- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 06 March 2019 17:30
- Hits: 1987
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การเมืองหลังเลือกตั้งยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดและมีผลต่อ Fund flow จะกลับมาได้หรือไม่ ผลสำรวจล่าสุดพบว่า พรรคเพื่อไทยยังนำคะแนนสูงสุด ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างมาก ขณะที่ความเสี่ยงต่อการปรับลดกำไรตลาดปี 2562 สะท้อนต้นทุน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับปรับปรุงใหม่ แต่คาดว่าจะชดเชยบางส่วนจากรายการพิเศษ (stock น้ำมัน) ระยะสั้นดัชนียังคงแกว่งตัวในกรอบ 1630-1645 จุด ยังชอบหุ้นพื้นฐานเด่นที่ราคาหุ้น Laggard คือ BJC(FV@B61) และ BBL (FV@B227) วันนี้เพิ่ม BCH(FV@B21) เป็น Defensive ราคาหุ้นมี upside 34%
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index พลังงานช่วยชีวิต
วานนี้ SET Index ปรับตัวลงตลอดวัน ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงเย็น และปิดที่ระดับ 1639.00 จุด เพิ่มขึ้น 3.70 จุด (+0.23%) แต่มูลค่าการซื้อขายยังน้อยราว 4.11 หมื่นล้านบาท คาดว่ายังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ๆ โดยปัจจัยภายนอก (สงครามการค้า) คลี่คลาย ส่วนในประเทศยังให้น้ำหนักต่อประเด็นทางการเมือง โดยหุ้นใหญ่ที่หนุนตลาดคือ AMATA(+3.4%), PTTEP(+1.24%), BBL(+0.97%), AOT (+0.75%), SCC(+0.4%) INTUCH (+0.45%) ตามด้วยหุ้นกลาง-เล็ก MCOT(+15.3%) BEC(+6.2%) JMART(+4.23%) ESSO(+3.64%) ตรงข้ามหุ้นกดดันดัชนีคือ KBANK(-0.51%), BDMS(-0.42%) เป็นต้น
แนวโน้มตลาดวันนี้คาดว่าดัชนียังแกว่งตัวในกรอบ 1630-1645 จุด ยังขาดแรงหนุนจากต่างชาติ ซึ่งน่าจะให้น้ำหนักประเด็นการเมืองหลังเลือกตั้ง เพราะผลสำรวจล่าสุดพบว่า พรรคเพื่อไทยยังนำคะแนนสูงสุด ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างมาก ขณะที่ความเสี่ยงต่อการปรับลดกำไรตลาดปี 2562 สะท้อนต้นทุน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับปรับปรุ่งใหม่ แต่คาดว่าจะชดเชยบางส่วนจากรายการพิเศษ (stock น้ำมัน) กลยุทธ์เน้นพื้นฐานเด่น ราคาหุ้น Laggard และ Defensive วันนี้เลือก BCH(FV@B21) เป็น top pick
จีนกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ ชดเชยผลกระทบสงครามการค้า
ที่ประชุมสภาประชาชนจีนเมื่อวานนี้ ได้ข้อสรุปให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง เพิ่มเติม เพื่อชดเชยผลกระทบของสงครามการค้า หลังจากที่ปรับลดเป้า GDP Growth ปี 2562 ลงเหลือ 6.0-6.5% จากเดิม 6.5% ซึ่งชะลอตัวจาก 6.6% ใน ปี 2561 คือ
• ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แบ่งเป็น ภาคการผลิตลดลงเหลือ 13% จากเดิม 16% และ ภาคขนส่งเหลือ 9% จากเดิม 10%
• ปรับเพิ่มอัตราส่วนขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ปี 2562 เป็น 2.8% เพิ่มจาก 2.6% ปี 2561
และมีแนวโน้มจะ ปรับลดอัตราเงินสดสำรองทางกฎหมาย (RRR) ในอนาคต หลังจากที่ปรับลด RRR ไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 1% ลงเหลือ 13.5% เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
โดยรวมถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นจีน โดยผลตอบแทนหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วราว 22%นับตั้งแต่ต้นปี หลังจากปีที่แล้วปรับลดลงมากสุดในภูมิภาคราว 24.3% ซึ่งเชื่อว่าปีนี้น่าจะให้ผลตอบแทน Out perform ตลาด
