- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 12 December 2018 16:24
- Hits: 1683
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561
ปัจจัยแวดล้อมเช้านี้มีน้ำหนักทางบวก เริ่มจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ผ่อนคลายเล็กน้อย หลังจีนมีแนวทางปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยในประเทศเห็นแรงบวก 2 เรื่อง คือความคืบหน้าการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งอาจนำมาซึ่งแรงซื้อในหุ้นรับเหมาฯ และสัญญาณการเริ่มขึ้นของฤดูการเลือกตั้ง ส.ส. คาด SET Index ดีดตัวขึ้น แต่ Upside ยังจำกัด หุ้น Top Picks วันนี้เลือก STEC ([email protected]) ซึ่งมีส่วนร่วมทางตรงในการประมูลรถไฟความเร็วสูง และ DCC([email protected]) ได้แรงหนุนจากต้นทุนค่าพลังงานที่ลดลง รวมถึงยอดขายกระเบื้องในประเทศที่ฟื้นตัว
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้….แรงขายหุ้นขนาดใหญ่กดดันตลาดฯ
วานนี้ SET Index แกว่งตัวในทิศทางลงตลอดทั้งวัน และปิดที่บริเวณแนวรับของวัน 1633.62 จุด ลดลง 16.37 จุด (-0.99%) มูลค่าการซื้อขาย 4.29 หมื่นล้านบาท ตลาดฯ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศกดดันดัชนีฯ หักล้างปัจจัยบวกเรื่องความชัดเจนของการเลือกตั้ง โดยมีแรงขายทำกำไรในหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้าอย่าง AOT ลดลง 2.7%, CPALL ลดลง 1.8% และ BDMS ลดลง 2.8% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มพลังงานอย่าง PTTEP ราคาหุ้นปรับตัวลง 2.2% และ PTT ลดลง 0.51% หลังราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวของ SET Index แนวรับ 1633 จุด แนวต้าน 1655 จุด ตลาดน่าจะได้ปัจจัยหนุนจากการเจรจาการค้าผ่อนคลายขึ้น หลังจากทางการจีนเตรียมลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐ และผู้บริหาร Huawei ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว รวมทั้งพัฒนาการเชิงบวกของการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของ Government Shutdown ของสหรัฐ รวมทั้งปัญหาการเมืองต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และเอเชีย
จีนจะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ให้สหรัฐ ทำให้ตลาดผ่อนคลายช่วงสั้น
ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลังจากก่อนหน้าทั้ง 2 ประเทศพักรบชั่วคราว โดยสหรัฐจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ เป็น 25% (จากปัจจุบันเก็บ 10%) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยยืดออกไปอีก 90 วัน ขณะที่จีน ล่าสุดวานนี้ประกาศว่ากำลังพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากสหรัฐ เหลือ 15% จาก 40% แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะมีผลเมื่อใด
ทั้งนี้รถยนต์เป็นสินค้าที่สหรัฐส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก มากสุดคือ แคนาดา รองลงมาคือ เม็กซิโก และจีน เป็นต้น ทำให้หุ้นรถยนต์ทั่วโลกเมื่อวานนี้ฟื้นตัว ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนน่าจะได้ Sentiment เชิงบวก อาทิ STANLY และ SAT จากคำสั่งซื้อใหม่จากบริษัทชิ้นส่วนจากสหรัฐ (Tier-1) ให้ผลิตชิ้นส่วนเพลาข้างกระบะ 1.5 ตัน (Axle Shaft) (Direct Export) นาน 7 ปี เริ่มส่งมอบตั้งแต่ 4Q61 ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในงวด 4Q61 70 ล้านบาท และในปี 2562 เป็นต้นไปปีละ 400 ล้านบาท
สหรัฐส่งออกรถยนต์ทั่วโลก ที่มา: www.trademap.org
น้ำมันฟื้นตัวช่วงสั้น จากปัญหา Supply ในลิเบีย
ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวในช่วงสั้น เป็นผลจากฝั่ง Supply จาก ลิเบีย (กำลังการผลิตราว 1.18 ล้านบาร์เรล /วัน หรือ 3.56%ของกำลังการผลิตใน OPEC) คือ กลุ่มติดอาวุธได้ยึดบ่อน้ำมัน El Sharara ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ(กำลังการผลิตน้ำมันราว 3.15 แสนบาร์เรล/วัน) ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC และ Non OPEC ตกลงตัดลดกำลังการผลิตในปี 2562 ลงอีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากฐานการผลิต OPEC+Non OPEC ในเดือน ต.ค. ที่อยู่ราว 51.1 ล้านบาร์เรล/วัน พร้อมกับขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ออกไปอีก 6 เดือน หรือราว มิ.ย. 2562
อย่างไรก็ตาม Supply ที่ลดลงอาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงจากผลกระทบของสงครามการค้าโลกที่ยังมีอยู่ น่าจะทำให้น้ำมันยังอยู่ในภาวะ oversupply ซึ่งน่าจะกดดันราคาน้ำมันต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ต่อไป ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2562 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งพบว่าพบว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรปี 2562 และ 2563 ของ PTTEP ลดลง 13.3% และ 15.6% จากเดิม ส่วน PTT ลดลง 9.7% และ 7.0% จากเดิม จึงยังแนะนำ “switch” PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56) อย่างไรก็ตาม PTTEP อาจจะมีข่าวดีการเข้าประมูลบงกช และเอราวัณ คาดว่าจะทราบผล 18 ธ.ค. นี้
สัญญาณเริ่มต้นฤดูกาลเลือกตั้งเริ่ม คาดเห็น Fund Flow กลับต้นปี 2562
ทันทีที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ เมื่อ 11ธ.ค.2561 ก็ปรากฎสัญญาณที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งชัดเจนขึ้นมาตามลำดับ โดยในวันเดียวกัน คสช. ได้ออกประกาศยกเลิกคำสั่ง 9 ฉบับ ส่งผลทำให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ แม้จะมีข้อกำหนดว่า ยังห้ามการหาเสียงก่อน 2 ม.ค.2562 (ตามกำหนดเป็นวันที่ประกาศ พระราชกฤษฎีกา ให้จัดการเลือกตั้ง) แต่ก็ถือเป็นเพียงเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะยังไม่นับเม็ดเงินที่ต้องใช้ในกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยจะเริ่มนับหลังจาก 2 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทางปฎิบัติ (หาเสียง) สามารถทำได้โดยอิสระ อีกทั้งยังเป็นผลดีในเรื่องการที่ยังไม่นับเม็ดเงินที่จ่ายก่อน 2 ม.ค.2562 เป็นงบที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามอีกเรื่องหนึ่งคือ กำหนดการในช่วงวันที่ 14 – 18 ม.ค.2562 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเปิดรับสมัครผู้ลงรับการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกันนี้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ให้กับ กกต. ด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็น่าจะพอเป็นหน้าตา ของบุคคล ที่จะเข้ามาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ส่วนการได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่พร้อมทำงานคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน มิ.ย. 2562 ทั้งนี้ อยู่บนสมมุติฐานว่าจะสามารถเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ในวันที่ 9 พ.ค. 2562
แม้สัญญาณการเลือกตั้งจะชัดเจน แต่การที่ Fund Flow จะไหลกลับ เชื่อว่าอาจเริ่มเห็นได้ในช่วงต้นปี 2562 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้จัดการเลือกตั้ง อีกทั้งเป็นช่วงที่เริ่มพ้นเทศกาลปีใหม่ ซึ่งหาก Fund Flow ไหลกลับเข้ามาจริงก็น่าจะทำให้ SET Index กลับไปซื้อขายบนฐาน PER 16 เท่าได้ ซึ่งจะให้เป้าหมายปี 2562 ที่ 1795 จุด ส่วนปี 2561 ซึ่งเหลือช่วงเวลาซื้อขายอีก 2 สัปดาห์เศษ น่าจะยังเห็นการผันผวนอยู่บริเวณไม่เกิน 1680 จุด
Fund Flow มีโอกาสชะลอการไหลออก จากประเด็นลบที่ผ่อนคลายลง
ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ประเด็นสงครามการค้า และความไม่สงบในยุโรป กดดันต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 โดยวานนี้ยังขายสุทธิอีก 473 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยไต้หวันถูกขายสุทธิ 190 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 165 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), อินโดนีเซีย 69 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5), ฟิลิปปินส์ 6 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อนหน้า) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 44 ล้านเหรียญ หรือ 1.44 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 403 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ปัจจัยภายนอกกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยลดลงถึง 2.33% (1w) อย่างไรก็ตามประเด็นต่างประเทศที่ผ่อนคลายลง ทั้งจากจีนประกาศพิจารณาลดภาษีรถยนต์ให้กับสหรัฐ เพื่อประนีประนอมความขัดแย้งทางการค้า และความไม่สงบในแหล่งผลิตน้ำมันหลักในลิเบีย น่าจะหนุนให้ราคาน้ำมันมีโอกาสฟื้นตัว รวมทั้งประเด็นในประเทศจากพัฒนาการทางบวกทางด้านการเมือง น่าจะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงทำให้ Fund Flow มีโอกาสชะลอการไหลออกได้
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
การลงทุนรัฐ+เอกชน และการบริโภคภาคครัวเรือน จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออกปีหน้า
ท่ามกลางความเสี่ยงปัจจัยภายนอกที่ยังอยู่ อาทิ สงครามการค้า และ ปัญหาการเมืองในยุโรป ทำให้ฝ่ายวิจัย ASPS คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัว 3.5% ชะลอจาก 4% ในปี 2561 โดยเชื่อว่าปัจจัยขับเคลื่อนแม้จะพึ่งการส่งออกแต่น่าจะน้อยลง ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์คงเป้าส่งออกรูปดอลลาร์ปี 2561-2562 ที่ 8% เท่ากัน( ASPS คาด 7% และ 0.5% ตามลำดับ) โดยเชื่อว่าหลังจากได้รัฐบาลประชาธิปไตยน่าจะเป็นใบเบิกทางและได้รับการยอมรับ และรัฐบาลน่าจะมุ่งเน้นไปตัวขับเคลื่อนหลัก คือ การลงทุน ทั้งภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยล่าสุด ได้มีการเร่งโครงการต่างๆ ให้ทันภายในปีนี้-ต้นปีหน้า ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BTS+STEC+RATCH) และกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด +พันธมิตร ได้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ซองเทคนิค) แล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ซึ่งเกณฑ์การตัดสิน คือ เอกชนที่ยื่นขอรับเงินอุดหนุนการก่อสร้างจากภาครัฐน้อยที่สุดจาก 1.16 แสนล้านบาท จะเป็นผู้ชนะ และคาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติในช่วงวันที่ 18-28 ม.ค.62 และ การลงนามสัญญาน่าจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ม.ค.62 พัฒนาการดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อในหุ้นกลุ่มรับเหมาฯ เฉพาะอย่างยิ่ง STEC (FV@B 29.25) ซึ่งมีส่วนร่วมโดยตรงในการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ส่วนโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track มีการเร่งรัดการลงทุนเช่นกัน คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในต้นปี 2562 เชื่อว่า โครงการลงทุนภาครัฐ และโครงการร่วมลงทุนต่างๆ จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เพราะมิใช่เฉพาะผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับประโยชน์ (ภาคก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง) แต่หมายรวมถึง อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การค้าขายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง และการบริโภคในระดับรากหญ้า น่าจะฟื้นตัวด้วย
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์