- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 10 September 2019 15:36
- Hits: 2591
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การเปิด Long ในตลาด Future ของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง 9 วันรวมกว่า 7.42 หมื่นสัญญา เป็นตัวสะท้อนภาพของ Downside ที่จำกัด แต่การที่จะทำให้ SET Index ปรับขึ้นไปได้ต้องอาศัย Fund flow ที่ไหลเข้ามาจริงในตลาดหุ้น ซึ่งยังไม่ปรากฎในช่วงเวลานี้ ปัจจัยที่น่าสนใจในช่วงนี้คือการดีดตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งในเชิงกลยุทธ์ควรต้องเพิ่มหุ้นพลังงานไว้ในพอร์ตการลงทุน Top Picks แนะนำ PTT(FV@B 53), AMATA (FV@B 35.70) และ JWD (FV@B 12.30)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งผันผวนในแดนบวกและแดนลบตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งผันผวนทั้งแดนบวกและแดนลบตลอดวัน จากทางด้านต่างประเทศยังไม่มีประเด็นเสริมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางตลาดหุ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1671.22 จุด เพิ่มขึ้น 1.16 จุด (+0.07%) มูลค่าการซื้อขาย 4.67 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น BGRIM(+4.19%) GPSC(+2.14%) GULF(+0.63%) PTT(+1.12%) กลุ่มการแพทย์เช่น BDMS(+3.38%) BH(+2.56%) แต่โดนกดดันจากกลุ่มสื่อสารเช่น DTAC(-3.23%) TRUE(-4.13%) และกลุ่มอสังหาฯอย่างเช่น CPN(-1.09%) WHA(-0.81%) และ LH(-0.93%) เป็นต้น
การเปิด Long ต่อเนื่องในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 ของนักลงทุนต่างชาติจนถึงวันนี้มียอดสะสมรวม 9 วัน (28 ส.ค.-9 ก.ย.62) กว่า 7.42 หมื่นสัญญาถือเป็นสัญญาณเชิงบวก และน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็น Downside ที่จำกัดของตลาดหุ้นไทย แต่อย่างไรก็ตามการที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปได้ยังต้องการแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาตรงที่ตลาดหุ้นไทย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่ายังไม่เห็นการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย แต่กลับพบว่าในช่วงเวลาเดียวกัน (9 วันทำการที่ผ่านมา) นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิสะสม 5.18 พันล้านบาท แยกเป็นขายสุทธิ 7 วันทำการ และซื้อสุทธิ 2 วันทำการ โดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทยจึงอยู่ในภาวะที่ยังต้องรอแรงหนุนจาก Fund Flow ต่อไป ส่วนปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานเช้านี้มีประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการที่กลุ่มผู้ผลิตส่งสัญญาณลด Supply อีกรอบ เป็นแรงหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานรวมถึง SET Index ซึ่งในเชิงของการกำหนดกลยุทธ์ ถือเป็นอีกจุดเวลาหนึ่งที่นักลงทุนควรจะมีหุ้นในกลุ่มพลังงานไว้ในพอร์ต โดยวันนี้ฝ่ายวิจัยได้เลือกหุ้น PTT เข้าไว้ในพอร์ตจำลอง ด้วยน้ำหนัก 10% โดยสลับเอาหุ้น TU ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่สามารถ Outperform ตลาดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ออกไปชั่วคราว ส่วนปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามนอกจากการประชุมธนาคารกลางหลายประเทศที่ถูกคาดหมายว่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น ยังต้องติดตามความคืบหน้าของ Brexit ซึ่งยังมองไม่เห็นทางออกที่จะเป็นบวกต่อตลาดการเงิน ส่วนในปัจจัยในประเทศติดตามเรื่องการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการนำมาตรการที่ประกาศไปแล้วมาปฎิบัติ และมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ ที่จะประกาศออกมา
ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายจากสงครามการค้า, Brexit
ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยส่วนใหญ่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ จากสัญญาณผ่อนคลายในหลายประเด็น คือ
สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ผ่อนคลายขึ้น หลังจากทั้ง 2 ฝั่งกำหนดวันเจรจาอย่างเป็นทางการเดือน ต.ค.62 และล่าสุด สื่อต่างประเทศ อ้างแหล่งข่าวของประธานาธิบดีทรัมป์จะเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4.2 วงเงิน 1.6 แสนล้านเหรียญฯ (อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ฝั่งยังเก็บภาษีนำเข้ารวม 4.1 รอบ รวมวงเงินที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าอยู่ที่ 3.6 แสนล้านเหรียญฯ กระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝั่ง)
