WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Asia Plus Group Holdingบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET Index ยังอยู่ในช่วงปรับฐานบริเวณ 1740-1750 จุดต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาหนุน รวมทั้งน้ำหนักของ Fund Flow ที่เบาลง ประเด็นการลงทุนในช่วงเวลานี้ยังคงให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะประกาศออกมา โดยคาดว่าจะเน้นกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน หุ้น Top Picks วันนี้เลือก BJC (FV@B 61) และ AMATA ([email protected])
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …ทยอยปรับตัวลงตลอดวัน
วานนี้ ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตลอดวัน จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังปรากฎสัญญาณชะลอตัวรวมถึงไทย จนสุดท้ายปิดที่ระดับ 1727.58 จุด ลดลง 7.52 จุด (-0.43%) มูลค่าการซื้อขาย 5.92 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่กดดันตลาด คือ กลุ่มขนส่งเช่น AOT(-1.72%) BEM(-2.73%) BTS(-1.55%) กลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น GLOBAL(-4.05%) CPALL(-1.14%) HMPRO(-1.70%) กลุ่มสื่อสารเช่น ADVANC(-0.92%) JAS(-3.18%) TRUE(-2.22%) รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่อย่าง MINT(-4.12%) IVL(-1.79%) และ CPF(-1.71%) เป็นต้น 
ปัจจัยแวดล้อมการลงทุนเรื่องใหม่ๆ ยังไม่มีเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเดิมที่มีการติดตามความคืบหน้า โดยเรื่องสำคัญเรื่องแรกเป็นกรณี Brexit ซึ่งในวันนี้อังกฤษน่าจะได้ชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่อาจเข้ามาพร้อมกับความกังวลว่าจะนำอังกฤษออกาจากยุโรปแบบไม่มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงใดๆ รองรับ (No Deal) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงินปอนด์อ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ USD แข็งค่า ซึ่งเป็นกลไกที่อาจชะลอการไหลเข้าของ Fund Flow สู่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียในระยะสั้นๆ สำหรับปัจจัยในประเทศความสนใจหลักอยู่ที่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเห็นการดำเนินงานหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 ก.ค.62 นี้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรื่อน ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในหลายกลไก อันจะเป็นผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก และ ท่องเที่ยว-โรงแรม หุ้นเด่นได้แก่ BJC และ MINT  ในอีกด้านหนึ่งได้แก่การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งเมื่อนำไปบวกกับการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการระดับโลกเพื่อลดผลกระทบของสงครามการค้าแล้ว ก็น่าจะทำให้เห็นการไหลเข้ามาของเงินลงทุนทางตรงมากขึ้น (Foreign Direct Investment, FDI) เป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อย่าง AMATA, FPT สำหรับทิศทางการเคลี่อนไหวของ SET Index คาดว่ายังน่าจะอยู่ภายใต้กรอบบนบริเวณ 1740 – 1750 จุดต่อเนื่อง
วันนี้รู้ผลนายกคนใหม่ของอังกฤษ 
ต่างประเทศวันนี้เชื่อว่าตลาดให้น้ำหนัก 2 ประเด็นคือ 
    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปี วันที่ 23 ก.ค. เชื่อว่ามีโอกาสที่ IMF จะปรับลด GDP Growth  ของโลกลงถือเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้  โดยปัจจุบันคาด ปี 2562-2563  ขยายตัว 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ
    ผลผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ หลังจากนางเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศลาออกจากเมื่อเดือน พ.ค. 2562 ตลาดคาดตัวเต็งนายกอังกฤษคนใหม่ คือ นาย Boris Johnson (อดีตผู้ว่าการกรุง London) และมีความคิดไปทางอนุรักษ์นิยมคือ ผลักดันให้อังกฤษออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค. 2562 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษเผชิญกับความเสี่ยงทั้งการค้า ,สาธารณูปโภคระหว่างประเทศมากขึ้น  และล่าสุด คณะรัฐบาลที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับ Boris Johnson เริ่มลาออก อาทิ รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรียุติธรรมเตรียมลาออกหากนาย Boris Johnson ได้เป็นนายก 
โดยรวมความกังวลจากความเสี่ยงของ Brexit กดดันให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า โดยนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. เงินปอนด์อ่อนค่าราว 1.83%mtd และหากนับตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่า 1.8%ytd กดดันให้  Dollar Index แข็งค่า(Dollar Index ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. แข็งค่า 1.1%mtd) โดยรวมเชื่อว่าจะทำให้ Fund Flow มีแนวโน้มชะลอการไหลออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ และไหลเข้าภูมิภาคน้อยลงเช่นกัน และเชื่อว่าโอกาสไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Heaven) 
การค้าระหว่างประเทศ เดือน มิ.ย. ยังคงหดตัว 
ยอดส่งออก (X) ในรูปดอลลาร์เดือน มิ.ย. มีจำนวน 2.1  หมื่นล้านเหรียญฯ หดตัว 2.15%yoy เป็นการหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน (หากไม่รวมทองคำและน้ำมันหดตัว 8%yoy) ยอดส่งออกในเดือนนี้ชะลอเป็นผลจาก  1.) ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว เห็นได้จากตลาดส่งออกหลักยังคงหดตัวทุกตลาด อาทิ  สหรัฐ (สัดส่วนส่งออกอันดับ 1 ราว 13%ส่งออกรวม) พลิกกลับมาติดลบครั้งแรก 2%, จีน (อันดับ 2 ราว 11.2%) หดตัว 15%, ญี่ปุ่นหดตัว 2%, ยุโรปหดตัว 7.7% และพบว่าสินค้าส่งออกหลัก 10 อันดับหดตัวแรง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน, ผลิตภัณฑ์ยาง, แผงวงจรไฟฟ้า, เป็นต้น   2.) ค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเงินบาท/ดอลลาร์ เฉลี่ยเดือน มิ.ย. 2562 แข็งค่าราว 4.2%yoy และแข็งค่าราว  5.25%yoy นับตั้งแต่ต้นปี และเทียบกับประเทศเพื่อนบาทถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค(ดังรูป) ทำให้ราคาสินค้าส่งออกไทยสูงเทียบกับเพื่อนบ้าน   
ค่าเงินทั่วโลก
 
ที่มา: Bloomberg  
 
ขณะที่ฝั่งนำเข้าอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านเหรียญหดตัวราว 9.4%yoy (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) ผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวทำให้ผู้ผลิตชะลอการนำเข้าสินค้าเกือบทุกสินค้า ยกเว้น การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 4.4% อุปกรณ์การแพทย์ขยายตัว 3.4% เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม 7.7%
โดยรวมทำให้ยอดส่งออกและนำเข้าเฉลี่ย  6M62 หดตัว 2.45% และหดตัว  0.9% ตามลำดับ (เทียบกับ ASPS คาดปี 2562 หดตัว  3% และขยายตัว 0.5%)   โดย  ASPS เชื่อว่าภาคการค้าระหว่างประเทศจะหดตัวต่อเนื่องจนถึงงวด 3Q62 เนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีอยู่  และฐานในช่วง 3Q61 ที่สูง (เพราะสงครามการค้ามีผลกระทบแรง คือ ช่วงหลังเดือน ก.ย. 2561)   แต่น่าจะเป็นบวกเล็กน้อยในงวด 4Q62 เนื่องจากฐานเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 ต่ำคือ หดตัวเฉลี่ย 1.2%  และมีโอกาสเป็นตามที่  ASPS คาด  ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทถือว่ายังเป็นความเสี่ยง คือ คาดจะยังแข็งค่าต่อตามวัฎจักรดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง แม้ ธปท.จะมีการออกมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่า  หากยังแข็งค่าใกล้เคียงปัจจุบันที่ 30.8 บาท/ดอลลาร์ต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ราว  31.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสมมติฐานที่คาด 32 บาท โดย  ASPS ประเมินหากเงินบาท แข็งค่ามากกว่าสมมติฐานทุกๆ 1 บาทจะกระทบ GDP Growth ปี 2562 ที่คาด 2.7%  ลดลงราว 0.07%  
ยอดส่งออกรายเดือน 
 
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ 
รัฐเตรียมมาตรการดึงดูดลงทุนเอกชน ดีต่อหุ้นนิคม AMATA, FPT 
สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังมีอยู่ คือ ทั้ง 2  ฝั่งยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 25% รวม 3 รอบ(สหรัฐ 2.5 แสนล้านเหรียญฯ VS. จีน 1.1 แสนล้านเหรียญ) แม้ช่วงสั้นจะพักรบ คือ ยังไม่ขึ้นรอบที่ 4 และกำลังเจรจากัน ล่าสุด รัฐมนตรีคลังสหรัฐมีกำหนดการไปพบปะรองนายกของจีนในสัปดาห์หน้า   แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในจีนต่างได้รับผลกระทบหนัก สะท้อนจาก PMIภาคการผลิตจีนล่าสุด 49.4 จุด ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน  ทำให้เห็นการเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ โดยเป้าหมายคือ มุ่งไปที่ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม รวมถึง ไทยที่  รายละเอียดดังรูป (มี 3 จาก 6 บริษัทที่ย้ายมาไทยแล้วคือ Toshiba, Delta, Harley Dividson) 
บริษัทแผนย้านฐานและมีแผนการผลิตมาประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
 
ที่มา : สศช. , ASPS รวบรวม
ล่าสุด  นิตยสาร Nikei Review เผยมี 4 บริษัทที่มีฐานการผลิตนจีนจะเข้ามาลงทุนในไทย อาทิ Casio และCitizen (ผู้ผลิตนาฬิกา), Ricoh (ผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติและเครื่องใช้สำนักงาน), และ SAILUN (ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์)   ทำให้ ล่าสุด  รมว.อุตสาหกรรม คนใหม่ เผยว่าได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเร่งจัดทำแผนและมาตรการดึงดูดนักลงทุนที่เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์    
ASPS เชื่อว่าน่าจะมีมาตรการดึงดูดการลงทุน ใหม่ๆ เพิ่มเติมโดยน่าจะมุ่งไปที่พื้นที่ EEC 3 จังหวัด  (ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง)  จากปัจจุบัน ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (สิทธิลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% จากเดิมขั้นบันไดสูงสุด 35%  สำหรับต่างชาติที่เข้ามาทำงานใน EEC)  และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น เพิ่มระยะเวลาการเช่าที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC เพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 99 ปี (เดิม 50 ปี) เป็นต้น   น่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นนิคม 
ดั้งนั้นกลยุทธ์เลือกลงทุนหุ้นนิคมฯ ที่มี Upside ดังนี้
AMATA (FV@B 35.7) ถูกเลือกเป็นหนึ่งใน Top Pick ในวันนี้ นอกจากได้แรงหนุนจากประเด็นดังกล่าวแล้ว เดิมในปีนี้ยังมีนักลงทุนรอทำสัญญาซื้อที่ดินนิคมฯอยู่ประมาณ 600-800 ไร่ และในส่วนนี้กว่า 60% เป็นนักลงทุนสัญชาติจีน เนื่องจากต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกหนีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หนุนให้แนวโน้มกำไรปี 2562 ที่ 1.75 พันล้านบาท เติบโตโดดเด่น +71.7% YoY และปัจจุบันมี Backlog เท่ากับ 3.7 พันล้านบาท ถือว่ารองรับ 82% ขณะที่ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันมี PER62F ในระดับที่ต่ำเพียง 14.7 เท่า และยังคาดหวัง Upside ได้สูงถึง 48%
FPT(FV@B 20.3) ได้รับผลบวกทางอ้อม เนื่องจากมี Supply พื้นที่เช่าในปัจจุบันสูงระดับ 1 ล้านตรม. (บางส่วนอยู่ใน พื้นที่ EEC และจังหวัดข้างเคียง) โดยเหลือพื้นที่ว่างรอการเช่า 2.6 แสนตรม. หรือ 24.2% ของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงมีแผนขายทรัพย์สินมูลค่า 637 ล้านบาท เข้ากอง FTREIT ในเดือน ก.ย. 2562 ช่วยหนุนผลประกอบการ 4Q62 เติบโตก้าวกระโดด ผลักดันกำไรปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 พันล้านบาท เติบโต 89.6% YoY ส่วนประเด็นการเสนอขายเพิ่มทุน ที่ราคา 17.9 บาท จะทำให้ FPT มีได้รับเงินทุนเข้ามาราว 3.2 พันล้านบาท  ช่วยให้บริษัทสามารถซื้อหลักทรัพย์ GOLD ทั้งหมดได้ตามเป้าหมาย โดยการทำ Tender Offer จะทราบผลภายในเดือน ก.ย. 2562 และการซื้อกิจการ GOLD จะเพิ่มมูลค่าพื้นฐานให้ FPT 1.14 บาท ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และราคาหุ้นย่อตัวลงมากว่า 4.6% ใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสในการสะสม 
Earnings Preview 2Q62 ภาค Real Sector & กลยุทธ์ลงทุน
หลังการรายงานงบกลุ่ม ธ.พ. เสร็จสิ้น กลุ่ม Real Sector จะทยอยประกาศงบ โดยคาดหุ้นที่จะรายงานในสัปดาห์นี้-หน้า ได้แก่
หุ้นที่คาดว่าผลประกอบการ 2Q62 เติบโต:
PTTEP (FV@B 166) คาดกำไรสุทธิ 2Q62 เท่ากับ 1.40 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5%qoq และ 290.9%yoy รับผลบวกจากปริมาณและราคาขายน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการบันทึกผลประโยชน์ทางภาษีเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น, 
HMPRO (FV@B 16.80) คาดกำไร 2Q62 ที่ 1.47 พันล้านบาท เติบโต 11.8% yoy อานิสงส์จากภาวะอากาศร้อนจัด และการเปิดสาขาใหม่ หนุนยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เติบโต, 
หุ้นที่คาดว่าผลประกอบการ 2Q62 หดตัว:
SCC (FV@B 460) คาด 2Q62 กำไรสุทธิ 8,144 ล้านบาท ลดลง 34%YoY กดดันจากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ. แรงงาน และผลประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสงครามการค้า, 
SCCC (FV@B 269) คาดงวด 2Q62 กำไรสุทธิ 770 ล้านบาท ลดลง 25%YoY จากการหยุดซ่อมบำรุงเตาเผาปูนและค่าใช้จ่าย ตาม พรบ. แรงงาน แต่มุมมองธุรกิจโดยรวมยังเป็นบวก จากทั้งราคาและปริมาณขายปูนที่เพิ่มขึ้น, 
DELTA (FV@B 58) คาดกำไรสุทธิงวด 2Q62 เท่ากับ 879 ล้านบาท หดตัว18.8% qoq และ 36.8% yoy กดดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า และค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ. แรงงาน 
THCOM (FV@B 6.20) คาดงวด 2Q62 THCOM จะเผชิญขาดทุนสูงสุดของปี อยู่ที่ 120 ล้านบาท จากการเสียลูกค้าเนื่องจากบริการดาวเทียมสัมปทาน (iPSTAR, ไทยคม 5 และ 6) หลังสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2564 ยังขาดความชัดเจน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ. แรงงาน เข้ามากระทบ
ภาพรวมฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรสุทธิตลาดฯ งวด 2Q62 จะหดตัวทั้ง QoQ และ YoY จากฐานกำไรงวด 1Q62 ที่ 2.66 แสนล้านบาท และ 2.60 แสนล้านบาทในงวด 2Q61 ตามลำดับ  ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ASPS ได้คัดสรรกลยุทธ์ลงทุนที่น่าสนใจในยามตลาดผันผวน โดยแนะนำ 2 ธีมลงทุน คือ
•    หุ้นแข็งแกร่งพื้นฐานดี ที่คาดว่ากำไรจะเติบโตต่อเนื่อง และยังมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เลือก BJC, AMATA, FPT, MINT, TTCL และ TU 
•    หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากสถิติพบว่า ราคาหุ้นปันผลสูงมักจะตอบรับเชิงบวกโดยปรับตัวขึ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 1-2 เดือน (เดือน ส.ค. จะเป็นรอบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล) เลือก M, KKP และ BBL
 
ภรณี ทองเย็น, CISA 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, 
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน, ปัจจัยทางเทคนิค
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!