- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 03 December 2018 21:33
- Hits: 6582
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
คาด SET วันนี้ฟื้นตัว โดยมีแนวต้าน 1650-1655 จุด ตลาดผ่อนคลายช่วงสั้น หลังจีน-สหรัฐ พักรบชั่วคราว โดยให้ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้า 2 แสนล้านเหรียญฯ จากปัจจุบัน 10% เป็น 25% ไปเป็น เม.ย. 2562 และไม่พูดถึงการขึ้นภาษีสินค้ารอบใหม่อีก 2.67 แสนล้านเหรียญ ฯ และค่าเงินเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่า หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เอเชียทยอยขึ้นดอกเบี้ย ยังชอบหุ้น Domestic ที่มีการกระตุ้นการใช้จ่าย Top picks KBANK(FV@B251) มี upside 30% และ Beta สูงมีโอกาส Rebound และยังชอบ BJC(FV@B61) และ DCC([email protected])
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ….แรงรีบาวด์ระยะสั้น ดันดัชนีปิดบวก
วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index ผันผวนสูง ปิดตลาดที่ 1641.80 เพิ่มขึ้น 5.31 จุด (+0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 4.73 หมื่นล้านบาท ราคาน้ำมันดิบโลกรีบาวด์ หนุนแรงซื้อหุ้นน้ำมันอย่าง PTTEP ปรับตัวขึ้นมา 2.3% ตามมาด้วย หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ (SCB BBL KBANK) หุ้น ICT อย่าง ADVANC +1.13% DTAC+3.23% ส่วนกลุ่มค้าปลีก ได้ Sentiment บวกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศหลังรัฐบาลเปิดทางให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าสมัยใหม่ (เช่น Tesco BigC ) หนุนหุ้นในกลุ่มฯ BJC +1.44%
แนวโน้มวันนี้คาดดัชนีน่าจะฟื้นตัว ตอบรับสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่พักรบชั่วคราว และ Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 ตรงข้ามกับเอเชียที่ยังคงขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินทุนไหลเข้า น่าจะช่วยฟื้นตัวตลาดหุ้นได้
การตอบโต้การค้า สหรัฐ-จีน พักรบ ตลาดหุ้นผ่อนคลาย
ผลการประชุม G-20 นอกรอบระหว่างระหว่างสหรัฐกับจีนใน สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปคือ ทั้งสองฝ่ายยินยอมพักรบไปก่อน โดยสหรัฐจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในรอบที่ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ ที่ปัจจุบันจัดเก็บ 10% เป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยยืดออกไปอีก 90 วัน เป็นเม.ย. ปี 2562 เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเจรจายุติสงครามการค้าต่อไป ขณะที่จีนยินยอมสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าเกษตร, อุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรอบนี้สหรัฐมิได้กล่าวถึงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบ 4 อีก 2.67 แสนล้านเหรียญ ซึ่งคาดว่าน่าสหรัฐจะนำมาเป็นประเด็นในเจรจาอีกครั้ง หลังสิ้นสุดระยะ 90 วันข้างต้น
คาดผลกระทบต่อการค้าและ เศรษฐกิจโลก เนื่องจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในรอบก่อนหน้า (รวม 3 รอบ วงเงินราว 2.5 แสนล้านเหรียญ) ยังคงมีผลอยู่ และคาดผลกระทบน่าจะชัดขึ้นตามลำดับ แต่คาดว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้น น่าจะสะท้อนแล้ว สะท้อนจากที่ตลาดหุ้นโลกได้ปรับฐานต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในปี 2561 จนถึง ปัจจุบัน ปรับลดลงเฉลี่ย 19% นับตั้งแต่สหรัฐประกาศสงครามการค้ากับจีน โดยการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนแล้ว 3 รอบ
และเป็นที่สังเกตว่าตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบ และมีการปรับฐานมากสุด นำโดย จีนดัชนีตลาดหุ้นลดลงจากจุดสูงสุดต้นปี 2561 ราว 36% รองลงมาคือตลาดหุ้นเอเชีย คือ ฮ่องกงลดลงจากจุดสูงสุดต้นปี 26%, ฟิลิปปินส์ 25%, เกาหลีใต้ลดลง 22%, อินโดนีเซีย 15% และ ไทย 12.5% ส่วนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วกลับปรับฐานน้อยและล่าช้ากว่า โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปปรับฐานในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นยอดสูงสุดราว 10% ใกล้เคียงกัน
