- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 29 August 2019 15:21
- Hits: 1812
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การที่นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าตั้งแต่ 1 ก.ย.62 เป็นต้นไป สหรัฐฯและจีนจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในรอบที่ 4 ก็เท่ากับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าที่ราคาหุ้นปัจจุบันได้ดูดซับความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว จึงเชื่อว่ากรณีสงครามการค้าไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นได้อีกมากนัก กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ฝ่ายวิจัยปรับพอร์ตโดยเพิ่มหุ้น PTT เข้าไป ส่วน Top Picks วันี้เลือก PTT (FV@B 53) และ MCS ([email protected]) รวมถึง JASIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งทรงตัวในกรอบแคบตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งทรงตัวในกรอบ 10 จุดตลอดวัน จากที่ Bond Yield ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงภาพความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลง ซึ่งปิดที่ระดับ 1616.93 จุด เพิ่มขึ้น 1.46 จุด (+0.09%) มูลค่าการซื้อขาย 4.64 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมีเช่น PTT(+0.61%) PTTEP(+1.31%) PTG(+6.40%) GULF(+2.46%) TOP(+1.25%) IVL(+4.10%) แต่โดนแรงกดดันจากกลุ่มค้าปลีกเช่น BJC(-3.62%) CPALL(-1.77%) RS(-0.59%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่เช่น SCB(-1.23%) และ BBL(-1.18%) เป็นต้น
เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 1 ก.ย.2562 เป็นต้นไป สหรัฐฯ และจีนจะเริ่มการเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าระหว่างกันเป็นรอบที่ 4 ซึ่งบนความเชื่อที่ตรงกันดังกล่าวก็น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นสำคัญต่างๆ ก็น่าจะสะท้อนภาพนี้ไปแล้ว ดังนั้นหากการจัดเก็บภาษีเกิดขึ้นจริงตามคาด ราคาหุ้นก็ไม่ควรที่จะถูกกดดันเพิ่มเติม แต่ในทางตรงข้ามหากเกิดการเจรจา แล้วทำให้ได้ผลสรุปออกมาในทางบวกก็น่าจะทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้เช่นกัน และเมื่อย่างเข้าเดือน ก.ย. ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะมีการประชุมธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงของประเทศไทย โดยถูกคาดหมายว่าจะเห็นการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการอัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลดีทางอ้อมต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไป หลังจากที่ Fund Flow ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยจนให้ Yileld ที่ไม่น่าสนใจแล้ว สำหรับกลยุทธ์วันนี้ ฝ่ายวิจัยให้ความสำคัญกับหุ้นในกลุ่มพลังงานมากขึ้น หลังจากที่ราคาปรับลดลงมาแรงกว่า ราคาน้ำมัน และ Underperform ตลาดฯ อย่างรุนแรง อีกทั้งเมื่อพิจารณาในทางปัจจัยพื้นฐาน พบว่ามี Downside จากประมาณการต่ำมาก ขณะที่ Dividend Yield ของหุ้นในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง วันนี้จึงมีการปรับพอร์ต โดยเพิ่มหุ้น PTT เข้าไปด้วยน้ำหนัก 10% และลด POPF ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นที่พักเงินออกไป ด้วยน้ำหนักเท่ากัน ส่วน Top Pick เลือก PTT และ MCS
Trade war และ Brexit ทำให้ Inverted Yield Curve ยังมีอยู่
