- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 26 September 2014 16:16
- Hits: 1769
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ & อังกฤษ มีน้ำหนักมากขึ้น ยังเน้นให้ปรับพอร์ต และให้หลบมาเข้าหุ้น Laggards พื้นฐานเด่น มีเงินปันผลรองรับ (STPI, SRICHA, BEC, RS) วันนี้เลือก AIT(FV@B51) เป็น Top pick เป็นหุ้นเล็ก เติบโตเด่น มี P/E ต่ำเพียง 10 เท่า และ Div Yield เฉลี่ย 5%
เงินเฟ้อญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัว vs ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังดูดี
ญี่ปุ่น รายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 3.3%yoy ชะลอเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เทียบกับที่เคยสูงสุดที่ระดับ 3.7% ในเดือน พ.ค. โดยเป็นการชะลอตัวของราคาอาหารสด ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูปและพลังงานอยู่ในระดับทรงตัว แม้ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กังวลมากนัก แต่คงต้องติดตามแนวโน้มในระยะหลังจากนี้ หากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะเป็นปัจจัยกดดัน BOJ อาจจะชะลอการขึ้นภาษีขายที่กำหนดจะขึ้นอีก 2% ในปลายปี 2558 หลังจากที่เดือน เม.ย. ได้ปรับเพิ่มไปแล้ว 3% เป็น 8% ในปัจจุบัน ซึ่งได้กดดันเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอาจจะต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะที่สหรัฐ พบว่าตลาดแรงงาน ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 12,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 19,000 ตำแหน่ง (ค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ท้ายสุด ลดลง 1,250 ตำแหน่ง) เช่นเดียวกับ ดัชนี PMI ภาคการผลิต (มาร์กิต) เดือน ก.ย. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี แม้ดัชนี PMI ภาคบริการ (มาร์กิต) เดือน ก.ย. เริ่มขยายตัวช้าลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมถือว่ายังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ทั้งนี้ ยกเว้นยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ส.ค. ติดลบ 18.2% จากเดือนก่อนหน้า หรือ mom (ขยายตัว 9%yoy) เนื่องจากเดือนก่อนหน้าได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้เดือนนี้ยอดสั่งซื้อ ติดลบ 74.3% mom ซึ่งโดยภาพรวม หากไม่รวมเดือนก่อนหน้า พบว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ส.ค. ถือว่ายังอยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (ไม่รวมสินค้าขนส่งที่มีความผันผวนสูง) ขยายตัว 0.7% จากเดือนก่อนหน้า
โดยภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ทั้งด้านตลาดแรงงานและภาคครัวเรือน ที่ยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ส.ค. ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน จึงทำให้ ตลาดเกิดความคาดหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยฯ ของสหรัฐครั้งแรกอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วง 2H58 ซึ่งก็เป็นไปตามที่นางเยลเลนฯ (ประธาน FED) ได้ออกมาเตือนในช่วงก่อนหน้า ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดที่ต้องให้น้ำหนัก
เงินทุนไหลเข้าไทย สวนทางภูมิภาค
กระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ราว 311 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 8 เท่าตัว) โดยที่เกิดจากการขายสุทธิอย่างหนักในไต้หวัน ที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ราว 198 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 9%) และ เกาหลีใต้ สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 149 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซียยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 46 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 26% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับ ไทยที่ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 74 ล้านเหรียญฯ (2.4 พันล้านบาท, ลดลง 48% จากวันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์ที่ซื้อสุทธิเบาบางต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 7 ล้านเหรียญฯ (ลดลงจากวันก่อนหน้า 18%)
ทั้งนี้ แรงซื้อจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทยเริ่มเข้ามาต่อเนื่อง และ หนาแน่นขึ้น โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2557 กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท (แต่จากต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงขายสุทธิ 1.5 พันล้านบาท) ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิราว 6.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นยอดซื้อสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าสวนทางกับเงินทุนไหลเข้า อ่อนตัวลงแตะระดับ 32.29 บาทต่อเหรียญฯ ซึ่งเป็นผลจากเงินสกุลดอลลาห์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ (โดยDollar Index แข็งค่าขึ้น 0.88% ใน 1 สัปดาห์)
แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และอังกฤษ มีน้ำหน้กต่อตลาดมากขึ้น