ที่มา : ASPS รวบรวม
Fund Flow ไหลกลับ เอเชีย หลัง Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย
ท่ามกลางวัฎจักรดอกเบี้ยโลกขาขึ้นที่เริ่มลดน้อยลง โดยสหรัฐมีโอกาสการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 แต่ฝั่งเอเชียยังมีบางประเทศยังคงขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ได้ขึ้นดอกเบี้ย ฯ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี (ตั้งแต่กลางปี 2554) 0.25% มาที่ 1.75% จากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 2% ใน ต.ค. จาก 1% ใน ม.ค. หนุนเงินวอนแข็งค่าช่วงสั้น สอดคล้องกับภูมิภาคบางแห่งที่ยังขึ้นดอกเบี้ยสกัดกั้นเงินทุนไหลออก คือ อินโดนีเซีย (BI) ขึ้นดอกเบี้ย ฯ 6 ครั้งในปีนี้รวม 1.5% เป็น 6.0%, ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ขึ้นดอกเบี้ย ฯเป็นครั้งที่ 5 ปีนี้ รวม 1.25% เป็น 4.75%
ยกเว้นไทย ที่ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อชะลงตัวลง หลังจากแตะระดับสูงสุดที่ 1.62% ใน ส.ค. 2561 ลงมาเหลือ 1.33% ใน ก.ย. และ 1.23% ในเดือน ต.ค. แต่ ธปท. พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ย หากมีความจำเป็น และ ช่วงสาย กระทรวงพาณิชย์จะประกาศเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. ตลาดคาดเหลือ 1% ซึ่งนับว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยล่าสุด ที่ 1.5% (ตั้งแต่ เม.ย. 2558) และ การส่งออกของไทย ชะลอตัวชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือน ก.ย. ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน แม้จะฟื้นตัวในเดือน ต.ค. แต่น่าจะชั่วคราว ทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้น้อยลง ในการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายปีนี้ (19 ธ.ค.) แต่น่าจะขึ้นปี 2562 ราว 0.25-0.5%
OPEC พร้อมลด Supply หนุนราคาน้ำมัน
ขณะที่ 6 ธ.ค. การประชุม OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย คาดว่ามีโอกาสจะ ขยายระยะเวลาการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ ออกไปถึงปี 2562 พร้อมจะลดกำลังการผลิตในปีหน้าลงอีกราว 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อให้สอดคล้องกับ ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตที่จะลดลงแรงจาก เกิดผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงมีมากกว่า
อย่างไรก็ตามมราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ยังต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ที่ประเมินไว้ 65 เหรียญฯ ในปี 2561 และ 70 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งพบว่าพบว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงทุกๆ 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะทำให้กำไรปี 2562 และ 2563 ของ PTTEP ลดลง 13.3% และ 15.6% จากเดิม ส่วน PTT ลดลง 9.7% และ 7.0% จากเดิม จึงยังแนะนำ “switch” PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56) ตรงข้ามหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันปรับลง คือ ปิโตรเคมี ผู้ที่ได้ประโยชน์มากสุดคือ SCC(FV@B515), IRPC([email protected])และ TOP(FV@B88) ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง คือ TASCO(FV@B18) น่าจะได้ประโยชน์มากสุด และกลุ่มสายการบิน AAV([email protected]) ,BA([email protected]) และ THAI([email protected]) แต่ภาวะการแข่งขันในธุรกิจที่สูงขึ้น น่าจะหักล้างประเด็นบวกจากราคาน้ำมันขาลง
เดือน ธ.ค. คาดแรงขายต่างชาติเบาลง และมีแรงหนุน LTF
