- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 08 January 2019 13:50
- Hits: 2815
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562
คาด SET มีโอกาสทะลุ 1600 จุด และทดสอบแนวต้านของวันที่ 1615 จุด ด้วยแรงหนุนของ ราคาน้ำมันดูไบที่กำลังทะยานขึ้นแตะ 60 เหรียญฯ จากการตัดลด supply ได้เร็วกับ Demand ที่ลดลง และ Dollar Index ที่อ่อนตัว สอดคล้องกับ Fed Fund Futures ที่ชะลอตัวลง สวนทางเอเชียที่ยังขึ้นดอกเบี้ย บวกกับการเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้น ถือเป็นปัจจัยดึง Fund Flow ไหลกลับปี 2562 กลยุทธ์การลงทุน ผสมผสานระหว่างหุ้น Global และ Domestic Top picks เลือก KBANK(FV@B251) และ PTTEP(FV@B168)
SET Index 1,592.72
เปลี่ยนแปลง (จุด) 17.59
มูลค่าการซื้อขาย (ล้านบาท) 45,000
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย … SET Index ฟื้นตัวบวกต่ออีก 17 จุด
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ เคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยปิดตลาดที่ 1592.72 จุด เพิ่มขึ้น 17.59 จุด (+1.12%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.49 หมื่นล้านบาท ดัชนีฟื้นตัวขึ้นต่อด้วยแรงหนุนของหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งผสมผสานระหว่าง หุ้น Global คือ หุ้นกลุ่มน้ำมัน PTT +3.21% PTTEP +2.53% หุ้นกลุ่มปิโตรฯ PTTGC TOP และหุ้น Domestic ขนาดใหญ่ในกลุ่มธ.พ. (BBL, KBANK, SCB, KTB) ค้าปลีก (CPALL, ROBINS, BJC) และกลุ่ม ICT (ADVANC) เป็นต้น
แนวโน้มดัชนีวันนี้ คาดมีโอกาสเดินหน้าต่อทะลุ 1600 จุด และทดสอบแนวต้าน 1615 จุด หลั’ได้แรงหนุนจากหุ้นน้ำมัน ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดูไบ ที่กำลังทดสอบ 60 เหรียญฯ หลัง Dollar มีแนวโน้มอ่อนค่า สอดคล้องกับการขึ้นดอกเบี้ย Fed จะน้อยกว่าคาด สะท้อนจาก Fed Fund Futures มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายที่ Fed กำหนดไว้ ขณะที่ไทยเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะดึงเงินทุนไหลเข้ารอบใหม่ บวกกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน มี.ค. แม้จะถูกเลื่อนจากกำหนดเดิม 1 เดือน แต่น่าจะเป็นประเด็นบวกในระยะยาว
Fed Fund Futures ลดลง หนุน Fund Flow ไหลเข้าเอเชียอีกรอบ
การใช้นโยบายการเงินตึงตัวของ Fed มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากปลายสัปดาห์ที่แล้วการกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed นาย เจอโรม เพาเวลล์ แสดงท่าทีพร้อมจะปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน หากมีความจำเป็นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอลง เห็นได้จากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิต อาทิ PMI ภาคการผลิต เดือน ธ.ค. ทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากผลกระทบสงครามการค้า ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่าในปีนี้ Fed อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ตามกรอบเดิมที่ คาดว่าจะขึ้นเพียง 2 ครั้ง (จากที่เคยประเมินไว้ 3 ครั้ง) และอาจจะต้องลดดอกเบี้ยฯในปลายปี 2562 สะท้อนจากผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุด คาดว่าเดือน ธ.ค. นี้ Fed Fund Futures มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยจากระดับสูงสุด ด้วยความน่าจะเป็น 20% ซึ่งกดดัน Dollar index อ่อนค่าอีกครั้ง หลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ทางฝั่ง เอเซียมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเบี้ยฯ ต่อเนื่อง น่าจะหนุนให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเอเชีย กับ ของ สหรัฐ แคบลง หนุน Fund Flow ไหลกลับเอเซีย รวมถึงไทย ดีต่อหุ้นขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์, พลังงาน, สื่อสาร เป็นต้น
และการที่ Dollar index อ่อนค่า เป็นปัจจัยหนุนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกเหนือจากปัจจัยหนุนจากการตัดลดการผลิตยังมีอยู่ต่อเนื่องตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศ OPEC และ Non OPEC ที่จะตัดลดการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน และการขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันไปจนถึง มิ.ย. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากจุดต่ำสุด 48.82 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 24 ธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ 56 เหรียญฯต่อบาร์เรล และคาดว่าน่าจะขึ้นมาแตะ 60-65 เหรียญฯ (สมมติฐานของ ASPS กำหนดราคาน้ำมันดูไบปี 2562 ไว้ที่ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ นับจากปี 2563 เป็นต้นไป) แต่ราคาตลาดของหุ้น PTTEP ถือว่าสะท้อนราคาน้ำมันต่ำกว่า 50 เหรียญฯ ทำให้มีโอกาสขึ้นมากกว่า ณ ระดับราคาหุ้น PTTEP ปัจจุบันยังเป็นโอกาสสะสม
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นเอเซีย และ Long SET50 Futures ไทยกว่า 1.51 หมื่นสัญญา
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 326 ล้านเหรียญ (หลังจากขายติดต่อกัน 3 วัน) และเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันซื้อสุทธิ 263 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเป็นวันที่ 3), เกาหลีใต้ 45 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนิเซีย 28 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 23 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 33 ล้านเหรียญ หรือ 1.07 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) อย่างไรก็ตามในวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิสัญญา SET50 Futures สูงถึง 1.51 หมื่นสัญญา ขณะเดียวกันสถาบันฯสลับมาซื้อสุทธิกว่า 5.10 พันล้านบาท ช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยอีกแรง
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติซื้อสุทธิ 1.98 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) โดยเป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 596 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 1.38 พันล้านบาท แรงซื้อตราสารหนี้และหุ้นไทยที่เริ่มสลับกลับมาซื้อช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุดลงไปต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ดอกเบี้ยขาขึ้นชัดเจน TCAP เตรียมขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตาม KBANK, SCB
หลังจากที่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา SCB และ KBANK นำร่องประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท (3, 6, 12, 24 และ 36 เดือน) ขึ้นอีก 0.25% สำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 1.15-1.85% p.a. มีผลตั้งแต่ 4 ม.ค. และ 5 ม.ค.62 เป็นต้นไป ตามลำดับ โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับเดิม และ ล่าสุด ธนาคารธนชาต (TBANK) อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาพคล่องธนาคารฯ ในสัปดาห์หน้า ที่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ราว 0.25% ในอัตราใกล้เคียง กับ 2 ธ.พ. ใหญ่ดังกล่าว
ทั้งนี้ การทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ ธ.พ.อื่นๆ เป็นสิ่งที่อยู่ในความคาดหมาย โดยภาพรวมเชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของกลุ่ม ธ.พ. ที่ฝ่ายวิจัยศึกษา มากนัก เนื่องจากสัดส่วนของเงินฝากประจำ (ข้อมูล ณ สิ้น 3Q61) คิดเป็นเพียง 37% ของเงินฝากรวม และ 35% ของเงินฝากรวมกับเงินกู้ยืมทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนเงินฝากประจำที่เป็นของลูกค้าบุคคลธรรมดา คิดเป็นเพียงสัดส่วนเพียง 22% ของเงินฝากและเงินกู้ยืมทั้งหมด ขณะที่ผลกระทบต่อ ธ.พ. ขนาดใหญ่ น้อยกว่าธนาคารขนาดเล็ก จากมีสัดส่วนของเงินฝากประจำน้อยกว่า โดย SCB อยู่ที่ 32% และ KBANK อยู่ที่ 22% ขณะที่ TBANK อาจได้รับผลกระทบบ้างเนื่องจากมีสัดส่วนของเงินฝากประจำอยู่ที่ 51%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR นั้น ฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะเห็นการปรับเพิ่มตามมาในไม่ช้าให้สอดคล้องกับต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งในทางปฎิบัตินั้น ธ.พ. ได้ทยอยปรับระหว่างทางไปก่อนหน้า โดยมีการขยับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นในบางสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมาให้ขึ้นไปที่ระดับปกติไปแล้ว
โดยรวมจึงคาดว่าผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสถัดไปจะไม่มากนัก และเชื่อว่าการบริหาร NIM ของ ธ.พ. ต่างๆ น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการให้อยู่ในผลกระทบจำกัดได้ ยังแนะนำ BBL(FV@B233) และ KBANK (FV@B251)
เลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน ช้าเร็ว น่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้
ประเด็นการเมือง มีอยู่ 2 เรื่องที่น่าติดตาม เรื่องแรกคือ พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกรอบระยะเวลาในการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 ส่วนคือ
1. เมื่อออกพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว กกต. ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน และ
2. เมื่อออกพระราชกฤษฎีกาฯ แล้วจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน
จากข้อกำหนดทางกฎหมายทั้ง 2 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้ง นับเป็นสัญญาณที่บอกถึงจุดเริ่มต้นที่ชี้ว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จุดที่ต้องมาพิจารณาคือว่า แล้วการประกาศพระราชกฤษฎีการจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ทั้งนี้จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อต้องตั้งสมมุติฐานว่าการเลือกตั้งจะถูกกำหนดเมื่อใด หากสมมุติว่าเกิดขึ้น 24 มี.ค. 2562 การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ เร็วที่สุด คือ 23 ม.ค.2562 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 7 ก.พ.2562 หรืออีกกรณีหนึ่ง หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็น 17 มี.ค.2562 การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ เร็วที่สุดจะเป็นวันที่ 16 ม.ค. 2562 หรือช้าที่สุดไม่เกิน 31 มี.ค. 2562
เรื่องที่ 2 เป็นการตีความคำว่าจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังที่จาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันมีการตีความ 2 ลักษณะคือ
1. จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายความว่า กกต. ต้องรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันด้วย ซึ่งหากเป็นกรณีนี้กระบวนการทั้งหมดต้องจบภายใน 9 พ.ค. 2562 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก
2. จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายความว่า กกต. จัดให้มีการลงคะแนนแล้วเสร็จ แต่ไม่รวมการรับรองผลการเลือกตั้ง โดย กกต. จะรับรองผลฯ ภายใน 60 วัน หลังวันลงคะแนน เช่น หากเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ก็จะต้องรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 23 พ.ค.2562
แม้เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน หรือไม่เกิน 1 เดือนจากกำหนดเดิม แต่จากนี้น่าจะเป็นเรื่องของการตีความข้อกฎหมาย โดยน่าจะส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งควรต้องเกิดขึ้นก่อนการประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้ง และจากทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวมาข้างต้น คาดว่าอาจจะยังไม่มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้ง จึงอาจเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามระยะกลาง-ยาว ถือว่าปัจจัยบวกต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในสายตาต่างชาติ
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์