หลังจากได้นำเสนอไว้ใน Market Talk วานนี้ กรณีที่ “นางเยลเลนฯ (ประธาน FED) ได้ออกมาเตือนนักลงทุน ให้เตรียมตัวกับโอกาสที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยฯ เร็วกว่าที่คาด แม้ที่ผ่านมาจะให้ความหวังนักลงทุนว่าจะยืนดอกเบี้ยระดับต่ำไปอีกระยะแต่ก็ได้เปิดช่อง หรือมีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายที่เข้มงวด ในสถานการณ์ที่เหมาะสม“ วันนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ได้แสดงความเห็นถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในอังกฤษ กำลังใกล้เข้ามา ทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ 2 ประเทศ น่าจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และคาดว่าจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นโลกน่าจะอยู่ในช่วงของการปรับฐาน หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้หากลองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีหุ้นเอเซีย โดยเฉพาะ TIP ได้ทำสถิติสูงสุดราวเดือน พ.ค. 2556 (ของไทยอยู่ที่ 1,646) และปรับตัวลดลงหลังจากนั้น เพราะกระแสข่าวการตัดลด QE ของสหรัฐมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อมีข้อสรุปจากผลการประชุมของ Fed ในวันที่ 19 มิ.ย. 2556 นายเบนาเก้ฯ ซึ่งเป็นประธาน Fed คนก่อน ได้ประกาศแผนการตัดลด QE รอบแรก 1 หมื่นล้านเหรียญฯ ก.พ. 2557 ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ TIP ปรับตัวลงแรง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับฐานเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะปรับฐาน หลังจากที่ดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดได้ที่ 1,647 จุด ณ 21 พ.ค. 2556 ก็เริ่มมีแรงขายอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือน มิ.ย. ที่บริเวณ 1,384 จุด หรือกว่า 16% แม้จะมีการฟื้นตัวมาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่ดัชนีก็ไม่สามารถผ่านบริเวณ 1,480 จุดได้ ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศ ยิ่งซ้ำเติมตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี ลงไปอยู่ที่ 1,298 จุด หรือลดลงนับจากจุดสูงสุดกว่า 22% ขณะที่ตลาดกลุ่ม TIP ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ลดลงไป 19.6% และ 17.6% ตามลำดับ (ดังปราฏในภาพข้างต้น )
ขณะที่ในปีนี้ ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเซีย หลังจากลงไปต่ำสุดปีที่แล้ว ก็สามารถฟื้นกลับมาได้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมากว่า 22% ขณะที่กลุ่ม TIP ฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกัน คือ ฟิลิปปินส์ ขึ้นมา 23% อินโดนีเซีย ขึ้นมา 21% ประกอบกับตลาดหุ้น TIP มีค่า Expected P/E ปี 2557 ที่สูงมาก ทำให้โอกาสการปรับฐานนับจากนี้มีความเป็นไปได้สูง
AIT อีก 1 ในหุ้น Laggards พื้นฐานเด่น + P/E ต่ำ
หลังจากฝ่ายวิจัยทำ Initial Coverage SAMTEL เป็นบริษัทแรกในกลุ่มผู้รับงานโทรคมนาคมภาครัฐฯ ระยะหนึ่ง ฝ่ายวิจัยได้เลือกเฟ้นบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเพื่อทำ Initial Coverage อีก 1 บริษัท ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน คือ AIT ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งตลาดงานประมูลโครงการ ICT รัฐฯ อันดับ 4 หรือมีสัดส่วนราว 16% เกิดจากที่ AIT ใช้กลยุทธ์เน้นรับงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก ถือเป็นจุดแตกต่างจากคู่แข่งรายใหญ่ในกลุ่มที่เน้นรับงานขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นงานด้านระบบโครงข่ายมือถือ รวมถึงระบบบโทรคมนาคมที่สนับสนุนธุรกิจสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา สนามบิน) ดังนั้น ทำให้การแข่งขันในกลุ่มงาน AIT ไม่รุนแรงนัก สร้างจุดเด่นให้ AIT มีประสิทธิภาพทำกำไรสูงสุดในกลุ่ม นอกจากนี้ คาด AIT จะเป็นหนี่งในบริษัทที่คาดได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่ ครม. ชุดใหม่เร่งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจจากใช้ประโยชน์ด้านทางเทคโนโลยี ICT (Digital Economy) โดยเฉพาะการเพิ่มโครงข่ายอินเตอร์เนตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านการลงทุนของ CAT และ TOT ลูกค้าหลักของ AIT
ด้านผลประกอบการ แม้ยังไม่รวมประโยชน์ของนโยบาย Digital Economy ดังกล่าว แต่คาดว่ากำไรจะสร้างสถิติสูงสุดต่อเนื่อง คือ เติบโต 25% ในปีนี้ (ทั้งนี้ ผลกำไร 2H57 อาจเห็นการอ่อนตัวบ้าง จากการส่งมอบงานตามกำหนดจำนวนมากใน 1H57) และเพิ่มขึ้นอีก 10.8% ในปีหน้า ขณะที่ในการประเมินมูลค่าหุ้น ฝ่ายวิจัยอิง PER ที่ 15 เท่า (อิง Expected PER ปี 2557 เฉลี่ยระหว่างหุ้นในกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่า AIT (LOXLEY, SAMTEL) อยู่ที่ 20 เท่า และ หุ้นในกลุ่มที่เล็กกว่า AIT อย่าง MFEC ซึ่งมี PER 2557 ที่ 12.1 เท่า) ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 51 บาท Upside สูง 46% และยังคาดหวัง Div Yield ได้เกินปีละ 4.0%
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล