- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 09 October 2019 13:59
- Hits: 1357
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562
คาด SET Index วันนี้ปรับตัวลดลงจากแรงกดดันของปัจจัยเรื่องสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ตามยังน่าจะยืนเหนือ 1600 จุดได้ ส่วนในประเทศ มีเรื่องกรอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดก็ถือเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และ Sentiment ตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับพอร์ตจำลอง ส่วนหุ้น Top Picks ยังคงชอบ JWD ([email protected]) และ MAJOR (FV@B 33) ซึ่งเป็นหุ้นเติบโตสูง และยังจ่ายเงินปันผล 3–5%
SET Index 1,612.17
เปลี่ยนแปลง (จุด) -1.54
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 36,544
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวันวาน … จับสัญญาณวันนี้
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิดกระโดดกว่า 7 จุดก่อนจะทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำ 8 บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของจีน จึงทำให้เกิดความกังวลในเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อีกครั้ง กดดันให้สุดท้ายตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1612.17 จุด ลดลง 1.54 จุด (-0.10%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 3.65 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มค้าปลีกได้แก่ CPALL(-0.62%) DOHOME(-0.88%) HMPRO(-1.78%) COM7(-1.39%) กลุ่มพลังงานเช่น PTT(-0.54%) GPSC(-0.34%) BANPU(-1.59%) แต่ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+1.80%) INTUCH(+0.38%) TRUE(+0.97%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวเช่น SCB(+1.30%) BH(+1.63%) และ SAWAD(+1.75%) เป็นต้น
กรอบเวลาในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 ของสภาฯ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และมีกำหนดพิจารณาวาระที่ 2-3 ในช่วง 8-9 มกราคม 2563 และถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ราว 20 มกราคม 2563 และน่าจะเบิกจ่ายงบประมาณฯ ได้ราวเดือน กุมภาพันธ์ 2563 จากกำหนดการดังกล่าว ถือว่าช่วงเวลาที่ใช้พิจารณาใกล้เคียงกับงบประมาณปี 2562 (เริ่มพิจารณาวาระที่ 1 ใน สนช. ซึงมีเพียงสภาเดียว วันที่ 13 มิ.ย.2562 และนำขึ้นทูลเกล้าฯ 5 ก.ย.2562) ด้วยกรอบเวลาที่ใช้ใกล้เคียงกัน ทำให้เชื่อว่ากระบวนการในการพิจาณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นการพิจารณาร่วมของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร์ + วุฒิสภา) ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดก็น่าจะทำให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านออกมาได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ยังมีความเสี่ยงที่สร้างแรงกดันให้กับตลาดคือ เรื่องการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ซึ่ง สถานการณ์เพิ่มพลิกผัน หลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน พร้อม จำกัดการให้วีซ่า สำหรับเจ้าหน้าที่จีนบางรายภายใต้ข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกปรับลดลง โดยดาวโจนส์ ปรับลดลง 313 จุดหรือ 1.19% กดดันให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงมาในเช้าวันนี้ ซึ่ง SET Index ก็คงหนี้ภาวะดังกล่าวไม่พ้น ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวช่วงนี้อยู่ที่บริเวณ 1600 – 1620 จุด กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ไม่มีการปรับพอร์ตจำลอง ส่วนหุ้น Top Pick ก็ยังคงเป็น JWD และ MAJOR
สหรัฐประกาศจำกัด VISA เจ้าหน้าที่จีน ,ประธาน Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงิน
บรรยากาศก่อนการเจรจาการค้ารสหรัฐกับจีนที่จะเกิดขึ้นวันที่ 10-11 ต.ค. 2562 นี้ ที่กรุง Washington, DC มีแนวโน้มแย่ลง โดยยังถูกดดันจากประเด็นเดิม คือ ล่าสุด วานนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาตรการกดดันจีนเพิ่มเติม คือ ประกาศระงับการให้ VISA แก่เจ้าหน้าของรัฐบาลจีนและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนบางราย โดยมีเหตุผลคือ เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตมณฑลซินเจียง หลังจากต้นสัปดาห์สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน โดยห้ามบริษัทสหรัฐทำธุรกิจด้วยรวมกว่า 8 บริษัท อาทิ Hikvision, Dahua Technology, Sense Time, IFLYTEK, Megvii Technology, Yitu Technologies เป็นต้น
