- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 18 December 2018 15:28
- Hits: 2286
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561
เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนจากยักษ์ใหญ่ คือ สหรัฐและจีน ทำให้สหรัฐใกล้สิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ย อย่างช้ากลางปี 2562 หลังเงินเฟ้อลดลง และกำลังจะต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ตรงข้ามกับเอเชีย ค่าเงินมีทิศทางแข็งค่าหรือมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่เชื่อว่า SET Index ที่ลดลงจนปัจจุบันมี PER เพียง 14.8 เท่า และจะลดลงเหลือ 14.3 เท่า ในปี 2562 อีกทั้งเข้าสู่การเลือกตั้งในต้นปี 2562 ทำให้ Downside จำกัด แนะนำทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีเข้าพอร์ต Theme หลักยังเป็น Domestic Play BJC(FV@B61) และ WHA([email protected]) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้…SET Index พยายามยืนเหนือ 1600 จุด
วานนี้ SET Index แกว่งตัวลงมาทดสอบแนวรับบริเวณ 1600 จุด และปิดที่ 1601.48 จุด ลดลง 7.97 จุด (-0.50%) มูลค่าการซื้อขาย 3.98 หมื่นล้านบาท โดยเผชิญแรงขายกลุ่มอุตสาหกรรม ตอบรับประเด็นลบตัวเลขเศรษฐกิจของจีนหดตัว ส่วนการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มพลังงานอย่าง PTTEP รีบาวด์กลับขึ้นมา 2.5% หลังจากถูกขายหนักตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นร่วงเกือบ 13% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่ม ธ.พ. SCB KTB และ BBL ปิดตลาดในแดนลบ เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC CK ITD) ส่วนกลุ่ม ร.พ. BDMS BH ปรับขึ้นสวนทางตลาดฯ 1.9% และ 1.1%
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ดัชนียังแกว่งตัวในแดนลบ พิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก สหรัฐมีแนวโน้มชะลอขึ้นดอกเบี้ย และราคาน้ำมันยังต่ำลง สะท้อนความต้องการน้ำมันที่ลดลง แต่คาดว่าแรงขายต่างชาติลดลง และน่าจะมีโอกาสสลับมาซื้อตลาดหุ้นไทยบ้าง
กังวลต่อเศรษฐกิจโลกสหรัฐอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยกลางปี 2562
ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจหลัก ๆ ของจีน ทั้งดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปี 11 เดือน และต่ำสุดในรอบ 15 ปี 6 เดือนตามลำดับ เช่นเดียวกับสหรัฐ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ธ.ค. ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุม Fed วันที่ 18-19 ธ.ค. (ทราบผลเช้าวันที่ 20 ตามเวลาไทย) คาดยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยฯราว 0.25% อยู่ที่ 2.5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ชะลอลงจากสูงสุดในเดือน ก.ค. ที่ 2.9% และล่าสุดเดือน พ.ย. อยู่ที่ 2.2% รองรับการลดดอกเบี้ยในอนาคต หากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
แต่คาดว่าใน ปี 2562 สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกไม่มากคือ 1-2 ครั้ง หรือดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดไม่เกิน 3% หากเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงต่ำกว่า 2.2% ซึ่งน่าจะทำให้ Dollar index ชะลอการแข็งค่า (หลังจากแข็งค่าราว 5.44% จากต้นปี 2561 – ปัจจุบัน) น่าจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย เริ่มมีเสถียรภาพ หรือหยุดการอ่อนค่าในบางประเทศ อาทิ ริงกิตมาเลเซีย และเงินบาท โดยในการประชุมของ กนง. ประชุมวันที่ 19 ธ.ค. คาดว่าน่าจะยืนดอกเบี้ยที่ 1.25% ขณะที่ตลาดมีความเห็นที่แตกแยกคือ ราว 50:50 แต่ในปี 2562 ASPS คาดว่า กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย ราว 1-2 ครั้ง หรือประมาณ 0.25-0.5% มาที่ 1.5-1.75% เนื่องจากเงินเฟ้อไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุด พ.ย. อยู่ที่ 0.94% (ต่ำสุดในภูมิภาคและต่ำกว่าเป้าที่ กนง.วางไว้ 1-4%)
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ยังขายกลุ่ม TIP
วานนี้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยเพียง 36 ล้านเหรียญ (หลังขายสุทธิเพียงวันเดียว) แต่เป็นการสลับมาซื้อสุทธิเฉพาะตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวัน มูลค่า 65 ล้านเหรียญ และ 28 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ยังถูกขายสุทธิ เริ่มจาก อินโดนีเซีย 28 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), และไทยขายสุทธิอีก 14 ล้านเหรียญ หรือ 472 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิอีกกว่า 1.12 พันล้านบาท และเป็นการขายสุทธิวันที่ 6 มูลค่ารวมแล้วกว่า 9.87 พันล้านบาท
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติขายสุทธิ 2.6 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) โดยเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 750 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 1.85 พันล้านบาท ทำให้ Bond Yield 10 ปี ของไทยแกว่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.67%
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
แผน PDP 20 ปี ยังเน้นก๊าซฯ แต่ลดถ่านหิน ปัญหาไฟฟ้ายัง oversupply
วานนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการเปิดเผยร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ (ปี 2561-80) จะปรับสัดส่วน ของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็น 53% จากแผนเดิม 37% และปรับลดการใช้ถ่านหินลงเหลือ 12% จากเดิม 23% และพลังงานหมุนเวียนคงเดิมที่ 20%
ทั้งนี้ แม้แผนใหม่จะมีการปรับลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซสูงถึงกว่า 60% ของเชื้อเพลิงรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาจากแหล่งเอราวัณและบงกช ร่วมด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งนำเข้ามาอีกราว 1 ใน 3 และแม้ว่าการจัดหาก๊าซธรรมชาติจะมีทางเลือกที่มากกว่า และราคาต่ำ (เนื่องจากใช้ก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยมากกว่า) และมีโอกาสให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยมีโอกาสลดลง แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้อีก 10 ปี ซึ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีโอกาสหมดลง ทำให้มีความเป็นไปที่จะต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงเข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 จึงทำให้มีความเสี่ยงเรื่องค่าไฟฟ้าในระยะยาวได้
ขณะที่ในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่จดทะเบียนในตลาดฯ คือ EGCO, GLOW, RATCH ประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบต่อแผน PDP ฉบับใหม่ เนื่องจากผู้ที่รับซื้อไฟฟ้า คือ EGAT รับซื้อไฟฟ้าตามกำลังการผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่าย (Available generation capacity) ของผู้ผลิตไฟฟ้าแต่ละรายอยู่แล้ว (ไม่ได้รับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิง) ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสูงขึ้นในอนาคต ทาง EGAT จะเป็นผู้ที่ซื้อจาก PTT เองโดยตรง ทางผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผลิตไฟฟ้าในไทยปัจจุบันยังอยู่ในภาวะ oversupply ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) อยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% เทียบกับระดับปกติที่ 15% ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของผู้ประกอบการทำให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ทยอยลดลงเหลือเพียง 10% หรือต่ำกว่านั้น เทียบกับในอดีตที่เคยได้รับสูงถึง 15-20% รวมถึงต้องรอความชัดเจนของแผน PDP ใหม่ จึงยังเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตของกลุ่มพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ตามแผน PDP ใหม่ แม้มีการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง แต่คาดว่ากระทบต่อ BANPU จำกัด เพราะสัดส่วนกำไรของบริษัทมาจากธุรกิจถ่านหินราว 60% ของกำไรทั้งหมด และอีก 40% จากการขายถ่านหิน แต่ส่วนใหญ่เป็นการขายในต่างประเทศ
เก็งกำไรหุ้นเข้า SET50 โค้งสุดท้ายของปี ชอบ GULF และ WHA
ในเย็นวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ประกาศรายชื่อหุ้นที่ถูกเข้าคำนวณใน SET50 และ SET100 รอบ 2H61 โดยมีผลตั้งแต่ 2 ม.ค. – 30 มิ.ย. 62 ซึ่งมีหุ้นที่เข้า/ออก SET50 2 คู่ และหุ้นที่เข้า/ออก SET100 อีก 6 คู่ ดังตารางด้านล่าง
รายชื่อหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้า SET50 และ SET100 รอบ 1H62 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศ
รายชื่อหุ้นเข้า/ออก SET50-SET100 ที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยฯคาดการณ์ไว้ในบทวิเคราะห์ Quantitative Analysis วันที่ 4 ธ.ค. 61 ที่ผ่านมา แต่การคำนวณครั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯใช้เกณฑ์สภาพคล่องสูงกว่าคาด ทำให้มีหุ้นขนาดใหญ่ อย่าง BLA ไม่ถูกเข้าคำนวณในดัชนี SET50 แล้วยังหลุดออกจากดัชนี SET100 อีก แต่ทำให้หุ้นสำรองลำดับแรกที่ฝ่ายวิจัยฯคาดการณ์ อย่าง CENTEL กลับมาอยู่ในดัชนี SET50 เหมือนเดิม
และหากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 พบว่า ยังไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกล่วงหน้ามากนัก เนื่องจาก SET Index ปรับตัวลงแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกถึง 2.46% (mtd) แต่ด้วยระยะเวลาที่เหลือราว 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันเข้าคำนวณ (2 ม.ค. 62) จึงพอที่จะเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่าจะเข้า SET50 และ SET100 ได้ดังนี้
กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ถูกคัดเข้าทั้ง SET50 และ SET100 อย่าง GULF หากซื้อก่อนเข้าคำนวณจริงราว 2 สัปดาห์ และขายทำกำไรในวันเข้าคำนวณ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 3.7% ด้วยความเป็นไปได้ถึงกว่า 79%
กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ถูกคัดเข้าเฉพาะ SET50 อย่าง WHA แนะนำให้ซื้อก่อนเข้าคำนวณจริงราว 2 สัปดาห์ และขายทำกำไรในวันเข้าคำนวณ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 2.7% ด้วยความเป็นไปได้ถึงราว 67%
ขณะที่เข้าเฉพาะ SET100 ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นมากนัก
ส่วนหุ้นที่ถูกคัดออกจากดัชนี SET50 หรือ SET100 มีโอกาสปรับตัวลดลงก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ แต่หลังจากนั้นราคาจะค่อยๆฟื้นกลับขึ้นมา ในระยะสั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนออกไปก่อน
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์