ปัจจัยต่างประเทศที่ยังให้น้ำหนักคือ สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ปะทุและยืดเยื้อต่อ โดยในวันอาทิตย์นี้ 1 ก.ย. 2562 คือ วันครบกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารอบที่ 4 ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้า คือ ฝังสหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนอัตรา 15%วงเงินสินค้าที่จะถูกเก็บราว 1.1 แสนล้านเหรียญฯ ขณะที่ฝั่งจีนจะขึ้นภาษีนำเข้ากับสหรัฐอัตรา 5-10% วงเงินยังไม่มีรายะละเอียดชัดเจน แต่คาดราว 3 หมื่นล้านเหรียญฯ ซึ่งจุดเปลี่ยนในวันที่ 1 ก.ย. น่าจะเป็นประเด็นที่ตลาดรับรู้ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตามยังให้น้ำหนักกับการเจรจาของทั้ง 2 ฝั่งเพื่อหาข้อยุติ ในเดือน ก.ย. โดยวานนี้ รัฐมนตรีการคลังสหรัฐ นาย Steven Mnuchin เผยว่าจะมีการเจรจาการค้าเกิดขึ้นแน่ๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามยังให้น้ำหนัก แต่ไม่น่าจะมีน้ำหนักในทางลบเพิ่มเติม
Brexit ที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นที่อังกฤษจะออกจากยุโรป ในวันที่ 31 ต.ค.62 แบบ No deal หลังจากวานนี้ นายกอังกฤษ Boris Johnson เสนอข้อเรียกร้องให้พระราชินีเอลิซาเบธลงนามเปิดประชุม สภาวันที่ 14 ต.ค. และมีพระบรมราชานุญาตเรียบร้อยแล้ว (จากเดิมจะต้องเปิดประชุมสภาครั้งแรกในวันที่ 9 ก.ย.) โดยรวมจะทำให้วันประชุมสภาลดน้อยลง เพราะเหลือแค่ 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันออกที่ 31 ต.ค. และทำให้ฝ่ายค้านซึ่งต่อต้าน No-deal Brexit มีข้อจำกัดและโอกาสขัดขวางลดลง เปิดทางให้นายกผลักดันอังกฤษออกจากยุโรปแบบ No deal มากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อเงินปอนด์เทียบดอลลาร์อ่อนตัวลง
โดยรวมความกังวลจากปัจจัยภายนอกดังกล่าว ทำให้นักลงทุนยังคงย้ายเงินลงทุนเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย กดดันผลตอบแทนตราสารหนี้ลดลงต่อเนื่อง และทำให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve 10–2 ปี (IYC) ระหว่างวันอยู่หลายครั้ง และล่าสุด เกิดติดต่อกันข้ามวัน 3 วัน คือ อัตราผลตอบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ Bond Yield 2 ปี ที่ระดับ 1.49% ขึ้นมาสูงกว่า Bond Yield 10 ปี ที่ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.453% หรือพิจารณาได้จาก Spread อายุ 2 ปีและ 10 ปีที่ลดลง (Bond Yield 30 ปี ที่ลดลงทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.931%) ทำให้ตีความได้ว่าตลาดเชื่อมั่น การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วันที่ 17-18 ก.ย.2562 เชื่อมั่น 100% ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยราว 0.25% จากดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.25%
ระยะสั้นราคาน้ำมันดิบฟื้นแรง จากสต็อกน้ำมันที่ลดลง ดีต่อ PTT
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง 2 วันติดราว 5% โดยมีปัจจัยหนุนจากจากฝั่ง Supply หลังวานนี้สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ 10.02 ล้านบาร์เรล ดีกว่าที่ตลาดคาดลดลง 2.11 ล้านบาร์เรล และความคาดหวังกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC จะตัดลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกจากปัจจุบัน ที่ตัดลดราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึง 31 มี.ค. 2563
อย่างไรก็ตามฝั่ง Demand น้ำมันยังมีแนวโน้มชะลอตัวและถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังมีอยู่ ( 2 ประเทศบริโภคน้ำมันรวมกันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก)
3 ปัจจัย Laggard หนุนนำ PTT กลับมาโดดเด่น
ในระยะสั้นราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว ถือเป็น Sentiment ที่ดีต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมัน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มน้ำมันน่าจะสะท้อนประเด็นลบความต้องการน้ำมันที่หายไป จากสงครามทางการค้าจีนสหรัฐมาในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ฝ่ายวิจัยทำการค้นหาหุ้นน้ำมันที่น่าจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ โดยชื่นชอบหุ้น PTT มากสุดในกลุ่มฯ ด้วย 3 ปัจจัย Laggard สนับสนุน ดังนี้
