- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 19 May 2014 15:07
- Hits: 3549
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความเสี่ยงต่อการปรับลดกำไรตลาดยังมีอยู่ต่อเนื่อง ตราบที่ปัญหาการเมืองยังไม่มีทางออก ระยะสั้นเชื่อว่าดัชนีที่เหนือเกิน 1,400 จุด จะมีความผันผวนสูงมาก ยังแนะนำกลยุทธ์เลือกเป็นหุ้นรายตัวที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก วันนี้เลือก IRPC([email protected]) เป็น Top pick และแนะลงทุนระยะสั้น BJCHI ราคาหุ้นยังไม่ตอบรับข่าวบวก ที่จะเข้า SET100 และ MSCI Global Small Cap พร้อมกัน
เศรษฐกิจไทยติดลบใน 1Q57 จากปัญหาการเมืองเป็นหลัก
สหรัฐ หลังจากผ่านพ้นภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในช่วง ธ.ค. 2556 - ม.ค. 2557 สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐกลับมากระเตื้องขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากตัวเลขเริ่มสร้างบ้านในเดือน เม.ย. ที่ปรับเพิ่มขึ้น 13.2%mom (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3) และยอดการอนุญาตก่อสร้างบ้าน เพิ่มขึ้น 8%mom (ขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 5 เดือน) ซึ่งทั้ง 2 ดัชนี ถือว่าปรับตัวมากกว่าที่คาด (มาจากจำนวนเริ่มสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น 0.8%mom) ทั้งนี้หลัก ๆ น่าจะเกิดจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ทำให้อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ลดลงที่ 6.3% (ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 6.5%)
อย่างไรก็ตามล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เดือน พ.ค. จากรอยเตอร์ และ ม.มิชิแกน) กลับปรับลดลงสู่ 81.8 (ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน) จาก 84.1 ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่คาดอยู่ที่ 84.5 เป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบปี สะท้อนได้อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. อยู่ที่ 2% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมาย
การที่ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจทั้ง อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ เข้าสู่เป้าหมาย ถือว่าการใช้มาตรการ QE ที่ผ่านมาน่าจะประสบความสำเร็วระดับหนึ่ง แม้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ยังมีความเสี่ยงก็ตาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประธาน FED ยังต้องการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ 0.25% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่การตัดลด QE น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายเพิ่มเติมจากการประชุม FED ครั้งถัดไปวันที่ 17-18 มิ.ย. และในวันพุธนี้จะมีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประจำวันที่ 29-30 เม.ย. 2557 ซึ่งน่ามีผลต่อความคาดหมายของตลาด
ไทย ล่าสุดมีการสำรวจนักเศรษฐศาตร์ไทย ต่างประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ไทยใน1Q57 น่าจะตกต่ำสุด ของปี โดยเติบโต 0.35%YoY หรือติดลบ 2.2%QoQ โดยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยเพียงประเทศเดียวในอาเซียน (บลูมเบริ์ก เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตราว 3% vs IMF คาด 2.5% และ ASP คาด 2%) เทียบกับอินโดนีเซียที่ 5.3% (IMF คาด 5.4%) และ ฟิลิปปินส์ที่ 6.5% (เท่ากับ IMF คาด) ทั้งนี้ต้องติดตามการรายงาน GDP Growth งวด 1Q57 จากสภาพัฒน์ฯ ในวันนี้
ตามมาด้วย นักเศรษฐศาสตร์จาก ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ และมิตซูโฮะ แบงค์ คาดว่า GDP Growth อาจติดลบต่อเนื่องกันถึง 2 ไตรมาส เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของใหญ่ด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล และเอกชน และอาจจะถูกตัดลดความน่าเชื่อถือในอนาคต
