- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 26 July 2019 15:19
- Hits: 2049
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ข่าวดีในเรื่องบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับมุมมองต่อประเทศไทยเป็นเชิงบวก อาจถูกบดบังด้วยผลการประชุม ECB ที่ผิดคาด ส่วนการเมืองในประเทศ ควรมอบข้ามไปหลังการแถลงงบประมาณ ซึ่งน่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้คาด SET Index อยู่ในกรอบ 1720 – 1740 จุด หุ้น Top Picks วันนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังเลือก TTCL (FV@ 12.50) และ EASTW (FV@B 15.20) ซึ่งวานนี้สร้างผลตอบแทนในพอร์ตอย่างน่าพอใจ
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวขึ้นระหว่างวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นระหว่างวัน จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1730.90 จุด เพิ่มขึ้น 5.46 จุด (+0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 5.89 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่หนุนตลาด คือ กลุ่มโรงพยาบาลเช่น BDMS(+2.82%) BCH(+1.94%) CHG(+3.45%) กลุ่มการเงินเช่น AEONTS(+3.07%) KTC(+8.33%) MTC(+1.72%) และกลุ่มพลังงานเช่น BCPG(+5.32%) GPSC(+2.91%) GULF(+2.36%) RATCH(+1.89%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง CBG(+6.40%) BEM(+1.90%) และ SCB(+1.08%) เป็นต้น
ประเด็นเรื่อง Moody’s รวมถึง Fitch ในช่วงก่อนหน้า ปรับมุมมองต่อประเทศไทย (แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ตามเดิม) ถือเป็นปัจจัยบวกและน่าจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะรับ Fund Flow ที่ไหลเข้ามาลงทุนเป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุน ส่วนผลการประชุม ECB แม้ไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็เปิดโอกาสที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมธนาคารกลางหลายประเทศรวมถึง สหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยอื่นๆ ในประเทศ ความสนใจอยู่ที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในช่วงนี้จะมีการประกาศตัวเลขของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม Real Sector อย่าง PTTEP, SCC ซึ่งคาดว่าจะเห็นการชะลอตัว ส่วนการเมืองในประเทศรอดูหลังผ่านช่วงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยคาดหวังว่าจะเห็นการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยภาพรวมของปัจจัยแวดล้อม ฝ่ายวิจัยเห็นว่ายังไม่น่าจะทำให้ SET Index มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน โดยน่าจะผันผวนอยู่ในกรอบ 1720 – 1740 จุด ส่วนหุ้นที่เลือกเป็น Top Pick วันนี้ยังคงเลือก 2 บริษัทเดิมต่อเนื่องจากวันวานได้แก่ TTCL (FV@B 12.50) และ EASTW (FV@B 15.20) สำหรับพอร์ตการลงทุนในวันนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยวานนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น จากการนำ TTCL และ EASTW เพิ่มเข้าไปในพอร์ตการลงทุน
ECB ส่งสัญญาณกระตุ้น, สัปดาห์หน้าประชุม Fed และสหรัฐ-จีนเจรจาการค้า
ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) วานนี้แม้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากกับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่ -0.4% ตามเดิม แต่ ECB ระบุว่าจะเดินหน้าดำเนินโยบายการเงินผ่อนคลายในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะมาตรการ QE
ท่าทีดังกล่าวของ ECB ส่งผลให้ตลาดคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยหรือหันกลับมาดำเนินมาตรการ QE อีกครั้งหนึ่ง ในรอบการประชุมเดือน ก.ย. 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังมีความเสี่ยงชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงจาก Brexit ภายหลังจากนาย Boris Johnson ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ซึ่งนาย Boris Johnson มีความคิดไปทางอนุรักษ์นิยม โดยพร้อมผลักดันให้อังกฤษออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ซึ่งหากเป็นกรณีดังกล่าวจริง เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น
จากทิศทางดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง คาดว่าจะยังเป็นปัจจัยหนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าภูมิภาคต่อ แม้ว่าในระยะสั้น อาจถูกจำกัดจากความกังวล Brexit ข้างต้นที่กดดันค่าเงินปอนด์อ่อนค่า (เงินปอนด์อ่อนค่าราว 1.97%mtd และหากนับตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่า 1.93%ytd) ส่งผลให้ Dollar Index แข็งค่า (Dollar Index ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. แข็งค่า 1.66%mtd) Fund Flow จึงมีแนวโน้มชะลอการไหลออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ และไหลเข้าภูมิภาคน้อยลงเช่นกัน แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Heaven)
ขณะที่สัปดาห์หน้า ตลาดน่าจะให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 29-30 ก.ค., ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วันที่ 30-31 ก.ค. และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วันที่ 1 ส.ค. โดยตลาดให้น้ำหนักไปที่ Fed ล่าสุดเชื่อมั่น 100% จะลดดอกเบี้ยลงเหลือ 2.25% จาก 2.5% ขณะที่ BOJ และ BOE ตลาดคาดยังคงดอกเบี้ยที่ -0.1% และ 0.75% ตามลำดับ และให้น้ำหนักการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ในวันที่ 30-31 ก.ค. รัฐมนตรีคลังของสหรัฐ จะมีกำหนดพบปะกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน ที่เซี่ยงไฮ้ นับเป็นการเจรจาครั้งแรก หลังจากที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ พบกันในการประชุม G20 เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
Moody ปรับมุมมองไทยเป็น + สอดคล้องกับ Fitch rating
สถาบันจัดอันดับเครดิตเรทติ้ง Moody แม้จะยังคงระดับ Credit Rating ของไทยที่ Baa1 แต่ปรับเพิ่มมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยเป็น + จากเดิม คงที่ (สอดคล้องกับปลายสัปดาห์ที่แล้ว คือ สถาบัน Fitch Rating คง Credit Rating ของไทยที่ BBB+ และปรับมุมมองไทยเป็น + เช่นเดียวกัน) ทั้งนี้เนื่องจากไทยมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อาทิ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน 5 ปี
ทั้งนี้หากพิจารณาการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งของไทยโดย Moody(รายละเอียดดังรูป) กล่าวคือ ไทยมีการเริ่มแรกที่มีการจัดอันดับคือ ปี 2532 เริ่มจาก A2 ซึ่งถืออยู่ในระดับ (Upper Meidum Grade) หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เห็นการถูกปรับเครดิตลงต่อเนื่องรวม 4 ครั้ง มาอยู่ที่ Ba1 (ระดับเก็งกำไร) ในเดือน ธ.ค. 2540 และคงในระดับนี้ยาวจนถึงปีกลางปี 2543
โดย Moody มีการปรับเพิ่มเครดิตเรทติ้งไทยรวม 2 ครั้ง คือ
ครั้งแรก คือ มิ.ย.2543 ปรับเครดิตขึ้นมาเป็นระดับลงทุน (Investment Grade)ครั้งแรกคือ Baa3 จาก Ba1 (ระดับเก็งกำไร) เนื่องจากไทยมีเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจาก GDP Growth ปี 2542-45 ขยายตัว 4.6%yoy, 4.5%yoy, 3.4%yoy, 6.1%yoy ตามลำดับ
ครั้งที่ 2 คือ มี.ค. 2546 Moody’s มีปรับเครดิตเรตติ้งขึ้นเป็น Baa1 จาก Baa3 เนื่องจากฐานะการเงินดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เงินทุนสำรอง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยราว 3.1%ต่อ GDP ติดต่อกัน (ดังรูป) เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจาก GDP Growth ปี 2546-2547 ขยายตัว 7.2%yoy , 6.3%yoy, และคงไว้ระดับนี้จนถึงปัจจุบัน
ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลบัญชีเดินสะพัด/GDP ของไทย
ที่มา : Bloomberg, ASPS
โดยรวมเชื่อว่าการปรับมุมมองเป็น + ของ Moody ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีในอนาคต และเชื่อว่าหากมีการขยับเครดิตเครตติ้งอีกขั้นหนึ่ง คือ A3 หากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี เชื่อว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของบริษัทจดทะเบียนลดลง หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียน และเป็นปัจจัยดึงดูดให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อ บวกกับผลตอบแทนจากพันฐบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ หนุนให้นักลงทุนมีโอกาสซื้อขายหุ้นไทย ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น และช่วยจำกัด Downside ของ SET Index ให้ยืนเหนือ 1700 จุดได้
กลยุทธ์ลงทุน เน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ+กำไรเติบโต
คาดว่ารัฐบาลใหม่น่าจะเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ตามที่เคยหาเสียงไว้ เชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะมีโอกาสผลักดันต่อไป จะเป็นนโยบายลดภาษีบุคลธรรมาดาลง 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา โดยเบื้องต้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่
• ลดอัตราภาษีลง 10% ทุกระดับขั้น: ตัวอย่างเช่น จากเดิมอัตราภาษี 35% จะลดลงเหลือ 25%, อัตรา 30% ลดเหลือ 20%, อัตรา 25% ลดเหลือ 15% เป็นต้น
• ลดอัตราภาษีลงในสัดส่วน 10% ของทุกระดับขั้น: ตัวอย่างเช่น จากเดิมอัตราภาษี 35% จะลดลง 3.5% (10% ของ 35%) ทำให้อัตราภาษีเหลือ 31.5%, อัตรา 30% จะลดลง 3.0% (10% ของ 30%) ทำให้อัตราภาษีเหลือ 27% เป็นต้น
เชื่อว่า ทั้ง 2 แนวทางข้างต้น หรือนโยบายอื่นๆ ที่จะมีออกมา น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้แก่ประชาชนได้ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุน จึงไปที่หุ้นซึ่งได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว พร้อมยังรองรับด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และฐานกำไรที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง รวมไปถึงหุ้นที่ได้อานิสงค์จากภาวะภัยแล้งที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ แนะนำ BJC, AMATA, FPT, MINT, TTCL, TU และ EASTW สำหรับ Top Pick วันนี้ ยังชื่นชอบ
• TTCL (FV@B 12.50) ฝ่ายวิจัยฯ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น 136% และเพิ่มราคาเหมาะสมจาก 10 บาท เป็น 12.50 บาท โดยคาดผลประกอบการ 2Q62 จะเติบโตโดดเด่นถึง 110%QoQ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการเชิงบวกของการทำธุรกิจโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ในเมียนมาร์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 3Q62 ช่วยหนุนพื้นฐานธุรกิจ TTCL ฟื้นตัวชัดเจน
• EASTW ([email protected]) ฝ่ายวิจัยฯ ปรับเพิ่มประมาณการฯ และ FV เป็น 15.2 บาท (เดิม 13.5 บาท) เพื่อสะท้อนโครงการขายน้ำอุตสาหกรรมใหม่ 2 โครงการ และการปรับสูตรราคาขายน้ำดิบใหม่ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากสถานการณ์ภัยแล้ง
ประเด็นอื่นๆ ในวันนี้ ติดตามการายงานผลประกอบการงวด 2Q62 ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ คือ PTTEP (FV@B 166) คาดกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 12.5%qoq และ 290.9%yoy ตามด้วย SCC (FV@B 460) คาดกำไรสุทธิ ลดลง 30.2%qoq และ 34.3%yoy **อ่านเพิ่มเติมได้ใน Market Talk วันที่ 23 ก.ย. 62**
ภรณี ทองเย็น, CISA
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม,
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