WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามคาด แต่ความไม่ชัดเจนเรื่องการปรับลดต่อในอนาคตหนุน USD แข็งค่า กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ทองคำลง คาด SET Index วันนี้น่าจะผันผวนแต่ Downside จำกัด พอร์ตจำลองวันนี้ให้ปรับขายทำกำไรหุ้น STA ซึ่งน่าจะทำกำไรได้ 4-5% แล้วสลับเข้าลงทุนใน PLANB หุ้น Top Picks วันนี้เลือก PLANB (FV@B 10.40) ซึ่งมีประเด็นบวกเฉพาะตัว และ CK(FV@B 34)  

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงกว่า 10 จุด
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงกว่า 10 จุด ถูกกดดันจากกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีกว่า 11 จุด จากฝั่ง Supply ของซาอุดิอาระเบียที่ผ่อนคลายขึ้น คาดกำลังการผลิตจะกลับมา 100% ปลายเดือน ก.ย.62  จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1654.14 จุด ลดลง 9.79 จุด (-0.59%) มูลค่าการซื้อขาย 6.48 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานได้แก่ PTT(-3.17%) PTTEP(-4.62%) TOP(-3.57%) EA(-1.95%) กลุ่มปิโตรเคมีเช่น IVL(-7.97%) PTTGC(-7.73%) และกลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น DOHOME(-1.65%) HMPRO(-1.14%) BEAUTY(-3.65%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ TRUE(-1.75%) IRPC(-3.92%) และ CPN(-0.38%) เป็นต้น
Fed มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามคาด แต่การที่ไม่แสดงท่าที่ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ส่งผลทำให้เงิน USD แข็งค่าขึ้นมาพร้อมสร้างแรงกดดันต่อเนื่องมายังราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่างเช่น ราคาน้ำมัน และทองคำ ส่วนตลาดหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ประด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง คือการประชุม กนง. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ก.ย.2562 (วันพุธหน้า) โดยเมื่อประเมินจากสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยเห็นว่ามีความน่าจะเป็นมากขึ้น ที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.50% เป็น 1.25% โดยมีความคาดหวัง 2 ประการสำคัญคือ ต้องการให้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว หลังจากที่รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นออกมาทั้งในฝั่งการบริโภคภาคครัวเรือน การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และล่าสุดกำลังจะเร่งให้เกิดการเบิกจากจ่ายงบลงทุนภาครัฐในส่วนของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่ 2 เป็นเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่บริเวณ 30.50 – 30.60 บาท/USD ทำให้เกิดความคาดหวังว่าการลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยลดแรงกดดันลงไปได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้หากพิจารณาจาก Bond Yield  พบว่าถูกกดลงมีอีกครั้งโดย Bond Yield 1 ปี 5ปี และ 10 ปี ของไทย มาอยู่ที่ 1.40%, 1.37% และ 1.54% ตามลำดับทั้งนี้หากดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตลาหุ้นไทยในระยะต่อไป สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเช้านี้ ฝ่ายวิจัยมีการปรับพอร์ตการลงทุน โดยให้ขายทำกำไรหุ้น STA ซึ่งน่าจะทำกำไรได้ 4-5% และนำเม็ดเงินสลับเข้ามาลงทุนใน PLANB ซึ่งมีกระแสเชิงบวกหนุนชัดเจน
ผลประชุม Fed ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้
ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ คือ   Fed มีมติลดดอกเบี้ยฯครั้งครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปรับลง 25 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่  1.75-2%  โดยในรอบนี้เป็นที่สังเกตุว่าคณะกรรมการ Fed  10 คนที่มีสิทธิโหวตไม่ได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ 8 คนโหวต ลดดอกเบี้ยฯ แบ่งเป็น 7 คนโหวตลด 0.25% และอีก 1 คนโหวต ลด 0.5% คือ ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์เจมส์ บูลลาร์ด  และอีก  2  คนโหวตให้คงดอกเบี้ยที่เดิม     

และจุดสำคัญ คือ ถ้อยแถลงของประธาน Fed นาย Jerome  Powell ให้ความเห็นว่า การปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตอาจจะยังเกิดได้อีก หากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว  สอดคล้องกับ Dotplot คือคณะกรรมการ  7 คนจาก 17 คนมองว่า สหรัฐมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1 ครั้งราว 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 รอบในปีนี้ คือ 29-30 ต.ค. และ 10-11 ธ.ค.   ทำให้ตลาดยังประเมินโอกาสการลดดอกเบี้ยฯในปีนี้  เห็นได้จากผลสำรวจใน Bloomberg คาดโอกาสการลดดอกเบี้ยฯ 0.25% ในรอบ พ.ย. 45.5% และรอบ ธ.ค. คาดโอกาสที่  67% ทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.75%
ขณะที่ปี 2563 จาก Dotplot คณะกรรมการ Fed ประเมินว่าดอกเบี้ยจะยังคงที่ 1.75% ที่เดิมตลอดทั้งปี ทำให้ ASPS เชื่อว่า โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้เชื่อว่ายังเป็นขาลง แต่น่าจะเริ่มลดลงได้ในอัตราที่ชะลอลงแล้ว  โดยรวมตลาดตอบรับประเด็นเรื่องการลดดอกเบี้ย 0.25% ไปก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจัยดังกล่าวทำให้ Dollar index แข็งค่า ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นในเชิงเปรียบเทียบอ่อนค่า รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าในช่วงสั้น
สต็อกน้ำมันพลิกกลับมาเพิ่ม และ Dollar แข็งค่า กดดันน้ำมันดิบ
วานนี้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานต่อเนื่อง 2 วัน โดยถูกกดดันจากปัจจัยฝั่ง Supply คือสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ราว 1.05 ล้านบาร์เรล  ผิดจากที่ตลาดคาดลดลง  2.49 ล้านบาร์เรล  และความชัดเจนในระยะเวลาการกลับมาผลิตน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียที่หายไปราว  50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดราว 9.8 ล้านบาร์เรลจะกลับมา 100% ปลายเดือน ก.ย.62  ขณะที่ Supply จากอิหร่านเชื่อว่าจะยังหายไป ล่าสุด สหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม  หลังจากก่อนหน้าสหรัฐคว่ำบาตรห้ามทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านมาตั้งแต่ กลางปี 2561 จนทำให้การส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงแรงประกอบกับ Dollar index ที่แข็งค่าแรงราว 0.43%จากวันก่อนหน้า
ขณะที่ฝั่ง Demand ระยะสั้นยังมีปัจจัยหนุนจากผ่อนคลายหลังจาก ล่าสุด สหรัฐ-จีนเดินหน้าเจรจาการค้ากันและมีทิศทางทีผ่อนคลายขึ้น
โดยรวม ASPS  ปัจจัยฝั่ง Supply มีน้ำหนักกดดันราคาน้ำมันช่วงสั้น มากกว่าปัจจัยหนุนจากฝั่ง Demand แต่อย่างไรก็ตาม ASPS เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะยังทรงตัวในระดับสูงได้อีกระยะหนึ่งบริเวณ  60 เหรียญฯได้  (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 62.9 เหรียญฯ สมมติฐานที่  ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ) จะยังดีต่อหุ้นพลังงาน PTT และ PTTEP
Fund Flow ยังเป็นความหวังหลักในการผลักดันดัชนี
ภาพรวมตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาลง โดยวานนี้ Fed ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปี 0.25% มาอยู่ที่ 2.0% โดยรวมธนาคารกลางสำคัญ  ไม่ได้มีการออกนโยบายการเงินผ่อนคลายอะไรมากกว่าที่ตลาดคาด บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ณ ปัจจุบันของสหรัฐ ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การลดดอกเบี้ยในรอบถัดไปมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นโลก รวมถึงไทย อาจจะทรง หรือเกิดการ Sell on Fact ได้
และหากกลับมาวิเคราะห์ Fund Flow ในตลาดหุ้นไทย พบว่าในปี 2562 นี้ ตลาดหุ้นไทยได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยเฉลี่ยต่อวัน ขยับขึ้นไปสูงถึง 42%(ytd) ของนักลงทุนทั้งหมด (เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ราว 29%) ส่งผลให้ SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับเงินทุนต่างชาติมากขึ้น สะท้อนจาก ค่า Correlation ระหว่าง SET Index กับเงินทุนต่างชาติสูงถึง 0.7

