- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 21 August 2019 16:56
- Hits: 3341
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผลประกอบการงวด 1H62 ของบริษัทจดทะเบียนทำได้ที่ 4.82 แสนล้านบาท คิดเป็น 46.9% ของประมาณการทั้งปี ทำให้นักวิเคราะห์ต้องปรับลดประมาณการลงจากเดิม 2.69% มาอยู่ที่ 9.99 แสนล้าบบาท คิดเป็น EPS 100.54 บาท/หุ้น หากกำหนดเป้าหมายอย่างอนุรักษ์นิยม จะให้ค่า PER ที่ 16.45 เท่า หรือ 1654 จุด วันนี้มีการปรับพอร์ตโดยลด MCS และ POPF ลงอย่างละ 5% มาใส่หุ้น DRT Top Picks เลือก BCH (FV@B21) และ DRT (FV@B 6.58)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากประเด็น GDP Growth งวด 2Q62 ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดฯคาดอยู่ที่ 2.3% จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1625.57 จุด ลดลง 11.69 จุด (-0.71%) มูลค่าการซื้อขาย 5.68 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น EA(-1.55%) PTT(-1.16%) PTTEP(-1.62%) กลุ่มธ.พ.เช่น BBL(-2.31%) KBANK(-1.86%) SCB(-2.36%) และกลุ่มขนส่งอย่างเช่น AOT(-1.75%) BEM(-2.68%) BTS(-0.78%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น SCC(-1.45%) PTTGC(-2.76%) และ CPN(-1.86%) เป็นต้น
งวด 1H62 บริษัทจดทะเบียนทำกำไรสุทธิรวมได้ที่ 4.82 แสนล้านบาท ลดลง 13.15% YoY และคิดเป็นสัดส่วน 46.9% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2562 ซึ่งฝ่ายวิจัยได้ทำประมาณการไว้ที่ 1.027 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย และหลังจากที่นักวิเคราะห์ของ ASPS ได้ทำ Company Visit หลังการประกอบงบแล้วพบว่าหลายบริษัทต้องดำเนินการปรับประมาณการกำไรสุทธิซึ่งมีทั้งปรับเพิ่มชึ้นและ ลดลง โดยในส่วนของบริษัทที่ปรับประมาณการขึ้นส่วนใหญ่มาจากการบันทึกรายการพิเศษจากการขายสินทรัพย์ – เงินลงทุน อย่างเช่น TRUE, CPF, SCB เป็นต้น ส่วนบริษัทที่ถูกปรับลดประมาณการอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น PTTGC, SCC, IVL, IRPC และ BANPU และยังมีกลุ่มธุรกิจสายการบินเช่น THAI, BA และ AAV ส่วนผลสรุปรวมของการปรับประมาณการพบว่าทำให้ฐานกำไรสุทธิรวมปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนลดลงจากประมาณการเดิม 2.76 หมื่นล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิตามประมาณการใหม่อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท และเมื่อแปลงเป็นกำไรสุทธิจะได้ที่ 100.54 บาท/หุ้น ลดลงจากเดิม 103.32 บาท/หุ้น ทั้งนี้หากยืนระดับค่า PER ตามเป้าหมายเดิมอย่างอนุรักษ์นิยมที่ 16.45 เท่า จะได้ SET Index เป้าหมายที่ 1654 จุด และอาจปรับขึ้นไปได้ที่ PER 17.3 เท่าได้ หาก Fund Flow ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นใหม่อีกรอบ ซึ่งคำนวนออกมาเป็น SET Index ได้ที่ 1740 จุด สำหรับกลยุทธ์ลงทุนวันนี้ฝ่ายวิจัยได้ทำการปรับพอร์ตโดย ขายทำกำไรหุ้น MCS ออก 5% พร้อมลดน้ำหนักใน POPF ลง 5% และนำน้ำหนักการลงทุนที่ได้ใส่เข้าไปในหุ้น DRT ซึ่งเป็นหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูง และมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล
ตลาดให้หนัก Fed minutes และประชุม Jackson Hole
ต่างประเทศยังคงให้น้ำหนักกับสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ที่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอยู่ และฝั่งยุโรป ความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายประเทศเริ่มสูงขึ้น อาทิ ปัญหา Brexit ที่มีโอกาสสูงที่จะออกจากยุโรปแบบ No deal และล่าสุด คือ อิตาลีวานนี้นายกรัฐมนตรีอิตาลีปัจจุบันได้ประกาศลาออก ทำให้มีความเสี่ยงเลือกตั้งใหม่ต่อไป ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ทำให้ตลาดคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลักทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐและ ยุโรปจะเดินหน้าผ่อนคลายทางการเงิน โดยให้น้ำหนักช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ 22 ส.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะเผยแพร่รายงานการประชุม (Fed Minute) ของรอบประชุมรอบ 31ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยปรับลง 0.25% อยู่ที่ 2.25% โดยในรายงานจะมีเนื้อหาที่บ่งชี้ถึงสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในการประชุม Fed ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ ทั้งนี้ จากความเสี่ยงสงครามการค้าที่ยังคงอยู่ หนุนให้ตลาดคาดว่า Fed จะยังมีโอกาสลดดอกเบี้ย สะท้อนจากผลสำรวจใน Bloomberg คาดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือน ก.ย. 100% โดยคาดลด 0.25% ประมาณ 90% และคาดลด 0.5% ประมาณ 10%
และ 22-24 ส.ค. ให้น้ำหนักการประชุม Jackson Hole ซึ่งเป็นการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรีการคลังจากทั่วโลก อาทิ ประธาน Fed นาย Jerome Powell, ประธาน ECB นาย Mario Draghi, ประธาน BOJ นาย Haruhiko Kuroda เป็นต้น โดยให้น้ำหนักการกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed 23 ส.ค. ว่าจะมีการส่งสัญญาณนโยบายเพิ่มหรือไม่และให้น้ำหนักท่าทีของประธาน ECB ด้วย ซึ่งหากมีการส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงินมากกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลก
Fund Flow ไหลออกทั้งหุ้นและตราสารหนี้ไทย กดดันบาทชะลอแข็งค่า
วานนี้ (20 ส.ค.2562) เป็นวันแรกที่การลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนรวมจะถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% บนดอกเบี้ย ซึ่งยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ สังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ของกองทุนรวมในวานนี้ยังคงอยู่ในระดับปกติที่ 5.98 หมื่นล้านบาท (ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในเดือน ส.ค.ราว 5.0 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ยังเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องทั้งในตราสารระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 28,993 ล้านบาท และ 3,816 ล้านบาท ตามลำดับ
ในส่วนของแรงซื้อตราสารหนี้ไทยจากต่างชาติ ปกติแล้วช่วงตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนโยกเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น แต่กลับเห็นแรงขายตราสารหนี้ไทยจากต่างชาติอย่างต่อเนื่องปริมาณกว่า 2.41 หมื่นล้านบาท หลังจาก กนง.มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึงปัจจุบัน (8 - 20 ส.ค. 2562) ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการขายทำกำไร รวมถึงผลตอบแทนในการลงทุนกลับลงมาต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่าง สหรัฐ ทำให้เห็นการโยกเม็ดเงินออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แรงขายดังกล่าวกดดันให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดตลอดกาล 1.47% โดยไต่ระดับขึ้นมาจนล่าสุดอยู่ที่ 1.54% ใกล้เคียงกับ Bond Yield 10 ปี สหรัฐ 1.56%
สรุปคือ ภาพรวมตลาดการเงินในประเทศ ยังถูกกดดันจากเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกทั้งจากตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. 2562 กว่า 4.76 หมื่นล้านบาท (mtd) และไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย ตราบใดที่ Fund Flow ยังไหลออกจะกดดันให้ค่าเงินบาทมีโอกาสชะลอการแข็งค่า แม้ตลาดคาดว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยในช่วง 18 – 19 ก.ย. 2562 นี้ก็ตาม ส่วนผลกระทบจากการเก็บภาษีจากผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่ต้องคอยติดตามผลลัพธ์ต่อจากนี้
มาตรการกระตุ้นการบริโภคท่องเที่ยว ลงทุนเอกชน มาตามนัด!!
