- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 25 September 2019 20:47
- Hits: 2710
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562
ปัจจัยภายนอกเรื่องสงครามการค้าและ Brexit สร้างแรงกดดันต่อตลาดฯ แต่ไม่น่าจะมีน้ำหนักมากนัก ความสนใจหลักวันนี้อยู่ที่การประชุม กนง. ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นผลดีต่อ SET Index กลยุทธ์การลงทุนวันนี้มีการปรับพอร์ตโดยขายทำกำไร MCS และสลับเข้ามา SPALI ส่วนหุ้น Top Picks เลือก SPALI (FV@B 23.20) จากเงินปันผลและราคาหุ้นที่ปรับลงมา อีกบริษัทเลือก PLANB (FV@B 10.40)
SET Index 1,630.50
เปลี่ยนแปลง (จุด) 7.71
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 50,058
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งผันผวนในแดนบวกตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนตลอดวัน โดยยังคงเห็นแรงปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่องและรอดูทิศทางของดอกเบี้ยจากผลการประชุม กนง.ในวันพุธนี้ จนทำให้สุดท้ายปิดตัวในแดนบวกและปิดที่ระดับ 1630.50 จุด เพิ่มขึ้น 7.71 จุด (+0.48%) มูลค่าการซื้อขาย 5.00 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลักดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(+1.09%) GULF(+3.01%) PTTEP(+0.40%) GLOW(+0.28%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+3.32%) INTUCH(+1.96%) DTAC(+1.32%) และกลุ่มขนส่งอย่างเช่น AOT(+0.69%) BEM(+0.92%) PRM(+3.95%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ CPF(+1.90%) TU(+4.38%) และ SCB(+1.28%) เป็นต้น
การเมืองในสหรัฐฯ ที่เริ่มขั้นตอนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี รวมถึงการเจรจาการค้า สหรัฐฯ-จีน ที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นหลัง ปธน. สหรัฐฯ กล่าวโจมตีจีนในที่ประชุมสหประชาติ ปัจจัยภายนอกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย แต่ไม่น่าจะมีน้ำหนักมากนัก โดยในวันนี้ นักลงทุนน่าจะให้ความสำคัญกับผลการประชุม กนง. ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งจากการติดตามความเห็นของนักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โดยภาพรวมมีความเห็นที่กระจายตัวมีทั้งฝั่งที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ ฝั่งที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย ส่วนความเห็นของฝ่ายวิจัย ยังคงโน้มเอียงไปในฝั่งที่คาดว่า กนง. น่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.25% ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งจนปัจจุบันมาอยู่ที่บริเวณ 30.50 บาท/USD ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศก็ยังไม่มีแรงกระตุ้นที่แรงพอที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมของเศรษฐกิจ และหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาตามคาดก็น่าจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากตลาดหุ้น และผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี ขยายกว้างออกไปมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่น่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้กลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นได้ ในด้านกลยุทธ์การลงทุน วันนี้มีการปรับพอร์ต โดยการขายทำกำไรหุ้น MCS (น้ำหนัก 10% ของพอร์ตการลงทุน) ซึ่งมีกำไรมากกว่า 11% ออก พร้อมลดน้ำหนักการลงทุนใน CK ลงจากเดิม 5% (15% เหลือ 10%) แล้วนำเม็ดเงินเข้าลงทุนใน SPALI ด้วยน้ำหนัก 15% ของพอร์ตการลงทุนในหุ้นไทย สำหรับหุ้นเด่นวันนี้เลือก SPALI และ PLANB
ความเสี่ยงทรัมป์ถูกถอดถอน และ Trade war ยังมีอยู่
สงครามการค้าสหรัฐกับจีนแม้ช่วงสั้นผ่อนคลาย เริ่มจากฝั่งจีนที่ประกาศเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐราว 6 แสนตัน และวานนี้ได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสหรัฐรวม 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก 11 ก.ย. ยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐอัตรา 25% กับสินค้าบางส่วนที่เคยขึ้นไปในรอบ 1 และ 2 ราว 16 สินค้า เช่น เภสัชภัณฑ์,เคมีภัณฑ์, น้ำมันหล่อลื่น, อาหารสัตว์ เป็นต้น วงเงินรวมประมาณ 1.65 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 1.18% ของวงเงินสินค้าทั้งหมดที่จีนขึ้นภาษีสหรัฐรอบ 1 ถึง 4.1 ที่ 1.4 แสนล้านเหรียญ
และวานนี้ ครั้งที่ 2 ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้ากับสหรัฐ คือ ถั่วเหลือง จากปัจจุบันเก็บ 25% อย่างไรก็ตามฝั่งสหรัฐ 20 ก.ย. ได้ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าจีน 437 สินค้า อาทิ ไฟประดับต้นคริสต์มาส, หลอดพลาสติก สายจูงสุนัข และแผงวงจรพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
แต่วานนี้ตลาดมีความสับสนในฝั่งสหรัฐ คือการที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าววิพากวิจารณ์จีน ในที่ประชุม UN ว่าไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงทางการค้าที่ให้ไว้กับสหรัฐ ทำให้ตลาดเกิดความสับสน และกังวลอีกครั้ง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐาน และกดดันราคาน้ำมันดิบราว 3% จากสถานการณ์ข้างต้น ASPS จึงมองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนน่ามีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป และมีโอกาสเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงพัฒนาการเดิมในอดีต (ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตัวเอง) เช่น มีความเหตุการณ์ตึงเครียด และผ่อนคลาย สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงช่วง 3Q63-4Q63 ซึ่งเป็นช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
และอีกประเด็นหนึ่งในสหรัฐ คือความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐเพิ่มขึ้น หลังจากที่วานนี้ นาง Nanacy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ประกาศการเริ่มกระบวนการสอบสวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเป็นทางการ กรณีทรัมป์คุยโทรศัพท์กับนาย Volodymyr Zelensky ประธานาธิบดียูเครน เพื่อกดดันให้มีการสอบสวนนาย Jeo Biden อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งการกระทำดังกล่าวของทรัมป์สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังให้น้ำหนักอย่างใกล้ชิด
Brexit กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึง!
ในอังกฤษเมื่อเย็นวานนี้ศาลสูงสุดอังกฤษประกาศคำตัดสิน ประเด็น เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายก บอริส จอห์นสันเสนอข้อเรียกร้องให้พระราชินีเอลิซาเบธลงนามเปิดประชุม สภาวันที่ 14 ต.ค. จากเดิมจะต้องเปิดประชุมสภาครั้งแรกในวันที่ 9 ก.ย.) เป็นเอกฉันท์ ว่า “ผิดกฎหมาย”
ทำให้สภาอังกฤษสามารถกลับมาประชุมต่อได้อีกครั้งในวันนี้วันแรก โดยประเด็นที่ตลาดให้น้ำหนักในวันนี้ คือ นายกอังกฤษจะตัดสินใจอย่างไร โดยมีหลักๆ ASPS คาดว่ามีทางเลือก คือ
1. ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ (นายกอังกฤษต้องการทางเลือกนี้ เนื่องจากเชื่อมั่นจะชนะหากมีการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามเผชิญอุปสรรคใหญ่ คือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 สภา และหากพิจารณาจากเมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายก Boris Johnson เคยเสนอการโหวต พบว่าล้มเหลว
2. นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แต่คาดว่าทางเลือกนี้เป็นไปได้ยาก
3. ดำรงตำแหน่งต่อและเดินหน้าตามกระบวนการ Brexit ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ โดยขั้นตอนต่อไปคือ ตลอดเดือน ต.ค.62 นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะต้องเสนอข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ต่อยุโรป(EU) หาก EU ยอมรับข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่แล้ว ต้องผ่านการอนุมัติ จากทั้ง 2 สภาภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 จึงจะทำให้อังกฤษจะสามารถถอนตัวออกจากยุโรปได้ทันภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 อย่างไรก็ตามมีโอกาสสูงที่กระบวนการ Brexit จะติดขัดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง อาทิ EU ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ หรือ สภาอังกฤษไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง Brexit ที่นายกอังกฤษเจรจาไว้กับ EU จะทำให้นายกอังกฤษต้องดำเนินการเจรจาขอให้ EU เลื่อนวันถอนตัว (Brexit Day) ออกไปเป็น 31 ม.ค. 2563
และอีกประเด็นที่สำคัญคือ ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายระยะสั้น คือ โอกาสที่อังกฤษจะออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No deal Brexit) ลดลง หลังจากสภาล่าง (House of Commons)และสภาสูง (House of Lords) มีมติอนุมัติร่างกฎหมายป้องกันการแยกตัวของอังกฤษออกจากยุโรปแบบ No-Deal Brexit อย่างไรก็ตามในมุมมอง ASPS เชื่อว่ากระบวนการ Brexit ยังคงเดินหน้า คือ คาดว่าอังกฤษยังต้องออกจาก EU อยู่ ซึ่งเป็นน่าจะกดดันต่อเศรษฐกิจยุโรป และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดรับรู้ไปช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ผลกระทบต่อไทย ASPS คาดว่ากระทบจำกัดเนื่องจาก สัดส่วนการค้าไทยกับอังกฤษราว 1.28%ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย และหากพิจารณารายได้จากนักท่องเที่ยวอังกฤษที่มาไทยคิดเพียง 2.1%ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
บ่าย 2 วันนี้ รู้ผลประชุม กนง. จะลด หรือคงดอกเบี้ย
ในประเทศวันนี้ เวลาบ่าย 2 นาฬิกา ASPS ให้น้ำหนักผลการประชุม กนง. แม้ตลาดจะมีความเห็นแตกแยกในรอบนี้ เห็นได้จากผลสำรวจนักวิเคราะห์ใน Bloomberg 20 คน คือ 60% คาด กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในรอบนี้ และที่เหลือ 40% คาด กนง.ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ราว 0.25% อยู่ที่ 1.25% (ASPS ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในรอบนี้ เนื่องจาก
เศรษฐกิจไทยชะลอตัวชัดเจน หลักๆคือ ผลกระทบจากสงครามการค้า กระทบต่อภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คิดราว 68%ของ GDP คือ 8M2562 เฉลี่ย -2.2% VS. ASPS คาด -3% ส่งผลกระทบภาคการผลิต ล่าสุดวานนี้ สภาอุตสหกรรมรายงาน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสหกรรม(MPI) เดือน ส.ค. ยังคงหดตัวแรง -4.4%yoy หลักๆคือ ภาคยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยาง เป็นต้น และเริ่มเห็นผลกระทบต่อการจ้างงาน
