- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 19 December 2018 15:40
- Hits: 1011
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
IMF เตรียมตัด GDP Growth โลกอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นการปรับลด สหรัฐและจีนเป็นหลัก ซึ่งจะยิ่งกดดันราคาน้ำมันดิบโลกลงแตะ 50 เหรียญฯ ทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2562 ลดน้อยลง และหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ-ไทย เข้าใกล้กัน น่าจะหนุน Fund Flow ไหลกลับ ด้วยดัชนีปัจจุบันมี P/E ปี 2562 ต่ำเพียง 14.3 เท่า น่าสนใจ กลยุทธ์ยังเน้น Domestic Play เลือก BJC(FV@B61) และ WHA([email protected]) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index ปิดหลุดแนวรับ 1585 จุด
วานนี้ SET Index ปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 18.29 จุด หรือ -1.14% ปิดตลาดที่ระดับ 1583.19 จุด ทำให้ตลอด 4 วันทำการที่ผ่านมาดัชนีปรับฐานลงลึกกว่า 51.7 จุด ซึ่งแรงกดดันยังมาจากปัจจัยเดิมจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กดดันราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวานนี้เห็นแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานปิดตลาดแดนลบเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะหุ้น PTTEP 5.7% PTT ลดลง 1.6% PTTGC ลดลง 4.6% ตามด้วยการย่อตัวของหุ้นขนาดใหญ๋ทั้ง SCC, AOT และ BDMS ส่วนค้าปลีก CPALL BJC รีบาวด์กลับมาปิดแดนบวก รวมทั้งหุ้นที่ถูกคัดเข้าคำนวณ SET50อย่าง WHA และ GULF ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดฯ
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดน่าจะเห็นการฟื้นตัวของดัชนี หลังจากทำจุดต่ำสุด 1580 จุด โดยยังถูกกดดันจากปัจจัยเดิมๆ โดยเฉพาะความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้า และตลาดน่าจะรอผลการประชุม FED ที่ประเมินว่าการประชุมรอบนี้น่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และหลังจากนี้จะค่อย ๆ ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยกลางปี 2562 ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทย-สหรัฐ เริ่มใกล้กัน ซึ่งน่าจะหนุนให้เงินบาทและเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ และจะทำให้แรงขายต่างชาติลดลง พร้อมกับกลับมาซื้อรอบใหม่ ณ จุดนี้ จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นไทย
IMF มีโอกาสปรับลด GDP Growth อีกรอบ
ตลาดหุ้นทั่วโลกยังปรับฐานลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี เนื่องจากกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าจีน สหรัฐ แม้จะมีการพักรบชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน การเจรจารอบใหม่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2562 แต่คาดว่าบรรยากาศการพูดคุยน่าจะผ่อนคลายลง เพราะดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐและจีน ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 เป็นต้นมา และเมื่อเผชิญกับสงครามการค้ายิ่งเป็นการซ้ำเติม กดดันการค้าระหว่างประเทศ ทั้งจีนและสหรัฐ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และส่งผลให้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจหลักของจีน ทั้งดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก ในเดือน พ.ย. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี 11 เดือน และต่ำสุดในรอบ 15 ปี 6 เดือน) ตามลำดับ เช่นเดียวกับสหรัฐ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 1 เดือน และยอดค้าปลีกต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ล่าสุด IMF เปิดเผยว่ามีโอกาสที่จะปรับลด GDP Growth โลกลงอีกครั้งในการประชุมครั้งแรกของปี 2562 เดือน ม.ค. แต่ คาดว่า จะปรับลดฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว โดยรอบล่าสุด เดือน ต.ค. IMF ได้ปรับลดมูลค่าการค้าโลก(Trade Volume Growth) ลดเหลือ 4.2% ในปี 2561 จากเดิม 4.8% ส่วนในปี 2562 ปรับลดเหลือ 4.0% จากเดิม 4.5% พร้อมกับปรับลด GDP Growth โลกในปี 2561-2562 ลงเหลือ 3.7% เท่ากัน จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% ในทั้ง 2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับลดประเทศในแถบเอเซีย เป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็น Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้น
รอบนี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่น่าจะหยุดขึ้นราวกลางปี 2562