ราคาหุ้น PTT Laggard ราคาน้ำมันดิบโลกอยู่มาก โดยราคาน้ำมันดิบโลก (Dubai) ปรับตัวขึ้นมากว่า 20% (ytd) ขณะที่ ราคาหุ้น PTT ปรับตัวลดลงมาแล้วถึง 13%(ytd) ปกติแล้วราคาหุ้น PTT กับ น้ำมันดิบโลกมักจะแปรผันตามกันอย่างมาก โดยมีค่า Correlation ย้อนหลัง 5 ปี สูงเกือบ 90%
ราคาหุ้น PTT Laggard ทั้งกลุ่มฯ และตลาดฯ โดยหุ้นในกลุ่มพลังงานให้ผลตอบแทนบวก 3% (ytd) และ SET Index ที่เพิ่มขึ้น 3.4%(ytd) ขณะที่ ราคาหุ้น PTT ปรับตัวลดลงกว่า 11%(ytd)
ราคาหุ้น PTT Laggard ในมุมของ Valuation อยู่มาก เนื่องจากฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐาน PTT ด้วยสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบปี 2562 แบบอนุรักษ์นิยมที่ 60 เหรียญ/บาร์เรล โดยตั้งแต่ต้นปีราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 63.97 เหรียญ/บาร์เรล ถ้าให้สอดคล้องกับสมมุติฐาน ในอีก 4 เดือนที่เหลือของปี ราคาน้ำมันต้องปรับตัวลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 52.37 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบันที่ 59.15 เหรียญ/บาร์เรล อยู่มาก ดังนั้นในมุมพื้นฐานแบบอนุรักษ์นิยมสุดๆ PTT ยังมี Upside สูงเกือบ 30% และคาดหวังปันผลได้สูงเกือบ 5% ต่อปี จึงถือเป็นโอกาสดีในการสะสมลงทุน
สรุปคือ 3 เหตุผล Laggard ของหุ้น PTT กับราคาน้ำมันดิบโลก, ตลาดฯ และ Valuation หนุนทำให้เป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมลงทุนหุ้นพื้นฐานแกร่ง ที่มีขนาดใหญ่สุดในตลาดฯ อย่าง PTT
หุ้นน่าลงทุน เลือก PTT และ MCS
สถานการณ์การลงทุนวันนี้จะมีโอกาสฟื้นตัว จากแรงผลักดันของหุ้นในกลุ่มพลังงาน แต่ด้วยประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดูจะเป็นประเด็นที่สร้างความอ่อนไหวที่สุดต่อทิศทางตลาดหุ้น อีกทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก ฝ่ายวิจัย ASPS จึงยังให้ความสนใจไปในหุ้นที่มีปันผลสูง ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการที่รัฐเรียกเก็บภาษี 15% ในกองทุนรวมตราสารหนี้ (มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนถูกโอนย้ายมาในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) ดังนี้
นอกจากนี้ ยังมีกระแสการจัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืน (เน้นหุ้นยั่งยืนตามเกณฑ์ของตลาดฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน) แทนกองทุน LTF น่าจะช่วยเสริมให้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองกองทุนพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่ และสภาพคล่องสูง (Market Cap > 2 หมื่นล้านบาท) คาดว่าจะเป็นที่จับจ้องในการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี
Top pick ในวันนี้ แนะนำ PTT (FV@ B 53.00) ราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัว ตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก และลุ้นเงินปันผลสูงเกือบ 5% ต่อปี โดยปกติจะประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลเดือน ส.ค.
และ MCS (FV@B 11.30) โดยคาดกำไรจะไต่ระดับขึ้นตั้งแต่งวด 3Q62 และทำจุดสูงสุดของปีในงวด 4Q62 จากการคว้างานใหม่อีก 2 โครงการในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งหนุนกำไรปี 2562 จะเติบโตก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 440 ล้านบาท จาก 417 ล้านบาทในปี2561
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