การเคลี่อนไหวทางการเมือง 4 ฝ่ายหลัก มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทย
พัฒนาการของสถานการณ์การเมืองได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญ ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงสัปดาห์นี้ ต่อเนื่องถึงต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทย โดยต้องติดตามการเคลื่อนไหวของ 4 ฝ่ายที่สำคัญได้แก่
กปปส. : ประกาศแผนปฎิบัติการทางคืนอำนาจอธิปไตยให้กลับมาเป็นของปวงชนชาวไทย แบ่งเป็นช่วงคือ 19 – 21 พ.ค. ตามล่าหาใบลาออกของคณะรัฐมนตรี ส่วนที่เหลือ ช่วง 22–23 พ.ค. เชิญผู้มีบารมีเป็นเจ้าภาพ เชิญหัวหน้าส่วนราชการมาร่วมกันตัดสินใจ และพนักงานรัฐวิสาหกิจนัดหยุดงานทั่วประเทศ ช่วง 23 -25 พ.ค.ชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่ 17:00 น.-22:00 น. ทุกวัน ที่ราชดำเนิน และ สุขุมวิท และสุดท้าย 26 พ.ค. ตั้งเป้าประกาศชัยชนะ
นปช. : ประกาศระดมผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ โดยหากมีการยึดอำนาจหรือประกาศ นายกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อใด ก็จะเคลื่อนผู้ชุมนุมจากถนนอักษะ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาฝั่งกรุงเทพฯ
วุฒิสมาชิก : วันศุกร์ที่ผ่านมาได้ประกาศผลการหารือ 3 ข้อ โดย 1 ใน 3 เปิดทางที่จะทูลเกล้าฯ เสนอรายชื่อนายกคนกลาง โดยในวันนี้ (19 พ.ค.) จะนัดหารือกับผู้ปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากนี้ต้องติดตามท่าทีว่าจะมีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่หรือไม่
กองทัพ : สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการออกแถลงการณ์ 7 ข้อ โดยแสดงความพร้อมที่จะปฎิบัติการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง
ที่ระดับ SET Index 1,405.26 จะให้ค่า Current PER ที่ 14.93 เท่า และ PER ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 13.92 เท่า และหากต้องมีการปรับลดประมาณการกำไรงวดปี 2557 ลงอีกประมาณ 3% ก็จะให้ค่า PER สูงขึ้น โดยค่า Current PER และ PER ณ สิ้นปี 2557 จะปรับขึ้นเป็น 15.11 เท่า และ 14.35 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง แนะนำให้นักลงทุนในวงเงินจำกัดไม่เกิน 40% ของเงินลงทุน
หลังจบการรายงานงบงวด 1Q57 ทำให้มีโอกาสตัดลดกำไรตลาดปีนี้ลงราว 2-3%
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q57 รวบรวมจนถึงเย็นวันศุกร์ (ราว 97% ของบริษัทจดทะเบียน) ปรากฏว่า มีกำไรสุทธิรวมราว 2.19 แสนล้านบาท เทียบกับกำไร 1.65 แสนล้านบาทในงวด 4Q56 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 32% (qoq) ทั้งนี้เกิดจากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของหุ้นในกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจจากภายนอก โดยเฉพาะพลังงาน (เพิ่มขึ้น 84%qoq) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มขึ้น 35%) และหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศบางกลุ่มคือ สื่อสาร (250% เพิ่มขึ้นจากการรับรู้กำไรจากกองทุน TRUEIF กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท) ประกันภัย (44% เกิดจากผลการดำเนินงานงวด 1Q57 ที่ดีของ BKI, BLA และ THRE) ตรงกันข้ามยังมีกลุ่มที่ผลกำไรหดตัว qoq ได้แก่ เกษตร (-18% เกิดจาก GFPT ประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น) ยานยนต์ (-26%) บันเทิง (-53% จาก MCOT รายได้ค่าโฆษณาหดตัวลง) ปิโตรเคมี (-41% จาก PTTGC ธุรกิจอะโรเมติกส์ที่ย่ำแย่จากปัญหา Over supply) อสังหาฯ (-9% จาก PS และ SPALI)
แต่หากเทียบกับงวด 1Q56 พบว่าลดลงราว 8.4%yoy โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปรับลดลงเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ขนส่ง (-81%), รับเหมาฯ (-68%), ยานยนต์ (-56%), ท่องเที่ยว (-51%) ปิโตรฯ (-45%), พลังงาน (-24%), การเกษตร (-24%), ค้าปลีก (-13%), และอสังหาฯ (-12%) ในทางตรงข้ามกลุ่มที่มีการปรับเพิ่มขึ้น คือ สื่อสาร (106%), ชิ้นส่วนฯ (99%), อาหาร (21%), การแพทย์ (7%) และวัสดุก่อสร้าง (6%) เป็นต้น
ผลประกอบการที่รายงานงวด 1Q57 ทำให้นักวิเคราะห์ ASP ได้ทยอยปรับลดประมาณการไปแล้วบางส่วน โดยที่ได้เริ่มปรับลดไปแล้วคือ ธ.พ. ปรับลงจากเดิม 3.4% และพลังงานปรับลด 3% ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะกระทบกำไรตลาด (EPS) ลดลงราวหุ้นละ 0.7 บาท และ 0.8บาท ตามลำดับ ที่เหลือ คาดว่าน่าจะทยอยทำเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะนำเสนอผลกระทบต่อ EPS ต่อไป ทั้งนี้ หากอิงจาก EPS ตลาด ปี 2557 เดิมที่คาดที่หุ้นละ 100.96 บาท
หากมีการปรับลดลงราว 2-3% จะลงมาอยู่ที่ 98.94 บาท หรือ 97.93 บาท และทำให้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2557 ลดลงเหลือราว 1,437 จุด หรือ 1,420 จุด ตามลำดับ (บนสมมุติฐาน PER 14.50 เท่า) ทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีมาถึงกรอบบนที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ปัญหาการเมืองยังไม่ได้คลี่คลาย กลยุทธ์การลงทุนยังให้น้ำหนักการลงทุนที่ 40% และ น่าจะเริ่มปรับลดลงเหลือ 30% หากดัชนีขึ้นแตะเป้าหมายข้างต้น พร้อมกับให้เน้น Global Play อย่าง IVL (FV@B 30) และ IRPC (FV@B 4.20)
ต่างชาติยังซื้อสุทธิหนักในภูมิภาค ยกเว้นขายหุ้นไทย เพราะปัญหาการเมือง
วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 665 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้น 54% จากวันก่อนหน้า ทั้งนี้เกิดจากการซื้อสุทธิอย่างหนักในเกาหลีใต้ โดยซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 สูงถึง 458 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้น 33% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยอินโดนีเซียซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 184 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 67% ไต้หวันซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าราว 67 ล้านเหรียญฯ และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 21 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ในทาง กลับกัน ไทยสลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 64 ล้านเหรียญฯ (หรือ 2.1 พันล้านบาท หลังจากซื้อติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
เป็นที่สังเกตว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างเบาบางและสลับขายสุทธิออกมาในบางวัน ทำให้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยน้อยมากจากต้นปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คือ ราว 10% ของยอดขายสุทธิในรอบที่ผ่านมา (สูงสุดที่ 2.5 แสนล้านบาท) เทียบกับที่ซื้อสุทธิใน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ในสัดส่วนสูงราว 60-70% ของยอดขายในรอบที่ผ่านมา และเช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ พบว่าต่างชาติกลับมาสลับมาขายสุทธิอีกครั้ง แต่เบาบางเพียง 257 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้โดยรวมตั้งแต่ต้นปี 2557 จนปัจจุบัน ต่างชาติซื้อสุทธิราว 2 หมื่นล้านบาท ลดลงอย่างมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ยอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ถึง 3.8 แสนล้านบาท จากต้นปี 2556 กลางปี 2556)
แต่อย่างไรก็ตามพบว่าค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า แต่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆในภูมิภาค โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 0.4% ค่าเงินรูเปียะของอินโดนีเซียที่แข็งค่าลง 1.4% (ยกเว้นเปโซ แข็งค่า 0.1%) แต่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 0.7% น้อยสุดในกลุ่ม TIP น้อยกว่าค่าเงินอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่แข็งค่าขึ้นราว 1.4% และ 6.6% ตามลำดับ
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล