- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 01 February 2019 14:16
- Hits: 3355
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET ยังแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1630-1650 จุด มีแรงหนุนจากกลุ่มน้ำมันตราบที่ยังยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ตามด้วยกลุ่ม ธ.พ. จากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมชัดขึ้น หลัง CIMBT นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย และการรายงานงบ 4Q61 ของบริษัทจดทะเบียนฯ แม้อาจมีแรงขายรับงบ แต่จะตามด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นหุ้นที่ควรสะสม 1 เดือนล่วงหน้า ก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน คือ QH ([email protected]), MAJOR (FV@B29) และ PTTEP (FV@B168) เลือกเป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … พลังงาน - ธ.พ. หนุนตลาดปิดบวก
วานนี้ SET Index ขึ้นมาทดสอบกรอบบนบริเวณ 1650 จุด ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดที่ระดับ 1641.73 จุด เพิ่มขึ้น 9.13 จุด (+0.56%) มูลค่าการซื้อขาย 5.78 หมื่นล้านบาท ดัชนีแกว่งตัวทิศทางขาขึ้นตลอดวัน จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก นำโดยกลุ่มพลังงาน PTTEP ปรับตัวขึ้นโดดเด่น +2.5% หลัง EIA รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด PTT +1.1% และ IVL +1.5% ตามด้วยกลุ่ม ธ.พ. ปรับตัวขึ้นทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะ KBANK ปรับตัวขึ้นโดดเด่น 3.6% ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่อย่าง SCC อ่อนตัวลงแดนลบ -0.9% คาดกำไรอีก 3 ปีข้างหน้าเติบโตจำกัดและ Upside มีไม่มากนักจึงแนะนำ switch ไปยัง SCCC ที่ upside เปิดกว้างกว่า
คาด SET Index วันนี้คาดว่ามีโอกาสขึ้นแตะแนวต้าน 1647-1650 จุด โดยตลาดน่าจะผ่อนคลาย หลังการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ มีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง แต่คาดว่าอาจจะมีแรงขายทำกำไรระหว่างวันต่อเนื่องจากท้ายตลาดวานนี้ ทั้งนี้เชื่อว่าแรงซื้อขายน่าจะยังกระจุกตัวในกลุ่ม ธ.พ. หลังจากที่ CIMBT นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) 0.125% เป็นรายแรก พร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และน่าจะเร่งให้ธนาคารฯ รายอื่นๆ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตาม ซึ่งเป็นปัจจัยหนุน NIM ตามมาด้วยหุ้นปิโตรเลี่ยม (PTT, PTEP) แม้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับฐาน แต่ยังคงยืนเหนือ 60 เหรียญฯ ได้ใกล้เคียงสมมติฐานของ ASPS
การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน มีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง
ผลสรุปการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน 2 วัน ระหว่าง 30-31 ม.ค. ที่ Washington, D.C แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายแต่เป็นพัฒนาการเชิงบวก คือทั้งสองฝ่าย ยังมีท่าทีผ่อนคลาย และประนีประนอม ต่อเนื่อง จากการเจรจารอบก่อนหน้านี้ (30 พ.ย.- 1 ธ.ค.) โดยรอบนี้ ฝั่งจีน เสนอจะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอีก 5 ล้านตัน (อ้างอิงจาก Bloomberg) เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ที่กลับมานำเข้าจากสหรัฐครั้งแรกราว 1.5 - 2 ล้านตัน หลังจากที่จีนหยุดนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐทั้งหมดในช่วง มิ.ย-พ.ย. 2561 (โดยปกติจีนนำเข้าถั่วเหลืองจากทั่วโลกเฉลี่ยราว 90 ล้านตัน/ปี แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอในการเพิ่มปริมาณนำเข้าถั่วเหลือง 5 ล้านตันในปี 2562 ก็ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนสงครามทางการค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐราว 35 ล้านตัน/ปี (หรือราว 40% ของการนำเข้าจากทั่วโลก)
ขณะที่ประธานาธิปดีทรัมป์เผยว่าจะติดตามความคืบหน้า ว่าจีนมีการปรับปรับปรุงเรื่องการขโมยเทคโนโลยีจากสหรัฐ และการเปิดตลาดทางธุรกิจให้สหรัฐ อาทิ การเงิน ภาคการผลิต ซึ่งการเจรจาในรอบนี้จะยังไม่มีข้อตกลงสุดท้าย โดยคาดว่าจะได้เจรจากับประธานาธิปดีสี จิ้นผิง ในเดือน ก.พ.นี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเชื่อว่าประเด็นเรื่องสงครามการค้าจากนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น
กลุ่ม ธ.พ. หลัง CIMBT นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ MRR แห่งแรก
หลังจากที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี สู่ 1.75% ในการประชุม 19 ธ.ค. 2561 หลังจากนั้น SCB และ KBANK ประกาศเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท (3, 6, 12, 24 และ 36 เดือน) ขึ้นอีก 0.25% สำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท มีผลวันที่ 4 และ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น
อย่างไรก็ตาม วานนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เป็น ธ.พ. แห่งแรกที่ประกาศนำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ขึ้นอีก 0.125% ไปอยู่ที่ 7.857% (จากเดิม 7.75%) มีผลวันที่ 1 ก.พ. 62 พร้อมทั้งปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3, 6, 9 เดือน สำหรับเงินฝากไม่เกิน 2 ล้านบาท ขึ้นอีก 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.3%, 1.55 และ 1.55% ต่อปี ตามลำดับ และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน สำหรับเงินฝากไม่เกิน 2 ล้านบาท ขึ้นอีก 0.10% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.65% ต่อปี มีผลวันที่ 1 ก.พ. 62 เช่นกัน
ประเด็นดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ก่อนหน้า และบวกต่อธนาคารฯ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้ ธ.พ. ขนาดเล็ก จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมากกว่า ธ.พ. ขนาดใหญ่ จึงทำให้ CIMBT ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้พร้อมกันดังกล่าวข้างต้น
แม้การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะช่วยให้ NIM ของ กลุ่มธ.พ. ดีขึ้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ในการ ผลักผลการดำเนินงานคือ สินเชื่อสุทธิ โดยในปี 2562 คาดว่าจะไม่สูงนักคือราว 5.3% yoy ( ตามความคืบหน้า โครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่มีกรอบระยะเวลาลงทุนชัดเจนในช่วง 5 ปีข้างหน้า) และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ แม้จะเร่งตัวขึ้น แต่เชื่อว่า ธ.พ.ส่วนใหญ่ยังบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ (ยกเว้น SCB) สะท้อนจาก Coverage ratio ปี 2561 อยู่ที่ 147% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 137%
หลังประกาศงบ 2561 และทราบเป้าหมายธุรกิจปี 2562 อย่างเป็นทางการ นักวิเคราะห์ ASPS จึงมี ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ลง 5.0% จากเดิม ภายหลังลดประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2562 เติบโตลดลงเหลือ 0.9% yoy แต่หากหักรายการพิเศษในปี 2561 ออก จะพบว่ากำไรปกติยังเติบโตได้ราว 5% โดยปัจจัยขับเคลื่อน 3 ปัจจัยข้างต้น จึงให้น้ำหนักลงทุน เท่าตลาด โดย Top Picks กลุ่มฯ แนะนำ BBL(FV@B227) และ KBANK (FV@B246) แต่หากพิจารณา upside แล้ว ชอบ KBANK มากกว่า BBL
สงครามการค้าผ่อนคลาย คาดหนุน Fund Flow ไหลเข้าต่อใน ก.พ.
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค 400 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 12 วัน) แต่ยังคงซื้อ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 314 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยไต้หวัน 127 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11) ส่วนอีก 2 ตลาด สลับมาขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 816 ล้านเหรียญ และไทย 42 ล้านเหรียญ หรือ 1.30 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิกว่า 6.84 พันล้านบาท
สรุป Fund Flow ในเดือน ม.ค. เริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นในภูมิภาค ด้วยมูลค่ารวม 7.15 พันล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิหนักในปี 2561 กว่า 3.1 หมื่นล้านเหรียญ) และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ หนุนให้ตลาดหุ้นทั้ง 5 แห่ง ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น (รายละเอียดดังภาพทางด้านล่าง) และหากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่า ในเดือน ม.ค. 62 ให้ผลตอบแทนโดดเด่นไม่แพ้เพื่อนบ้านถึง 4.98% แม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิน้อยสุดใน 5 ประเทศ 214 ล้านเหรียญ หรือ 6.72 พันล้านบาท แต่มีแรงซื้อจากสถาบันฯที่ช่วยหนุนอีกแรง โดยซื้อสุทธิถึง 1.0 หมื่นล้านบาท
เงินทุนต่างชาติ vs. ผลตอบแทนของตลาดหุ้นภูมิภาคในเดือน ม.ค.
ส่วนแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน ก.พ. คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเดินหน้าต่อ จากสงครามการค้าที่ผอนคลายลง และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.21% และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 8 ใน 10 ปี
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์