ความคาดหวังธนาคารกลางสำคัญจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในเดือน ก.ย. คือ 12 ก.ย. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่ามีโอกาสสูงที่ ECB จะลดดอกเบี้ยลง และกลับมาดำเนินมาตรการ QE หรือการเข้าซื้อพันธบัตรอีกครั้งหนึ่ง 17-18 ก.ย. ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตลาดเชื่อมั่น 100% ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยราว 0.25% ในรอบนี้ จากดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% เนื่องจากเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า
ประเด็น Brexit ที่ผ่อนคลายจากความคาดหวังว่าอังกฤษจะไม่ออกจากยุโรปแบบ No Deal หลังจาก สัปดาห์ที่แล้วสภาบนและสภาล่าง อนุมัติร่างกฎหมายป้องกัน No-deal Brexit และ ล่าสุดวานนี้ นายกรัฐมนตรีโบริส จอห์นสันของอังกฤษ ได้พ่ายแพ้ต่อการลงคะแนนเสียงในการยุบสภา ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่เหมือนที่ตั้งใจไว้ ทำให้ขั้นตอนหลังจากนี้ คือ นายกอังกฤษ จะต้องเสนอข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึง EU และต้องได้รับการอนุมัติจากสภาภายในวันที่ 31 ต.ค.62 และต้องดำเนินการร้องขอต่อสหภาพยุโรป(EU) เพื่อขยาย/เลื่อน วัน แยกตัวของอังกฤษออกจาก EU ไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากปัจจุบันกำหนดออก คือ 31 ต.ค.2562 สรุปคือ อังกฤษยังต้องออกจากยุโรป หรือเกิด Brexit ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดได้รับรู้ผลกระทบมามากแล้วในช่วงก่อนหน้า
ประชุม ครม.วันนี้ คาดอนุมัติมาตรการกระตุ้นเอกชน
วันนี้มีการประชุม ครม. คาดว่าที่ประชุมจะอนุมัติมาตรการที่ ครม. เศรษฐกิจเห็นชอบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดังที่ ASPS นำเสนอใน market talk เมื่อวานนี้ คือ
ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ยกเว้น 8 ปี สำหรับการลงทุนในพื้นที่ทั่วประเทศ (เดิมเน้นพื้นที่ EEC3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา) สำหรับโครงการที่มีวงเงินอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท และยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภายในปี 2563
ให้สิทธินำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 200% ระหว่างปี 2562-2563 เป็นต้น
มาตรการต่างๆคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนเอกชนในอนาคตและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงได้ โดยเฉพาะเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคม และกลุ่มขนส่ง-โลจิสติกส์ เช่น AMATA(FV@B 35.70), FPT (FV@B 20.10) และ JWD(FV@B 12.30)
และเชื่อว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน เพิ่ม คือ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอมาตรการเพิ่มวันหยุดพิเศษเพิ่ม 2 วัน ในเดือน ต.ค. ไม่นับเป็นวันหยุดตามประเพณีและวันลาพักร้อน แก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ราว 4.3%ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ) เชื่อว่าจะกระตุ้นต่อการท่องเที่ยวได้แต่ไม่มากนัก
ขณะที่ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ ครม. อนุมัติแล้ว หลักๆ คือ โครงการชิมช้อปใช้ ที่จะเริ่มเดือน ต.ค.-พ.ย.62 คือ จ่ายเงินอุดหนุนการท่องเที่ยวต่างจังหวัดแก่ประชาชนคนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านค้าหรือโรงแรม ที่ได้ลงทะเบียนกับรัฐไว้ ล่าสุด พบว่ามีร้านค้า/โรงแรมสนใจลงทะเบียนเพียง 3,300 ร้าน หรือคิดเป็นเพียง 8.25%ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4 หมื่นร้านค้า บ่งชี้ได้ว่าเม็ดเงินที่คาดว่าจะอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วง 3Q62-4Q62 อาจจะน้อยกว่าเคยคาดไว้ คาดว่าจะมีเพียงมาตรการงเงินในบัตสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 1,000 บาท ระยะเวลา ส.ค.-ก.ย.62 ที่น่าจะยังสามารถช่วยประคองการบริโภคเอกชนได้
ทุกปัจจัยสนับสนุนให้ PTT มี Momentum เอาชนะตลาดได้ดีในช่วงนี้
