- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 September 2019 20:55
- Hits: 3000
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : การลดดอกเบี้ยอาจกระตุ้นเศรษฐกิจ & ลดการแข็งค่าเงินบาทได้อย่างจำกัด
การลดดอกเบี้ยอาจกระตุ้นเศรษฐกิจ & ลดการแข็งค่าเงินบาทได้อย่างจำกัด
• คาดกนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ในการประชุม 25 ก.ย.2562 เนื่องจาก 1) รัฐบาลเพิ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไป ทั้งกระตุ้นการบริโภค, การท่องเที่ยว และการลงทุน จึงน่าจะเก็บกระสุนเรื่องการลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ใช้เมื่อจำเป็นในอนาคต, 2) ไทยมี Gap ในการลดดอกเบี้ยน้อยกว่าสหรัฐ เพราะในรอบนี้เฟดเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายจากอัตรา 2.50% ขณะที่ไทยเริ่มจาก 1.75% ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สหรัฐจะลดดอกเบี้ยได้ถี่และมากกว่าไทย, 3) ศักยภาพของนโยบายการเงินผ่อนคลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง (การลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก) และ 4) การลดดอกเบี้ยอาจไม่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้มากนัก
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ vs ไทย
จากภาพด้านบนจะเห็นว่าในระยะยาวแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐจะกลับมาเท่ากัน ซึ่งเรามองว่าในสถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นไปหาอัตราดอกเบี้ยสหรัฐด้วยว่าเศรษฐกิจไทยและโลกซบเซา สงครามการค้ายืดเยื้อลากยาว ดังนั้นโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะปรับลงมาหาดอกเบี้ยไทยจะมีมากกว่า และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงกว่าไทย 50bps ทำให้สหรัฐน่าจะปรับลดดอกเบี้ยมากและถี่กว่าไทย
• คาดธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ของไทยปี 62 ลง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ +3.3% คาดว่าจะปรับลดลงเป็นต่ำกว่า 3% หลังจากที่ GDP ใน 1Q62 และ 2Q62 ขยายตัวในอัตรา 2.8%YoY และ 2.3%YoY ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยใน 2H62 ไม่ได้กระเตื้องมากนัก โดยภาคส่งออกยังซบเซาและมีโอกาสติดลบเล็กน้อยในปีนี้ ส่วนท่องเที่ยวดีขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล (ไตรมาส 4 เป็น High season) ส่วนการอุปโภคบริโภคโดยรวมทรงๆ (แต่บางกลุ่มที่อยู่ในเทรนด์ใหม่เติบโตได้) ด้านการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐมีความล่าช้า
• กลยุทธ์การลงทุน ในช่วงนี้ที่มีความเสี่ยง/ไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก (สงครามการค้ายืดเยื้อ,ความไม่สงบในตะวันออกกลาง, Brexit) และเศรษฐกิจภายในที่ซบเซา เราแนะนำเน้นถือหุ้น Defensive และหุ้นปันผลสูง/REIT และเงินสดให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มโภคภัณฑ์และส่งออกยังมีความท้าทายมาก โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่ผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเติบโตชะลอลงไปอีก
# หุ้นเด่นในหมวด Defensive ได้แก่ ADVANC, CPALL, BEM, BDMS, RJH
# หุ้นเด่นหมวดปันผลสูง เป็น AP, LH, TCAP, TISCO
# หุ้นเด่นหมวด REIT ประกอบด้วย AMATAR, CPTGF, DIF, DREIT, JASIF
นักวิเคราะห์&กลยุทธ์: อาภาภรณ์ แสวงพรรค : [email protected]