WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน

  การชะลอตัวของจีน กระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นที่เป็นคู่ค้าหลัก จึงเป็นอีกปัจจัยกดดันตลาดนอกเหนือจากการใช้นโยบายการเงินตึงตัวในสหรัฐ ยังคงแนะนำขายหุ้นที่แพง (EA, BMCL, ANAN, HEMRAJ, TPIPL) สลับมาซื้อหุ้นที่มี upside/laggard (RS, BTS, STPI) วันนี้เลือก BEC(FV@B56) เป็น Top pick หลัง กสทช. ยอมให้ถ่ายทอดดิจิตอลทีวี โดยไม่คิดต้นทุนซ้ำซ้อน

จีนกลับมากดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง
  จีนกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง หลัง Beige Book เปิดเผยว่า จีนกำลังเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนใน 3Q57 สะท้อนจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจใน ส.ค. คือ ยอดค้าปลีก ขยายตัวเพียง 12%yoy เทียบกับเฉลี่ย 15% ในหลายเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ดัชนี PMI ภาคการผลิตทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และผลผลิตภาคอุตฯ ขยายตัวเพียง 6.9%yoy (ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี) รวมถึงการชะลอของตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่ายอดขายบ้านใหม่ หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค. 2557 และการลงทุน แม้ขยายตัวราว 16.5% yoy แต่ก็ยังลดลง ต่อเนื่องและเป็นระดับต่ำสุด ตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ ที่ลดลงถึง 40%
  โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าจะเห็นการชะลอตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจจีน แต่รัฐบาลจะไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยยังคงมุ่งไปที่เป้าไปที่การกระตุ้นครั้งก่อน คือ ธนาคารกลางจีน ได้อัดฉีดสภาพคล่องอีก 81.4 พันล้านเหรียญฯ แก่ธนาคารรายใหญ่สุดของประเทศ 5 แห่ง ซึ่งคาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกให้ลดลงมากกว่านี้ เนื่องจากจีนเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รวมถึงเศษฐกิจจีนในปี 2557 น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดที่ 7.5% (1H57 ขยายตัว 7.45% )
  ยุโรปยังรีรอเมื่อไหร่จะอัดฉีดเงิน ผลกระทบจากที่ยุโรปฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ที่ 0.3% เป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี ถือเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลาง รวมถึงปัญหาการว่างงานที่สูงถึง 2 หลักคือ 11.5% เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยุโรป ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยูเครน กับรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ทำให้ธนาคารกลางยุโรป ECB เตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยกำหนดเป้าหมายในการ ขยายขนาดงบดุลในบัญชีให้มากถึง 1 ล้านล้านยูโร (1.29 ล้านล้านเหรียญฯ) เป็นระดับที่ใกล้เคียงเมื่อปี 2555 โดยผ่านโครงการ TLTRO และมาตรการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง โดยในเดือน ต.ค. เตรียมซื้อตราสารทุนที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) วงเงินขั้นต่ำราว 7 แสนล้านยูโร (6.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะได้รับผลดีบ้าง

เกาหลีใต้และไต้หวันถูกขายหนัก แต่กลับซื้อกลุ่ม TIP เล็กน้อย
  วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 9 สูงถึงราว 726 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า โดยที่มียอดขายหนักมาจาก 2 ประเทศคือ ไต้หวัน ที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 9 สูงถึง 496 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว และเกาหลีใต้ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 255 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 17% จากวันก่อนหน้า สวนทางกับประเทศในกลุ่ม TIP ที่เป็นกลับมาซื้อสุทธิ แต่เบาบางเริ่มจากไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 21 ล้านเหรียญฯ (678 ล้านบาท, ลดลง 62% จากวันก่อนหน้า) ส่วน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2 ใกล้เคียงกัน ราว 2.2 และ 1.7 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
  คาดว่าแรงขายต่างชาติน่าจะเกิดจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ และน่าจะคงเป็นปัจจัยกดดันเงินทุนจากต่างชาติต่อไป ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ของไทย นักลงทุนต่างชาติได้สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 670 ล้านบาท แต่ยังถือว่าปริมาณเบาบางมาก หากเทียบกับการขายสุทธิติดต่อกัน ราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้า เฉลี่ย 3.4 พันล้านบาทต่อวัน ทำให้ค่าเงินบาทไทยยังคงอยู่ในระดับอ่อนตัวต่อเนื่อง แตะ 32.26 บาทต่อเหรียญฯ

BEC หมดทุกข์
  หลังจากตอบโต้กันมาเป็นเวลานาน ในที่สุดท้าย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และ กิจการโทรทัศน์ (กสทช.) ยินยอมให้ช่อง 3 หรือ BEC ถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ระบบอนาล็อก และดิจิตอล คู่ขนาน (รายการทุกอย่างเหมือนกันทุกประการ) โดยยังคิดต้นทุน BEC ภายในระบบอนาล็อกเพียงทางเดียว เนื่องจากปัจจุบัน BEC ยังมีภาระต้นทุนค่าสัมปทานที่ทำไว้กับ MCOT จนถึงปี 2563 ซึ่งโดยรวมต้องจ่ายค่าสัมปทานที่เหลืออีก 1,361.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 195 ล้านบาท (ปี 2557-2563) จากฐานรายได้ปีละ 1.8 - 1.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทีวีดิจิตอล (เริ่มให้บริการตั้งแต่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา) BEC ได้ยื่นขออนุญาตในนามของบริษัทบีอีซี มัลติมีเดีย เป็นบริษัทย่อย ของ BEC ซึ่งถือหุ้น 100% (เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้สัญญาระหว่าง BEC (ในนามบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์) กับ MCOT เป็นลักษณะ BTO คือ ต้องโอนทรัพย์สินให้กับเจ้าของสัมปทานเมื่อสร้างเสร็จ จึงดำเนินงาน) ซึ่งตามเงื่อนไขทีวีดิจิตอล จะต้องค่าธรรมเนียมรวม 4% (แบ่งเป็น ส่วนแบ่งรายได้ให้ กสทช. 2% และเงินเข้ากองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส 2% โดยยังไม่รวมค่าประมูลใบอนุญาตที่ได้จ่ายในปีแรก ซึ่ง BEC จ่ายไปกว่า 6 พันล้านบาท (รวม 3 ช่องคือ ช่อง 3 HD, ช่อง 3 SD และ ช่อง 3 Family) ซึ่งต้องทยอยตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่าย 15 ปี และค่าเช่าโครงข่าย) แต่ปัจจุบันรายได้จากค่าโฆษณาของทีวีดิจิตอลยังน้อยมากคือไตรมาสละ 40 ล้านบาท หรือ 1% ของรายได้ในไตรมาสล่าสุด แต่ กสทช ต้องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากฐานรายได้ทีวีอนาล็อก โดยตั้งสมมติฐานว่า บริษัทย่อย ซื้อรายการโทรทัศน์ทุกอย่างจากบริษัทแม่ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น เท่ากับ BEC ต้องจ่ายค่าสัมปทานซ้ำซ้อน ขณะที่รายได้ยังมาจากแหล่งเดียวคือจากอนาล็อก
  สรุปข่าวนี้ทำให้ BEC ไม่ต้องมีต้นทุนที่ซ้ำซ้อน จนกว่าสัมปทานเดิมจะหมด ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มบันเทิงของ ASP คงมูลค่าหุ้นเดิมอยู่ที่ 56 บาท (เคยปรับลดลงไปที่ 52 บาท จากต้นทุนที่ซ้ำซ้อน) มี upside 18% ขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2557 คาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงจากปี 2556 ราว 14.5% ทั้งนี้แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น 2.5% (ผลจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา) แต่เป็นเพราะต้นทุนโดยรวมที่เพิ่มขึ้น 18.25% อันเป็นผลจากค่าตัดจ่ายในการประมูลทีวีดิจิตอลข้างต้น อย่างไรก็ตามในปี 2558 และ 2559 คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.4% แม้รายได้จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยปีละ 7.2% แต่คาดว่าต้นทุนโดยรวมจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คือราว 9.6% ในปี 2558 และ 4.8% ในปี 2559 และสำคัญเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง 5.11% ในปี 2557 และเพิ่มเป็น 5.53% และ 6.16% ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ ถือว่าเป็นหุ้นที่เหมาะกับการลงทุน และเชื่อว่า BEC ได้ผ่านจุดที่เลวร้าย จึงเป็นหุ้นในบันเทิงที่ชื่นชอบอีกบริษัทหนึ่งนอกเหนือจาก RS

SET ผันผวน หลบเข้าหุ้นที่ต่ำกว่า Fair Value/Laggards
  ยังอยากขอย้ำให้นักลงทุนปรับลดพอร์ตขายหุ้น และถือเงินสดส่วนใหญ่ ดังที่ได้นำเสนอไปใน Market Talk ในช่วงที่ผ่านมาว่า SET Index ให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสูงถึง 22% พบว่ามีกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาดมาก ๆ คือ โรงพยาบาล (57.3%), รับเหมาฯ (47.8%), โรงแรม (37.8%), ธ.พ. (37.8%), อสังหาฯ (35.2%), ขนส่ง (32.3%), หลักทรัพย์ (30.9%), ชิ้นส่วนฯ (29.5%) ตรงกันข้ามกับหุ้นที่ขึ้นน้อยกว่าตลาด คือ ปิโตรฯ (-7.5%), สื่อ-บันเทิง (4.3%), พลังงาน (13.4%), ไอซีที (14.6%), ส่งออกอาหาร (14.8%), ค้าปลีก (16.5%) ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรหุ้นที่เกิน Fair Value ปี 2557 เช่น EA, BMCL, ANAN, TPIPL, VNG, HEMRAJ, SAWAD เป็นต้น และ ให้ switch มาลงทุนในหุ้นที่มี upside เกิน 15-20% สำหรับ Fair Value ในปี 2557 และยังเป็นหุ้นขึ้นช้า (laggard) รายละเอียดดังภาพที่ปรากฏด้านล่าง โดยหุ้นเด่นที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ PER ต่ำ + Div. Yield สูง คือ RS (FV@B 10), BTS (FV@B 12), STPI (FV@B 28.46)

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!