- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 23 September 2019 20:51
- Hits: 5119
บล.ทิสโก้ : ECONOMICS : ส่งออกเดือน ส.ค. อ่อนแอ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่สดใส
ส่งออกและนำเข้าในเดือนสิงหาคม หดตัว -4.0% และ -14.6% YoY ตามลำดับ
ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น ในเดือน ส.ค. เป็นมูลค่า US$2.1bn เกินดุลสูงกว่าในเดือน ก.ค. (US$0.1bn) โดยหลักมาจากการหดตัวของการนำเข้า (-14.6 YoY มูลค่า US$19.9bn) ที่มากกว่าการส่งออก (-4.0% มูลค่า US$21.9bn) ซึ่งเป็นการหดตัวกว่าที่ตลาดคาดทั้งคู่ โดยตั้งแต่ต้นปี (8M19) ส่งออกและนำเข้า ลดลง -2.2% และ -3.6% ตามลำดับ
ส่งออกสินค้าหลักยังคงติดลบ หากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะหดตัว -9.8%
ในมุมบวก การส่งออกไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปยังคงเติบโต (+5.6% YoY) นำโดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งได้รับประโยชน์บางส่วนจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นอกจากนี้ ส่งออกทองคำที่ไม่ขึ้นรูปเติบโตสูง (+378% vs. +407% ในเดือน ก.ค.) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ โดยหากไม่รวมการส่งออกทองคำ การส่งออกรวมจะหดตัวมากขึ้น อยู่ที่ระดับ -9.8% ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยานยนต์/ส่วนประกอบ (-13.3%) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (-9.5%) ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำมัน (18.1%) และสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร (-4.4%) หดตัวมาก สะท้อนความอ่อนแอของกำลังซื้อต่างประเทศ ในด้านสินค้าเกษตร ส่งออกข้าวลดลงอย่างมากเกือบ -50% YoY จากความเสียเปรียบทางการแข่งขันแก่ผู้ส่งออกรายใหม่อย่างจีนและเมียนมา ขณะที่ส่งออกยางพาราหดตัวจากความต้องการจากจีนที่ลดลง รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ หากแบ่งตามตลาดส่งออก จะพบว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงเป็นไปในทิศทางบวกสอดคล้องกับการขยายตัวในระดับปานกลางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการประเมินของเฟด โดยส่งออกเติบโต 5.8% ในเดือน ส.ค. (+14.9% ใน 8M19) จากการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยาง, อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และรถยนต์/ส่วนประกอบ
เราคาดดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 25 ก.ย. นี้
เรายังคงคาดการณ์มูลค่าส่งออก (f.o.b.) 2H19F จะหดตัว -1% YoY ปรับตัวดีขึ้นจาก -4% ใน 1H19A ส่งผลให้การส่งออกในปี 2019F จะหดตัวที่ -2.5% จากอุปสงค์โลกอ่อนแอลง การแข็งค่าของเงินบาท และสมมติฐานราคาน้ำมันที่ต่ำลง ทั้งนี้ หากการปรับขึ้นภาษีในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปตามที่ได้ประกาศไว้ เราคาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะชะลอตัวลงอีก โดยเรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่ IMF จะปรับประมาณการเศรษฐกิจลงในรายงาน WEO เดือน ต.ค. นี้ โดยเฉพาะประมาณการในปี 2020 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเต็มปีจากการปรับขึ้นภาษีทั้งหมด
สำหรับการประชุม กนง. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ย. เรายังคงคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% จากการคำนึงถึงขีดจำกัดของนโยบายการเงิน (policy space) และนโยบายที่ได้ดำเนินไปเพื่อลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจ กล่าวคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหนือความคาดหมายของตลาดในครั้งที่แล้ว ได้เกิดประสิทธิผลในการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม MOR และ MRR ให้ปรับลดลง รวมถึงการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตามเรายังคงคาดว่า ธปท. จะปรับประมาณการจีดีพีลงจากการประเมินในปัจจุบันที่ 3.3% ในปีนี้ และ 3.7% ในปีหน้า (ในกรณีฐาน เราคาดการณ์จีดีพี 2019-20F ที่ 2.9% และ 3.1% ตามลำดับ) นอกจากนี้ หากมีความเสี่ยงขาลงเพิ่มขึ้น เรามองว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps ในไตรมาส 4 นี้
ที่มา : TISCO ECONOMIC STRATEGY UNIT (ESU)
Market Insight
E- mail :[email protected]