สหรัฐเตรียมตัดสิทธิ GSP สินค้าที่มาจากอินเดียและตุรกี
หลังจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนผ่อนคลาย แต่สหรัฐกลับเดินหน้ากีดการค้าโดยการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (GSP) 2 ประเทศ คือ อินเดียและตุรกี มีผล พ.ค.2562 เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากที่สุดอันดับ 1 และ 5 จากทั่วโลก โดยกล่าวหาว่าไม่เปิดให้สหรัฐเข้าถึงตลาดส่งออกอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้สหรัฐจะเดินหน้าประกาศ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทั่วโลก (Safe Guard) อีกครั้ง หลังประกาศขึ้นภาษี Safe Guard ทั่วโลกกับ 5 สินค้าคือ เครื่องซักผ้า, แผงโซลาร์เซลล์, เหล็ก, อลูมิเนียม,น้ำมันไบโอดีเซล มูลค่ารวมกันราว 5.2 หมื่นล้านเหรียญ (มูลค่านำเข้า 5 ชนิดรวมกันคิดเป็น 2.1%ของมูลค่านำเข้าสหรัฐทั้งหมด) เมื่อ มี.ค. 2561 รายละเอียดเพิ่มคือ กลางเดือน พ.ค. 2562 สหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้า(Safe Guard) รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (สหรัฐนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 2.95 แสนล้านเหรียญราว 12% ของยอดนำเข้าทั้งหมด) โดยจะปรับขึ้นภาษีเป็น 25% จากเดิม 2-4% ซึ่งประเทศที่คาดจะกระทบหนักสุด เรียงลำดับตามมูลค่านำเข้ารถยนต์ของสหรัฐ คือ เม็กซิโกราว 28.6% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐจากทั่วโลก รองลงมาคือ แคนาดา (19.1%) ยุโรป ราว 19% และญี่ปุ่น ราว 17.6% ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐราว 1.04 พันล้านเหรียญ 0.44% ของยอดส่งออกรวม หรือ 4% ของตลาดส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก)
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเม็กซิโกและแคนาดา น่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะใน 2561 ได้มีการทำข้อตกลงการค้าใหม่ ภายใต้ชื่อ USMCA(United States-Mexico-Canada Agreement) แทน NAFTA ภายใต้สัญญาใหม่ สหรัฐยอมยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนฯ 25% จาก 2 ประเทศ แต่ทั้งแคนาดาและเม็กซิโก ต้องเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐ คือ
• สินค้าเกษตร แคนาดาต้องเปิดตลาดนมให้สหรัฐ (ต้องเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นไปที่ 3.5%) และเม็กซิโก ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อหมู ให้เหลือ 0%
• รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ กำหนดเงื่อนไขใหม่ ให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ส่วนประกอบรถยนต์ (ชิ้นส่วน) ที่มีการผลิตในอเมริกาเหนือเป็น 75% จากเดิม 62.5% และบังคับใช้เหล็กและอลูมิเนียมจากในอเมริกาเหนือ ในการประกอบยานยนต์สัดส่วน 70% ของที่ใช้ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นผู้ส่งออกรายอื่นๆ คือ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนไทยจะกระทบทางอ้อม เพราะผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ไปยัง เม็กซิโก (ภายใต้สนธิสัญญา FTA) อาจจะเผชิญกับต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น หากถูกเก็บภาษี Safe Guard ปัจจุบัน ยอดส่งออกไทย ไปยังตลาดอเมริกาเหนือ ราว 8% ของยอดส่งออกรถยนต์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องปรับตัว เพื่อชดเชยไปตลาดใหม่ ๆ คือ ตลาดเอเซีย, ตลาดโอเชียเนีย (สัดส่วนราว 31% ของยอดส่งออกรถยนต์) และตลาดตะวันออกกลาง (สัดส่วน 10% ของยอดส่งออกรถยนต์) อาจจะเป็นเพียงปัจจัยกดดันระยะสั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยง AH แต่ยังซื้อ SAT(FV@B29) เพราะยังมีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากค่ายรถยนต์จากสหรัฐ
คลื่น 2600 ของ MCOT ถูกนำมาประมูล 5G ผู้ประกอบการยังไม่พร้อม
หลัง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ ให้อำนาจ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่มีการใช้งาน หรือ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า นำมาจัดสรรใหม่ มีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่ง วานนี้ กสทช. ได้มีมติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นแรก (ส่วนคลื่น 700 MHz ที่มีกระแสข่าวเรียกคืนจากทีวี ดิจิตอลก่อนหน้านี้ เป็นการสงวนสิทธิ์เรียกคืนของ กสทช. ตั้งแต่วันที่ประมูลช่อง) ขนาด 190 MHz แบ่งเป็นเรียกจาก MCOT 154 MHz, กองทัพบก+กองบัญชาการทหารสูงสุด 12 MHz และกรมประชาสัมพันธ์ 24 MHz หาก MCOT ไม่ขัดข้อง กสทช. น่าจะนำคลื่นดังกล่าวมาประมูล 5G ได้ช่วง 3Q62
การที่ MCOT มีโอกาสได้เงินชดเชยเข้ามา คาดว่าจะเป็นบวก เพราะมีเงินสดเข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัทในช่วงธุรกิจ ทีวีอยู่ในภาวะขาดทุน โดยปัจจุบันคลื่น 2600 MHz มีอายุบริการเหลือราว 6 ปี สิ้นสุดปี 2568 โดยหากเทียบราคาคลื่นย่านใกล้กันที่ประเทศไทยเคยจัดประมูล คือ 2100 MHz ปี 2555 มีมูลค่าคลื่นราว 31 ล้านบาทต่อ 1 MHz ต่อปี อีกคลื่น คือ 2300 MHz ขนาด 60 MHz ของ DTAC ปัจจุบันมีค่าเช่าใช้จาก TOT คิดเป็นมูลค่าคลื่นราว 75 ล้านบาทต่อ 1 MHz ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันคลื่น 2600 MHz (ใช้งาน 4G และ 5G ในประเทศจีน ขณะที่ สหรัฐ, ยุโรป และเกาหลีใต้ จะให้บริการ 5G บนคลื่น 3400-3600 MHz และ 26000-28000 MHz)
การเร่งรีบประมูล 5G อาจจะเป็น อาจสร้าง Sentiment ลบกับหุ้นผู้ให้บริการมือถือ เพราะยังไม่น่าจะพร้อมจากหลายเหตุผลคือ
1. ผู้ให้บริการมือถือทุกราย มีภาระการจ่ายค่าคลื่นความถี่ 4G อีกมากโดยเฉพาะ 900 MHz โดย ADVANC, TRUE กำหนดจ่ายค่าคลื่นเหลือ 2 งวดในปี 2562 และ 2563 ที่ 4.0 พันล้านบาท และ 6.0 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วน DTAC กำหนดจ่ายเหลือ 3 งวดในปี 2562,2564 และ 2565 ที่ 2.0 พัน, 2.0 พัน และ 3.0 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ)
นอกจากนี้ กสทช. ยังมีแนวโน้มจะนำคลื่นออกมาประมูลจำนวนมาก อาทิ 700 MHz, 3400 MHz และ 28000 MHz ในระยะอันใกล้นี้ จึงเชื่อว่าราคาประมูลคลื่น 5G น่าจะถูกกว่าคลื่น 4G ที่แพงมาก (1800 MHz 15 MHz อยู่ที่ 4.0 หมื่นล้านบาท ส่วน 900 MHz 10 MHz อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท)
2. บริการ 5G ทั่วโลกยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้จะมีการทดลองบริการกันมากขึ้น การที่ต้องแบกรับต้นทุนคลื่น 5G เข้ามาก่อน ประเมินเป็น Downside ต่อกำไร
ทั้งนี้ ในด้านฐานะการเงินผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย พบว่ายังรองรับได้ (ดังตารางสรุป) จึงยังให้ลงทุน เท่าตลาด โดยมี ADVANC และ DTAC เป็นตัวเลือกลงทุน
อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง แต่ยังเดือนหน้าเลือกตั้ง 24 มี.ค.
วันที่ 7 มี.ค. 2562 (พรุ่งนี้) ศาลรัฐธรรมนูญฯ จะอ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ กกต. ยื่นคำร้องให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถือเป็นจุดที่น่าสนใจทางการเมืองประการหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลฯ จะออกมาว่าให้ยุบ หรือไม่ยุบพรรค ไทยรักษาชาติ ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลต่อกำหนดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 จึงไม่น่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index มากนัก
ประเด็นที่เริ่มถูกมองและให้น้ำหนักมากขึ้นจากนี้ไป น่าจะเป็นเรื่องการคาดหมายผลการเลือกตั้ง ที่ในรอบนี้เป็นการเลือกตั้งบนกติกาใหม่โดยใช้วิธีการ จัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่เชื่อว่าจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใด ได้คะแนนสูงแบบถล่มทลาย และจะมีการกระจายตัวของ ส.ส. อยู่ในพรรคการเมืองขนาดกลาง – เล็กมากขึ้น ทั้งนี้ล่าสุดได้มีการเปิด The Nation Poll ซึ่งถือเป็น โพลแรกที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่ออย่างเป็นรูปธรรม ปรากฎว่าพรรคการเมืองที่ไดคะแนนเสียงสูงสุด 5 อันดับแรกในการเลือกตั้งระบบเขต ซึ่งมี ส.ส. รวม 350 ที่นั่ง ได้แก่ เพื่อไทย (136 ที่นั่ง), ประชาธิปัตย์ (88 ที่นั่ง), พลังประชารัฐ (62 ที่นั่ง), ภูมิใจไทย (31 ที่นั่ง) และ ชาติไทยพัฒนา (12 ที่นั่ง)
หากผลออกมาเป็นดังกล่าว การจัดตั้งรัฐบาลที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการที่ พรรคที่ได้ ส.ส 3 อันดับแรก ต้องมี 2 พรรคที่ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล แต่จะเป็นพรรคใดบ้างคงต้องรอติดตามกระแสทางการเมืองต่อไป ซึ่งผลการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่า Fund Flow จะไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งหรือไม่
ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่ต่างชาติสลับมาขายหุ้นทั้งภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่า 764 ล้านเหรียญ (ด้วยปริมาณที่มากสุดนับตั้งแต่ต้นปี 62) และยังเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 428 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิ 2 วันติดต่อกัน), เกาหลีใต้ 173 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP อย่าง อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 83 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), ฟิลิปปินส์ 25 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 54 ล้านเหรียญ หรือ 1.73 พันล้านบาท สวนทางกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 911 ล้านบาท
ปัจจัยภายในประเทศ ทั้งผลประกอบการงวด 4Q61 ของบริษัทออกมาต่ำกว่าคาด และประเด็นการเมืองที่ยังคลุมเครือกดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยติดต่อกัน 7 วัน ด้วยมูลค่ากว่า 1.03 หมื่นล้านบาท กดดันให้ยอดซื้อขายสุทธิในปี 62 พลิกกลับมาติดลบ 1.85 พันล้านบาท รวมถึงต่างชาติยังขาย Short สัญญา SET50 Futures ติดต่อกัน 4วัน สูงถึง 3.4 หมื่นสัญญา
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์