- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 22 November 2018 15:29
- Hits: 7613
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยยังจำกัด ตราบที่ขาดแรงหนุนจากนักลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยใกล้จุดต่ำสุด โอกาสฟื้นตัวน่าจะชัดเจนขึ้นหลังการประกาศสงครามการค้ารอบสุดท้ายสิ้นสุด และผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐชะลอตัว เป็นสัญญาณว่าเงินทุนที่ไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยไปยังสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะเริ่มชะลอตัว จึงคาดว่าน่าจะเริ่มเห็น fund flow ไหลกลับมาในปี 2562 กลยุทธ์ยังเน้นสะสมหุ้น Domestic (ROBINS, CPALL, BJC) มือถือ (ADVANC, DTAC) และสาธารณูปโภค (EASTW, TTW) Top picks เลือก CPALL(FV@B80) และ ADVANC(FV@B240)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….แรงซื้อกลุ่ม ธ.พ. หนุน SET Index พลิกกลับมาบวก
วานนี้ SET Index ผันผวน โดยระหว่างวันดัชนีฯ หลุด 1600 จุด ก่อนจะฟื้นขึ้นมาปิดแดนบวกที่ 1617.33 จุด เพิ่มขึ้น 5.30 จุด (+0.33%) มูลค่าการซื้อขาย 4.7 หมื่นล้านบาท ตลาดหุ้นไทยค่อยๆ พลิกกลับมาแดนบวก สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังปรับตัวลงแรงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยบวกที่เข้ามาหนุนตลาดฯ คือ ตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นที่ปรับตัวลงแรงก่อนหน้านี้อย่าง คือ ธนาคารฯ อสังหาฯ แต่กลุ่มพลังงาน (PTT PTTEP) ยังเผชิญกับแรงขายหลังราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงแรงกว่า 6%
แนวโน้ม SET Index วันนี้ คาดว่ายังแกว่งตัวในกรอบ 1630-1610 จุด โดยตลาดยังคงให้ความสนใจต่อเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ยังมีอยู่ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ ASPS ได้รับ GDP Growth ปี 2561-2562 ลง 4% และ 3.5% ตามลำดับ สะท้อนการส่งออกงวด 2H61 น่าจะชะลอตัวกว่าใน 1H61 ขณะที่รัฐบาลยังต้องออกมาตรการ กระตุ้นการใช้จ่ายด้านการลงทุน และรากหญ้า เพื่อทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว
ราคาน้ำมันยังอ่อนตัว Demand ลดลงแรงกกว่าการตัด supply
สำนักงานด้านสารสนเทศการพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 9 สัปดาห์ที่ 4.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาด 2.5 ล้านบาร์เรล เพราะเป็นช่วงโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง และ Supply จากสหรัฐยังคงเพิ่ม เพื่อเพื่อทดแทนนำเข้า (ล่าสุด ผลิต 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน สูงสุดในประวัติศาสตร์) จึงเป็นที่คาดหมายว่าในการประชุม Opec 6 ธ.ค ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย น่าจะมีข้อสรุปให้ขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ไปถึงปี 2562 พร้อมจะลดกำลังการผลิตในปีหน้าลงอีกราว 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ตามการตัดลง supply อาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงจากผลกระทบของสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก คือ สหรัฐ รองลงมาคือ จีน , ญี่ปุ่น, อินเดีย, รัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ทำให้เชื่อว่าตลาดน้ำมันน่าจะกลับมา oversupply อีกครั้งในปี 2562 ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกยังแกว่งตัวลง แม้ได้ปรับลดลงต่อเนื่องราว 30% นับตั้งแต่ 3 ต.ค.61 (จุดสูงสุดของปี) จนถึงปัจจุบัน ล่าสุด ราคาน้ำมันดูไบ อยู่ที่ 62.5 เหรียญฯ (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี หรือ ytd อยู่ที่ 70.79 เหรียญฯ) ซึ่งต่ำกว่าสมมติฐานของ ASPS ปี 2562 ที่กำหนดไว้ 65 เหรียญฯ และ 70 เหรียญฯ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป แม้ราคาหุ้นน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่ upside จำกัด จึงยังแนะนำ “switch” ทั้ง PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56)
