- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 19 August 2019 16:01
- Hits: 1292
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าภาวะการเกิด Inverted Yield Curve ในรอบนี้น่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และผลกระทบในเชิง Sentiment ต่อตลาดหุ้นจะค่อยๆ หมดไป อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ Fund Flow ยังไม่ไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้น ก็น่าจะทำให้ Upside มีอยู่อย่างจำกัด ฝ่ายวิจัยยังคงไม่มีการปรับพอร์ตในวันนี้ ส่วนหุ้น Top Picks เลือก TASCO ([email protected]) และ FPT ([email protected]) จากภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นหลังการซื้อ GOLD สำร็จ บวกกับธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวขึ้นตลอดวัน
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงเช้าและบ่ายจนทะลุแนวต้าน 1620 จุด และสุดท้ายปิดที่ระดับ 1631.40 จุด เพิ่มขึ้น 27.37 จุด (+1.71%) มูลค่าการซื้อขาย 6.60 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มพลังงานเช่น PTT(+1.18%) PTTEP(+2.03%) TOP(+0.78%) EA(+2.21%) กลุ่มธ.พ.เช่น BBL(+3.59%) KBANK(+1.61%) SCB(+2.90%) และกลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น CPALL(+2.42%) RS(+8.28%) BJC(+1.44%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่างเช่น AOT(+1.44%) TRUE(+5.00%) และ SCC(+1.97%) เป็นต้น
การเกิด Inverted Yield Curve ในรอบนี้มีจุดที่แตกต่างสำคัญจากรอบที่ผ่านๆ มาประการหนึ่งคือ ระดับของ Bond Yield โดยพบว่าใน 2 รอบล่าสุด (รอบก่อนเกิด Dot-Com Crisis และรอบก่อนเกิด Subprime Cirsis) ระดับ Bond Yield สหรัฐฯ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่บริเวณ 5 – 7% ขณะที่การเกิดขึ้นในรอบปัจจุบันอยู่ที่บริเวณ 2 – 2.5% เท่านั้น และหากไปพิจารณาทิศทางของ Bond Yield หลังจากเกิด Inverted Yield Curve ก็จะพบว่าเห็นการปรับตัวลดลงมาอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่แตกต่างจากรอบปัจจุบัน เนื่องจาก Downside ของ Bond Yield เหลืออยู่น้อยมากๆ สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ฝ่ายวิจัยเห็นว่า การเกิด Inverted Yield Curve ในรอบนี้ น่าจะเป็นเพียงเหตุการณ์ในช่วงสั้นๆ และมีโอกาสที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนรอบที่ผ่านๆ มากไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์แวดล้อมประกอบไปด้วย เฉพาะอย่างยิ่งกรณีของสงครามการค้า ประเด็นในประเทศที่ต้องติดตามในช่วงนี้เป็นเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจซึ่งเช้าวันนี้จะมีการประกาศตัวเลข GDP Growth ในงวด 2Q62 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดคาดว่าน่าจะอยู่ในกรอบบริเวณ 2.4 – 2.7% นับเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำ และผลักดันให้รัฐบาลต้องเร่งนำแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมาบังคับใช้ให้เกิดผล ทั้งนี้ในส่วนของผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนคาดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อหุ้นในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เน้นที่ ท่องเที่ยว ค้าปลีก และ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาด Market Cap แล้ว อาจไม่ได้เป็นแรงขับเคลี่อนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปได้อย่างมีนัยสำคัญ กลยุทธ์พอร์ตการลงทุนช่วงนี้ ฝ่ายวิจัยยังอยู่ในโหมดของความระมัดระวัง โดยคงน้ำหนักไว้ตามเดิม กล่าวคือมีหุ้นในอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยราว 50% ภาพรวมวันนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักประชุม Jackson hole, Fed minutes และ GDP 2Q62 ของไทย
ตลาดหุ้นโลกสัปดาห์นี้ให้น้ำหนัก 22 ส.ค. รายงานการประชุม (Fed Minute) ของรอบประชุมรอบ 31ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยปรับลง 0.25% อยู่ที่ 2.25% โดยให้น้ำหนักในรายงานจะมีเนื้อหาที่บ่งชี้ถึงสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในการประชุม Fed ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ ผลสำรวจใน Bloomberg คาดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือน ก.ย. 100% โดยคาดลด 0.25% ประมาณ 63% และคาดลด 0.5% ประมาณ 37%
