- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 25 January 2019 20:28
- Hits: 10224
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
หลังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 โดยมีพัฒนาการเชิงบวกจากการเมืองเป็นแรงหนุน เชื่อว่า Momentum บวกจากเรื่องดังกล่าวน่าจะเบาลง และอาจเห็นแรงขายทำกำไรออกมาในระยะสั้นได้บ้าง อย่างไรก็ตามไม่ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเห็นการยกตัวของค่า PER ตลาดหุ้นไทยให้ขึ้นไปสู่ระดับเป้าหมายที่ 16 เท่าได้ ในช่วงเวลาที่เหลือของปี แนะนำให้สะสมหุ้นรายตัวที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ และได้ประโยชน์จากความชัดเจนวันเลือกตั้ง (ก่อสร้าง ธ.พ. และค้าปลีก) Top picks เลือก BJC (FV@B61), KBANK (FV@B251) และเพิ่ม STEC (FV@B25)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET Index ปรับขึ้นติดต่อกัน 7 วันทำการ กว่า 40 จุด
SET Index วานนี้ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 แม้จะอ่อนตัวลงบ้างช่วงท้ายตลาด จากการพักตัวหุ้นในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ รวมถึงหุ้นโรงไฟฟ้า Sell on fact หลัง กพช. อนุมัติแผน PDP ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ มีแรงหนุนจากกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะ CPALL, MAKRO รวมถึงกลุ่ม ธ.พ. (BBL, KBANK) กลุ่มอาหาร และ ร.พ. ส่งผลให้ดัชนีปิดยังสามารถปิดบวกได้ที่ระดับ 1620.53 จุด เพิ่มขึ้น 3.15 จุด (+0.19%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6.08 หมื่นล้านบาท
แนวโน้ม SET Index วันนี้ คาดดัชนีมีโอกาสพักตัวระยะสั้น หลังจากดัชนีปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนประเด็นบวกจากการเมืองในประเทศ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมีความกังวลทั้งในเรื่องของ Government Shutdown ต่อเนื่องเป็นวันที่ 34 รวมทั้งการทำ Earnigs Preview หุ้น Real Sector อาจจะมีแรง ซื้อ-ขาย ระยะสั้นเข้ามากระทบได้บ้าง ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1610-1630 จุด
ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากสงครามการค้าผ่อนคลาย และการเมืองในเวเนซุเอลา
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้นราว 7.97 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลงประมาณ 4.2 หมื่นบาร์เรล เป็นการเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เนื่องจากโรงกลั่นลดการกลั่นลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัวใกล้ระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัญหาการเมืองในเวเนซุเอลา เนื่องจากนาย ฮวย กุยโด ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้อ้างตัวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซุเอลา และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้การยอมรับ ส่งผลให้นาย นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาคนปัจจุบันประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐเตรียมพิจารณาคว่ำบาตรเวเนซุเอลาอีกครั้ง
ขณะที่ทางฝั่งความต้องการใช้น้ำมัน ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากความผ่อนคลายประเด็นสงครามการค้า หลังสหรัฐและจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ (สัดส่วนราว 25.5% และ 12.8% ของโลก) ได้ประกาศพักรบการขึ้นภาษีนำเข้าชั่วคราว (สหรัฐเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้า 25%ในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญออกไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค. (ปัจจุบันเก็บ 10%) และเลื่อนการขึ้นรอบที่ 4 วงเงิน 2.67 แสนล้านเหรียญฯ ) ซึ่งอยู่ในช่วงการเจรจากันระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. 2562 เชื่อว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
โดยภาพรวมทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบยังแกว่งตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด 48.82 เหรียญต่อบาร์เรล เมื่อ 24 ธ.ค. 2561 ล่าสุด อยู่ที่ 60.57 เหรียญต่อบาร์เรล และน่าจะแกว่งตัวบริเวณ 65 เหรียญ ซึ่งใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ไว้ที่ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นบวกต่อ PTTEP(FV@B168) ยังแนะนำซื้อ
พัฒนาการทางการเมือง หนุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยมากขึ้น
วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ด้วยมูลค่ารวม 756 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทั้ง 5 ประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิสูงถึง 485 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยไต้หวัน 122 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 15 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7), อินโดนีเซีย 11 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิสูงถึง 122 ล้านเหรียญ หรือ 3.88 พันล้านบาท (เป็นการซื้อสุทธิสูงที่สุดในปีนี้) บวกกับสถาบันในประเทศยังซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 อีก 1.41 พันล้านบาท
พัฒนาการเชิงบวกทางด้านการเมืองไทย ช่วยหนุนให้ Fund Flow ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น หลังจากปี 2561 ต่างชาติขายหุ้นไทยมากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2.87 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดในปี 2562 ต่างชาติกลับมามีสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทย 4.2 พันล้านบาท (ytd) ซึ่งเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อ SET
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
แผน PDP ฉบับใหม่ เพิ่มสัเดส่วนจากพลังงานหมุนเวียน...ดีต่อโรงไฟฟ้า SPP
วานนี้ กพช. ได้มีการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ (ปี 2561-80) โดยมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 35% และปรับลดสัดส่วนจากถ่านหินลงเหลือ 3% พร้อมทั้งเห็นชอบให้โรงไฟฟ้า 25 โรงที่จะครบอายุสัญญาระหว่างปี 2559-2568 ได้ต่ออายุสัญญา ทั้งในรูปแบบของการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าเดิม (Extension) ออกไปอีก 3 หรือ 10 ปี หรือสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (Replacement) ซึ่งจะได้รับสัญญา PPA ใหม่ที่มีอายุยาว 25 ปี
ถือเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นโรงไฟฟ้า SPP ที่มีโรงไฟฟ้าที่หมดอายุช่วงปีดังกล่าว โดย BGRIM (FV@B34) มีโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุจำนวน 3 โรง คิดเป็นกำลังการผลิต (Equity MW) 154.7 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยรวมประเด็นดังกล่าวในประมาณการอยู่แล้ว คิดเป็นมูลค่าพื้นฐาน 2.9 บาท/หุ้น แนะนำซื้อ
ขณะที่ GLOW(FV@B93) มีโรงไฟฟ้าที่จะทยอยหมดอายุสัญญา 5 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวมราว 1.1 พันเมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตในมือทั้งสิ้น 2.9 พันเมกะวัตต์ ส่วน EGCO(FV@B260) มีโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุ 4 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 262.4 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตในมือทั้งสิ้น 4.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่ง ยังไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการทั้ง 2 บริษัท ถือเป็น upside ส่วนเพิ่ม แต่อาจจะไม่มากนักในขณะนี้ เนื่องจากราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนประเด็นดังกล่าว แนะนำลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว
การเมืองชัดเจน หนุน Fund Flow ไหลกลับ...แนะนำหุ้นรับเหมาฯ-ธ.พ.-ค้าปลีก
แนวโน้มตลาดนับจากนี้จนเข้าสู่การเลือกตั้ง คาดว่ามีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังจากสะท้อนปัจจัยบวกในเรื่องของวันเลือกตั้งไปแล้ว แต่จุดที่น่าสนใจหลังจากนี้และน่าจะมีผลต่อ SET Index น่าจะอยู่ช่วงวันที่ 4-8 ก.พ. ซึ่งจะเป็นวันรับสมัคร ส.ส. รวมทั้งบรรดาพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ
ในส่วนของขั้นตอนหลังการจัดการเลือกตั้ง เชื่อว่า กกต. จะสามารถรับรองผลแล้วเสร็จภายใน 9 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนด 150 วัน หลัง พ.ร.ป.4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เมื่อ 11 ธ.ค. 2561 ทั้งนี้ หากกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เชื่อว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศช่วงต้นเดือน ก.ค. 2562
จากที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป เพราะนอกจากสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ในการนำเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) ยังน่าจะดึงเงินกลับสู่ตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ได้ลดน้ำหนักการถือหุ้นในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายปี และหากพิจารณาสถิติในอดีต ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมักดึงเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ โดยในช่วงที่มีการเลือกตั้งไทย 4 ครั้งหลังสุด พบว่า SET Index ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเลือกตั้ง 3 เดือน เฉลี่ย 4% และ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 4.88% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้ง 4 ครั้ง ขณะที่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยสูงถึงกว่า 8.29 พันล้านบาท (ดังภาพถัดไป)
สถานะการถือครองหุ้น ของนักลงทุนต่างชาติ
ผลตอบแทน SET Index ในช่วงก่อน-หลังวันเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด
ที่มา: ฝ่ายวิจัย ASPS
ทั้งนี้แม้มีความเสี่ยงว่าภายหลังเลือกตั้งรัฐบาลจะมีหน้าตาอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะทำให้การผลักดันโครงการลงทุนภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า ซึ่งน่าจะเป็นแรงหุ้น อุตสาหกรรมที่ว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากกระแสการเลือกตั้งชัดเจน คือ
• กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากความคาดหวังเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีมากขึ้นและต่อเนื่องขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผู้รับเหมารายใหญ่-เล็ก น่าจะได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า โดยฝ่ายวิจัยแนะนำ STEC ([email protected]) เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตที่เด่นชัดที่สุด Backlog สูงถึงกว่า 1.1 แสนล้านบาท และ CK ([email protected]) จากความพร้อมเต็มที่ทั้งกำลังพลและเครื่องจักร รองรับงานประมูลใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และยังมีจุดเด่นสำคัญจากการเข้าไปถือหุ้นบริษัทลูก ช่วยสร้างผลตอบแทนให้ CK สม่ำเสมอ
• กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้ประโยชน์จากความต้องการสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ และ SME ตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่ทยอยเกิดขึ้น แนะนำ KBANK (FV@B251) และ BBL (FV@B227)
• กลุ่มค้าปลีก คาดว่ากระแสการเลือกตั้ง จะช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้น หนุนให้เม็ดเงินสะพัดทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง แนะนำ ROBINS ([email protected]), BJC ([email protected]) และ CPALL ([email protected])
• กลุ่มสื่อ-สิ่งพิมพ์ คาดว่าผู้ประกอบมีความมั่นใจที่จะลงทุนมากขึ้น พร้อมหนุนเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสื่อนอกบ้าน แนะนำ PLANB ([email protected]) จากการมีสื่อประชาสัมพันธ์ที่ครอบคลุมและครบถ้วนในทุกๆ platform
• กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะของโครงการ EEC ที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แนะนำ WHA ([email protected]) และ AMATA ([email protected])
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์