การประชุม Fed วันที่ 18-19 ธ.ค. น่าจะทราบผลเช้าวันที่ 20 ตามเวลาไทย ซึ่งตลาดคาดจะขึ้นดอกเบี้ยฯราว 0.25% เป็น 2.5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ชะลอลงจากสูงสุดในเดือน ก.ค. ที่ 2.9% และล่าสุดเดือน พ.ย. อยู่ที่ 2.2% เพื่อรองรับการลดดอกเบี้ยในอนาคต กรณีเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าใน ปี 2562 สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มากคือ 1-2 ครั้ง หรือดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดไม่เกิน 3% หากเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงต่ำกว่า 2.2% ซึ่งน่าจะทำให้ Dollar index ชะลอการแข็งค่า (หลังจากแข็งค่าราว 5.44% จากต้นปี 2561 – ปัจจุบัน) ซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ หรือหยุดการอ่อนค่าในบางประเทศ อาทิ ริงกิตมาเลเซีย และเงินบาท
และหากพิจารณาผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐ- ไทย ที่ถ่างออกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าของไทยในช่วง ม.ค. 2561 – พ.ค. 2561 แต่เริ่มอ่อนมาใกล้ของไทยช่วง มิ.ย. – ก.ย. และช่วง พ.ย. เป็นต้นมา (ดังภาพ) ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านยังสูงกว่าของสหรัฐ เพราะส่วนใหญ่ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น ยกเว้นไทยที่ยังไม่เคยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ และในการประชุมของ กนง. วันนี้ แม้คาด กนง. จะยืนดอกเบี้ยที่ 1.5% แต่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย ราว 1-2 ครั้ง หรือประมาณ 0.25-0.5% มาที่ 1.75-2.0% ซึ่งน่าจะทำให้ ดอกเบี้ยไทยมีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่าของสหรัฐ และน่าจะดึงเงินทุนไหลกลับ หลังจากขายสุทธิต่อเนื่องตลอดปีนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐและไทย ปี 2557 – 2561
ราคาน้ำมันดิ่งแรง ต้านทานการไหลเข้าของ Fund Flow
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ด้วยมูลค่า 330 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) โดยเป็นการขายสุทธิถึง 4 ประเทศ เริ่มจากตลาดหุ้นไต้หวันถูกขายสุทธิ 189 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 76 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), อินโดนีเซีย 63 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) และฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ยกเว้นไทยที่ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย 10 ล้านเหรียญ หรือ 335 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิอีก 3.88 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.38 หมื่นล้านบาท)
Fund Flow หยุดชะงัก เนื่องจากราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับตัวลงแรงกว่า 7.3% ในคืนที่ผ่านมา จนเป็นการทำระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน บวกกับนักลงทุนรอดูผลการประชุม Fed ในคืนนี้ว่ามีแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรในปี 2562
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
SET Index มีโอกาส rebound…เลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ทีมี Beta สูง
ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากภายนอก ทั้งสงครามการค้า และปัญหาการเมืองในยุโรป กดดันตลาดหุ้นโลกปรับฐานต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ SET Index ปรับฐานลง ตั้งแต่ต้นปี 2561 หรือจากยอดสูงสุด 1841 จุด จนถึงปัจจุบันลดลง 14% และหากพิจารณาเฉพาะ 2 สัปดาห์หลัง หลังจากที่จีน-สหรัฐ ประกาศพักรบ การประกาศสงครามทางการ จากวันที่ 4 ธ.ค.จนถึงวานนี้พบว่าดัชนีหุ้นไทยลดลงกว่า 5.3% จนทำให้ดัชนีปิดหลุดต่ำกว่า 1600 จุด เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีปัจจุบัน พบว่า มีค่า Expected P/E ปี 2561 อยู่ที่ราว 14.7 เท่า และลดลงเหลือ 14.1 เท่านั้นในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน
ประกอบกับเชื่อว่าแรงขายต่างชาติลดลง และพร้อมจะกลับมาซื้อหุ้นไทยและเอเชีย หลังจากจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลงมาใกล้กับของไทย ดังกล่าวข้างต้น น่าจะหนุนให้เห็นแรงซื้อต่างชาติกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยชัดเจนในปี 2562 และในสัปดาห์นี้คาดว่าน่าจะได้เห็นการ Rebound หรือฟื้นตัวของ SET Index
ฝ่ายวิจัยจึงทำการคัดกรองหุ้นด้วยวิธีเชิงปริมาณ โดยเลือกหุ้นที่ปรับลดลงแรง แต่มีปัจจัยพื้นฐานดี, เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำ ซื้อ, มี upside สูง, ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโต และมีค่า Beta ที่สูงกว่า 1 เพื่อคาดหวังการฟื้นตัว rebound ที่แรงกว่าตลาดฯ เน้นหุ้น Domestic เช่น KBANK, AMATA, WHA, ROBINS, BJC, CPALL, TASCO, CK, THANI เป็นต้น
รายชื่อหุ้นที่ปรับลดลงแรงในช่วง SET Index ปรับฐาน
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์