และ 22-24 ส.ค.การประชุม Jackson Hole ความสำคัญคือ ผู้เข้าร่วมประชุม คือ ผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรีการคลังจากทั่วโลก อาทิเช่น ประธาน Fed นาย Jerome Powell, ประธาน ECB นาย Mario Draghi, ประธาน BOJ นาย Haruhiko Kuroda เป็นต้น ทั้งนี้ ให้น้ำหนักว่าในการประชุมครั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะที่ไทยวันนี้ให้น้ำหนักสภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP Growth งวด 2Q62 ตลาดคาดเฉลี่ย 2.4%yoy ASPS คาด 2.7%ชะลอจากงวด 1Q62 ที่ขยายตัว 2.8% หลักๆถูกกดดันจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า (ส่งออกเฉลี่ย 6M62 หดตัว 2.9% เทียบกับ ASPS คาด ทั้งปี 2562 หดตัว 3%) และการบริโภคครัวเรือนที่น่าคาดชะลอตัว จากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากเผชิญปัญหาภัยแล้ง ซึ่งหาก GDP Growth ออกมาต่ำกว่าที่คาดเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเป็น Sentiment เชิงลบกดดันตลาด
Inverted Yield curve ในสหรัฐ ไม่น่ารุนแรง
ดังที่ ASPS นำเสนอใน market talk ตั้งแต่ 15-16 ส.ค. ประเด็น Inverted Yield Curve คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(Bond Yield) ระยะยาวของสหรัฐลดลงจนต่ำกว่าระดับอัตราผลตอบแทนระยะสั้น (Inverted Yield Curve) ระหว่าง Bond Yield 10 ปี และ Bond Yield 2 ปีของสหรัฐในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดเกิคความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ดังเช่นในอดีต Inverted Yield Curve เคยเกิดขึ้นช่วงปี 2543 และ 2549-2550 ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2544 และ 2551-2552 กดดันตลาดหุ้นโลกปรับฐาน
อย่างไรก็ตาม ASPS เชื่อว่า Inverted Yield Curve ในรอบนี้ไม่น่าจะแสดงถึงโอกาสการเกิดวิกฤตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการเกิด Inverted Yield Curve ในอดีต 2 ที่ผ่านมานั้น Bond Yield อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเห็นได้จาก
•Inverted Yield Curve ช่วงปี 2543: Bond Yield 2 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.23% และ Bond Yield 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5.96%
•Inverted Yield Curve ช่วงปี 2549-2550: Bond Yield 2 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.81% และ Bond Yield 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 4.73%
•ปัจจุบัน: Bond Yield 2 ปี เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี (ytd) อยู่ที่ระดับ 2.18% และ Bond Yield 10 ปี เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ราว 2.37%
โดยรวมทำให้ ASPS เชื่อว่า Downside ของ Bond Yield ปัจจุบันมีอยู่น้อยเทียบกับอดีต ส่งผลให้ Bond Yield สามารถปรับตัวลดลงได้ไม่มากเมื่อเทียบกับครั้งก่อน จึงมีโอกาสที่ Bond Yield ระยะยาวจะลดลงไปต่ำกว่า Bond Yield ระยะสั้นได้น้อย หรือส่งผลให้มีโอกาสเกิด Inverted Yield Curve น้อยลง
และในอีกทางหนึ่ง Inverted Yield Curve เป็นผลจากความของตลาดที่ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว หนุนความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ Fund Flow มีแนวโน้มไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย จากประเด็นดังกลาวเชื่อว่า Downside ของ SET Index น่าจะจำกัดบริเวณ 1600 เชื่อว่าสามารถทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาปรับฐานลงมา
ครม.เศรษฐกิจ เดินหน้ามาตรการกระตุ้น 3.16 แสนล้านบาท
วันศุกร์ที่แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติเตรียมจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วง 2H62 วงเงินรวมทั้งหมด 3.16 แสนล้านบาท หลักๆ มุ่งไปที่ 3 กลุ่ม คือ การบริโภค , ท่องเที่ยว และ การลงทุนเอกชน(รายละเอียดดังรูป) และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติวันที่ 20 ส.ค.
ทั้งนี้หากพิจารณา วงเงินจากมาตรการดังกล่าวทั้งหมด ที่รัฐคาดว่าจะอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 64.5% หรือราว 2 แสนล้านบาท คือ ผ่านธนาคารของรัฐ อาทิ ธกส., ธนาคารออมสิน จะช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านการพักชำระหนี้กองทุน หรือลดดอกเบี้ย และอีก 35.5% หรือราว1.1 แสนล้านบาทเป็นวงเงินจากงบประมาณประจำปี และหากพิจารณาเม็ดเงินที่คาดว่าจะอัดฉีดเข้าไประบบเศรษฐกิจได้ทันทีจากวงเงินทั้งหมด 3.1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะมีเพียงราว 3-4 หมื่นล้านบาท (หรือ 0.25% ของ GDP ไทย ปี 2561ที่อยู่ราว 16.3 ล้านล้านบาท) อาทิ มาตรการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาท จาก 500 บาท, อัดฉีดเงิน 1,000 บาทท่องเที่ยวที่มิใช่ภูมิลำเนา เป็นต้น
โดยรวม ASPS เชื่อว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไป น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการเติบโต เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
Fund flow ไหลออกจากตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นเดือนคาด Downside จำกัด
วันศุกร์ที่ผ่านมา ภาพรวมต่างชาติยังคงขายสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่า 703 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) และเป็นการขายสุทธิถึง 4 ประเทศ สวนทางกับตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ถูกซื้อสุทธิ 5 ล้านเหรียญ(หลังจากขายสุทธิ 8 วัน) ส่วนประเทศที่เหลือขายสุทธิ เริ่มจากตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 406 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) เกาหลีใต้ 87 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 12) อินโดนีเซีย 50 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 164 ล้านเหรียญ หรือ 5.0พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) สวนทางกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 7.7 พันล้านบาท
ความกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยังคงมีอยู่ซึ่งทำให้ทิศทางของ Fund Flow ไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยจึงทำให้ตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. 62 เป็นเดือนที่ถูกต่างชาติขายสุทธิสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท (มากที่สุดในทุกเดือน)และ ถูกช็อตสุทธิสัญญา SET50 Futures สูงกว่า 7.2 หมื่นสัญญา จึงเกิดภาวะ Inverted Bond Yield ของสหรัฐฯขึ้น (ในช่วงสั้นระหว่างวัน) แต่ในปัจจุบันคาด Downside จำกัดตาม Bond Yield 10 ปีของสหรัฐที่ต่ำกว่าในอดีต และความกังวลประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ คาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยให้จำกัด Downside ของตลาดหุ้นไทยอีกทาง
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กลยุทธ์ลงทุน ... เน้นหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว ชอบ TASCO, FPT
ตลาดน่าจะรอหลายปัจจัย โดยเฉพาะมุมมองต่อเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของแต่ประเทศในการประชุม Jackson Hole ส่วนประเด็นสงครามการค้าอยู่ในโหมดผ่อนคลายช่วงสั้นและยังคงต้องให้น้ำหนักต่อไป ขณะที่ในประเทศเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยหนุนตลาดหุ้น แต่แรงกระตุ้นจะมีผลผลักดันไม่มากนัก ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรกระตุ้นกำลังซื้อ และเน้นหุ้นปลอดภัย พื้นฐานเติบโตและที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว
Top Picks วันนี้ แนะนำ FPT (FV@B 20.30) จะมี Analyst Meeting วันนี้ สำหรับกำไรสุทธิงวด 3Q62 (เม.ย.-มิ.ย. 62) เท่ากับ 279 ล้านบาท เติบโต 332.45%yoy หลักๆ มาจากรายได้การขายอสังหาฯ และรายได้จากการให้เช่าและบริการโรงงาน/คลังสินค้าได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ out look ธุรกิจ คาดจะเติบโตก้าวกระโดด ล่าสุด FPT ผนึกกำลังกับ เซ็นทรัล รีเทลเซ็นต์สัญญาลงนามสัญญาเช่า warehouse เพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า Omnichannel ขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 75,000 ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 15 ปี และยกระดับคลังสินค้าสู่การเป็น "โลจิสติกส์แคมปัสระดับเวิลด์คลาส" แห่งแรกของไทย รองรับดิจิทัลเทรนด์และเทคโนโลยีโลจิสติกส์ในอนาคต อีกทั้งการซื้อกิจการ GOLD จะเติมเต็มให้ FPT เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯครบวงจร ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมงบการเงินของ GOLD เข้ามา แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าพื้นฐานให้ FPT อีก 1.14 บาท ซึ่งมูลค่าพื้นฐาน FPT จะขึ้นเป็น 21.44 บาท
และยังคงชื่นชอบ TASCO (FV@B 22.50) ทิศทางราคายางมะตอยที่เริ่มขยับขึ้น ประกอบกับใน 4Q62 คาดว่าจะได้รับเงินสินไหมประกันภัยเข้ามาอีกก้อนหนึ่ง หนุนฐานกำไรครึ่งปีหลังเติบโต ขณะที่ราคายังมี Upside เปิดกว้างมากถึง 25% จากมูลค่าพื้นฐานที่ 22.50 บาท จึงยังคงจูงใจให้น่าลงทุน
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