มาตรการภาครัฐที่ออกมาในเดือน ส.ค. เม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากนัก คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคเมื่อ ส.ค. 2562 วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท (ราว 2% ของ GDP) และวงเงินส่วนใหญ่ (ราว 64%)เป็นมาตรการให้สินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งไม่ได้อัดฉีดเข้าระบบโดยตรง แต่เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจโดยตรงมีเพียงมาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท ระยะเวลา ส.ค.-ก.ย. 2562 และมาตรการชิมช็อปใช้ คนละ 1,000 บาทเท่านั้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากนัก
ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ล่าสุดเงินบาทแกว่งตัวอยู่ที่ 30.56 บาท/ดอลลาร์ อยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี 11 เดือน และหากนับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าราว 6.11%ytd (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ytd อยู่ที่ 31.33 บาท/ดอลลาร์ VS . สมมติฐาน ASPS คาด 32 บาท/ดอลลาร์) หากเงินบาทยังแข็งค่าใกล้เคียงปัจจุบันที่ 30.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 31.1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐาน
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest rate) ของไทยปัจจุบันยังมีช่องว่าง และเป็นบวก อยู่ที่ 0.98% (ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.5% เงินเฟ้อ 0.53%) ทำให้มีช่องว่างสามารถลดดอกเบี้ยลงได้
โดยรวม ASPS เชื่อว่าหาก กนง. ลดดอกเบี้ยตามที่คาด เชื่อว่าจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก, กลุ่มเช่าซื้อ , อสังหาริมทรัพย์ , หุ้น High Divi dend แต่จะมี Sentiment เชิงลบต่อ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
แนะนำ 10 หุ้นปันผลสวยน่าสะสม Top pick เลือก SPALI
ความขัดแย้งการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังสร้างผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และกดดันให้หลายประเทศต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ-ประชาชน เช่น การปรับลดภาษีนิติในอินเดีย, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในธนาคารหลักของโลก อย่าง ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และกลับมาทำ QE, ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในปีนี้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้ว 2 ครั้ง เหลืออยู่ที่ 2.0% ขณะที่ประเทศไทย ลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางไทยช่วงบ่ายวันนี้ โดย ASPS คาดมีโอกาสที่ กนง. ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น (ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น)
ทั้งปัจจัยความไม่แน่นอน และภาวะดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ช่วยหนุนให้หุ้นปันผลกลับมา มีความน่าสนใจอีกครั้ง ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงทำการคัดกรองหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งปันผลเยี่ยม และผ่านเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
Dividend Yield>4% ต่อปี
Upside > 10%
ฝ่ายวิจัย แนะนำ “ซื้อ”
แม้เป็นหุ้นที่ฝ่ายเคยแนะนำให้ชะลอการลงทุนในช่วงสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการถูกขายหุ้นจากกองทุน เพื่อเตรียมเงินไปลงทุนในหุ้น IPO ขนาดใหญ่ AWC แทน แต่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาแรงกว่า 9.14%mtd น่าจะสะท้อนประเด็นดังกล่าวไปในระดับหนึ่งแล้ว จึงถือเป็นโอกาสเข้าสะสม และในมุมของพื้นฐานยังมีความแข็งแกร่งของ Backlog ระดับสูงสุดในกลุ่มฯ (กรณีไม่รวม JV) ด้วยมูลค่ามากถึง 4.3 หมื่นล้านบาท รองรับรายได้ 4-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นการประกันรายได้เติบโตมั่นคงในระยะกลาง ขณะที่แนวโน้ม 2H62 คาดยอดโอนฯ และกำไรสูงกว่า 1H62 แรงหนุนจากการเปิดขายโครงการแนวราบใหม่เชิงรุก และการส่งมอบคอนโดฯ ต่อเนื่องจาก 1H62 รวมถึงคอนโดฯ ใหม่ขนาดใหญ่ Supalai Veranda Rama 9 มูลค่า 4.3 พันล้านบาท ขายแล้ว 99% ในช่วง 3Q62 นี้ ด้าน Valuation คาดหวังอัตราเงินปันผลไดสูงถึง 6% ต่อปี และมี PER ซื้อขายเพียง 6.2 เท่า
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