- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 21 January 2019 14:50
- Hits: 1760
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสงครามการค้ามีแนวโน้มผ่อนคลาย เมื่อจีนพร้อมจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น และราคาน้ำมันดิบดูไบที่ฟื้นตัวแรง ล่าสุดเหนือ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล ขณะที่แรงขายรับงบ 4Q61 ของกลุ่ม ธ.พ. ตลาดฯ น่าจะรับรู้ถึงผลประกอบการที่อ่อนตัวลงไปแล้ว ทำให้เชื่อว่า SET Index มีโอกาสฟื้นตัวต่อ กลยุทธ์เน้นหุ้นปิโตรเลียม (PTT, PTTEP) บวกกับหุ้นปันผลสูง ซึ่งควรซื้อก่อนขึ้น XD 1-2 เดือน Top picks เลือก PTTEP(FV@B168) และ PTT(FV@B56)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยศุกร์ที่ผ่านมา….SET Index ยังพักตัว
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งแคบทั้งบวก-ลบ สลับกัน อย่างไรก็ตามยังสามารถยืนเหนือแนวรับบริเวณ 1580 จุดได้ โดยปิดตลาดที่ระดับ 1583.77 จุด เพิ่มขึ้น 3.47 จุด หรือ +0.22% ด้วยมูลค่าซื้อขายหนาแน่นขึ้นมาที่ 4.83 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ แรงหนุนดัชนีกระจุกอยู่ในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ โดยเฉพาะหุ้นในเครือ ปตท. (PTT PTTEP PTTGC) ตามด้วยหุ้นท่าอากาศยาน AOT ขณะที่กลุ่ม ธ.พ. มีแรง Sell on fact รับงบ 4Q61 เช่นเดียวกับกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง MTC SAWAD เผชิญกับกระแสข่าวที่สร้างความสับสน ทำให้นักลงทุนต่างพากันเทขายหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงแรง
สำหรับแนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาด SET Index น่าจะปรับขึ้นได้ต่อ โดยมีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าสงครามการค้าที่จีนเตรียมเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีกกว่า 1 ล้านล้านเหรียญในช่วง 6 ปีหลังจากนี้ ลดความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว หนุนราคาน้ำมันโลกดีดตัวแรง ขณะที่แรงขาย sell on fact กลุ่ม ธ.พ. ตลาดฯ น่าจะรับรู้ผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวไปมากแล้ว เชื่อว่าแรงขายจากนี้น่าจะลดลง ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1580 – 1600 จุด
สงครามการค้าโลกผ่อนคลาย จีนพร้อมนำเข้าสินค้าสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลการค้า
สงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้นตามลำดับและต่อเนื่อง หลังจากการประชุมนอกรอบที่ประชุม G20 ที่กรุงบัวโนส ไอเรส เมื่อ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 ซึ่งสหรัฐยอมชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 2 แสนล้านเหรียญฯ ที่กำหนดจะขึ้นจาก 10% เป็น 25% ในเดือน ม.ค. ออกไป 90 วันถึง 1 มี.ค. 2562 พร้อมเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบ 4 อีก 2.67 แสนล้านเหรียญฯ โดยขอให้จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ จีนได้ กลับมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐตามปกติ หลังจากชะลอการนำเข้าในช่วงก่อนหน้านี้คือ นำเข้าถั่วเหลืองราว 1.5 – 2 ล้านตัน , ก๊าซธรรมชาติราว 6 ล้านตัน และลดภาษีรถยนต์เหลือ 15% จาก 40% เป็นต้น
และล่าสุด ปลายสัปดาห์ที่แล้ว แหล่งข่าวจาก CNBC อ้างว่า จีนเสนอจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ(ยังไม่มีรายละเอียดสินค้า) ระยะเวลา 6 ปีรวมมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญฯ หรือเฉลี่ยราวปีละ 1.67 แสนล้านเหรียญฯ เทียบจากในปี 2561 จีนนำเข้าจากสหรัฐราว 1.5 แสนล้านเหรียญฯ หรือเพิ่มขึ้นราวปีละ 11% ซึ่งอาจจะเพิ่มไม่มากนัก แต่เชื่อว่าการนำเข้าสหรัฐจะลดลงจากปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของภาษีนำเข้าใน 3 รอบก่อน โดยรวมน่าจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของ สหรัฐที่เกิดกับจีนปีละ 3.3 แสนล้านเหรียญฯได้ ในปี 2561 ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดี แต่คงต้องติดตามเจรจาครั้งถัดไประหว่างคณะผู้แทนจีนที่จะเยือนสหรัฐ ที่ Washington, D.C. วันที่ 30-31 ม.ค. นี้
วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มลดน้อยลง Fund flow ไหลกลับมาเอเซีย
ต่างประเทศสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางสำคัญของโลก คือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีกำหนดประชุมวันที่ 22-23 ม.ค. ซึ่งตลาดคาดว่า BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% เพราะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังต่ำ ล่าสุดเดือน ธ.ค. ขยายตัว 0.3%yoy ชะลอลงจาก 0.8% เดือน พ.ย. รวมถึงเตรียมรับผลกระทบจาก แผนการขึ้นภาษี Sales tax จาก 8% เป็น 10% ที่จะขึ้นในเดือน ต.ค. 2562
และฝั่งยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประชุมวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งตลาดคาดว่า ECB จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ส่วนหนึ่งเพราะเงินเฟ้อของยุโรปชะลอตัวเล็กน้อย โดยเดือน ธ.ค. ขยายตัว 1.6%yoy ชะลอลงจาก 1.9% เดือน พ.ย. ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอ รวมถึงยุโรปยังเผชิญกับความไม่แน่อนทางการเมืองของสมาชิกอยู่ โดยเฉพาะด้าน Brexit เป็นต้น
ขณะที่สหรัฐเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุด ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์ และ ยุโรป น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเอเชีย รวมถึงบาท ซึ่งน่าจะหนุนเงินทุนไหลเข้าเอเซียต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดูไบกำไรเข้าใกล้สมมติฐาน ราคาหุ้น PTTEP มี upside สูง
ราคาน้ำมันดิบโลกยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นหลังจาก สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มีแนวโน้มผ่อนคลาย และฝั่ง Supply พบว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รายงานยอดแท่นขุดเจาะน้ำมัน สัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลงมากถึง 21 แท่น (ลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี) มาอยู่ที่ 852 แท่น บวกกับยอดผลิตน้ำมันดิบของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ประจำเดือน ธ.ค. 2561 ยังคงลดลงจากเดือนก่อนหน้า เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนราว 5.3 แสนบาร์เรล/วันอยู่ที่ 32.6 ล้านบาร์เรล/วัน สอดคล้องกับแผนการตัดลดการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC หลังจากเดือน ธ.ค. ทำข้อตกลงที่จะตัดลดการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ควบคู่กับการขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ไปจนถึง มิ.ย. 2562
โดยภาพรวมทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบยังแกว่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุด 48.82 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 24 ธ.ค. 2561 ล่าสุด อยู่ที่ 60.07 เหรียญฯต่อบาร์เรล และน่าจะแกว่งตัวบริเวณ 65 เหรียญฯ ซึ่งใกล้เคียงกับสมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ไว้ที่ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป สถานการณนี้ถือว่าดีต่อ PTTEP(FV@B168) ยังแนะนำซื้อ
ต่างชาติเดินหน้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 7
วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่ารวม 464 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นแถบเอเชียเหนือ อย่าง เกาหลีใต้ซื้อสุทธิ 155 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 8) และไต้หวัน 128 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นกลุ่ม TIP คือ อินโดนีเซียซื้อสุทธิ 65 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 15), ฟิลิปปินส์ 25 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิสูงสุดในปีนี้ถึง 91 ล้านเหรียญ หรือ 2.90 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วัน มีมูลค่ารวม 1.09 หมื่นล้านบาท) แต่ถูกกดดันจากสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 2.74 พันล้านบาท
Fund Flow เริ่มไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยในปี 2562 นี้ และยังซื้อสุทธิติดต่อกันมาแล้วถึง 7 วันทำการ โดยส่วนใหญ่ต่างชาติจะซื้อหุ้นที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง สังเกตได้จากแรงซื้อผ่าน NVDR ตั้งแต่ต้นปี 2562(ytd) พบว่า CPALL ถูกซื้อผ่าน NVDR มากสุดในตลาดฯถึง 3.64 พันล้านบาท ตามมาด้วย CPF 1.76 พันล้านบาท, KBANK 1.31 พันล้านบาท, KTB 1.12 พันล้านบาท และ SCC 931 พันล้านบาท ส่วน PTT ซึ่งหุ้นที่มีขนาดใหญ่สุดในตลาดฯถูกซื้อสุทธิเช่นกันราว 110 ล้านบาท ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ถูกต่างชาติขายผ่าน NVDR มากสุด คือ TRUE 915 ถูกขายสุทธิ 915 ล้านบาท, TOP 615 ล้านบาท และ IVL 450 ล้านบาท เป็นต้น
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ปรับลดกำไรกลุ่มโรงกลั่น-ปิโตรฯ กระทบ PTT แต่ตอบรับในราคาแล้ว
ตามที่นักวิเคราะห์กลุ่มโรงกลั่น/ปิโตรเคมี ได้ประเมินถึงแนวโน้มผลการดำเนินงาน 4Q61 ว่าจะออกมาไม่สดใส คาดจะเผชิญแรงกดดันจากการบันทึกขาดทุนสต็อกน้ำมันในระดับสูง (จากไตรมาสก่อนหน้าที่บันทึกกำไรจากสต็อกน้ำมัน) ขณะที่ผลการดำเนินงานปกติมีแนวโน้มชะลอตัวเช่นกัน ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น คาดค่าการกลั่น (GRM) ลดลงจากงวดก่อนหน้าตามแนวโน้ม demand ที่ลดลง และ supply ที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจปิโตรเคมี ได้รับผลกระทบจาก spread ที่ลดลงของทั้งสายโอเลฟินส์ (demand ลดลง) และสายอะโรเมติกส์ (supply เพิ่มขึ้น) รวมทั้งมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น (Planned Shutdown) จึงนำไปสู่การปรับลดประมาณการและ Fair Value ในหุ้นโรงกลั่น / ปิโตรเคมีขั้นต้น-กลาง คือ
TOP คาด 4Q61 พลิกมาขาดทุน 4.9 พันล้านบาท จากขาดทุนสต็อกน้ำมัน เช่นเดียวกับกำไรปกติลดลง 15.4%qoq จากค่าการกลั่น (GRM) ที่คาดจะลดลงแรง โดยรวมคาดกำไรสุทธิปี 2561 จะอยู่ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท ลดลง 59.5%yoy และกำไรปกติลดลง 39.0%yoy มาอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการปัจจุบัน จึงปรับลดประมาณการฯ ด้วยการลดสมมติฐานค่าการกลั่นปี 2561-62 และระยะยาวลง พร้อมทั้งปรับลด spread พาราไซลีนลง แม้คาดแนวโน้มกำไร 1Q62 จะฟื้นตัวดีขึ้นจากงวด 4Q62 แต่ก็เป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล และ supply ปิโตรเครมีลดลงช่วงสั้นเท่านั้น ภายใต้ประมาณการใหม่ กำไรปกติปี 2561 คาดจะลดลงถึง 44.3%yoy และ ปี 2562 ยังลดลงต่อเนื่องอีก 5.0%yoy จึงยังแนะนำ switch โดย Fair Value ลดลงเหลือ 81 บาท (เดิม 88 บาท)
ตามด้วย PTTGC คาดกำไรสุทธิ 4Q61 ลดลงถึง 68.7%qoq จากขาดทุนสต็อกน้ำมัน เช่นเดียวกับกำไรปกติลดลงถึง 26.5%qoq จาก spread ปิโตรเคมีที่ลดลงทั้งกลุ่ม โดยรวมคาดกำไรสุทธิและกำไรปกติปี 2561 เท่ากับ 4.0 และ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8%yoy และ 12.6%yoy ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ จึงได้ปรับลดประมาณการกำไรตั้งแต่ปี 2562 ด้วยการลดสมมติฐาน EBITDA Margin ของธุรกิจโอเลฟินส์ระยะยาวลง และลด L-T Growth rate ลงเช่นกัน ภายใต้ประมาณการใหม่ คาดกำไรปกติปี 2562 จะลดลงถึง 22.1%yoy โดย Fair Value ใหม่อยู่ที่ 79 บาท (เดิม 94 บาท) แม้ยังแนะนำ ซื้อ แต่ควรหาจังหวะเข้าลงทุนหลังประกาศงบ 4Q61 เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวในงวด 1Q62 หรือถ้ามีหุ้นอยู่แล้วก็ถือต่อได้ เนื่องจาก Dividend Yield สูงราว 6% ต่อปี
