- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 30 September 2014 19:13
- Hits: 2037
บล.ฟินันเซีย ไซรัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
ระวัง! SET จบรอบขาขึ้นและเริ่มปรับลงกว่า 100 จุด..ขายแล้วถือเงินสด
กลยุทธ์ : หลังจาก SET ขยับขึ้นถึงระดับดัชนีเป้าหมายที่ FSS คาดไว้แล้วบริเวณ 1600 จุดแล้ว ก็เริ่มมีแรงขายออกมากดดันมากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม ทำให้เรามองว่าตลาดมีความเสี่ยงต่อการที่จะจบรอบขาขึ้นในช่วงท้ายเดือนนี้หรืออย่างช้าต้นเดือนหน้าตามที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว และต้องระวังการกลับไปปรับตัวลงในระดับ 100-200 จุดในเดือนถัดๆ ไป จึงแนะนำให้ขายลดพอร์ตแล้วถือเป็นเงินสดไว้ก่อนดีกว่า
หุ้นเด่นทางเทคนิค : PS, LPN, GLOW(short)
แนวโน้ม : หลังจาก SET ขยับบวกขึ้นด้วยกรอบจำกัดมาหลายวัน โดยไม่มีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมเข้ามาช่วย ขณะที่เมื่อวานนี้มีทั้งตัวเลขการส่งออกของไทยที่ไม่ค่อยดีนัก และปัญหาการชุมนุมในฮ่องกงที่กดดันความมั่นใจของนักลงทุน จึงทำให้ SET มีจังหวะปรับตัวย้อนลงแรงพอควรในช่วงก่อนปิดตลาดภาคบ่าย โดยแรงซื้อพยุงที่เคยมีเข้ามาก็เริ่มแผ่วลงไปด้วย ส่วนเช้านี้ยังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ที่ยังวิตกต่อสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนได้ ซึ่งล่าสุดธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในฮ่องกงก็ปิดทำการไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ความอ่อนแอของยอดการทำสัญญาขายบ้านของสหรัฐก็ยังเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมอีก รวมทั้ง SET ได้ขยับขึ้นมาถึงระดับดัชนีเป้าหมายที่ FSS คาดไว้สำหรับรอบนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรามองว่าโอกาสที่ดัชนีจะสูงกว่า 1600 จุดได้มากๆ หรือยืนสูงกว่าได้นานๆ มีความเป็นไปได้น้อย และต้องระวังการเปลี่ยนไปเป็นแกว่งตัวลงต่อเนื่องแทนไว้ด้วย ดังนั้น FSS จึงยังแนะนำให้เน้นขายลดพอร์ต เพื่อถือเป็นเงินสดไว้ก่อนดีกว่า
แนวรับ 1580-1575 , 1570-1562 จุด แนวต้าน 1590-1592 , 1595-1600 จุด
Fund Flow วานนี้ยังไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 14 โดยส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไต้หวัน US$404 ล้าน ไทย US$54 ล้าน อินโดนีเชีย US$44.8 ล้าน และเวียดนาม US$1.6 ล้าน แต่ซื้อในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ US$66.7 ล้าน และ เกาหลีใต้ US$15 ล้าน ค่าเงินภูมิภาคเช้านี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง Flow น่าจะยังไหลออกต่อแต่เบาบางรอผลประชุม ECB ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ที่คาดว่าจะออก QE กระตุ้นเศรษฐกิจ
ข่าว/หุ้นเด่นมีประเด็น
(-) เศรษฐกิจเดือนส.ค แผ่วลงจากเดือนก่อน - ส่งออก/นำเข้าชะลอตัวมากกว่าที่ตลาดคาด สศค. รายงานยอดส่งออก ส.ค. 14 ลดลง 7.4% Y-Y จากการลดลงของยอดส่งออกรถยนต์ (-8.5% Y-Y) น้ำมันสำเร็จรูป (-16.1% Y-Y) โดยตลาดส่งออกที่ลดลงแรงคือ จีน (-14.4% Y-Y) และ ญี่ปุ่น (-7.8% Y-Y) หากตัดทองคำออกยอดส่งออกจะลดลงเพียง 2.9% Y-Y แต่ก็ยังแย่กว่าเดือนก่อนที่พอตัดแล้วยอดพลิกเป็นบวก 0.8% Y-Y แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ยอดส่งออกจะต้องโต 2.7% Y-Y ถึงจะได้ตามเป้าทั้งปีที่ 0% Y-Y ซึ่งถือว่าไม่ง่ายเพราะตลาดจีนและเอเชียชะลอตัว ส่วนยอดนำเข้า ส.ค. 14 ลดลงแรงถึง 14.2% Y-Y ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 7 เดือน โดยเป็นการลดลงทั้งน้ำมันดิบ (-10.1% Y-Y) และสินค้าทุน (เครื่องจักร (-16.1% Y-Y) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-10.0% Y-Y) ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของจีดีพีปีหน้า ตัวเลขที่ออกมาจึงดูเป็นลบแม้ว่าเมื่อคิดเป็นดุลการค้าแล้วจะเกินดุลก็ตาม นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 11.9% Y-Y แต่เพิ่มขึ้น 2.1%M-M ดังนั้นจากตัวเลขส่งออกนำเข้าที่ต่ำกว่าคาด อาจนำไปสู่การปรับลดคาดการณ์จีดีพีในระยะถัดไป ส่วนแนวโน้มเดือนก.ย อย่างดีก็แค่ทรง แต่หลังจากนี้ความหวังคงต้องพึ่งนโยบายภาครัฐว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณปี 2015 ได้ทันการหรือไม่ คาดหุ้นกลุ่มส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอตัว ขณะที่ SET แม้ว่าปรับลงวานนี้ได้สะท้อนตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำคาดค่อนข้างมากแล้วแต่ก็มีโอกาสปรับฐานได้อีกจากการที่ SET ปรับขึ้นนานกว่า 9 เดือนติดต่อกัน กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้แนะนำ ซื้อเมื่ออ่อนตัว เลือกหุ้นพื้นฐานดีรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ (Top pick: KBANK เป้า 261 บาท) และรับเหมาก่อสร้าง (CK เป้า 30 บาท)