ที่ประชุม ครม. วานนี้ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินทั้งหมด 3.16 แสนล้านบาท หรือ ( 2%ของ GDP ไทยปี 2561) ซึ่งเป็นไปตามที่นำเสนอในช่วงต้นสัปดาห์ทุกมาตรการ โดยมุ่งไปที่ 3 กลุ่ม คือ การบริโภคครัวเรือน ท่องเที่ยว และ การลงทุนเอกชน
ดังที่ ASPS นำเสนอว่ามาตรการที่น่าจะเร่งด่วนและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ทันที จะมีเพียงราว 3-4 หมื่นล้านบาท (หรือ 0.25% ของ GDP ไทย ปี 2561) คือ เพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท จาก 500 บาท ซึ่งจะเริ่ม ส.ค.-ก.ย. และอัดฉีดเงิน 1,000 บาท/คน รวม 10 ล้านคนท่องเที่ยวที่มิใช่ภูมิลำเนา ซึ่งจะเริ่ม 27 ก.ย.- 30 พ.ย.2562 เป็นต้น ซึ่งไม่น่าเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2H62
โดย ASPS ให้น้ำหนักมาตรการกระตุ้นรอบที่ 2 ของรัฐบาลที่ จะเสนอครม. วันที่ 30 ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะมุ่งไปที่การดึงดูดการลงทุนเอกชน และต่างชาติ และที่จะเตรียมย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีสงครามการค้า เป็นต้น โดยเฉพาะ BOI และคาดหวังการผ่อนปรนการค้า ภาคธุรกิจ ผ่อนปรนกฎระเบียบ อาทิ หาบเร่แผงลอย , การประมง ที่ปัจจุบันเข้มงวด และเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการการบริโภคอื่น อาทิ ช็อปช่วยชาติ, การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% (กำลังพิจารณา) เป็นต้น โดยรวมจะดีต่อ หุ้นกลุ่มนิคม AMATA และกลุ่มค้าปลีก (ROBINS BJC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น DCC และ DRT ได้รับผลบวกจากมาตรการเช่นกัน
โดยชื่นชอบ DRT ([email protected]) เจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ “กระเบื้องตราเพชร” เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง หนุนกำไรปี 2562 เติบโต 13.8%yoy อยู่ที่ 423 ล้านบาท เป็น 481 ล้านบาท และมีจุดเด่นจากลุ้นปันผลระหว่างกาล 0.2 บาท/หุ้น เดือนสิงหาคมนี้ คิดเป็น Dividend Yield 3.3% และปัจจุบัน ปัจจุบัน PER ซื้อขายไม่แพงอยู่ที่ 12.9x
ปรับลดกำไรตลาด 2.7% ... EPSปี 62 อยู่ที่ 100.54 บาท/หุ้น
ผลประกอบการงวด 2Q62 ของบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวมกัน 2.16 แสนล้านบาท ปรับตัวลดลงถึง 18.7%qoq จากฐานกำไร 1Q61 ซึ่งอยู่ที่ 2.66 แสนล้านบาท และลดลง 17.1%yoy จากฐานกำไรงวด 2Q61 ที่ 2.61 แสนล้านบาท นับเป็นการหดตัวที่ค่อนข้างมาก ทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิ 1H62 อยู่เพียง 4.83 แสนล้านบาท (คิดเป็น 46.79% ของประมาณการฯ ทั้งปี 2562 ที่ 1.03 ล้านล้านบาท) ลดลง 13.15% เมื่อเทียบกับฐานเดียวกันของปีก่อน (1H61) และเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงปัจจัยเฉพาะ จึงนำไปสู่การปรับเพิ่ม/ลด ประมาณการฯ โดยพอสรุปได้ดังนี้
• หุ้น 10 อันดับแรกที่มีการปรับเพิ่มประมาณการฯ ได้แก่ TRUE (ภาพธุรกิจดีขึ้น และกำไรพิเศษขายทรัพย์สินใน 3Q62), SCB (ขายเงินลงทุน SCB Life) และ KTB (รายได้พิเศษจากการขายทอดตลาดหลักประกันที่ดินของ AQ) ขณะที่ CPF, ADVANC เกิดจากภาพธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน
• หุ้น 10 อันดับแรกที่มีการปรับลดประมาณการฯ ได้แก่ หุ้นที่กำไรผันผวนตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังถูกกดดันจากปัญหาสงครามการค้าซึ่งส่งผลให้ Demand ลดลง นำโดยหุ้น PTTGC SCC, IVL, IRPC, BANPU ตามด้วยกลุ่มขนส่งทางอากาศทุกราย THAI, BA, AAV ผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา กนง. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.5% ถือเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย และทำให้ ธ.พ. ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ซึ่งมีผลกระทบต่อประมาณการฯกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2562-63 ลง 3.8% และ 5.2%
และเมื่อรวมกับการปรับประมาณการฯ รายบริษัทข้างต้น ทำให้กระทบต่อประมาณการฯ รวมของตลาดปี 2562 เดิมที่ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลง 2.7% มาอยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS 100.54 บาท/หุ้น (เดิม 103.32 บาท/หุ้น) ทำให้ดัชนีเป้าหมาย SET Index ใหม่ลดลงมาอยู่ที่ราว 1609 – 1654 จุด อิง P/E 16 - 16.45 เท่า
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