และ IRPC คาด 4Q61 พลิกมาขาดทุน 1.7 พันล้านบาท จากขาดทุนสต็อกน้ำมัน แต่กำไรปกติคาดจะเพิ่มขึ้นถึง 60.6%qoq จาก Market GIM ที่เพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วคาดกำไรสุทธิ และกำไรจากการดำเนินงานปกติปี 2561 เท่ากับ 7.7 และ 8.1 พันล้านบาท ลดลง 32.3%yoy และเพิ่มขึ้น 7.9%yoy ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการปรับลดสมมติฐาน GIM แต่ปี 2562-63 และปรับลด L-T Growth rate ลง โดย Fair Vale ใหม่อยู่ที่ 6.7 บาท (เดิม 7.5 บาท) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรปกติปี 2562 ยังคงเห็นการเติบโตราว 7.8%yoy จึงยังแนะนำ ซื้อ เพื่อรับปันผลสูง
ส่วนหุ้นปิโตรเลียม คือ PTT คาด 4Q61 น่าจะได้รับผลกระทบจากกำไรของบริษัทในเครือที่ลดลง (ทั้งจาก TOP, PTTGC และ IRPC) แม้จะได้ชดเชยจากกำไรจากธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียมผ่าน PTTEP ในงวด 4Q61 และราคาขายก๊าซฯยังคงปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลกแต่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่แนวโน้มปี 2562 คาดกำไรสุทธิทรงตัว ส่วนผลบวกจากการปรับประมาณการฯ PTTEP ขึ้นจากการชนะการประมูลโครงการเอราวัณและบงกชนั้นเป็นผลในระยะยาว ซึ่งไม่มีผลต่อ Valuation และ Fair Value ปัจจุบันของ PTT ที่ 56 บาท มี upside 16.7% แต่มีแนวโน้มปรับเพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อ จากเดิม Switch
กำไรสุทธิของธนาคารงวด 4Q61 ลดลง จากค่าใช้จ่ายพิเศษเป็นหลัก
จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารพาณิชย์รายงานงบฯ 4Q61 แล้วจำนวน 7 ธ.พ. แม้พบว่าส่วนใหญ่กำไรสุทธิของแต่ละ ธ.พ. จะชะลอลงเมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้า แต่เกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น SCB กำไรสุทธิหดตัวจากการกันสำรองหนี้ฯ พิเศษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ ตามด้วย KBANK เกิดค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เร่งตัวขึ้นมาจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดฯ ส่วน BBL มีการบันทึกค่าใช้จ่าย one-time กรณีการปรับเพิ่มประมาณการหนี้สินจากค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างสำหรับพนักงานที่มีอายุงานเกิน 20 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับ KKP เกิดค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากกรณีค่าใช้จ่ายพนักงาน และการบันทึกผลขาดทุนจากการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย และ TISCO มีการปรับปรุงรายได้จากการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต มีการจัดชั้นคุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เข้มงวดขึ้น
แต่หากพิจารณาที่กำไรปกติ ยังถือว่าเป็นไปตามคาด โดยเฉพาะ BBL นำโดยรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ สอดคล้องกับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม และค่าธรรมเนียมฯ เติบโตสูงตามคาด ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่น่ากังวล, เช่นเดียวกับ KBANK ธุรกิจหลักยังดีเช่นกัน และคุณภาพสินทรัพย์ยังคงควบคุมได้ ยกเว้น SCB ยังน่ากังวลในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์จากการเพิ่มขึ้นของ NPL
โดยรวม เชื่อว่าตลาดฯ น่าจะรับรู้แรงขาย Sell on fact ของกลุ่ม ธ.พ. ไปมากแล้ว จากนี้แรงขายรับงบฯ น่าจะค่อยๆ ลดลง และกลุ่ม ธ.พ. น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ไปตามทิศทางธุรกิจจะเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ยังเลือก BBL (FV@B227) และ KBANK (FV@B251) เป็น top picks กลุ่ม
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์