- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 08 February 2019 15:47
- Hits: 2659
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
SET Index 1,653.11
เปลี่ยนแปลง (จุด) -5.60
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 50,123
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท(ล้านบาท)
นักลงทุนต่างชาติ 276.61
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 555.73
นักลงทุนสถาบันในประเทศ 967.98
นักลงทุนรายย่อย -1,800.32
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดอาจจะกลับมาปรับฐานอีกครั้ง หลังไม่ผ่านแนวต้าน 1667 จุด ด้วยกลับมากังวลสงครามการค้า ทั้งๆ ที่ไม่มีประเด็นใหม่ แต่คงต้องติดตามข้อสรุปอีกครั้งต้น มี.ค. นี้ ยังให้น้ำหนักการเมืองที่มีพัฒนาการเชิงบวก หนุน Fund flow ไหลเข้า การจ่ายเงินปันผลรายหุ้น หลังรายงานงบ 4Q61 ซึ่งจะทยอยประกาศช่วงปลายเดือน ก.พ. Top picks ยังชอบ SCCC(FV@B269) และ BJC(FV@B61) ราคาหุ้นยัง Laggard
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … ดัชนีไม่ผ่าน 1667 จุด
ตลาดหุ้นไทยวานนี้แกว่งตัวผันผวน โดยดัชนีปรับขึ้นในช่วงเช้า ขณะที่ภาคบ่ายมีแรงเทขายออกมา และปิดตลาดที่ 1653.11 จุด ลดลง 5.60 จุด (-0.34%) ด้วยมูลค่าซื้อขาย 5.01 หมื่นล้านบาท แม้ตลาดจะมีแรงหนุนจากกลุ่ม ICT (ADVANC+1.94%, INTUCH+55.50%) แต่ไม่อาจหักล้างผลจากการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่มค้าปลีก CPALL-2.24%, MAKRO-0.72% กลุ่มขนส่ง AOT-0.72% กลุ่มโรงพยาบาล BDMS-1.27% และกลุ่ม ธ.พ. ได้
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ กลับมาผันผวนหลังจากวานนี้ทะลุ 1663 จุด ขึ้นไปทำจุดสูงของวันที่ 1667 เพราะตลาดกลับมากังวลสงครามการค้า แม้จะไม่มีประเด็นใหม่ ซึ่งต้องติดตามผลสรุปอย่างเป็นทางการก่อนวันที่ 2 มี.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ได้ประเด็นบวกจากความผ่อนคลายเรื่องดอกเบี้ยระยะสั้น ส่วนในประเทศยังเป็นเรื่อง การเมืองที่มีพัฒนาการเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม และการรายงานงบงวด 4Q61 ที่จะทยอยเพิ่มมากขึ้นช่วงปลายเดือน ก.พ. หลังจากนั้นจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 2H61 หรือปี 2561 จึงยังหนุนหุ้นรายตัว
ตลาดกลับมากังวลสงครามการค้า ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย 1 มี.ค. นี้
ตลาดหุ้นโลกกลับมากังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลังจากเมื่อวานนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สหรัฐ กลับลำจะไม่เข้าพบเจรจาการค้ากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ช่วงปลายเดือน 27-28 ก.พ. นี้ ) ก่อนวันเส้นตายที่ 1 มี.ค.2562
เชื่อว่ายังไม่มีประเด็นใหม่ เพราะระหว่างนี้สหรัฐน่าจะติดตามท่าทีว่าจีน จะยอมผ่อนปรนตามสหรัฐเรียกร้องหรือไม่ ซึ่งล่าสุดพบว่า จีนทยอยกลับมานำเข้าสินค้าหลายอย่าง เริ่มจากถั่วเหลือง อีกครั้งราว 2.5 ล้านตันจากก่อนหน้าที่หยุดนำเข้าตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย.2561 ตามมาด้วยก๊าซธรรมชาติกลับมานำเข้าอีกครั้ง 5.99 ล้านตัน รวมถึงการลดภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากสหรัฐเหลือ 15% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 จากเดิม 40% เป็นเวลา 90 วัน เป็นต้น
หลังจากวันที่ 1 มี.ค. ต้องติดตามต่อไปว่าสหรัฐยังคงผ่อนคลายการขึ้นภาษีวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญฯ จาก 10% เป็น 25% ต่อไปหรือไม่ แต่เชื่อว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีท่าทีประนีประนอมต่อกัน เพราะได้รับรู้แล้วว่าสงครามการค้า ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างเป็นผู้ที่สูญเสีย
อย่างไรก็ตามประเด็นนี้สร้างแรงกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลง แต่เชื่อว่าการตัดลดกำลังการผลิตทั้งจากกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ยังเป็นไปตามแผนจนถึงกลางปี 2562 ที่ลดลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (ยังมีอยู่ต่อเนื่อง หลังจากเดือน ธ.ค. ทำข้อตกลงที่จะตัดลดการผลิต) น่าจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบแกว่งตัวขึ้นได้ แม้ช่วงสั้นจะแกว่งตัวลง ล่าสุดอยู่ที่ 60.1 เหรียญฯต่อบาร์เรล ต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญ ในปี 2562 แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (และกำหนด 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) ยังแนะนำสะสม PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56) ขณะที่หุ้นทั้ง 2 บริษัทยังให้เงินปันผลจ่ายสูง
ธนาคารกลางโลกเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย เงินเอเชียน่าจะทรง/แกว่งตัว
ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบสงครามการค้า ทำให้ธนาคารกลางโลกบางแห่งเริ่ม หันมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ล่าสุดที่ประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) วานนี้สร้างความประหลาดใจต่อตลาด โดยการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 6.25% (หลังปี 2561 ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งรวม 0.5%) เป็นผลจากเงินเฟ้อชะลอตัว (เดือน ธ.ค. 2561 เหลือ 2.2% จาก 4.9% มิ.ย. 2561) ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และต่ำกว่าเป้าที่ 4% จึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว (GDP Growth งวด 3Q61 7.1% เทียบกับ 8.2% งวด 2Q61) ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งใน เม.ย.-พ.ค. ที่จะถึง
ตามมาด้วย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ผลการประชุมวันเดียวกันยังคงดอกเบี้ยที่ 4.75% ตามที่ตลาดคาด หลังจากขึ้นไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 1.75% ในปี 2561 แต่คาดปีนี้ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อเดือน ม.ค. ขยายตัว 4.4% แม้ชะลอจากสูงสุด 6.7% ในเดือน มิ.ย. แต่ยังสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมาย 3.0%
และเช่นกัน ผลการประชุมธนาคารอังกฤษ (BOE) ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ต่อเนื่องเป็นเดือน 7 (หลังจากที่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2560 และ 2561 รวม 2 ครั้ง 0.5%) ทั้งนี้เพราะกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ BOE มีการปรับลด GDP Growth ลงจากเดิม 1.8% เหลือ 1.5% ส่วนเงินเฟ้อเป้าหมายปรับลงจาก 2.2% เหลือ 1.8% และ ปัญหา Brexit ยังคงยืดเยื้อจากแผนเดิม
โดยรวมทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ เมื่อเทียบกับสกุลยูโร และปอนด์ ยกเว้นเงินเอเซียที่ยังคงแข็งค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพราะ Fund flow ไหลเข้าตราสารหนี้และทุน (หลังสหรัฐชะลอการขึ้นดอกเบี้ย) และหลายประเทศในเอเซียยังคงเกินดุลการค้า โดยเฉพาะไทย จีน อินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตาม เงินเอเชีย มีแนวโน้ม ทรงตัว-แกว่งตัว หลังจากนี้ เพราะได้แข็งค่ามานาน 3-4 เดือน ติดต่อกันนับจากปลายปี 2561 ซึ่งน่าจะช่วยลดความผันผวนด้านการส่งออกได้บ้าง
แม้ต่างชาติซื้อหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค แรงซื้อเริ่มเบาลง
วานนี้ตลาดหุ้นไต้หวันยังคงหยุดทำการ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคเริ่มกลับมาเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 337 ล้านบาท (ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3) แต่กำลังการขับเคลื่อนของ Fund Flow เริ่มเบาลง เมื่อเทียบกับช่วงต้นของปี และหากพิจารณาเป็นราบประเทศพบว่า วานนี้เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 290 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 10 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิ 12 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 15) และไทยซื้อสุทธิเล็กน้อย 9 ล้านเหรียญ หรือ 277 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 968 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
และวานนี้ตลาดหุ้นหลายแห่งเริ่มย่อตัว หลังปรับตัวขึ้นมาแรงในปีนี้ เพราะกลับมากังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ Fund Flow เริ่มไหลกลับมาในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแรงซื้อตราสารหนี้ไทยของต่างชาติที่กลับมาซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วัน มูลค่ารวม 4.17 พันล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
การเมืองยังมีพัฒนาการเชิงบวก และหนุนตลาดจนผ่านการเลือกตั้ง
วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งในช่วง 4 วันที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. เขต 9.2 พันคน จาก 58 พรรค บัญชีรายชื่อ 23 พรรค และมี 16 พรรคเสนอรายชื่อบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ ทั้งนี้แต่ละพรรคสามารถส่งรายชื่อได้ไม่เกิน 3 ชื่อ โดยหากพิจารณาที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ จะส่งเพียงรายชื่อเดียว (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา), พรรคเพื่อไทย ส่งรายชื่อ 3 คน (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ) และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ คือ 15 ก.พ. กกต. ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติรับเลือกตั้ง, 4-16 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร, 17 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า, 24 มี.ค. วันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ และภายใน 9 พ.ค. กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (ไม่เกิน 150 วัน หลัง พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้)
พัฒนาการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากสถิติในช่วงการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พบว่า SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3เดือน และปรับขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วง 1 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.88% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 4 ครั้ง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติ ที่ลดน้ำหนักการถือครองหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา เริ่มกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย โดยคาดหวังว่าจะเห็นน้ำหนักการลงทุนถูกปรับจาก น้อยกว่าตลาด (Underweight) มาเป็นเท่ากับตลาด (Neutral) ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ค่า PER ของตลาดหุ้นไทย กลับไปที่ 16 เท่า (เทียบเท่า 1795 จุด ณ สิ้นปี 2562) ได้อีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุนยังคงแนะนำหุ้นในกลุ่มที่น่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากกระแสการเลือกตั้ง เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCCC) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC, CK) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BBL, KBANK) กลุ่มค้าปลีก (ROBINS, BJC, CPALL) กลุ่มสื่อ-สิ่งพิมพ์ (PLANB) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA, AMATA) นอกจากนี้หลังการประกาศผลงบฯ จะเข้าสู่ช่วงของการจ่ายเงินปันผลจึงแนะนำหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง อาทิ MAJOR, QH โดยแนะนำให้ซื้อหุ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ประมาณ 1 เดือน
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์