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์หยุดทำการ เพราะเป็นวันชาติ ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆ เปิดทำการปกติ โดยรวมพบว่า ต่างชาติชะลอการลงทุน เพื่อรอผลประชุมการค้าจีน-สหรัฐ กดดันต่างชาติสลับมาขายสุทธิในภูมิภาค 88 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิ 5 วัน) และเป็นการขายสุทธิ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย 98 ล้านเหรียญ และ ไต้หวัน 52 ล้านเหรียญ ส่วนที่เหลือซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ 43 ล้านเหรียญ และไทยสลับมาซื้อสุทธิ 19 ล้านเหรียญ หรือ 673 ล้านบาท (หลังขายสุทธิ 8 วัน มูลค่ารวม 9.30 พันล้านบาท) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 972 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 7 รวม 1.40 หมื่นล้านบาท)
สรุป Fund Flow ในเดือน พ.ย. 61 มีแรงขาย ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และพลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1.90 พันล้านเหรียญ โดยเป็นการซื้อสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นไทยแห่งเดียวที่ถูกขายสุทธิ 424 ล้านเหรียญ หรือ 1.40 หมื่นล้านบาท (รายละเอียดดังตารางทางด้านล่าง)
ส่วนแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน ธ.ค. คาดว่าแรงขายต่างชาติน่าจะเบาลง และมีการสลับเข้ามาซื้อบ้าง หลังสงครามการค้าจีน – สหรัฐ ผ่อนคลาย และยังมีเม็ดเงิน LTF ที่มักเข้ามาหนาแน่นที่สุดในเดือน ธ.ค. เฉลี่ย 47% ของแรงซื้อทั้งปี หรือราวๆ 3 หมื่นล้านบาท หนุนให้ SET Index มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี ที่ SET Index มักปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.84% และให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 7 ใน 10 ปี
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ตลาดผ่อนคลายหลังจีน-สหรัฐ พักรบการตอบโตการค้า 3 เดือน
คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้น่าจะได้รับ sentiment เชิงบวก หลังจีน-สหรัฐ ยอมพักรบตอบโต้การค้าเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าถูกยืดไปเจรจารอบใหม่ในช่วงเมษายน 2562 ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าที่ผ่านมาสะท้อนผ่านการชะลอตัวของมูลค่าการค้าโลก, การปรับลด GDP Growth ของโลกในปีนี้ละปีหน้าลง รวมทั้งราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงจากความต้องการใช้ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโดยรวมน่าจะสะท้อนข่าวสงครามการค้าไประดับหนึ่งแล้ว
ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. เป็นต้นมา จากบริเวณ 3.24% ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่แล้วลดลงไปอยู่ที่ 2.99% หลัง Fed ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า (หลังขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 8 ครั้ง นับตั้งแต่ ธ.ค. 2558) ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเอเซียยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอยู่ เช่นเดียวกับบ้านเราเองที่ กนง. มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้หลังจากนี้ ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจมีความน่าสนใจลดลงน้อยลง และอาจส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลกลับไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคฯ น่าจะได้อานิสงส์มากกว่า
ในส่วนของ Valuation ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่และไทย อยู่ในระดับที่ไม่แพงมากนัก โดยในส่วนของ Expected P/E ปี 2562 ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 14.6 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่ 14.2 เท่า และต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ 15.4 เท่า แต่ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการเกินดุลทางการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยในปีนี้ไปแล้วสูงถึงกว่า 2.87 แสนล้านบาท น่าจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติอีกประการหนึ่ง
กลยุทธ์การลงทุน ยังเน้นไปที่หุ้น Domestic Play ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ ร่วมกับหุ้นปันผลสูง Upside สูง ร่วมกับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง ดังตารางด้านล่าง
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์