- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 08 August 2019 16:06
- Hits: 2434
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562
การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของหลายธนาคารกลางที่มากกว่าคาด รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. เป็นครั้งแรก ถือเป็นประเด็นบวกต่อตลาด โดยน่าจะทำให้เกิดการยกฐานค่า PER สูงขึ้นในระยะต่อไป แต่ยังตัองอาศัยเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก พอร์ตการลงทุนวันนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยน ส่วนหุ้น Top Picks เลือก PLANB ([email protected]) และ JASIF ซึ่งให้ Dividend Yield สูงกว่า 8% (Freehold)
SET Index 1,669.44
เปลี่ยนแปลง (จุด) -2.04
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 84,465
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …แกว่งผันผวนในช่วงบ่าย
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างหนักในช่วงบ่าย จากการที่ กนง.ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.50% จาก 1.75% จนทำให้สุดท้ายปิดที่ระดับ 1669.44 จุด ลดลง 2.04 จุด (-0.12%) มูลค่าการซื้อขาย 8.44 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มธ.พ.ขนาดใหญ่เช่น BBL(-3.11%) KBANK(-3.46%) SCB(-1.50%) กลุ่มพลังงานที่กดดันตั้งแต่ช่วงเช้า เช่น PTT(-1.10%) PTTEP(-1.53%) TOP(-3.04%) แต่ได้แรงหนุนจากกลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(+2.33%) INTUCH(+2.35%) JASIF(+2.65%) DIF(+1.71%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง MTC(+5.37%) BEM(+6.73%) และ CPALL(+0.58%) เป็นต้น
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศที่มากกว่าคาด รวมถึงธนาคารแห่งประเทศประเทศไทยที่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกวานนี้ ถือเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย ซึ่งเชิงกลไกแล้วน่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เหตุเพราะทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนการลงทุนจากตลาดทุน กับ ตลาดตราสารหนี้ ขยายกว้างขึ้น (พิจารณาผ่านตัวเลข Market Earning Yield Gap) อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น โดยในส่วนของตลาดหุ้นไทยพบว่าค่าเฉลี่ย Market Earning Yield Gap ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.28% ซึ่งภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเดิมที่ 1.75% จะสามารถคำนวนกลับมาเป็นค่า PER ที่เหมาะสมที่ 16.58 เท่า (เทียบเท่า SET Index 1713 จุด) และเมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ 1.50% และกำหนดให้ Market Earning Yield Gap เท่าเดิมคือ 4.28% จะให้ค่า PER สำหรับตลาดหุ้นได้สูงถึง 17.30 เท่า (เทียบเท่า SET Index 1787 จุด) การลดดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวจึงถือเป็นการเปิด Upside ให้กับตลาดหุ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่จะปรับขึ้นไปดังกล่าวจำเป็นต้องมีเม็ดเงินลงทุนที่มากพอเป็นแรงหนุน เฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และ สถาบันในประเทศ สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังให้ความสำคัญกับหุ้นที่สร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ของเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นที่โดดเด่นและเลือกเป็น Top Pick วันนี้ได้แก่ JASIF ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเลือกหุ้นที่มีประเด็นสร้างการเติบโตชัดเจน ซึ่งได้แก่ PLANB ส่วนพอร์ตการลงทุน ของฝ่ายวิจัยวันนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยโครงสร้างของหุ้นในพอร์ตยังปลอดภัยและให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง
สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และ Trade war กดดันน้ำมันดิบลงแรง
ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงปรับฐานต่อเนื่องนับตั้งแต่ 30 ก.ค. จนถึงปัจจุบันราว 14.3% จากปัจจัยฝั่ง Supply คือ วานนี้สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 2.38 ล้านบาร์เรล ผิดจากที่ตลาดคาดลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล แม้การรายงานตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC เดือน ก.ค. ล่าสุด ออกมาลดลง อยู่ที่ 29.8 ล้านบาร์เรล ทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน
เช่นเดียวกับฝั่ง Demand ยังถูกกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังร้อนแรงต่อเนื่อง (2 ประเทศบริโภคน้ำมันรวมกันราว 50% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก) หลังจาก Trade War ขึ้นภาษีนำเข้า 3 รอบ และเตรียมขึ้นรอบที่ 4 นำมาสู่ และนำมาสู่สงครามค่าเงิน(Currency War) ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุด เดินหน้าสงครามเทคโนโลยี (Tech War) อีกครั้ง ล่าสุดวานนี้สหรัฐเตรียมคำสั่งพิเศษประกาศคว่ำบาตรบริษัทโทรคมนาคม และเทคโนโลยีของจีนเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยมุ่งไปที่ Huawei (ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และมือถืออันดับ 1สัญชาติจีน) โดยครั้งนี้ สหรัฐประกาศห้ามหน่วยงานภาครัฐทำธุรกิจกับ Huawei (จากเดิมที่ห้ามเฉพาะภาคเอกชนสหรัฐค้าขายเท่านั้น) จะมีผลในวันที่ 13 ส.ค. โดยบริษัทอื่นที่จจะโดนแบนเพิ่มเติม คือ ZTE (ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่สัญชาติจีน) และ Hikvision (ผู้ผลิตกล้องวงจรปิด)
โดยรวมราคาน้ำมันดูไบลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาปิดวานนี้อยู่ที่ 53.68 เหรียญฯ หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63.4 เหรียญฯ แสูงกว่าสมมติฐานที่ ASPS คาด 60 เหรียญฯ ในปี 2562 และนับจากปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญฯ กลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงาน-โรงกลั่น แนะนำชะลอการลงทุนการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสอ่อนตัว และผลประกอบการของกลุ่มงวด 2Q62 ที่จะทยอยประกาศในช่วงนี้ จนถึง 15 ส.ค. คาดอ่อนตัวจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน Stock loss
นิวซีแลนด์และอินเดียลดดอกเบี้ยมากกว่าคาด ตอกย้ำวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง
ดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาลงชัดเจนขึ้น จากผลกระทบของสงครามการค้า ทำให้เห็นวานนี้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์(RBNZ) ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ 0.5% จาก 1.5% เหลือ 1.0% (ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) และมากกว่าคลาดคาดจะลดเพียง 0.25% เนื่องจาความกังวลว่าเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ชะลอตัวแรง (ภาคส่งออกของนิวซีแลนด์มีสัดส่วน 27.6% ของ GDP) รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์เดือน มิ.ย. 2562 ขยายตัว 1.7%yoy ต่ำกว่าเป้าเงินเฟ้อของ RBNZ ที่ราว 2% ทั้งนี้ RBNZ เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปีนี้ 0.35% เหลือ 5.4% มากกว่าที่ตลาดคาดจะลดเพียง 0.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอินเดียล่าสุดเดือน มิ.ย. ขยายตัว 3.18%yoy ยังต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ RBI ที่ 4%
เซอร์ไพรส์ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน
ผลประชุม กนง. สร้างความเซอไพรส์ให้ตลาด คือ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน 25 bps เหลือ 1.5% (ตลาดคาดคงที่ 1.75%) โดยเหตุผลที่ กนง. ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ คือ
• เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ( ล่าสุด กนง. คาด GDP Growth ไทยปี 2562 ขยายตัว 3.3%yoy และส่งสัญญาณจะปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ลงในเดือน ต.ค. เนื่องจากจากการส่งออกที่ชะลอจากผลกระทบจากสงครามการค้า คือ ส่งออกเฉลี่ย 1H62 หดตัว 2.9%yoy และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคราว 5.4%นับตั้งแต่ต้นปี
• ความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า โดยปัจจุบัน งบประมาณอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท โดยอยู่ในขั้นตอน เสนอให้สภาฯ พิจารณาวาระแรกวันที่ 17 ต.ค. 2562 และน่าจะแล้วเสร็จพร้อมเบิกจ่ายในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งถือเป็นการเบิกจ่ายช้ากว่าปีงบประมาณปกติกว่า 4 เดือน
• เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีโอกาสต่ำกว่าขอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-4% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงลงแรง (ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงราว 10.6% นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. จนถึงปัจจุบัน) ปัจจุบัน เงินเฟ้อไทย ล่าสุดเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.98%yoy (เงินเฟ้อเฉลี่ย 7M62 ขยายตัว 0.92%)
ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจในถ้อยแถลง คือ กนง. เน้นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพในระบบการเงิน (Macroprudential) จะมีบทบาทแทนการลดดอกเบี้ยว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาทิ การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ในสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์, บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ทำให้เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือในปีนี้น่าจะมีโอกาสน้อยลง ประกอบช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ แคบลงเหลือราว 0.6% และถ้าดูในอดีต ดอกเบี้ยนโยบายไทยต่ำสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 1.25%