ปรับลด GDP Growth ปีนี้และปีหน้า สะท้อนส่งออกชะลอตัวกว่าคาด
ยอดส่งออกไทยเดือน ต.ค. พลิกกลับมาเพิ่มอีกครั้ง 8.7%yoy (หน่วยบาท +6.8%) เป็นที่สังเกตว่าตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวกระจุกตัวในเอเซีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ 72.8% อินโดนีเซีย 24.9%, ญี่ปุ่น 18.7%, เวียดนาม 15% และจีนพลิกกลับมาขยายตัว 3% จากที่ติดลบ 14% ในเดือน ก.ย. และสหรัฐเพิ่มขึ้นสูง 7.2% จาก 1.16% เดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามยังมีตลาดส่งออกที่หดตัวคือ ฮ่องกง, ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดีคือ อัญมณี 62.4% น้ำมันสำเร็จรูป 34.3%, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ 24%, เหล็ก 17.1% อาหารทะเลกระป๋อง 9.4% ตรงกันข้ามที่ยังหดตัวต่อคือ รถยนต์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ยางพารา
ด้านนำเข้า พบว่ายังขยายตัว 11.2%yoy ที่ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ (แต่เงิน +9.4%) เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมัน และวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก คือ เคมีภัณฑ์, เหล็ก, และคอมพิวเตอร์ รวมถึงนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าเพิ่มเป็นเดือนที่ 7 ตามการขยายการลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัว
โดยรวมยอดส่งออก 10M61 เพิ่ม 8.2% และนำเข้าเฉลี่ยที่ 14.8% อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้า จะทำให้ส่งออกชะลอตัวลงหลังจากนี้ชะลอตัวชัดเจนใน 4Q61 ถึง 2562 ASPS จึงปรับลดสมมติฐานส่งออกปี 2561 จากเดิม 8% เหลือ 7% และจาก 2.5% ปี 2562 เป็น 0.5% ทำให้ GDP Growth ลดเหลือ 4.0% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 2562 (รายละเอียดดังตาราง)
AOT กระทบมูลค่าหุ้น หากเลื่อนการก่อสร้าง Teminal 2
วานนี้ AOT ประกาศเลื่อนการเซ็นสัญญางานก่อสร้างส่วนขยายสุวรรณภูมิ เทอร์มินอล 2 กับผู้ออกแบบและนำเสนอ สศช. และ ครม. จากเดิมที่กำหนดไว้ ภายในปีนี้ ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อลดแรงกดดันสังคม กับการวิพากษ์วิจารณ์แบบก่อสร้าง เพื่อขอความเห็นหน่วยกลาง อาทิ อัยการสูงสุด, กรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ก่อน แต่ AOT โดยยังมั่นใจว่าจะ สามารถเดินหน้าตามกรอบเดิมคือ พร้อมเปิดให้ บริการเชิงพาณิชย์ปี 2564
การก่อสร้าง สุวรรณภูมิส่วนขยาย เทอร์มินอล 2 (Terminal 2) เกิดขึ้นหลังจากที่จำนวนผู้โดยสารที่เติบโตรวดเร็ว ส่งผลให้ 1. อาคารปัจจุบันที่รองรับได้ 45 ล้านคน และ 2. ส่วนต่อขยายตามแผนเดิม คือ Satellite Terminal ซึ่งปัจจุบันก่อสร้าง และคาดว่าเสร็จสิ้นปี 2564 สามารถรองรับผู้โดยสายอีก 15 ล้านคน ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้รวม 60 ล้านคน แต่ปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการที่สุวรรณภูมิสูงถึง 62.8 ล้านคน จึงนำมาสู่แนวคิดการสร้าง สุวรรณภูมิส่วนขยาย Terminal 2 ที่ออกแบบให้รองรับได้อีก 30 ล้านคน หรือหากการก่อสร้างครบทั้งหมด ปี 2564 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 90 ล้านคน
การก่อสร้างสุวรรณภูมิส่วนขยาย เทอร์มินอล 2 มิใช่เพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการได้ แต่ยังยังนำมารายได้เพิ่มเติมจากการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ ฟรีภายในอาคาร ซึ่งปัจจุบัน AOT มีแผนเปิดประมูลพื้นที่ใหม่ พร้อมกับ พื้นที่อาคารเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญา ก.ย. 63 โดยสมมติฐานปัจจุบันฝ่ายวิจัยกำหนด AOT รับรู้รายได้เชิงพาณิชย์จากทั้ง 2 อาคารใหม่ตั้งแต่ปี 2564
กรณีมองโลกในแง่ร้าย หากก่อสร้าง Terminal 2 เสร็จล่าช้า คาดจะส่งผลกระทบความหนาแน่นของสนามบิน และการรับรู้รายได้เชิงพาณิชย์ในปี 2564 ช้ากว่าฝ่ายวิจัยคาด โดยหากเลื่อนรับรู้รายได้ในส่วน Terminal 2 ทุกๆ 1 ปี จะกระทบรายได้ปีละ 2.3 พันล้านบาท (2.8% ของรายได้ในปี 2564) และกำไรปีละ 1.7 พันล้านบาท (5% ของกำไรปี 2564) และกระทบมูลค่าพื้นฐานลดลง 1 บาท ภาพรวมถือว่าความเสี่ยงการเติบโตในอนาคตสูงขึ้น ประกอบกับ ราคาปัจจุบันที่เต็มมูลค่าพื้นฐานที่ 67 บาทแล้ว ยังแนะนำ Switch
ตลาดหุ้นผันผวน Fund Flow ไหลออกมาพักในตลาดตราสารหนี้แทน
วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 304 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่กลับมาซื้อสุทธิ 98 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ขายสุทธิ 337 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), อินโดนีเซีย 40 ล้านเหรียญ (หลังจากปิดทำการในวันก่อนหน้า), ฟิลิปปินส์ที่ 1 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิในวันก่อน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 24 ล้านเหรียญ หรือ 787 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 787 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 มีมูลค่ารวม 5.52 พันล้านบาท)
ความผันผวนของตลาดหุ้น กดดันเงินทุนต่างชาติและสถาบันฯไหลออกจากตลาดหุ้นไทย แต่หันมาพักเงินในตลาดตราสารหนี้แทน โดยวานนี้ต่างชาติและสถาบันฯซื้อตราสารหนี้ไทยสูงถึง 7.28 พันล้านบาท และ 1.06 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ กดดัน Bond Yield 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.71%
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
กำหนดดัชนีเป้าหมายปี 2562 ที่ 1795 จุด มี upside 11%
ดังที่ฝ่ายวิจัยนำเสนอไปวานนี้ ถึงประมาณการกำไรสุทธิตลาดฯ ปี 2562 ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น กำไรต่อหุ้น หรือ EPS ที่ 112.2 บาท เติบโตในอัตราลดลงเหลือเพียง 3.4%yoy และต่ำกว่าภูมิภาค สาเหตุหลักมาจากการการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2562 ลง 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล รวมทั้งการปรับลดกำไรฯ ของกลุ่มปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง และ ICT
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มมีปัจจัยบวกที่ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน คือ
พัฒนาการทางการเมืองใกล้สู่การเลือกตั้ง ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่า ในช่วง 6 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง (6 ครั้งหลังสุด) SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 0.84% (ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ใน 6 ครั้ง) อีกทั้งยังมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยมียอดซื้อสุทธิเฉลี่ย 2.6 พันล้านบาท (เป็นการซื้อสุทธิ 2 ใน 6 ครั้ง)
แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลงจากที่แตะระดับสูงสุดที่ 3.25% เมื่อ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ลงมาเหลือ 3.05% ทำให้ความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอาจจะสิ้นสุดในกลางปี 2562 แทนที่จะเป็นปี 2563 ตามที่ Fed คาดไว้ จึงน่าจะทำให้เชื่อว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าตราสารหนี้เริ่มอิ่มตัว และน่าจะมีการปรับพอร์ตย้ายมายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และน่าจะหมุนออกมาในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งไทยน่าจะได้อานิสงค์บ้าง
แม้ EPS Growth ไทยไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่การที่มีค่า P/E ลงมาระดับ 14 เท่า ถือว่าความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด ทำให้การประเมินดัชนีเป้าหมายตลาดใน ปี 2562 อิง PER ที่ 16 เท่า (เพิ่มจากเดิม 15 เท่า เพราะเชื่อว่าแรงขายต่างชาติจะสิ้นสุดปีนี้) ทำให้ได้ดัชนีเป้าหมายของ SET Index ที่ 1795 จุด มี upside จากปัจจุบันราว 11% กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ควบคู่กับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์