- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 04 April 2019 16:27
- Hits: 1530
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความกังวลต่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว จากปัจจัยการเมืองในประเทศ น่าจะมีน้ำหนักมากขึ้น นอกเหนือจากภาคส่งออกที่กระทบจากสงครามการค้า แต่ราคาน้ำมันที่ยังกระเตื้องขึ้นและใกล้ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล จะหนุนให้เกิด stock gains ในหลายบริษัทคือ PTTGC, TOP, IRPC, PTT และหนุนกำไรใน 1Q62 ดีขึ้นจาก 4Q61 และยุโรปเพิ่มโควตานำเข้าไก่จากไทย ดีต่อ GFPT, TFG, CPF ช่วยหนุนดัชนีแกว่งตัว 1640-1660 กลยุทธ์การลงทุน ให้น้ำหนักหุ้น Global เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ลดน้ำหนักหุ้น Domestic Top picks PTTGC(FV@B79) และ TFG([email protected])
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ … SET Index แกว่งกรอบแคบ
วานนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดตลาดแดนบวก ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่แกว่งในกรอบแคบก่อนจะปิดที่ระดับ 1649.06 จุด ลดลง 2.42 จุด (-0.15%) มูลค่าการซื้อขาย 4.4 หมื่นล้านบาท ดัชนีย่อตัวเล็กน้อยหลังจากปรับตัวขึ้นมาติดต่อกัน 4 วัน (22 จุด) แรงกดดันหลักมาจากหุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCC ที่ขึ้น XD วันนี้ และแรงขายทำกำไรรายหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงก่อนหน้า เช่นกลุ่มโรงไฟฟ้า EGCO GULF ปรับตัวลดลง 1.7% และ 1.1% ตามลำดับ รวมถึงแรงขายในหุ้นกลุ่มขนส่ง BTS(-4.4%) BEM(-1.5%) ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงาน outperform ตลาดฯ หลังราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นมาใกล้ 70 เหรียญฯ PTT (+0.5%) PTTEP(+1.2%) กลุ่มปิโตรฯ PTTGC(+1.8%)
ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันให้ยอดส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสทรงตัว-ลดลงจากปี 2561 ซึ่งนำไปสู่การปรับลด GDP Growth ของสำนักวิเคราะห์หลายแห่ง ทั้งนี้ยังไม่รวม ปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่จะมีน้ำหนักกดดันดัชนีมากขึ้น หากการได้รัฐบาลใหม่ล่าช้า แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ยังกระเตื้องขึ้นและใกล้ 70 เหรียญฯ/บาร์เรล จะหนุนให้เกิด stock gains ในหลายบริษัทคือ PTTGC, TOP, IRPC, PTT ซึ่งจะหนุนกำไรบริษัทเหล่านี้ดีขึ้นใน 1Q62 เทียบกับ 4Q61 และอียูเพิ่มโควตานำเข้าไก่จากไทย ดีต่อผู้ส่งออก GFPT, TFG, CPF ช่วยหนุนดัชนีแกว่งตัว 1640-1660 จุดกลยุทธ์การลงทุน ให้น้ำหนักหุ้น Global เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ลดน้ำหนักหุ้น Domestic Top picks ยังชอบ PTTGC(FV@B79) และ TFG([email protected]) upside 16% และ 50% ตามลำดับ
การปรับลด GDP ของไทยยังมี หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเกิน
ผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังมีอยู่ (การจัดเก็บภาษีนำเข้า 25% วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญ และรอบที่ 3 ภาษี 10% วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ) แม้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยอมถอยและประนีประนอมกัน แต่ผลกระทบจากการตอบโต้การค้าในช่วงกลางปี 2561 ยังคงกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากพึ่งพาการค้าโลกมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ทำให้เห็นสำนักวิจัยหลายแห่งได้ทยอยปรับลด GDP Growth ไทยปี 2562 เหลือเติบโตเฉลี่ย 3.7%-3.8% จากเดิมคาด 4.1-4.2% (ดังตาราง) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดสมมติฐานการส่งออกในรูปดอลลาร์จากเดิมที่ทำไว้สูงเกินเฉลี่ยที่ 6-8% เหลือ 0-4% แต่ยังคงสมมติฐานปัจจัยอื่นคงเดิม ซึ่งการปรับลดลงของสำนักวิจัยเหล่านี้ได้ลดลงมาใกล้เคียงกับ ASPS ที่ได้ปรับลด GDP Growth ปี 2562 ก่อนหน้าลงเหลือ 3.4% โดยกำหนดให้ส่งออกปี 2562 เพิ่มเพียง 0.5% และอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลลาร์ ลดลงจากเดิม 33 บาทฯ
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งหากอิงตามรัฐธรรมนูญใหม่ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่น่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2562 แต่ถ้าขั้นตอนต่างๆล่าช้าออกไป เชื่อว่าจะกระทบต่อการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และทำให้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐ และกระทบต่อการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนล่าช้า ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคครัวเรือน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อ GDP Growth มีโอกาสจะต่ำกว่าประมาณการที่ทำไว้ ซึ่งอาจจะกดดันผลการดำเนินงานหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การลงทุนภาครัฐเอกชน ธนาคารฯ ส่งออก และ ค้าปลีก เป็นต้น
Consensus GDP Growth ไทย
ที่มา : ASPS รวบรวมถึง 3 เม.ย.
PTTEP, PTT, PTTGC ยังนำตลาด..ราคาน้ำมันใกล้ 70 เหรียญฯ
แม้การรายงานสต็อกน้ำมันของสหรัฐ วานนี้จะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า กล่าวคือ สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ราว 7.27 ล้านบาร์เรล(ตลาดคาดลดลง 4 แสนบาร์เรล) ผลจากการความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการกลั่นลดลง สะท้อนอัตราการกลั่นน้ำมันลดลงเหลือ 86.4% จาก 86.6% ในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่พบว่าราคาน้ำมันดิบโลกยัง ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง กล่าวคือ
ราคาน้ำมันดิบดูไบยืนบริเวณราว 67.9 เหรียญฯต่อบาร์เรล เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63 เหรียญฯ คาดว่าน่าจะกังวลต่อปัญหาด้าน Supply เพราะสหรัฐเข้มงวดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกรอบ (กำลังการผลิตน้ำมันราว 2.65 ล้านบารร์เรล/วัน หรือราว 8.7% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในกลุ่ม OPEC) เพราะการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ล่าสุดเมื่อ 5 พ.ย.2561 แม้ห้ามทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน แต่ยกเว้น 8 ประเทศ คือ จีน, อินเดีย, กรีซ, อิตาลี, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ตุรกี และเกาหลีใต้ แต่รอบนี้ห้ามทุกประเทศค้าขายกับอิหร่าน
นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน Catel (Opec+non-Opec) มีแผนยืดระยะเวลาในควบคุมการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่กำหนดไว้กลางปี 2562 เป็นสิ้นปี 2562 (ตามข้อตกลง OPEC และ Non OPEC ทำสัญญาล่าสุด ธ.ค. 2561 จะตัดลดการผลิตถึงกลางปี 2562 ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็น OPEC ตัดลด 8 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ Non OPEC ลดลง 4 แสนบาร์เรล/วัน) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง และมีส่วนสำคัญหนุนให้ราคาน้ำมันดูไบล่าสุด 67.9 เหรียญฯต่อบาร์เรล (เฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 63 เหรียญฯ) ใกล้เคียงสมมติฐาน ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯนับจากปี 2563 เป็นต้นไป) และหากราคาน้ำมันดิบดูไบที่สูงกว่าสมมติฐานของ ASPS ทุกๆ 5 เหรียญฯ จะหนุน Fair Value ของ PTTEP(FV@B178) ในปี 2562 เพิ่มขึ้นราว 10 บาท และ PTT(FV@B56) เพิ่มขึ้นราว 4 บาท
และราคาน้ำมันที่สูงดังกล่าว ทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันงวด 1Q62 66 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับ 57 เหรียญฯ ใน 4Q61 หรือราว 10 เหรียญฯ น่าจะทำให้เกิด Stock gain แก่โรงกลั่น-ปิโตรเคมี (PTTGC, TOP และ IRPC) พลิกจากที่ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันงวด 1Q62 ซึ่งจะหนุนกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มฯ ดีขึ้นจากงวด 4Q61 รวมถึง PTT จะได้อนิงส์ด้วยเพราะถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้
การชอร์ต NVDR วันแรก กดดัน Fund Flow ไหลออกหุ้นไทยเล็กน้อย
วานนี้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการ เนื่องจากเป็นวัน “Nabi Muhammad” แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่าต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ด้วยมูลค่ารวม 209 ล้านเหรียญ และยังคงเป็นการซื้อสุทธิ 3 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 162 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามด้วยฟิลิปปินส์ 40 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10), ไต้หวัน 7 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเล็กน้อย 0.43 ล้านเหรียญ หรือ 13 ล้านบาท สวนทางกับสถาบันฯที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 มูลค่า 271 ล้านบาท
ส่วนต่างชาติขายหุ้นไทยเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอนุญาตให้นำ NVDR มาขายชอร์ต (short sale) ได้เป็นครั้งแรก โดยมีการประเดิมขายชอร์ตผ่าน NVDR ในวันแรก 40 บริษัท มูลค่ารวม 242 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.3% ของมูลค่าที่ถูก Short Sale ทั้งหมด 2.14 พันล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ความกังวลจากปัจจัยภายในประเทศ เน้นหุ้น Global มากขึ้น
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังสงครามการค้าโลกที่ผ่อนคลาย และดอกเบี้ยโลกน่าเข้าสู่วัฏจักรขาลง แต่ปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังมีอยู่ รวมถึงในเดือน เม.ย. มีบริษัทจดทะเบียนราว 63 บริษัท ที่ขึ้นเครื่องหมาย XD (กดดัน SET ประมาณ 9 จุด) อาจจะสร้างแรงกดดันให้ SET Index เกิดความผันผวนมากขึ้น ฝ่ายวิจัยจึงประเมินกรอบการลงทุนไว้ที่ 1640-1660 จุด กลยุทธ์ลงทุนให้ปรับน้ำหนักการลงทุนในสอดคล้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้เน้นการลงทุนในหุ้นที่อิงเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้น (Global) แต่ลดน้ำหนักหุ้นที่อิงการบริโภคและการลงทุนในประเทศ (Domestic) แยกเป็นรายกลุ่มดังนี้
1. หุ้น Global Play ที่เกี่ยวกับราคาสินค้าภัณฑ์ (น้ำมัน) และได้ประโยชน์จาก Stock Gain ในงวด 1Q62 (ดังตารางด้านล่าง) ชอบ PTT(FV@B56), PTTEP(FV@B178) และ PTTGC (FV@B79)
2. หุ้นเกษตร-อาหาร ที่ได้ประโยชน์จากการที่ EU เพิ่มโควตานำเข้าไก่จากไทย และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศทยอยฟื้นตัวในปี 2562 ได้แก่ GFPT ([email protected]) TFG ([email protected]) และ CPF ([email protected])
3. หุ้นที่ผันผวนต่ำกว่าตลาด ชอบ EASTW([email protected]) ได้ปัจจัยหนุนจากโครงการ EEC ที่จะทยอยเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) หนุนความต้องการใช้น้ำดิบในภาพอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ EASTW แล้ว ในปี 2562 ยังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งมาเร็วกว่าทุกปี ทำให้ปริมาณฝนตกทั่วประเทศลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี กล่าวคือคาดว่าเดือน มี.ค.-เม.ย. 62 ฝนตกต่ำกว่าค่าปกติราว 10-20% จะทำให้ปริมาณการขายน้ำดิบสูงขึ้นกว่าสมมติฐาน (คาดปริมาณขายน้ำดิบเติบโต 3.2%YoY) โดยภาพรวมทั้งปี 2562 คาดว่ากำไรสุทธิของ EASTW จะเติบโต 4.2% และเฉพาะ งวด 1Q62 คาดว่าจะดีขึ้นจาก 4Q61 เพราะนอกจากปริมาณขายน้ำที่ดีจากเหตุผลข้างต้นแล้ว คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคาดจะลดลงจาก 4Q61 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ค่าใช้จ่ายฯจะสูง EASTW เป็นหุ้น Defensive มี Div Yield สูงราว 4.2% และยังมี Upside 18.42%
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
ภวัต ภัทราพงศ์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