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน (Cost of Fund) ลดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะมีแนวโน้มลดลงตาม ส่งผลให้รายจ่ายดอกเบี้ยลดลง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านทางการออกหุ้นกู้มากขึ้น จึงคาดว่าผลของการลดดอกเบี้ยน่าจะมีน้อยลง เมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ในทางกลับกันจะทำให้ผลตอบแทนลดลงเช่นกันลดลง จะกระตุ้นให้นักลงทุนลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งทางตรง อาทิ เงินไปลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มเติม เช่น ลงทุนในเครื่องจักร-เครื่องมือ, ก่อสร้างโรงงานใหม่ และลงทุนทางอ้อม อาทิ ตลาดหุ้น
ผลกระทบต่อค่าเงิน เชื่อว่าจะทำให้เงินบาทชะลอการแข็งค่าช่วงสั้นๆเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระยะในยาวเชื่อว่าค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า ตามวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงของโลก และเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง (ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลต่อเนื่อง 5 ปี และทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงราว 2.18 แสนล้านบาท)
ผลกระทบต่อตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงทำให้ Bond Yield 10 ปีของไทยลดลงมาเหลือ1.63%(ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน) เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่นตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นที่จายเงินปันผลสูง และมีความผันผวนต่ำ
หุ้นที่ได้ประโยชน์ (+) จาก กนง. ลดดอกเบี้ยฯ
กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง: เนื่องจากบริษัทในกลุ่มฯ มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราคงที่สูง (ยกเว้น IFS) ขณะที่ ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มฯ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืมจากธ.พ. ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวลดลงทำให้ต้นทุนของกลุ่มเช่าซื้อถูกลง โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นต่อระยะยาวมากกว่ากลุ่มฯ (กล่าวคือ สามารถปรับต้นทุนให้เหมาะสมได้มากกว่า) ได้แก่ ASK SAWAD THANI ดังรูป อย่างไรก็ตามหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อหลายตัวเต็มมูลค่าช่วงสั้นไปแล้ว โดยเฉพาะ SAWAD, MTC จึงชอบ THANI, CHAYO มากกว่า
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์: ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้อัตราการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ลดลง ซึ่งส่งผลต่อการปฎิเสธสินเชื่อสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง โดยจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการ LTV ใหม่ และเกณฑ์การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio, DSR) และมีผลต่อเนื่องมายังผู้ประกอบการ ทำให้ Backlog ที่มีอยู่โอนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยครั้งนี้คาดจะเกิดยอดขายใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคเองมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว รวมถึง Supply ในตลาดยังมีอยู่สูง จะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรุนแรงต่อเนื่องฝ่ายวิจัยจึงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ น้อยกว่าตลาด เน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ให้ปันผลสูง 6-7% และราคาหุ้นมี upside ได้แก่ LH, QH, SC, ANAN และ ORI
กลุ่มเกษตร-อาหาร: ทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่าจนล่าสุดอยู่ที่ 30.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น โดย CPF มีสัดส่วนรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 9% แต่มีต้นทุนที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯราว 7% ขณะที่ TU มีสัดส่วนรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 70% แต่มีต้นทุนที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯราว 50% ล้วนเป็นผู้ส่งออกสุทธิ (Net exporter) จึงได้ประโยชน์จากการแปลงรายได้รวมเป็นสกุลเงินบาทได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ CPF และ TU ยังได้ประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย เพราะมีสัดส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ (Net Interest bearing debt /Equity) สูงถึง 1.3 เท่า และ1.4 เท่า ตามลำดับ แนะนำซื้อ CPF (FV@B35) และ TU (FV@B23)
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA HANA KCE และ SVI): จะได้ประโยชน์จากทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน จากความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านได้ดีขึ้น และแปลงรายได้เป็นสกุลเงินบาทได้มากขึ้น เพราะรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ หลักๆ เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ความกังวลสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มคำสั่งซื้อให้ชะลอตัวลง และทำให้ลูกค้าหันมาใช้สินค้าประเภททั่วไปมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มี margin ต่ำ กดดันประสิทธิภาพการทำกำไรของผู้ประกอบการกลุ่มชิ้นส่วนฯ ให้ลดลง จึงยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ แนะนำเก็งกำไรในระยะสั้นเท่านั้น
หุ้นปันผลเด่น: หุ้นปันผลเด่น: การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ กดดันให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลง ล่าสุด Bond Yield 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.63% (ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4 เดือน) ด้วยผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนมีโอกาสย้ายเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่า หนึ่งในนั้นคือ หุ้นปันผลสูงมีความผันผวนต่ำ แนะนำ LH, MCS, EASTW สามารถคาดหวังเงินปันผลได้ 6.7%, 5.1% และ 3.5% ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน DIF, JASIF คาดหวังเงินปันผลสูงถึง 5.8%, และ 8.1% ตามลำดับ และวานนี้ JASIF มีการประกาศจ่ายเงินปันผล 0.23 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 19 ส.ค. 62 โดยส่วนให้หุ้นปันผลราคาหุ้นมักตอบสนองเชิงบวกก่อนวันขึ้น XD
หุ้นที่เสียประโยชน์ (-) จาก กนง. ลดดอกเบี้ยฯ
กลุ่มธนาคารพาณิชย์: โดยเฉพาะ ธ.พ. ขนาดใหญ่ กล่าวคือ ASPS คาด ธ.พ. ขนาดใหญ่จะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา แม้ไม่ชัดเจนว่าระดับการลดอัตราเท่ากันหรือต่ำกว่า แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับและ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) หรือ NIM โดยเฉพาะธ.พ.ขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน (Net lender)ในตลาดเงิน อาทิ BBL, KTB ซึ่งจะกระทบรายได้ทันทีจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลด 0.25% ส่วน ธ.พ.ใหญ่อื่นๆ (KBANK, SCB) จะกระทบในแง่ที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวมากกว่าเงินฝากอัตราลอยตัว
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กส่วนใหญ่จะได้รับผลบวกทั้ง TISCO , KKP, TCAP เพราะมีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง แต่มีโครงสร้างเงินฝากบางส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงเป็นบวกต่อ NIM
โดยรวม ASPS มีแผนปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม ธ.พ. เป็นน้อยกว่าตลาด จากปัจจุบัน เท่าตลาด โดยระยะสั้น แนะนำลดน้ำหนัก ธ.พ.ใหญ่ ส่วน ธ.พ.กลาง-เล็ก ชอบ TCAP, KKP
MSCI ปรับดัชนีรอบเดือน ส.ค. คาดกระทบไทยเล็กน้อย
ในเดือน ส.ค. 62 Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงไทย ถูกขายสุทธิ 489 ล้านเหรียญ หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท (mtd)
และในเช้านี้ยังมีประเด็น MSCI (Morgan Stanley Capital International) ปรับสัดส่วนหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI Emerging Market รอบใหม่ (Rebalance) ซึ่งมีผลหลังราคาปิดในวันที่ 27 ส.ค. 62 แม้จะไม่มีการปรับหุ้นไทยเข้าออกในรอบนี้ (สอดคล้องกับที่ฝ่ายวิจัยฯประเมิน) แต่สัดส่วนตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลดลง จากการทยอยปรับเพิ่มหุ้นใหม่จาก 2 ประเทศ คือ มีการปรับเพิ่มหุ้น 5% ของ China A-Share และเพิ่ม 50% ของหุ้นประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยทั้ง 2 กรณีเป็นการเพิ่มหุ้นเข้ามาใหม่ในดัชนี คิดเป็นสัดส่วน 2.08% ในดัชนี MSCI Emerging Market (มาจาก China A-Share 1.38%, ซาอุดิอาระเบีย 0.7%) หุ้นเข้าใหม่ในดัชนี MSCI Emerging Market รอบเดือน ส.ค. นี้ หาก MSCI ไม่ได้มีการปรับลดตลาดหุ้นประเทศใดเป็นพิเศษ จะกดดันสัดส่วนตลาดหุ้นประเทศอื่นรวมถึงไทยให้ลดลง จาก 96.79% ลดลงเหลือ 94.71%
สรุปคือ สัดส่วนตลาดหุ้นจีนและซาอุดิอาระเบียที่เพิ่มขึ้นในดัชนี MSCI Emerging Market กดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเล็กน้อย เนื่องจากกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนล้อตามดัชนี มีการปรับสัดส่วนไปลงทุนในหุ้นจีนและซาอุดิอาระเบียที่เพิ่มมาใหม่แทน
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