- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 18 September 2019 16:15
- Hits: 2612
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
อาจเห็นแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงแรง แต่ฝ่ายวิจัยเห็นว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะหนุนให้ราคายืนระดับสูงต่อไปได้ แต่อีกทางหนึ่งก็มีแรงหนุนจากกลุ่มธนาคารฯ จากการที่ให้ทยอยนำสำรองส่วนเกินหลังใช้ IFRS9 มาทยอยกลับรายการเป็นกำไรได้ คาด SET Index น่าจะผันผวนในกรอบที่ไม่กว้าง หุ้น Top Pick เช้านี้เลือก CK(FV@B 34) จากสัญญาณเชิงบวกหลังรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งเครื่องการลงทุน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งผันผวนทั้งในแดนบวกและลบ
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนทั้งในแดนบวกและลบ จากที่ยังคงรอผลลัพธ์ เรื่องของการประชุม Fed ที่ตลาดฯคาดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2% จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1663.93 จุด เพิ่มขึ้น 1.00 จุด (+0.06%) มูลค่าการซื้อขาย 7.32 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาดหลักๆ คือ กลุ่มพลังงานที่ยังคงได้ปัจจัยหนุนจากที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวขึ้นกว่า 15% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้แก่ PTT(+0.53%) PTTEP(+4.00%) BGRIM(+2.42%) TOP(+3.70%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+0.90%) INTUCH(+3.07%) DTAC(+0.85%) แต่โดนกดดันจากกลุ่มการแพทย์อย่างเช่น BDMS(-2.93%) BCH(-1.91%) BH(-1.83%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ได้แก่ SCC(-2.82%) CPF(-4.55%) และ KBANK(-1.53%) เป็นต้น
การให้กำหนดการที่ชัดเจนขึ้นของการกลับมาผลิตน้ำมันตามปกติของ ซาอุฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ย.2562 ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกย่อตัวลงมา แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อมแล้ว ฝ่ายวิจัยเห็นว่าระดับความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง ทั้งในส่วนของการกลับมาผลิตของซาอุฯ ว่าจะกลับมาได้ตามกำหนดที่แถลงหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ที่ร้อนแรงระหว่าง สหรัฐฯ-อิหร่าน ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวเชื่อว่าราคาน้ำมันน่าจะยังทรงตัวที่ระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาน่าจะเป็นไปด้วยความผันผวน สำหรับผลกระทบที่จะเข้ามาที่ราคาหุ้น PTT และ PTTEP เชื่อว่ามีโอกาสถูกขายทำกำไรออกมาในระยะสั้น แต่ด้วย Valuation ที่ยังไม่แพง น่าจะทำให้เห็นแรงซื้อกลับเข้ามาได้ จึงยังให้คงน้ำหนักการลงทุนทั้ง 2 บริษัทไว้ในพอร์ตจำลอตามเดิม อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ นำสำรองส่วนที่สูงกว่าจำเงินเงินสำรองที่ต้องกันตาม IFRS 9 ณ วันแรก กลับรายการมาบันทึกเป็นกำไร โดยให้ทยอยตัดลดสำรองส่วนเกิน ตามวิธีเส้นตรงเป็นระยะเวลา 5 ปี ประเด็นดังกล่าวถือเป็นผลดีต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากหลังจากตั้งสำรองตามเกณณฑ์ IFRS9 แล้ว มูลค่าสำรองส่วนเกินที่ตั้งไว้จะมีมูลค่าลดลง อีกทั้งช่วง 2H62 ธนาคารพาณิชย์จะพยายามจัดชั้นสินเชื่อเป็น NPL ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของผลกระทบต่อราคาหุ้นน่าจะทำให้เกิด Sentiment เชิงบวกหนุนราคาหุ้นปรับขึ้นไปได้ สำหรับความกังวลเรื่อง อหิวาต์แอฟริกาในหมู หลังจากมีข่าวว่ามีหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่ จ.เชียงราย ฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้น CPF, TFG ในระยะสั้น เนื่องจากยังไม่มีการพิสูจน์ทราบที่ขัดเจนว่าเกิดจากอหิวาต์แอฟริกา หรือไม่ อีกทั้งระบบการเลี้ยงในประเทศไทย 70% เป็นการเลี้ยงระบบปิดที่สามารถป้องกันได้ดี สำหรับภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนวันนี้ ยังไม่มีการปรับพอร์ตการลงทุน ส่วนหุ้น TOP Pick เลือก CK
น้ำมันดิบปรับฐาน หลังซาอุฯ จะกลับมา ผลิตปลาย ก.ย. แต่เชื่อยังทรงตัวสูง
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานลงแรง โดยมีสาเหตุจากฝั่ง Supply ของซาอุดีอาระเบียที่ผ่อนคลายขึ้น กล่าวคือ มีความชัดเจนในระยะเวลาว่าจะกลับมาผลิตของซาอุจะกลับมาเมื่อไหร่ หลังจากวานนี้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ของซาอุฯ เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman เผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียที่หายไปราว 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดราว 9.8 ล้านบาร์เรลจะกลับมา 100% ปลายเดือน ก.ย.62
อย่างไรก็ตาม ASPS เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อได้อีกระยะหนึ่ง โดยเชื่อว่าจะมีปัจจัยหนุนดังต่อไปนี้
ในทางปฎิบัติ Supply หรือกำลังการผลิตของซาอุฯจะหายไปจากตลาดราว 2 อาทิตย์ นับตั้งแต่เกิดเหตุโรงน้ำมันไฟ้ไหม้โรงน้ำมัน 2 โรงตั้งแต่วันอาทิย์ 14 ก.ย.-ปลายก.ย. การผลิตน้ำมันจากซาอุจะหายไปราว 5 ล้านบาร์เรล/วัน) ทำให้ล่าสุด โรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงในตะวันออกกลาง คือ Yanbu, Petro Rabigh, SAMREF, SASREF, Riyadh กำลังการผลิตรวมกันทั้งหมด 1.46 ล้านบาร์เรล/วัน ได้ประกาศลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากขาดน้ำมันดิบ (Feed Stock) จากซาอุดิอาระเบีย หนุนค่าการกลั่นมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 8.15 เหรียญฯ/บาร์เรล
ความตึงเครียดสหรัฐ–อิหร่าน คือ เชื่อว่าสหรัฐจะยังคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป หลังจากก่อนหน้าสหรัฐคว่ำบาตรห้ามทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านมาตั้งแต่ กลางปี 2561 จนทำให้การส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงแรง เห็นได้จากยอดส่งออกน้ำมันอิหร่านไปทั่วโลกปี 2561-1Q62 อยู่ที่ 1.6-2 ล้านบารร์เรล/วัน ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 2 แสนบารร์เรล/วัน(จากเดิมสหรัฐมีท่าทีผ่อนคลายขึ้น)
ฝั่ง Demand ระยะสั้นน่าจะผ่อนคลายหลังจากสหรัฐ-จีนเดินหน้าเจรจาการค้ากันและมีทิศทางทีผ่นอคลายขึ้น แต่ระยะกลางถึงยาวตราบที่การเก็บภาษีนำเข้าของทั้ง 2ฝั่งยังมีอยู่4รอบจะกดดันความต้องการบริโภคน้ำมัน (2 ประเทศบริโภคน้ำมันราว 50%ของการบริโภคทั้งโลก)
โดยรวม เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบดูไบให้ยืนบริเวณ 60 เหรียญฯได้ (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 62.9 เหรียญฯ สมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ) จะยังดีต่อหุ้นพลังงานอย่าง PTT และ PTTEP
ครม.เศรษฐกิจ รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้น
เศรษฐกิจไทยในช่วง 2H62 มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน จากภาคส่งออกที่ชะลอตัวชัดเจนจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีอยู่ เร่งให้รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นตั้งแต่ เดือน ส.ค. รัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคเอกชนเป็นหลัก วงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท (ราว 2% ของ GDP) อาทิ ให้สินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง, ประกันราคาสินค้าเกษตร,ชิมช็อปใช้ คนละ 1,000 บาท ตามมาออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชน Thailand plus package 7 อาทิ ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ยกเว้น 8 ปี สำหรับการลงทุนในพื้นที่ทั่วประเทศ (เดิมเน้นพื้นที่ EEC) สำหรับโครงการที่มีวงเงินอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท และยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภายในปี 2563
และล่าสุด วันศุกร์ 20 ก.ย. 2562 นี้ ให้น้ำหนักที่ ประชุมครม.เศรษฐกิจมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมุ่งไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมผ่านการเร่งรัดการลงทุนและการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ให้น้ำหนักในส่วนของโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือโครงการลงทุนที่ก่อหนี้ผูกพันไปแล้ว หลักๆ คือ รถไฟฟ้าสายต่างๆเช่น สายสีส้ม(รามคำแหง) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-สำโรง) ASPS คาดว่าหากภาครัฐสามารถเร่งรัดการก่อสร้างโครงการต่างๆไดัให้เร็วขึ้นได้ คาดว่าจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่รับงานโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะ CK (FV@B 34.0) ซึ่งรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงSTEC(FV@B 22)
