- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 24 September 2014 15:12
- Hits: 1493
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าตลาดยังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน โดยยังเลือก BEC(FV@B56) เป็น Top pick หลัง กสทช. ยอมให้ถ่ายทอดดิจิตอลทีวี โดยไม่คิดต้นทุนซ้ำซ้อน คาดว่าจะหนุนให้กำไรกลับมาโดดเด่นในปี ถัดไป โดยมีจุดเด่นที่เงินปันผลสูง และราคาหุ้นยัง laggard
ดัชนีภาคการผลิต สหรัฐ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง สวนทางกับยุโรป และจีน
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง พบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐ (มาร์กิต) เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 57.9 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ เม.ย. 2553 และเช่นเดียวกับยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือน ก.ค.และ ส.ค. กลับมาขยายตัวมากกว่าเดือนละ 30%yoy เป็นอัตราสูงสุด ในรอบกว่า 5 ปี ซึ่งทำให้โอกาสที่สหรัฐจะใช้นโยบายการเงินตรึงตัวต่อเนื่อง และชัดเจนในปี 2558 เป็นไปได้มากขึ้น หลังจากที่การตัดลดมาตรการ QE สิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. นี้
ตรงข้ามกับฝั่งยุโรป ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวใน 3Q57 วานนี้รายงานดัชนี PMI รวมภาคการผลิต และบริโภค เบื้องต้น เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ซึ่งประกอบด้วยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น เดือน ก.ย. ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และดัชนี PMI ภาคบริการ ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งจะกดดันให้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึง 11.5% และอัตราเงินเฟ้อต่ำ 0.3% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด รวมทั้งแรงกดดันจากปัญหาการเมืองระหว่างภูมิภาคระหว่าง ยูเครน กับรัสเซีย ยังมีอยู่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเดือน ต.ค. เตรียมอัดฉีดเงิน โดยเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) วงเงินขั้นต่ำราว 7 แสนล้านยูโร (6.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งมาตรการกระตุ้นจะมากเพียงพอ ที่จะหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
จีน ความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2557 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 7.5% มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกคือ การฟื้นตัวล่าช้าของประเทศคู่ค้า ทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น และปัจจัยภายในคือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน ประเทศ ที่มุ่งเน้นไปที่การบริโภค การลงทุนในประเทศ และปัญหาการปล่อยกู้นอกระบบผ่านธนาคารเงา (Shadow Banking) ซึ่งล่าสุด รัฐบาลจีนยังไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยยังคงมุ่งไปที่เป้าไปที่การกระตุ้นครั้งก่อนหน้า โดยการอัดฉีดสภาพคล่องอีก 81.4 พันล้านเหรียญฯ แก่ธนาคารรายใหญ่สุดของประเทศ 5 แห่ง ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนล่าสุดอยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนจาก ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 50.5 แม้กระเตื้องขึ้นใกล้เคียงกับ ธ.ค. 2556 แต่ถือว่ายืนเหนือ 50 เล็กน้อย (ได้ลดต่ำกว่า 50 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. ก่อนที่จะขึ้นเหนือ 50 เล็กน้อยนับจากเดือน มิ.ย.) ขณะที่ผลผลิตภาคอุตฯ เดือน ส.ค. แม้ขยายตัว 6.9%yoy แต่ยังต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และเกือบใกล้เคียงวิกฤติการเงินปี 2551
ต่างชาติขายหุ้นภูมิภาค แต่ยังซื้อไทยต่อเนื่อง
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 10 แม้ว่าลดลง 26% จากวันก่อนหน้า แต่ยังคงสูงถึง 539 ล้านเหรียญฯ เป็นการขายสุทธิถึง 4 จาก 5 ประเทศ สูงสุดคือเกาหลีใต้ ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 289 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 14%) ตามมาด้วยไต้หวัน ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 10 แต่ลดลง 59% จากวันก่อนหน้า เหลือราว 204 ล้านเหรียญฯ ส่วนอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิราว 50 และ 13 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ (ซื้อสุทธิ 2 วันก่อนหน้า ทั้ง 2 ประเทศ) สวนทางกับไทย ที่ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 18 ล้านเหรียญฯ (596 ล้านบาท, ลดลง 12% จากวันก่อนหน้า)
ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจในจีนยังคงกดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต่างชาติยังคงขายสุทธิในทุกประเทศ เว้นเพียงแต่ ไทย ที่ยังคงถูกซื้อสุทธิถึง 14 จาก 17 วันหลังสุด รวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการถูกเทขายสุทธิอย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มียอดสะสมตั้งแต่ต้นปีเป็นขายสุทธิราว 8.6 พันล้านบาท (ประเทศอื่นเป็นซื้อสุทธิทั้งหมด)
ปรับลดน้ำหนักปิโตรเคมีฯ เพราะฟื้นตัวล่าช้า
วานนี้นักวิเคราะห์กลุ่มปิโตรเคมีของ ASP ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนจากเดิมมากกว่าตลาดเป็นเท่ากับตลาด หลังจากการฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า และ มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ขณะที่ยังมีปัญหาผลผลิตโลกเกินความต้องการ โดยเฉพาะทางด้านสายอะโรเมติกส์ TOP (มีสัดส่วนกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ 25% และโรงกลั่น 70%), PTTGC (สัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 50% อะโรเมติกส์ 25% และโรงกลั่น 25%), ESSO (สัดส่วนกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ 35% และโรงกลั่น 65%), IRPC (สัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 30% อะโรเมติกส์ 10% สไตรรีนิกซ์ 10% และโรงกลั่น 35%)) โดยในช่วง 2H57 คาดจะมี Supply ใหม่เกิดขึ้นรวมราว 4 ล้านตันต่อปี และในปี 2558 อีก 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่จะมี Supply ผลิตภัณฑ์ PTA ที่ใช้ PX เป็นวัตถุดิบเกิดขึ้นใหม่เพียง 4-5 ล้านตันต่อปี จึงทำให้สถานการณ์พาราไซลีนในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้ายังอยู่ในภาวะ oversupply สะท้อนได้จากราคาผลิตภัณฑ์ขั้นต้นที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ พาราไซลีน (Px) ปรับตัวลดลง 1.9%wow มาอยู่ที่ 1.24 พันเหรียญฯต่อตัน กดดันให้ Spread Px-Naptha ลดลง 5.7%wow มาอยู่ที่ 379 เหรียญฯต่อตัน ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์เบนซีน (Bz ผลิตภัณฑ์รอง) ทรงตัวที่ 1.22 พันเหรียญฯต่อตัน เพราะความต้องการใช้สไตรีนโมโนเมอร์ (SM-ใช้เบนซีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต) และ ปริมาณผลิตโลก เติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน เฉลี่ย 3% ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบแนฟทาที่ลดลง 0.1%wow มาอยู่ที่ 860 เหรียญฯต่อตัน ทำให้ Spread Bz-Naptha กระเตื้องเล็กน้อย 0.1%wow มาอยู่ที่ 361 เหรียญฯต่อตัน
ในสถานการณ์นี้จะดีต่อผู้ประกอบการขั้นกลาง-ปลาย โดยเฉพาะผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PET) และ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ คือ IVL ซึ่งใช้ Px เป็นวัตถุดิบในการผลิต หนุนให้ Spread ของ PET (PTA-Px มีสัดส่วน 20% ของปริมาณขายรวม) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 8.3%wow มาอยู่ที่ 206 เหรียญฯต่อตัน สูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่สายโอเลฟินส์ (PTTGC (สัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 50% อะโรเมติกส์ 25% และโรงกลั่น 25%), IRPC (สัดส่วนกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 30% อะโรเมติกส์ 10% สไตรรีนิกซ์ 10% และโรงกลั่น 35%)) มีข้อดีกว่าสายอะโรเมติกส์ ตรงที่ ปริมาณผลิต และ ความต้องการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน (ปี 2557 และ 2558 จะเพิ่มขึ้นราว 4.6 และ 4.5 แสนตัน vs ความต้องการใช้เฉลี่ยต่อปีที่ 5 ล้านตัน) ทำให้คาดว่า Spread ของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แม้สัปดาห์ล่าสุดได้อ่อนตัวลงราว 1-2%wow แต่ทั้งนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ Spread ของผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเม็ดพลาสติก HDPE-Naptha และ LDPE-Naptha ที่ลดลงเฉลี่ย 1.3wow แต่ยังอยู่ที่ 726 และ 731 เหรียญฯต่อตัน ตามลำดับ และ เช่นเดียวกับ Spread ผลิตภัณฑ์ขั้นปลายชนิดพิเศษ (Specialty) อาทิ PP-Naptha, PS-Naptha และ ABS-Naptha ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ IRPC ซึ่งมีสัดส่วน 30-40% ของปริมาณขายรวม ที่อ่อนตัวลงเฉลี่ย 1.2%wow มาอยู่ที่ 656, 791 และ 1,056 เหรียญฯต่อตัน ตามลำดับ ทำให้คาดว่าผลประกอบการในงวด 2H57 จะดีเป็นรายหุ้น คือ