ยอดซื้อขายสะสมของต่างชาติ vs SET Index
 
ที่มา : SET,  ฝ่ายวิจัย ASPS
ปัจจุบันต่างชาติยังสลับซื้อสลับขายหุ้นไทย และด้วยเม็ดเงินที่จำกัด (ตั้งแต่ต้นปี 2562 ยอดซื้อสุทธิหุ้นไทยจากต่างชาติเหลือเพียง 46 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงต่อเนื่องจากที่เคยซื้อสุทธิสูงสุดที่ 6.47 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 25 ก.ค. 2562 ) กดดันให้ SET Index ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่แรงแกว่งในหุ้นแต่ละกลุ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นตราบที่ Fund Flow ยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ถือแรงกดดันให้ SET Index ขึ้นได้อย่างจำกัด แต่ด้วยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นยังมีโอกาสที่ Fund Flow จะกลับมาไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป ช่วยหนุนให้ดัชนีเป้าหมายปลายปี 2562 ขยับขึ้นจาก 1655 จุด (ระดับ P/E 16.45 เท่า) ไปอยู่ที่ 1745 จุด (ระดับ P/E 17.3 เท่า)
PLANB … มีดีทั้งกำไร และ upside
PLANB ประกาศข่าวดีเสริมพอร์ตสื่อโฆษณาให้มีความสมดุลมากขึ้น ด้วยการเซ็นสัญญาบริหารพื้นที่สื่อโฆษณาใน 7-11 จำนวน 2,000 สาขา อายุสัญญา 10 ปี โดยจะเริ่ม 500 สาขาแรก ตั้งแต่ 1Q63 และเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 500 สาขา คาดสร้างรายได้ในปีแรก 520 ล้านบาท และปีถัดไป 840 ล้านบาท (เต็มปี) อีกทั้งการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 จะเริ่มรับรู้ตั้งแต่ 4Q62-3Q63 หนุนกำไรปี 2563 เท่ากับ 1.1 พันล้านบาท เติบโต 33% YoY ขณะที่ 2H62 คาดกำไรขยายตัวสูง +42% YoY, +49% HoH จากการเข้าสู่ช่วง High Season และจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขยายสื่อโฆษณาใหม่ใน 2H62 หนุนกำไรปี 2562 เท่ากับ 832 ล้านบาท เติบโต 29 % YoY และด้วยฐานะการเงินแข็งแกร่ง ทำให้ PLANB ยังมีศักยภาพที่จะเข้าลงในโครงการอื่นๆ และ M&A ขยายธุรกิจในอนาคต
มูลค่าพื้นฐาน 10.40 บาท ราคาหุ้นมี Upside เปิดกว้างถึง 17.5% ประกอบกับการปรับน้ำหนักดัชนี FTSE จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย. 2562) คาดส่งผลบวกกับหุ้นไทยเฉพาะบริษัทที่ถูกคัดเข้าคำนวณหรือเพิ่มน้ำหนัก ซึ่ง PLANB ได้ถูกนำเข้าไปคำนวณในดัชนี FTSE Small Cap ในรอบนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Market Talk 26 ส.ค. 62) ถือเป็นโอกาสเก็งกำไรสำหรับนักลงทุนระยะสั้น ส่วนนักลงทุนระยะยาวแนะทยอยสะสมรับการเติบโตของธุรกิจ

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!