ในระยะกลาง-ยาว ASPS ยังเชื่อว่าประเด็น Trade War จะยังยืดเยื้อต่อไป คือ สถานการณ์มีแนวโน้มเกิดเป็นรูปแบบ (Pattern) ที่ซ้ำเดิม คือเหตุการณ์เริ่มจากความตึงเครียด-ผ่อนคลาย สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงช่วง 3Q63-4Q63 ซึ่งเป็นช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
จากความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวดังกล่าวข้างต้น ยังคงหนุนให้ตลาดคาดหวัง Fed เดินหน้าลดดอกเบี้ย ล่าสุด เมื่อวานนี้ประธาน Fed นาย Jerome Powell กล่าวสุทรพจน์ตอกย้ำ พร้อมดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ Fed กำลังพิจารณาขยายงบดุล (Balance Sheet) ในเร็วๆนี้ ส่งผลให้ตลาดคาดว่า Fed จะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม 29-30 ต.ค. 2562 มากกขึ้น โดยคาดจะปรับลง 0.25% เหลือ 1.75% สอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุดโอกาสลดดอกเบี้ยของ Fed ในเดือน ต.ค. 2562 ยังมีอยู่สูงถึง 85.3% โดนรวมให้ Dollar Index มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยอ่อนค่าราว 0.6% จากจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา และยัง
กดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้ เงินบาทแข็งค่า 0.25% และหากนับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่ากว่า 6.7%ytd (แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค)
งบประมาณปี 63 วงเงิน 3.23 ล้านล้านบาท คาดมีความเสี่ยงจะสะดุดลดลง
ประเด็นสำคัญที่ ASPS ให้น้ำหนักในประเทศยังคงเป็นเรื่อง การพิจารณางบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทจะเดินหน้าตาม Timeline ที่รัฐบาลวางไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนในส่วนของโครงการลงทุนที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพันในปี 2563 หากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบต่อเศรษฐกิจ (อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่างวด 4Q62 สศค.ประเมินจะไม่มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในส่วนของเงินจากโครงการลงทุนราว 7-8 หมื่นล้านบาทหรือราว 0.5%ของ GDP)
อีกทางหนึ่งของประเด็นเรื่องงบประมาณคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในอนาคต อาทิ มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย, ชิมช็อปใช้เฟส 2 หรือมาตรการอื่นๆในอนาคต จะนำเม็ดทางไหนมาใช้ คือหลักๆ 1.แต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบ 2. งบกลาง ราว16.1%ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือ กระทรวงศึกษาธิการราว 11.5%, กระทรวงมหาดไทย 11%, กระทรวงคลัง 7.8% เป็นต้น
งบประมาณปี 2563 แบ่งตามกระทรวง
ทั้งนี้หากพิจาณาในปี 2563 พบว่างบกลางอยู่ที่ 5.19 แสนล้านบาท มากที่สุดในรอบ 14 ปี โดยมีรายการเบิกจ่ายหลักอาทิ 1.เงินช่วยเหลือข้าราชการ 2.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และที่สำคัญคือ เงินสำรองฉุกเฉินเพื่อกรณ๊จำเป็น คิดราว 18%ของงบกลางทั้งหมด หรืราว 9.6หมื่นล้านบาท ในส่วนตรงนี้จะสามารนำไปใช้ดำเนินมาตรการต่างๆ
ทั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจาก ครม. ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติไป ASPS ให้น้ำหนักการพิจารณางบประมาณวาระแรก คือ 17 ต.ค. 2562 และวาระที่ 2-3 คือ เดือน ม.ค.2563 และหากกระบวนการไม่ติดขัด คือ จะเริ่มเบิกจ่ายอย่างเร็วสุดต้นเดือน ก.พ. 2563 (ใช้ระยะเวลา 3 เดือน)
มุมมองของ ASPS คาดว่าการพิจารณางบประมาณปี 2563 ในรอบนี้ความเสี่ยงที่จะสะดุดน้อยลงหรือ มีโอกาสเดินตาม Proces ที่วางไว้ เนื่องจากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมจากการพิจารณางบประมาณในครั้งนี้ น่าจะเป็นการพิจารณาร่วมของ 2 สภา คือ สภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (เทียบกับปีก่อนหน้าๆอาทิ ปี 2562 พิจารณาสถาเดียว คือ สนช.) โดยมีเหตุผลสนับสนุนความเชื่อคือ
สภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้คะแนนเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ คือ รัฐบาลมี 249 เสียง ราว 49.8% และฝ่ายค้าน 246 เสียง และฝ่ายค้านอิสระ 5 เสียง ล่าสุดอ้างอิง กรุงเทพธุรกิจ จากสัมภาษณ์รองนายกวิษณุ เผยว่า รัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน กำหนดให้ ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรีลงมติ ร่างพรบ.งบประมาณได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. มี 19 คน(เทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐมนตรีไม่สามารถลงมติได้)
วุฒิสภา ทั้งหมด 250 เสียง สนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด
Time line กระบวนการพิจารณางบประมาณปี 2563
4 ปัจจัยขับเคลื่อนให้ AWC Outperform ในช่วงเข้าตลาด
การรอความชัดเจนการเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้ในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมามูลค่าซื้อขายตลาดหุ้นไทยเบาบางลงเหลือ 3 หมื่นกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 ต.ค. 2562 มีหุ้น IPO ขนาดใหญ่อย่าง AWC เตรียมเข้าซื้อขายตลาดฯ เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจองซื้อจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ คาดว่าจะช่วยหนุนให้ภาพรวมมูลค่าซื้อขายในตลาดกลับมาคึกคักมากขึ้น
ขณะเดียวกันทางตลาดหลักทรัพย์ฯมีปรับเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเข้าออกดัชนี (ณ เดือน ก.ย. 2562) คือ Market Cap ของหุ้นเข้าใหม่ ณ ราคาปิดในวันแรก หากสูงอยู่ภายใน 20 อันดับแรก หรือเกิน 1%ของ market cap ของหุ้นทั้งหมดในดัชนี SET Index จะสามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ได้ในวันที่ T+3 โดย T คือวันซื้อขายในวันแรก ขณะที่หุ้นถูกคัดออก จะคำนวณจากราคาปิดในวันแรกที่มีหุ้นใหม่เข้าซื้อขายเช่นกัน
ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการประเมินหุ้น AWC ในช่วงแรกที่เข้าซื้อขายในตลาด และคาดว่าจะมี 4 แรงส่งสำคัญเป็นตัวหนุนให้ AWC Outperform ตลาดได้ ดังนี้
4 ปัจจัยหนุนที่ช่วยหนุน AWC ในช่วงเวลา T ถึง T+3
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
1. ราคาหุ้นน่าจะยืนสูงกว่าราคาจองได้ดีในวันแรก เนื่องจากต้องใช้ราคาปิดในการคำนวณเกณฑ์การคัดเข้าดัชนี SET50 และ SET100 ระหว่างรอบคำนวณ รวมถึงยังมี green shoe อีกกว่า 1 พันล้านหุ้น คอยหนุนไม่ให้ราคาหุ้นต่ำจอง
2. ระหว่างช่วง T+3 คาดว่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯ เข้ามาช่วยหนุน เนื่องจากเม็ดเงินที่จองซื้อหุ้น AWC ก่อนเข้าตลาดฯจาก 9 บลจ. ยังน้อยกว่าสัดส่วน Market cap ของ AWC ใน SET50 คาดมีเม็ดเงินหนุนเพิ่มเติมราว 2 พันล้านบาท รวมถึงมีแรงเก็งกำไรจากกองทุนประเภท Active Fund ในช่วงก่อนที่หุ้น AWC จะถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และSET100
3. มีเม็ดเงินจากกองทุนประเภท Index Fund ที่มีวัตถุประสงค์ลงทุนอ้างอิงตามดัชนีอีกราว 1.1 พันล้านบาท คอยหนุนราคาหุ้น ณ วันที่ T+3
4. จากสถิติหุ้น IPO ในดัชนี SET index ที่เข้าซื้อขายในปีนี้ ในวันแรกของการซื้อขายราคาปิดสูงกว่าราคาจองทุกบริษัท และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.47% จึงคาดว่าราคาหุ้น AWC จะ Outperform ตลาดได้ดีเช่นกัน
สุดท้ายหากพิจารณาจากสัดส่วนผู้ถือหุ้น AWC พบว่า 75% เป็นของกลุ่มคุณเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ส่วนอีก 25% เป็นปริมาณการถือครองของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดเพียง 25% เท่านั้น ตราบที่นักลงทุนสนใจลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ดี
คาด AWC แทน KKP, BEAUTY ใน SET50,100 และ VGI คาดได้เข้า SET50,100 รอบหน้า
คาดการณ์หุ้นถูกคัดออกจากดัชนี SET50 และ SET100 ระหว่างรอบคำนวณ เนื่องจากถูก AWC เข้ามาแทนที่ ดูจากหุ้นที่มีขนาดเล็กที่สุดในดัชนี ณ ราคาปิดวันที่ AWC เข้าซื้อขายวันแรก แต่ในเบื่องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินจากตอนนี้หุ้นที่มี Market Cap 3 อันดับเล็กสุดในแต่ละดัชนี (ณ วันที่ 8 ต.ค. 2562) ได้ผลลัพธ์ดังตารางด้านล่าง
ดังนั้นหุ้นที่มีโอกาสออกจากดัชนี SET50 ระหว่างรอบคำนวณมากสุด คือ KKP และหุ้นที่ออกจาก SET100 คือ BEAUTY นอกจากนี้หุ้นที่มีขนาดเล็กรองลงมายังมีโอกาสที่จะถูกคัดออกจากดัชนี SET50 และ SET100 ในรอบหน้า (1H63) คือ BPP และ ANAN ตามลำดับ เนื่องจากคาดว่า VGI เป็นหนึ่งในหุ้นที่ผ่านเกณฑ์เข้าคำนวณทั้งในดัชนี SET50 และ SET100 แล้ว มีรายละเอียดดังนี้
ล่าสุด VGI มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของตลาดฯ (อันดับ 36 ในดัชนี SET50) และมีสภาพคล่องสูง ส่วนเกณฑ์ Free Float ตลาดกำหนดต้องมากกว่า 20% แม้ข้อมูล ณ วันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 7 มิ.ย. 2562 พบว่า VGI จะมี Free Float ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 18.62% แต่ในวันที่ 19 มิ.ย. 2562 บริษัท BTS ได้มีการขายหุ้น Big Lot ออกมา 339.7 ล้านหุ้น ส่งผลให้ Free Float ของ VGI ขยับขึ้นมาเหนือ 20% อยู่ที่ 22.56% ทำให้ล่าสุด VGI ผ่านเกณฑ์การเข้าคำนวณทั้งในดัชนี SET50 และ SET100 จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเข้าคำนวณดัชนีในรอบถัดไป
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