(-) Hong Kong ทำลายบรรยากาศการลงทุนในตลาดโลก : เหตุประท้วงและจราจลในฮ่องกงที่ไม่พอใจรัฐบาลกลางต่อการเลือกตั้งผู้ปกครองฮ่องกงที่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากรัฐบาลกลางเริ่มปานปลายส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและธุรกิจหลายแห่งต้องปิดกิจการ และยังส่งกระทบต่อความยากลำบากการทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินกับฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค ขณะที่ไทยส่งออกไปฮ่องกงประมาณ 6% ของยอดส่งออกรวม อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและบริษัทบ้านเราโดยตรง แต่อาจส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย
(+) SCB จะเดินหน้าทำระดับ PPOP สูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องใน 3Q14 จากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และคงต้นทุนการเงินในระดับต่ำจากสัดส่วน CASA ที่สูงขึ้นมาที่ 57% ของเงินฝากรวม แม้ว่าสินเชื่ออาจแทบไม่ขยายตัว Q-Q ในไตรมาสนี้ก็ตาม อย่างไรก็ตามคาดว่าการตั้งสำรองฯน่าจะสูงขึ้นเพื่อความอนุรักษ์นิยมของธนาคาร และไม่มีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในไตรมาสนี้ ทำให้คาดกำไรสุทธิคาดจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นลบ. -12%Q-Q และ +2%Y-Y คงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่า SCB จะกลับมาเน้นกลยุทธเชิงรุกอีกครั้งในปี 2015 คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเหมาะสมปี 2015 ที่ 228 บาท
(+) KBANK แนวโน้มผลประกอบการ 3Q14 ยังคงแข็งแกร่งจากสินเชื่อและ NIM ที่ดีกว่าคาด โดยสินเชื่อ 9M14 คาดเพิ่มขึ้น +5%YTD ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ +2%YTD และยังสามารถรักษา NIM ได้ในระดับสูงราว 3.7% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ KBANK น่าจะมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ +10%Q-Q และคาดกำไรสุทธิ 3Q14 ที่ราว 1.15 หมื่นลบ. ชะลอตัวเล็กน้อย Q-Q แต่ยัง +8%Y-Y เราปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2015 ขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อและค่าธรรมเนียมที่มีแนวโน้มสูงกว่าคาดการณ์เดิม คงคำแนะนำ ซื้อ ปรับราคาเหมาะสมปี 2015 เป็น 261 บาท
ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมาปิดในแดนลบแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯในภาพรวมจะออกมาน่าพอใจ แต่ตลาดถูกกดดันจากสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงซึ่งกระทบบรรยากาศการลงทุน
ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนปิดในแดนลบเช่นกันหลังเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงเริ่มรุนแรงถึงขั้นธนาคารหลายแห่งต้องปิดดำเนินงานซึ่งประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้นักลงทุน
ส่วนตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวในแดนลบโดยนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายจากสถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกง รวมถึงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีนและญี่ปุ่น
ค่าเงินบาทเริ่มแกว่งทรงตัวได้บ้างหลังจากอ่อนค่าแรงวันก่อน แต่แนวโน้มน่าจะยังอ่อนตัวต่อเนื่องจากแนวโน้ม Fund Flow ที่ยังไหลออก ล่าสุดปรับตัวในกรอบ 32.30-32.42 บาท/ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX ส่งมอบเดือน พ.ย. ปรับตัวขึ้น 1.03 ดอลลาร์/บาร์เรล มาปิดที่ 94.57 ดอลลาร์/บาร์เรล จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ของพลังงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ราคาทองคำในตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3.40 ดอลลาร์/ออนซ์ มาปิดที่ 1,218.80 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยการปรับขึ้นของราคาทองคำยังถูกจำกัดจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวซึ่งส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังอยู่ในลักษณะแข็งค่า แม้ว่าระยะสั้นอาจได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายๆภูมิภาค
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
30-ก.ย. - สหรัฐ: Consumer Confidence (ก.ย)
- EU: CPI (ก.ย.)
- ธปท. รายการเศรษฐกิจเดือนส.ค
- ประชุม ครม. คาดจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
1-ต.ค. - สหรัฐ: ISM Manufacturing (ก.ย)
- EU: CPI (ก.ย.)
2 ต.ค - EU: ECB Meeting
3-ต.ค. - US: Non-farm payroll (กย.)