WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน    
วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562
แม้สถานการณ์เรื่องสงครามการค้ามีแนวโน้มไปในทางบวก แต่เชื่อว่าได้สะท้อนในราคาหุ้นระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่ปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่าในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปรากฎตัวเลข 4Q61 ต่ำเพียง 1.56 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2562 เริ่มเห็นหลายปัจจัยเข้ามาสร้างแรงกดดัน คาดจะทำให้เกิดการปรับลดประมาณการ EPS ลงจากเดิม 112.2 บาท/หุ้น เหลือไม่เกิน 110 บาท/หุ้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้ จึงเน้นความปลอดภัยโดยเลือกหุ้นที่เติบโต และราคายัง Laggard ได้แก่ BJC(FV@B61) และ BBL (FV@B227)    
    
SET Index    1,641.44
เปลี่ยนแปลง (จุด)    -12.04
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท)    48,409
            
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ดิ่งแรงหลุดแนวรับ 1643 จุด
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลงจนหลุดแนวรับ 1643 จุด ทำให้ปิดที่ระดับ 1641.44 จุด ลดลง 12.04 จุด (-0.73%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.84 หมื่นล้านบาท ปัจจัยภายในประเทศเรื่องรายงานงบ 4Q61 ซึ่งบริษัทจดทะเบียนกว่า 90% ส่วนใหญ่ต่ำกว่าคาด โดยกลุ่มที่กดดันตลาดคือ กลุ่มสื่อสาร (TRUE PT และ JTS) และ กลุ่มพลังงาน (TOP GUNKUL และ PTG) เป็นต้น โดยประเด็นเรื่องแรงขายรับงบ เช่น TRUE ประกาศงบ Q4 ที่ขาดทุนต่ำกว่าซึ่งส่วนใหญ่มาจากรายจ่ายเพื่อยุติข้อพิพาทกับ CAT ปัจจัยกดดันสําคัญ มาจากการเติบโตรายได้ค่าบริการที่ชะลอตัวลง ลดลง 5.6%qoq (แย่สุดในรอบหลายปี เกิดจากการปรับปรุงการบันทึกรายได้ย้อนหลัง) จึงทำให้ปิดที่ราคา 4.82 บาท ลดลง 10.74%
สำหรับวันนี้คาดดัชนีหุ้นไทยยังคงผันผวน โดยน่าจะอยู่ในกรอบ 1645-1670  จุด โดยปัจจัยในประเทศให้น้ำหนักเรื่องผลประกอบการของตลาดในงวด 4Q61 ต่ำกว่าคาด กดดันกำไรทั้งปี 2561 ต่ำกว่าคาด และมีแนวโน้มต้องปรับลดกำไรตลาดปี 2562 ต่อการเลือกตั้ง ที่เดินหน้าตามกำหนดเดิม ส่วนการเมืองอาจมีกระแสผันผวนอยู่บ้าง แต่หากไม่ส่งผลกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบจำกัด คาด fund flow ชะลอการไหลเข้าไทยในระยะสั้น    
สหรัฐยังไม่ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน แต่กดดันให้จีนลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 
สหรัฐเลื่อนวันครบกำหนด (Dead line 1 มี.ค. 2562) ของการผ่อนคลายสงครามการค้าสหรัฐ-จีน (ต้นเดือน 1 ธ.ค.2561 – 1 มี.ค.2562) กล่าวคือ เลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญฯ จากจีน จาก 10% เป็น 25% ออกไปแต่ยังไม่ระบุระยะเวลา  ซึ่งรอประกาศทางการวันอังคาร 5 มี.ค. (รอบ 1และ 2 วงเงินรวม 5 หมื่นล้านเหรียญ ภาษีนำเข้า  25% ยังถูกจัดเก็บอยู่)  โดยสหรัฐขอให้จีนยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมด จากปัจจุบันเก็บ 25% หลังจากช่วงต้นปี ได้ลดภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนจากสหรัฐเหลือ 15% จากเดิม 40% ไปก่อน และขอให้เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐตามคำเรียกร้องของสหรัฐ  หลังต้นปีได้กลับมานำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอีกครั้ง ราว 1.5 – 2  ล้านตัน และนำเข้าก๊าซธรรมชาติราว 5.99 ล้านตัน    
โดยเชื่อว่าทั้ง 2 ฝั่งมีท่าทีที่ผ่อนคลายเพราะน่าจะได้รับรู้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา   โดยเฉพาะจีน หลังจากประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  โดยให้น้ำหนักการประชุมสภาประชาชนจีนที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. ตลาดคาดว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการลดภาษี อาทิ คาดจะลดภาษีนิติบุคคล, ภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงจากเดิมอย่างละ 2% จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีนิติบุคคล 25%, ภาษีบุคคลธรรมดา 7 ช่วงระหว่าง 3-45% และ VAT 17%  หลังจากต้นปีได้ใช้นโยบายการเงิน คือ ลดอัตราเงินสดสำรองทางกฎหมาย (RRR) ไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 1% เหลือ 13.5%  โดยรวมสงครามการค้าที่ผ่อนคลายถือเป็นประเด็นบวกต่อตลาดหุ้นโลก   
 
 
เงินเฟ้อ เดือน ก.พ. ขยายตัว แต่ยังต่ำ
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ก.พ. ขยายตัว 0.73%yoy ฟื้นตัวจากเดือน ม.ค. ที่ 0.27% เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือน ม.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 64.32 เหรียญ เพิ่มขึ้น 1.6%yoy รวมไปถึงราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ข้าว-แป้งขยายตัว 5.15%, เนื้อสัตว์ 4.5%, เคหสถาน 0.68% เป็นต้น รวมถึงบางสินค้าหดตัวน้อยลง เช่นผักผลไม้หดตัว 1.52% เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 4.36% 
จากเงินเฟ้อที่ยังไม่สูงมากนัก และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ชะลอ จากผลกระทบสงครามการค้า และสภาพคล่องในระบบยังสูง ล่าสุด  ธ.ค. 2561 อยู่ที่ราว 2.48 แสนล้านบาท จึงคาดว่า กนง. อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 1H62 และเชื่อว่าการประชุม กนง. วันที่ 20 มี.ค. นี้ น่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย โดยจะต้องติดตามเรื่องเงินเฟ้อในช่วง 2H62 ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์น้ำมันเป็นหลัก 
CIMBT นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านใหม่และรีไฟแนนซ์
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เคลื่อนเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น หลังจากที่ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี สู่ 1.75% ในการประชุมเมื่อ 19 ธ.ค. 2561 ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ อาทิ SCB และ KBANK ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท (3, 6, 12, 24 และ 36 เดือน) ซึ่งมีผลแล้วในวันที่ 4 และ 5 ม.ค. โดยยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น
และล่าสุด ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) การประกาศนำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งบ้านใหม่และรีไฟแนนซ์ประมาณ 0.1-0.15% ทำให้ภาพรวมไม่มีดอกเบี้ยบ้านที่ต่ำกว่า 3% แล้วในช่วง 3 ปีแรก (ในช่วงที่ผ่านมา CIMBT ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) และเงินฝากประจำ 3, 6, 9 เดือน มีผลวันที่ 1 ก.พ. 62 แล้ว)  
ประเด็นดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ก่อนหน้า ว่าจะเห็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาในไม่ช้า เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง ธ.พ. ขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบในเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมากกว่า ธ.พ. ขนาดใหญ่ จึงทำให้ CIMBT ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น 
ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะช่วยให้ NIM ปรับเพิ่มขึ้น แต่ผลประกอบการของกลุ่มธ.พ. ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การเติบโตของสินเชื่อสุทธิ, ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ แม้จะเร่งตัวขึ้น แต่เชื่อว่า ธ.พ.ส่วนใหญ่ยังบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ยังค่อนข้างทรงตัว หรือลดลงในบางธนาคาร
เพื่อให้สะท้อนผลการดำเนินงานปี 2561 ที่ประกาศ และเป้าหมายธุรกิจปี 2562 อย่างเป็นทางการในรายธนาคาร ฝ่ายวิจัยจึงคาดกำไรสุทธิกลุ่มฯปี 2562 เติบโตเพียง 0.9% yoy แต่หากหักรายการพิเศษออกไป จะพบว่ากำไรปกติยังเติบโตได้ราว 5% โดยปัจจัยขับเคลื่อนของกลุ่ม ธ.พ.ในปี 2562 นอกจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ NIM แล้ว  การเติบโตของสินเชื่อสุทธิในปี 2562 ที่ประเมินไว้ 5.3% yoy เป็นอีกปัจจัยบวกที่มีน้ำหนัก โดยเน้นไปที่สินเชื่อรายใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น  เลือก BBL(FV@B227) และ KBANK (FV@B246) เป็น Top pick กลุ่มฯ เด่นทั้งพื้นฐาน  valuation ที่ระดับต่ำ ปันผลเฉลี่ย                    4-5% p.a. นอกจากนี้ ที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับฐาน สะท้อนปัจจัยกระทบต่างๆ ไปมากแล้ว
BJC รายงบ 4Q61 ดีกว่าคาด และหุ้น Laggard   
ผลการดำเนินงานงวด 4Q61 ของ BJC   ดีกว่าคาด  เป็นผลมาจากกาปรับโครงสร้างภาษีภายในทำให้อัตราภาษีจ่ายต่ำกว่าคาดมาอยู่ที่ 15.4% เทียบกับที่คาด 20%  (ในงวด 3Q61 ได้มีการรับรู้ไปส่วนหนึ่งแล้วโดยอัตราภาษีลดลงมาอยู่ที่ 9.6%)  ส่วนผลการดำเนินอื่นๆ สอดคล้องกับประมาณการเช่น SSSG  1.5% ลดลงจาก 2.5% ใน 3Q61 สอดคล้องกับอุตสาหกรรม Hypermarket หนุนกำไรจากการดำเนินงานที่พลิกกลับมาเป็นบวก 2.8% yoy ใน 4Q61 (จากลดลง 2.3%yoy ใน 3Q61)
สำหรับปี 2562  แนวโน้มกำไรเติบโต 9.5% จากธุรกิจหลัก Big C คาดกลับมาเติบโตดีขึ้น หลังได้รับอานิสงส์เม็ดเงินสะพัดช่วงก่อนหลังเลือกตั้ง เชื่อว่า SSSG เติบโต 1.8% ในปี 2562 (เพิ่มจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 1%) และการขยายสาขาใหม่ 8 แห่ง เพิ่มจากเดิมที่มี 148 สาขา (ในประเทศ 7 สาขา , ต่างประเทศ 1 สาขา) บวกกับ จากธุรกิจดั้งเดิม BJC ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จะรับรู้รายได้โรงงานใหม่ SB5 เต็มปี (เริ่มเปิด พ.ย. 61) รวมถึงธุรกิจเวชภัณฑ์ (มาร์จิ้นสูง) ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยหนุนประสิทธิภาพทำกำไรของกลุ่ม
Valuation ปัจจุบันของ BJC ยัง Laggard เมื่อเทียบกลุ่ม สะท้อนจากค่า P/E  ปี 2562 ราว 27 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 29 เท่า ขณะที่ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีลดลง 2% เทียบกับกลุ่มค้าปลีกที่ขึ้นมาแล้ว 7.5% และยังสามารถรับปันผล 0.55 บาท/หุ้น ณ 30 เม.ย. 2562
เชื่อเดือน มี.ค. ต่างชาติมีโอกาสสลับมาซื้อหุ้นไทย
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันหยุดทำการ ส่วนตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมพบว่า ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในกลุ่ม TIP ราว 124 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นอินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 36 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 32 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และไทยต่างชาติขายสุทธิ 56 ล้านเหรียญ หรือ 1.78 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 มีมูลค่ารวม 7.2 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อขายสุทธิ 3.1 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า)
หากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 62  เคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุด 7.07% ที่ 1674.54 จุด (ณ วันที่ 25 ก.พ. 62) แล้วย่อตัวลง จนปัจจุบันเหลือผลตอบแทน 4.96% (ytd) แต่เชื่อว่าแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน มี.ค. มีโอกาสไหลกลับเข้ามา และผลักดันให้ SET Index เดินหน้าต่อ จากประเด็นสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง บวกกับจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และที่สำคัญยังมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง การเลือกตั้ง ช่วยหนุน Fund Flow ไหลกลับอีกแรง สอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า Fund flow มักจะไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค. สูงถึง 9 ใน 10 ปี ด้วยปริมาณเฉลี่ยที่สูงถึง 1.42 หมื่นล้านบาท (มากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ) หนุนให้ SET Index มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.21% เพิ่มขึ้น 7 ใน 10 ปี
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
ที่มา Bloomberg, ฝ่ายวิจัย ASPS
 
