- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 22 November 2018 15:39
- Hits: 8378
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
มีโอกาสรีบาวด์ เศรษฐกิจสหรัฐชะลอ น้ำมันฟื้นตัว
• หุ้นที่เปลี่ยนคำแนะนำทางปัจจัยพื้นฐานวันนี้ : ไม่มี
ภาวะตลาดและปัจจัย : ตลาดวานนี้ – SET Index ปิดตลาดรีบาวด์ได้ +5.30 จุด ณ ระดับ 1617.33 จุด หลังไปทำยอดสูงสุดของวันที่ 1622.14 จุด โดยรวมปรับขึ้นดีกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค มูลค่าการซื้อขายดีขึ้นเป็น 47 พันล้านบาท SET มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุน คือ ตัวเลขส่งออก ต.ค.ดีกว่าคาดเพิ่ม 8% จากตลาดคาดไว้เพิ่ม 3.5-4.0% แม้ต่างประเทศไม่สดใส ดาวโจนส์และน้ำมันดิ่งแรงมาก หุ้นกลุ่มธนาคารฟื้นตัว แต่พลังงาน และท่องเที่ยวปรับลง หลังตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ต.ค.พลิกหดตัว ด้านผู้ขายสุทธิเป็นต่างชาติ0.8 พันล้านบาท สถาบัน 0.5 พันล้านบาท และบัญชีหลักทรัพย์ 0.1 พันล้านบาท ส่วนผู้ซื้อสุทธิรายเดียวคือ นักลงทุนทั่วไป1.4 พันล้านบาท
แนวโน้มและกลยุทธ์– ระยะสั้น SET มีโอกาสรีบาวด์ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอ ข้อดีคือ ทรัมป์อาจต้องกลับมาทบทวนนโยบายกีดกันการค้า เฟดทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ย น้ำมันกลับมาฟื้นตัว ดอลลาร์อ่อนค่า เงินไหลออกน้อยลง ดัชนีความกลัว (VIX) ปรับลด ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านรีบาวด์เป็นส่วนใหญ่ ดาวโจนส์ล่วงหน้า +39 จุด ณ 8:13 น.แต่ปัจจัยลบคือ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอจะกระทบทั่วโลก ด้านปัจจัยในประเทศ ความหวังอยู่ที่ GDP ไตรมาส 4/61 หลังส่งออก ต.ค.ดีขึ้น แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ดีนัก ต.ค.ติดลบ หาก SET รีบาวด์ได้ แนวต้านถัดไปคือ 1620-1630/1640 แต่หากถูกขายแนวรับถัดไปคือ 1600-1590 แนวตัดขาดทุนน้อยกว่า 1610 จุด ด้านปัจจัยในประเทศ รัฐพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งท่องเที่ยว ช็อปช่วยชาติ และ ธอส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ การเมืองอยู่ในช่วงแบ่งเขตเลือกตั้ง และกังวลจะเลื่อนเวลาเลือกตั้งไปบ้าง ส่วนปัจจัยลบเดิมๆยังค้างคา จึงคงต้องระวังการลงทุน เช่น แรงขายจากต่างชาติ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เศรษฐกิจโลกถดถอย นักท่องเที่ยวจีนมาไทยน้อยลง ข้อดีคือ จะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปแม้ปัญหา Emerging Market (EM) ยังไม่จบ แต่เศรษฐกิจของไทยเหนือกว่า EM อื่นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง บัญชีเดินสะพัดเกินดุล สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่เป็นภาพใหญ่คือ ECB ทยอยลด QE และหยุดตอนสิ้นปี มีเงินไหลมาลงทุน EM น้อยลง ส่วนระยะกลาง-ยาวเฟดคาดปีนี้จะปรับขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง (ปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในช่วง ธ.ค.) และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ทำให้แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า และเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ นับว่าปัจจัยต่างประเทศยังกดดันในเรื่องกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป และกังวลไทยจะได้รับผลกระทบสงครามการค้า แต่ก็มีข้อดีจะมีการย้ายฐานการผลิตจีนมาไทย กลยุทธ์ในสัปดาห์นี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดีเมื่อราคาหุ้นปรับลงตามดัชนีฯ และเลือกหุ้นที่มีประเด็นที่น่าสนใจ หุ้นเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย แต่ SET ตามพื้นฐานระยะยาว 1 ปี ให้ไว้ที่ 1860 จุด ที่ P/E 17 เท่า ซึ่งเป็น Median+1 SD และ EPS ปี 61 เติบโตเฉลี่ย 10% ดังนั้นดัชนีฯปรับลง แนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาวเมื่ออ่อนตัว ตามปัจจัยต่างประเทศที่ยังกดดัน
Update หุ้นเด่น: KBANK – เราแนะนำทยอยซื้อ KBANK ทั้งนี้แม้ว่าในระยะสั้นอาจจะยังขาดปัจจัยกระตุ้นเรื่องการเติบโต เพราะต้องลงทุนระบบดิจิตอลแบงค์กิ้ง, ตั้งสำรองฯรองรับ IFRS9 และการขยายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่จำกัดมากขึ้น แต่ในระยะยาวยังมีความมั่นคงทางธุรกิจ และความต้องการใช้บริการทางการเงินยังคงมีอยู่ ทางฝ่ายวิจัยฯDBSVTH ให้ราคาพื้นฐาน 270 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับ P/BV ปี 62 ที่ 1.6 เท่า คาดว่ากำไรสุทธิในปี 61/62 ยังจะขยายตัวได้ 15.2%/2.6% y-o-y ตามลำดับ
การวิเคราะห์ทางเทคนิค : ระยะสั้น Candlestick & Indicators เหมือนจะเป็นบวกเล็กๆ แต่ความน่าจะเป็นของตลาดฯระยะกลางมีน้ำหนักเป็นการลง ตามโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจมีรีบาวด์สั้นๆก่อนจึงปรับลง ซื้อเน้นค่าบวก แนวต้าน 1620-1630-1640 แนวรับ 1600-1590 จุด แนวตัดขาดทุน ต่ำกว่า 1610 จุด
ด้านหุ้นที่คาดว่ามีสัญญาณบวกทางเทคนิค มีโอกาสทำ New High ที่เข้ามาใหม่คือ KBANK,SCC,GLAND,PTG,OSP,BH,HMPRO ที่ยังอยู่ใน List คือ LPH หุ้นที่หลุด List คือEGCO ส่วนที่หาจังหวะ Take Profit คือ BDMS,JKN
นักกลยุทธ์&นักวิเคราะห์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา : [email protected]
Drivers TODAY
ปัจจัยต่างประเทศ
- ภาวะตลาดหุ้น : ดาวโจนส์ลบเล็กน้อย หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลง
# ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,464.69 จุด ลดลง 0.95 จุด หรือ -0.00% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,649.93จุด เพิ่มขึ้น 8.04 จุด หรือ +0.30% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,972.25 จุด เพิ่มขึ้น 63.43 จุด หรือ +0.92%
# ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (21 พ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ดีดตัวขึ้นปิดตลาดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงาน หลังจากหุ้นทั้งสองกลุ่มร่วงลงอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้
+ ตลาดน้ำมัน : น้ำมัน WTI ปรับขึ้น คาดการณ์กลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตเดือนหน้า
# สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลลาร์ หรือ 2.25% ปิดที่ 54.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 63.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
# สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (21 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน (โอเปก) จะลงมติปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม แรงบวกของสัญญาน้ำมันดิบได้ถูกสกัดลงในระหว่างวัน หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA)เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว
• ทองคำ : ปรับขึ้น หลังดอลลาร์อ่อนค่า
# สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.80 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่1,228.00 ดอลลาร์/ออนซ์
# สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (21 พ.ย.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้า รวมทั้งความไม่แน่นอนในกรณีที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
+ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายรายการ อ่อนแอลง
# ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ร่วงลง 4.4% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
# ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 224,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 215,000 ราย
# ทางด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 97.5ในเดือนพ.ย. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 98.3 หลังจากแตะระดับ 98.6 ในเดือนต.ค. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
• ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศศุกร์นี้
# สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่มีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ย.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนพ.ย.จากมาร์กิต
ปัจจัยในประเทศ และข่าวเด่นหุ้น-อุตสาหกรรม
+ ตัวเลขส่งออก ต.ค.61 เพิ่มถึง 8.7% ดีกว่าคาดที่ 3.5-4.0%
# กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนต.ค.61 โดยภาพรวมการส่งออก ขยายตัว 8.7%จากตลาดคาดโต 3.5-4.0% คิดเป็นมูลค่า 21,757.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และดีกว่า ก.ย.61 ที่ -5.2% y-o-y ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 11.23% มีมูลค่า 22,037.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 279.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
# สำหรับการส่งออกในช่วง 10 เดือนปี 61 (ม.ค.-ต.ค.61) ขยายตัว 8.19% มีมูลค่า 211,487.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 14.78% มูลค่า 208,928.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,558.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
-ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว ต.ค.61 พลิกกลับมาหดตัวลง 0.51%
# กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว ต.ค.61 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 0.51% y-o-y เป็นผลจากมาจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2,712,033 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ อเมริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาตามลำดับ ขณะที่ ในช่วง 10 เดือน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 31,253,920 คน ขยายตัว 7.84% และสร้างรายได้รวม 1,631,518.58 ล้านบาท ขยายตัว 9.98% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
# ผลกระทบ: ถือว่ามีพัฒนาการที่ด้อยลง เพราะแม้มีเรื่องเรือล่มที่ภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.ตัวเลขโดยรวมก็ยังเป็นบวกได้ 2-3% ซึ่งลดลงจาก 1H61 ที่เติบโตได้เป็นเลข 2 หลัก แต่ ต.ค.ซึ่งเป็นเดือนแรกของไฮซีซั่น ก็กลับเป็นลบเสียแล้ว
# คำแนะนำ: อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต.ค.61 ยังเพิ่มได้ 2.3% m-o-m (เทียบ ก.ย.61) และเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลงก็เป็นเรื่องที่รับรู้ในตลาดฯพอควรแล้ว ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาช่วยแล้ว แนะนำทยอยสะสม เมื่อราคาอ่อนลง AOT, MINT และ ERW เมื่อรับข่าวลบข้างต้น
นักวิเคราะห์ : สมบัติ เอกวรรณพัฒนา : [email protected]