หุ้นหมู กังวลโรคอหิวาต์แอฟริกา...กระทบ CPF และ TFG ระยะสั้น
ราคาหุ้นกลุ่มสุกร TFG และ CPF ปรับฐานแรงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจาก
ข่าวว่าที่ จ.เชียงรายมีสุกรตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำลายสุกรไปแล้วราว 300 ตัว ซึ่งปัจจุบันปศุสัตว์จังหวัดอยู่ระหว่างตรวจว่ามีเชื้ออหิวาต์แอฟริกาหรือไม่ และ
ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในประเทศชะลอตัวลงชั่วคราว เพราะฝนตกชุกและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคออกมาซื้อเนื้อสุกรลดลงชั่วคราว กดดันให้ราคาสุกรปรับลดลงจนล่าสุดอยู่ที่ 58 บาท/กก. ใกล้เคียงต้นทุนการเลี้ยงสุกรของ ทั้ง CPF และ TFG กดดันธุรกิจสุกรในไทยของ CPF และ TFG ใน 2H62 ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ราว 8% และ 22% ของรายได้รวม
ASPS ประเมินว่า CPF และ TFG ซึ่งเลี้ยงสุกรในฟาร์มปิดจะสามารถป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในฟาร์มของตัวเองได้ และประเมินว่าหากโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในไทย จะไม่รุนแรงเท่าประเทศจีนและเวียดนาม เพราะโครงสร้างการเลี้ยงสุกรในไทยเป็นฟาร์มปิดถึง 70% สามารถป้องกันโรคได้ดีกว่ามาก (จีนและเวียดนามเป็นฟาร์มปิดเพียง 30%)
อย่างไรก็ตามในระยะสั้น CPF และ TFG จะได้รับผลกระทบจากราคาขายสุกรที่ลดลง โดยราคาสุกรเฉลี่ย YTD อยู่ที่ 69.1 บาท/กก. หากให้ราคาสุกรในช่วงที่เหลือของปี 2562 เฉลี่ยใกล้เคียงปัจจุบันที่ 58 บาท/กก. จะทำให้แนวโน้มราคาสุกรเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 66 บาท/กก. ต่ำกว่าสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 70 บาท/กก. เล็กน้อย ถือเป็น Downside ต่อกำไรสุทธิปี 2562 ของ CPF ราว 8% จากปัจจุบัน และ FV ปี 2562 ให้ลดลงมาที่ 32 บาท และเป็น Downside ต่อกำไรสุทธิปี 2562 ของ TFG ราว 11% จากปัจจุบัน และ FV ปี 2562 ให้ลดลงมาที่ 3.8 บาท
โดยรวมฝ่ายวิจัยปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหารลงเป็น “เท่าตลาด” (เดิมมากกว่าตลาด) จากความกังวลโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในไทย ทั้งนี้ ราคาหุ้น CPF (FV@B35) ปรับฐานรับข่าวลบไปมาก จึงเป็นโอกาสเข้าสะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาว ขณะที่ TFG ([email protected])ยังไม่แนะนำชะลอการลงทุน เพราะราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว
ต่างชาติชะลอซื้อหุ้นในภูมิภาคและไทย เพื่อรอดูความชัดเจนของ Fed ในเดือนนี้
นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามผลการประชุม Fed เกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยที่ชัดเจนในคืนนี้ ส่งผลให้วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นเกือบทุกประเทศในภูมิภาค ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ถูกซื้อสุทธิ 126 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิต่อเนื่อง 9 วันทำการ) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลือ 4 ประเทศถูกขายสุทธิทั้งสิ้น เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 98 ล้านเหรียญ อินโดนีเซีย 42 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ และไทยที่ถูกขายสุทธิ 29 ล้านเหรียญ หรือ 886 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการขายสุทธิสัญญา SET50 Futures 1 หมื่นสัญญา (เดือน ก.ย. ซื้อสุทธิทั้งสิ้น 7 หมื่นสัญญาmtd)
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ฟื้นตัวดีในเดือน ก.ย. สะท้อนจากดัชนี MSCI World เพิ่มขึ้น 2.95%mtd ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4.8%mtd ไต้หวัน 2.5mtd และไทย 0.54%mtd แสดงว่าตลาดหุ้นน่าจะสะท้อนความคาดหวังประเด็น Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ย 0.25% ในรอบนี้ไปในระดับหนึ่งแล้ว ตราบที่ไม่มีอะไรหนุนใหม่อาจถูกขายทำกำไรในระยะสั้น แต่หาก Fed ลดดอกเบี้ยถึง 0.5% น่าจะช่วยหนุนเสถียรภาพของ Fund Flow และความต่อเนื่องในการไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น และช่วยหนุนให้ดัชนีเป้าหมายปลายปี 2562 ขยับขึ้นจาก 1655 จุด (ระดับ P/E 16.45 เท่า) ไปอยู่ที่ 1745 จุด (ระดับ P/E 17.3 เท่า)
TFRS9 ไม่บวกมาก ... แต่ Valuation กลุ่ม ธ.พ. ถูกมาก
ประเด็นความคาดหวังเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเงินสำรองส่วนเกิน (general reserves) ที่ ธ.พ.มีอยู่รวมกันกว่า 3.52 แสนล้านบาท ณ สิ้น 2Q62 โดยเฉพาะ ธ.พ.ใหญ่ ได้แก่ BBL (9.40 หมื่นล้านบาท) KBANK (8.28 หมื่นล้านบาท) KTB (6.53 หมื่นล้านบาท) SCB (5.44 หมื่นล้านบาท) และ BAY (2.27 หมื่นล้านบาท) ที่มีสำรองส่วนเกินเป็นจำนวนมาก โดยแนวทางที่ ธปท. กำหนดให้คือหาก ธ.พ.มีปริมาณสำรองหนี้ฯ (Allowances) สูงกว่าเงินสำรองที่ต้องกันตามเกณฑ์ TFRS9 ณ วันแรกที่เริ่มใช้คือ 1 ม.ค.63 ให้สามารถทยอยลดสำรองส่วนเกิน ณ วันแรก ตามวิธีเส้นตรงเป็นเวลา 5 ปี (ปีละ 20%) โดยให้แสดงเป็นยอดสุทธิสำหรับปริมาณสำรองที่ตั้งเพิ่มและปริมาณสำรองที่สามารถโอนกลับได้
ผลกระทบคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ต้องตั้งเพิ่ม (credit cost) ในแต่ละปีไปได้บ้างแต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าไม่ได้มีนัยฯ ต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มฯ ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการสำรองส่วนเกินที่ฝ่ายวิจัยได้รับจาก ธ.พ.ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา คือ พยายามจัดชั้นสินเชื่อที่มีปัญหาเป็น NPL สำหรับกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงไปเลย (qualitative NPL) หรือกันสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินเชื่อจัดชั้น special mention loan (ค้างชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน) เนื่องจากเมื่อบังคับใช้เกณฑ์ TFRS9 กลุ่มสินเชื่อเหล่านี้ เทียบเท่าสินเชื่อ NPL อยู่ดี ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ NPL ของกลุ่ม ธ.พ.เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วยจากผลกระทบเรื่องนี้ ดังนั้น ปริมาณสำรองส่วนเกินที่แสดง ณ สิ้น 2Q62 อาจมีแนวโน้มลดลงมากจากปัจจุบัน โดยเฉพาะ ธ.พ.ที่มีสินเชื่อจัดชั้น special mention loan ระดับสูงทั้ง BBL, KBANK, KTB, SCB
คงน้ำหนักน้อยกว่าตลาดสำหรับกลุ่ม ธ.พ. จาก 1) ทิศทางผลการดำเนินงาน 3Q62 ที่คาดไม่สดใส นอกจากผลกระทบจาก NIM ที่อ่อนตัวลง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ในเดือน ส.ค.62 โดยไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ยังเห็นผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตของ บ.ย่อย ได้แก่ KBANK (MTL) และ SCB (SCBLife) ที่คาดแสดงผลขาดทุนมหาศาลจาก bond yield ระยะยาวปัจจุบันที่ลดลงมากจากสิ้น 2Q62 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอีกใน 4Q62 ตามทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง และ 2) แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกระลอก แม้คาดหมายรอบนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย ช่วยลดผลกระทบต่อ spread ได้บ้าง แต่จะเป็น sentiment ลบต่อการลงทุนในหุ้น ธ.พ.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นกลุ่ม ธ.พ. ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนปัจจัยลบดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว และตามที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปใน Market Talk 13 ก.ย. 62 ว่า Valuation ของกลุ่ม ธ.พ. ในเชิง PBV ที่อยู่เพียง 0.92 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปีย้อนหลังและระดับต่ำสุดในปี 2559 ที่ 1.43 เท่า และ 1.03 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับเดียวกันที่ 1.50% (ดังรูปทางด้านล่าง)
Historical PBV ของ SETBANK
Valuation หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ “ซื้อ”
กลยุทธ์การลงทุน ช่วงสั้นเน้นถือครองหุ้นปันผลสูง (บวกปันผลพิเศษ) ได้แก่ TCAP (FV@B63) ส่วนหุ้น ธ.พ.ใหญ่ ที่มีการปรับฐานราคารับปัจจัยกระทบต่างๆ ไปมากแล้ว แนะทยอยซื้อ BBL (FV@B205) ที่เห็นปันผลกว่า 4.5% p.a. และมี PBV 19F อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.75 เท่าซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี ราคาหุ้นมี Upside(%) สูงเกือบ 20%
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