กำไรฯ ปี 2561 ต่ำคาด ..... ส่วนปี 2562 มีโอกาสปรับลดแต่ไม่มาก
ผลประกอบการงวด 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียน มีกำไรสุทธิรวม 1.56 แสนล้านบาท ลดลง 39.1%yoy และ 40.5%qoq นับเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าคาด ทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิทั้งปี 2561 (ปรับงวดให้ตรงตามปีปฎิทิน อาทิ AOT) เหลือเพียง 9.7 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% YoY และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของผลประกอบการปี 2562 ซึ่งกำไรสุทธิรวมถูกคาดการณ์ไว้ที่ 1.11 ล้านล้านบาท หรือ 112.2 บาท/หุ้น พบว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องปรับลดลง โดยหนึ่งในแรงกดดันเป็นเรื่องรายการสำรองผลประโยชน์พนักงานตาม พ.ร.บ.แรงงานฉบับแก้ไข ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องบันทึกรายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทในปี 2562  ทั้งนี้หากปรับลดเพื่อสะท้อนเรื่องดังกล่าวก็น่าจะทำให้ EPS ปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ราว 110 บาทต่อหุ้น เติบโตราว 12.0%YOY
หากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (EPS Growth) ปี 2562 ของตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นภูมิภาค พบว่า SET Index ที่มี EPS Growth เติบโต 12%yoy ถือเป็นอัตราที่สูงใกล้เคียงกับหลายประเทศ อาทิ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เติบโต 11.0%yoy ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เติบโต 11.0%yoy ตลาดหุ้นจีน เติบโต 10.1%yoy ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดียที่เติบโตสูงถึง 28.3%yoy และมาเลเซียเติบโตต่ำเพียง 1.4%yoy นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น มีการเติบโตที่ด้อยกว่าตลาดหุ้นไทย
และเมื่อพิจารณา Expected P/E ปี 2562 ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ราว 14.9 เท่า นับว่าเป็นระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม TIP ได้แก่ อินโดนีเซีย 15.6 เท่า ฟิลิปปินส์ 16.2 เท่า รวมทั้งยังคงถูกกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐ ทั้งดัชนีDow Jones 15.7 เท่า และS&P 500 ที่ 16.7 เท่า รายละเอียดดังภาพด้านล่าง 
 
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
 ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
 โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
   ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!