IVL (FV@B 40) คาดกำไรงวด 2H57 จะเติบโตกว่างวด 1H57 โดยได้แรงหนุนจาก Spread ของผลิตภัณฑ์ PET (สัดส่วน 50% ของกำลังการผลิต) และ PTA (สัดส่วน 15% ของกำลังการผลิต) ที่เพิ่มขึ้นเพราะราคาต้นทุนวัตถุดิบ Px ลดต่ำลง ขณะที่คาดว่าความ ปริมาณขายเม็ดพลาสติกจะเพิ่มขึ้นจากงวด 1H57 ถึง 11.7% รวมทั้งไม่น่าจะมีการบันทึกขาดทุนจาก stock loss เพราะราคาผลิตภัณฑ์ปัจจุบันนับว่าต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
PTTGC (FV@B 84) คาดกำไรงวด 2H57 เพิ่มขึ้นจาก 1H57 หลังจากการกลับมาเดินเครื่องโรงงานโอเลฟินส์และโพลิเมอร์อีกครั้ง ประกอบกับ Spread ของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ขณะที่ Spread ของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์อาจได้รับผลกระทบจากกราคาพาราไซลีน (Px) ที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันโลกและค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงน่าจะกดดันจากธุรกิจโรงกลั่นต่อไป และยังต้องบันทึกขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ส่งผลให้คาดการณ์กำไรปี 2557 อาจจะลดลง 9.8%yoy (อ่านรายละเอียดใน Industry Update ฉบับวานนี้)
ยกเว้น TOP (FV@B 56) ที่อาจจะด้อยที่สุดในกลุ่ม คาดกำไรงวด 2H57 ลดลงจากงวด 1H57 โดยงวด 3Q57 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี เนื่องจากมีแผนหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่เป็นระยะเวลาถึง 40 วันและแนวโน้มค่าการกลั่นที่คาดจะอ่อนตัวลงตามผลของฤดูกาล รวมถึงต้องบันทึกขาดทุนจากสต็อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์แม้จะดีขึ้น แต่ยังทรงตัวในระดับต่ำจากปัญหา oversupply ของ Px ส่งผลให้แนวโน้มกำไรปี 2557 คาดจะลดลงราว 25.3%yoy
กลยุทธ์การลงทุนงวด 4Q57 ตลาดยังมีโอกาสปรับฐาน
วานนี้สายงานวิจัย ASP ได้ออกกลยุทธ์การลงทุนในงวด 4Q57 เชื่อว่าในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า ดัชนียังมีมีโอกาสปรับฐาน โดยมีปัจจัยสนับสนุนอย่างน้อย 3 ประการคือ 1) พื้นฐานตลาดหุ้นไทย หากพิจารณา Expected P/E ปี 2557 ใกล้เคียงกับประเทศภูมิภาคเอเซีย คือ ณ ดัชนีล่าสุด 1,589 จุด มี Expected P/E ราว 16.2 เท่า และแม้จะลดลงเหลือ 14.3 เท่าในปีหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ค่าราว 16.8 เท่า และ 16.8 ในปีนี้ และ 14.3 เท่า และ 15.3 ในปีหน้า ตามลำดับ ยกเว้น ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่สูงกว่าคืออยู่ที่ 20.5 เท่า และ 17.3 เท่า ในปีนี้ และ 17.7 เท่า และ 14.5 เท่า ในปีหน้า ตามลำดับ
2) ถัดมาคือ การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ หลังถอนมาตรการ QE เสร็จสิ้น ในเดือน ต.ค. คาดจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า และเช่นเดียวกับอังกฤษ น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเวลาใกล้เคียงกับสหรัฐ ขณะที่เอเซียมีบางประเทศได้นำร่องขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วคือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ส่วนไทยน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 2H58 ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่า ดอกเบี้ยกับตลาดหุ้น จะมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม
และ 3) สุดท้าย แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันไทย คาดว่าจะมีฐานะขายสุทธิ มากกว่าซื้อ เนื่องจากได้ลงทุนในหุ้นเต็มที่แล้ว สะท้อนจากที่ถือเงินสดสุทธิ 3.5% ของกองทุนหุ้นขณะที่ต่างชาติยังไม่มีท่าทีจะกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย แม้ได้ขายสุทธิมานานกว่า 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม หากต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ ก็อาจจะทำให้การกำหนดดัชนีเป้าหมายตลาดเปลี่ยนไปในเชิงบวกกว่าปัจจุบัน
ดังนั้นจึงคาดว่าดัชนีหุ้นไทยน่าจะปรับฐาน โดยลงมาทดสอบ Expected P/E 15.15 เท่า หรือราว 1,521 จุด ก่อนสิ้นปีนี้ แต่หากมองไกลออกไปถึงสิ้นปี 2558 และอิงใช้ Expected P/E 15-15.5 เท่า คาดว่าดัชนีเป้าหมายจะขยับขึ้นไปถึง 1,657-1,713 จุด มี upside ไม่มาก
กลยุทธ์ฯ แนะให้ปรับพอร์ตลงทุน โดยสลับขายหุ้นที่ขึ้นแรง และเลือกซื้อหุ้นพื้นฐาน ที่ราคาตลาดต่ำกว่า Fair Value หรือขึ้นช้ากว่าตลาด (Laggards) โดยให้ถือเงินสดส่วนใหญ่ 70% และอีก 30% ถือหุ้นไทย โดยหุ้นที่คาดว่าจะ outperform ตลาดในระยะ 3 เดือนข้างหน้า คือ AOT, BEC, BTS, CPF, INTUCH, KTB, RS, SRICHA, STPI, TMB ติดตามอ่านรายละเอียด Invest +, 4th Quarter 2014
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล