลงจาก 1.3% และปี 2563 ปรับลงเหลือ 1.4% จากเดิม 1.6%, อังกฤษปรับลดปี 2562 เล็กน้อยเป็น 1.2% จากเดิม 1.3% เพราะกังวล Brexit แต่คงปี 2563 ที่ 1.4 % ตามเดิม, สหรัฐปรับลดปี 2562 เหลือ 2.4% จากเดิม 2.6% แต่ปี 2563 ปรับขึ้นเป็น 2.1% จากเดิม 1.9%, ญี่ปุ่นคงปี 2562 ที่ 0.9% และปี 2563 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 0.5% จาก 0.4% ตามลำดับ
ฝั่งประเทศกำลังพัฒนาปรับลดทุกประเทศ นำโดย จีนในปี 2562 คาดขยายตัว 6.1% จาก 6.2% และปี 2563 คาดเหลือ 5.8 จาก 6.0% เพราะผลกระทบของสงครามการค้า, อินเดียคาดปี 2562 ขยายตัวเหลือ 6.1% จากเดิมคาด 7.0% และ ปี 2563 คาด 7.0% จากเดิมที่ 7.2%, กลุ่มอาเซียนปรับลดปี 2562 เหลือ 4.8% จาก 5% และปี 2563 เหลือ 4.9% จาก 5.1% ตามลำดับ และในส่วนของไทยปรับลดปี 2562-2563 ลงเหลือ 2.9% และ 3.0% ตามลำดับ จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% ในทั้ง 2 ปี
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ตอกย้ำความเชื่อทั่วโลกต้องใช้ นโยบายการเงินผ่อนคลาย.....
มุมมองของ IMF ต่อการเติบโตและการค้าโลกในปี 2562-2563 ที่ชะลอลงและยังมีความเสี่ยงหลายปัจจัยที่ยังรออยู่ในอนาคต ASPS เชื่อว่าจะตอกย้ำให้ทั่วโลกต้องเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้ง
นโยบายการคลัง อาทิ การลดภาษีฯ หรือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่เนื่องจากบางประเทศมีข้อจำกัด อาทิ เผชิญปัญหาหนี้ระดับสูง ต้องรัดเข็มขัดทางการคลัง, หรืองบประมาณไม่เพียงพอ ฯลฯ ทำให้การกระตุ้นอาจจะยังไม่เพียงพอ
ทำให้เชื่อว่าทั่วโลกจะยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินมากกว่า เห็นได้จากยังคงเดินหน้าใช้ อาทิ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ Quantitative Easing (QE) หรือ การพิมพ์เงินเพื่อไปซื้อตราสารทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้งบดุลธนาคารกลางเพิ่มขึ้น อาทิ
ยุโรป หลังจากเดือน ก.ย.2562ที่ผ่านมาธนาคารกลางยุโรป(ECB) กลับมามาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) อีกครั้ง คือ ECB จะกลับมาซื้อพันธบัตรวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือนโดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 ซึ่งเป็นลักษณะปลายเปิด หรือไม่ได้กรอบระยะเวลาดำเนิน
ญี่ปุ่น ใช้นโยบาย QQE เดือนละ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
สหรัฐ ล่าสุด ประกาศจะเริ่มการเข้าซื้อ Treasury bills หรือตั๋วเงินคลัง ระยะสั้นที่มีอายุ < 1 ปี วงเงินรวม 6 หมื่นล้านเหรียญฯต่อเดือน มีผลตั้งแต่ 15 ต.ค.62 ไปจนถึง งวด 2Q2563 และเข้าทำธุรกรรม Open Market Operations (OMOs) อาทิ ผ่าน Term repo 2 ครั้ง/เดือน ครั้งละ 3.5 หมื่นล้านเหรียญ Overnight repo ทุกวัน วันละ 7.5 หมื่นล้านเหรียญ
โดยรวมทำให้ยิ่งเชื่อว่าธนาคารกลางต่างๆ ยังจำเป็นต้องลดดอกเบี้นโยบายลงอีก โดยเฉพาะสหรัฐเชื่อว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% มาอยู่ที่ 1.75% ณ.ช่วงสิ้นปี ขณะที่ไทย ASPS ยังคงมุมมองเดิม คือ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง คือ 6 พ.ย. และ 18 ธ.ค. โดยให้น้ำหนักคาดว่ารอบ พ.ย. มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยฯ (ASPS คาดเศรษฐกิจไทยชะลอตัวชัดเจน 2H62 และทั้งปี 2563 จากการเบิกจ่ายงบประมาณช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะเกิดสุญญากาศในส่วนของงบลงทุนที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน, ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี 2563 เป็นอย่างน้อย ฯลฯ)
แนะนำ 5 หุ้นปันผล ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินผอนคลายมากขึ้น
ความคาดหวังกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ผ่านการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น นอกจากจะลดดอกเบี้นโยบายลงแล้ว ยังใช้มาตราการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เช่น ญี่ปุ่นยังคงมีการทำ QE, ยุโรปกลับมาประกาศใช้ QE ในเดือก ก.ย. 62 และล่าสุดสหรัฐยังอัดฉีดเม็ดเงินเข้าตลาดเงินในแบบ OMOs คาดว่าจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เนื่องจากยังมี Upside เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มากกว่าตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันดัชนียังต่ำจากจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี ถึง 6.93% ถือว่ายัง Laggard ตลาดหุ้นสหรัฐฯอยู่มาก ดัชนี ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่าจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี เพียง 1.36% เท่านั้น (ดังตารางทางด้านล่าง)
เปรียบเทียบ ดัชนี ณ ปัจจุบันของแต่ละประเทศ เทียบกับจุดสูงสุดดัชนีในรอบ 1 ปี
ตราบที่ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้ Fund Flow มีโอกาสโยกย้ายจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะถัดไปมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ หนึ่งในนั้น คือ ตลาดหุ้นไทย
ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการประเมินเป้าหมายดัชนี ผ่านส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนจากตลาดทุนกับตลาดตราสารหนี้ หรือ Market Earning Yield Gap ที่ปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.7% ภายใต้ภาวะปกติ บวกกับหากมี Fund Flow ช่วยหนุน คาดว่า Market Earning Yield Gap จะกลับมาซื้อขายที่ระดับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 4.28% (ใช้ Bond Yield 1 ปี ที่ 1.4%) สามารถคำนวณกลับมาเป็น PER ที่เหมาะสมที่ 17.6 เท่า จะหนุนให้ดัชนีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2562 เดิมที่ 1,655 จุด (PER ที่ 16.45 เท่า) ขยับขึ้น และคาดว่ามี Upside สูงสุดที่เป็นไปได้ 1771 จุด
กลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าเป้าหมายระดับต้นๆของ Fund Flow คือ หุ้นปันผลสูง ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรอง 5 หุ้นปันผลเด่นน่าลงทุน (ดังตารางด้านล่าง) ซึ่งฝ่ายวิจัยได้มีการปรับเข้าพอร์ตจำลองเช่นกัน
สำหรับ Top picks วันนี้ฝ่ายวิจัยเลือก KKP (FV@B 75.30) และ MCS (FV@B 11.30) มีรายละเอียดดังนี้
KKP (FV@B 75.30) หุ้นปันผลเด่น Div. Yield 6.92% ต่อปี พร้อมคาดหวังราคาหุ้นฟื้นตัว หลังผ่านการปรับฐานจากรับรู้การหลุดออกจากดัชนี SET 50 ไปแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์ หากมีกองทุน SEF มาแทน LTF กล่าวคือ เดิมกองทุน LTF ทั้งประเทศ 93 กองทุน ถือหุ้น KKP รวมกันอยู่ 0.21% ยังน้อยกว่าสัดส่วน Market Cap. หุ้นในดัชนี SETTHSI + กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ 0.59% ดังนั้นมีโอกาสสูงที่กองทุนจะทยอยลงทุนใน KKP เพิ่มเกินกว่าเท่าตัวถึง 0.38% สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 ธุรกิจหลักคาดยังเห็นแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของสินเชื่อสุทธิ high yield รวมถึงปัจจัยบวกจากดีล IB ที่รอรับรู้รายได้ ดีล IPO ของ DOHOME ใน 3Q62, ดีลควบรวมกิจการของ TMB และ TBANK และที่สำคัญคือ ดีลหุ้นยักษ์ใหญ่ AWC ใน 4Q62
MCS (FV@B 11.30) ลุ้นการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 9M62 (ทั้งปี Div. Yield สูงถึง 6.2%) จากการทยอยรับรู้งานในมือ Backlog สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1.65 แสนตัน ช่วยหนุนให้ MCS มีงานส่งออกปีละ 4.5-5 หมื่นตัน ครอบคลุมไปจนถึงปี 2565 ขับเคลื่อนผลประกอบการปี 2562-64 เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 29% ขณะที่ราคาหุ้นยังมี Upside อีก 26.97% จากราคาเป้าหมาย จึงเป็นโอกาสลงทุน
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