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 วันจากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. และล่าสุดวานนี้ปรับขึ้นแรง โดยมีปัจจัยหนุนจากทั้งฝั่ง Demand จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นที่ผ่อนคลาย และฝั่ง Supply มาจากคาดหวังกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC มีโอกาสตัดลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก ในการประชุม วันที่ 12ก.ย.นี้ (จากปัจจุบัน ที่ตัดลดราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึง 31 มี.ค. 2563) โดยมุ่งไปที่ ซาอุดาระเบีย (ผลิตน้ำมันอันดับ 1ของกลุ่ม OPEC ราว 9.83ล้านบารร์เรล/ หรือราว 33%) หลัง รมว. พลังงานคนใหม่เน้นย้ำจะมีการตัดลดกำลังการผลิตลงจากเดิม
ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ถือเป็น Sentiment ที่ดีต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมัน และปัจจุบันการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเป็นลักษณะสลับกลุ่มฯ กันผลักดันดัชนีให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Sector Rotation) เพราะฉะนั้นในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นขึ้นมาแรง บวกกับราคาหุ้นน้ำมันในตลาดหุ้นไทยยัง Laggard ราคาน้ำมันอยู่มาก ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าหุ้นน้ำมันน่าจะเป็นกลุ่มฯ ที่กลับมา Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ โดยชื่นชอบหุ้น PTT มากสุดในกลุ่มฯ ดังนี้
ปัจจุบันราคาหุ้น PTT ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบโลก และ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ สังเกตได้จากในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวกว่า 7.11% หนุนราคาหุ้น PTT เพิ่มขึ้นถึง 5.26% ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้นเพียง 1.76% เท่านั้น ทั้งนี้เชื่อว่าราคาหุ้น PTT ยังมี Momentum ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดเป็นลักษณะสลับกลุ่มกันขึ้น และราคาหุ้นยัง Laggard ราคาน้ำมันดิบโลก ทั้งในระยะสั้น (4 วันทำการที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลก 7.11% vs PTT 5.26%) และระยะยาว (น้ำมันดิบโลก 13.52%ytd vs PTT -2.17%ytd) อยู่มาก ซึ่งปกติแล้วราคาหุ้น PTT กับน้ำมันดิบโลกมักจะแปรผันตามกัน โดยมีค่า Correlation ย้อนหลัง 5 ปี สูงเกือบ 90%
เปรียบเทียบผลตอบแทนของ Dubai Oil, SET Index, Sector Energy และ PTT
ที่มา SET, ฝ่ายวิจัย ASPS
ในมุมพื้นฐาน PTT ยังมี Upside สูงถึง 17.8% และคาดหวังปันผลได้สูงถึง 4.5% ต่อปี นอกจากนี้ PTT ใกล้เข้าสู่ช่วงประกาศการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล โดยปกติแล้วหุ้นปันผลสูงมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีหลังจากวันประกาศจ่ายเงินปันผลถึงวันขึ้นเครื่องหมาย XD เสมอ ถือเป็นแรงผลักดันราคาหุ้นอีกแรง ด้วยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลจึงถือเป็นโอกาสดีในการสะสมลงทุน และฝ่ายวิจัยเลือกเป็น Top pick ในวันนี้
ขึ้นภาษีน้ำหวานเพิ่ม 1 ต.ค. 62 ... ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นเครื่องดื่มอย่างมีนัยฯ
ปัจจุบันสินค้าเครื่องดื่มที่จำหน่ายในประเทศ จะถูกจัดเก็บ “ภาษีสรรพสามิต” แบ่งเป็น 1.) ตามมูลค่า โดยน้ำอัดลมและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ถูกจัดเก็บในอัตรา 14% ส่วนน้ำผักผลไม้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น เช่น ชาและกาแฟ เสียในอัตรา 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ (ไม่รวม VAT 7%) 2.) ตามปริมาณน้ำตาล (ภาษีน้ำตาล) ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาล (กรัม / 100 มิลลิลิตร) ปัจจุบัน ตามที่ได้ประกาศใน “กฎกระทรวงการคลัง” เรื่อง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ณ วันที่ 15 ก.ย. 2560 จัดเก็บตั้งแต่ 0.10 – 1.00 บาท / ลิตร และจะปรับเพิ่มทุก 2 ปี ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ต.ค. 62 นี้ จะครบกำหนดที่จะถูกจัดเก็บเพิ่มภาษีเพิ่ม (รายละเอียดตารางด้านล่าง)
ฝ่ายวิจัยประเมินการขึ้นภาษีน้ำตาลในวันที่ 1 ต.ค. 62 นี้ ไม่มีผลต่อ OISHI, ICHI, CBG และ SAPPE อย่างมีนัยฯ อย่างไรก็ตามช่วงไตรมาสสามเป็น Low Season ของกลุ่มเครื่องดื่ม จึงแนะนำ SWITCH ไปยัง M (BUY : [email protected]) เน้นลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากราคาหุ้นวานนี้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังแจ้งการลงทุนในบจก. แหลมเจริญ ซีฟู้ด และ OISHI (BUY : FV@B 143) คาดหมาย Div Yield 3% ต่อปี แต่มีข้อควรระวังเรื่องสภาพคล่องการซื้อขายต่ำ
โครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 110506
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