- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 21 November 2018 15:14
- Hits: 4958
บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ยิ่งใกล้วันประชุม G-20 ความกังวลต่อการประกาศสงครามการค้ารอบใหม่ของสหรัฐต่อจีนยิ่งกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบลง 27% จากจุดสูงสุดปีนี้ที่ 83.95 เหรียญฯ ต้นเดือน ต.ค. ลงมาแตะ 61 เหรียญฯ ยิ่งกดดันดัชนีแตะ 1600 จุด กลยุทธ์ยังเน้นสะสมหุ้น Domestic (ROBINS, CPALL, BJC) มือถือ (ADVANC, DTAC) และสาธารณูปโภค (EASTW, TTW) Top picks เลือก CPALL(FV@B80) และ ADVANC(FV@B240)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index ลงใกล้ 1600 จุด
วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงและหลุดแนวรับ 1625 จุด มาปิดที่ 1612.03 จุด ลดลง 24.45 จุด (-1.49%) มูลค่าการซื้อขาย 3.64 หมื่นล้านบาท เพราะตลาดกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบสงครามทางการค้า สะท้อน GDP Growth ไทยใน 3Q61 ต่ำกว่าคาด ซึ่งกดดันหุ้นที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และหุ้นพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งในกลุ่มหลัง ยังถูกกดดันจาก ธปท ควบคุมการเก็งกำไรในบ้านมือ 2 โดยการปรับเพิ่มเงินดาวน์ รวมถึงภาษีทรัพย์สิน ที่จะเข้ามาแทนภาษีโรงเรือน และภาษีรายได้จากทรัพย์ และสุดท้ายหุ้นกลุ่มพลังงาน ถูกกดดันตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกขาลง เพราะความต้องการลดลง เร็วกว่าการตัดลดกำลังการผลิตในภาวะเศรษฐกิจขาลง ยกเว้นหุ้นยังคงชนะตลาดคือ กลุ่มโรงพยาบาล BDMS สาธารณูปโภค EASTW เป็นต้น
แนวโน้ม SET Index วันนี้ จะยังแกว่งตัวลงแนวรับลดลงมาที่ 1600 จุด โดยยังให้น้ำหนักการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐ อีกครั้งมูลค่าวงเงิน 2.67 แสนเหรียญฯ ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปในต้นเดือน ธ.ค. นี้ และการปรับลด GDP Growth ปี 2561-2562 ของไทย สะท้อนการส่งออกงวด 3Q61 ต่ำกว่าคาด และนี่ตอกย้ำว่ารัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือรากหญ้าและกระตุ้นการลงทุน เพื่อทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว จากสงครามการค้าโลก
รัฐเตรียมช็อปช่วยชาติ พร้อมอัดฉีดเงินแก่รากหญ้า ดีต่อ CPALL, BJC, ROBINS
ดังที่กล่าวไปวานนี้ถึงแนวโน้มการส่งออกของไทย มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนนับจากงวด 3Q61 ต่อเนื่องใน 4Q61 และปี 2562 จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์ ASPS อยู่ระหว่างการทบทวน GDP Growth ปี 2561-2562 ที่ประเมินไว้ 4.4% น่าจะปรับลดลงเหลือ 4% ในปี 2561 และ 3.5% ในปี 2562 โดยการปรับลดสมมติฐานการส่งออกลงจากเดิมปีนี้กำหนดไว้ 8.5% และปีหน้า 2.5% ติดตามรายละเอียดในเร็ว ๆ นี้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เชื่อว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนภาครัฐและเอกชน (Investment Led Growth) เป็นตัวนำควบคู่รัฐบาลยังคงเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือนต่อเนื่อง ล่าสุด วานนี้ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการ (จากปัจจุบันได้ 300-500 บาท/เดือน) เพิ่มการช่วยเหลือทั้งระยะสั้น–กลาง คือ สนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ, ค่าเช่าบ้าน เบี้ยคนชรา เป็นต้น วงเงินรวม 3.87 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะออกมาตรการช็อปช่วยชาติ เพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ (รายละเอียดดังตาราง) น่าจะดีต่อหุ้นที่เน้นการบริโภคในประเทศ ทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น CPALL, ROBINS, BJC และผู้ให้บริการมือถือ ADVANC, DTAC เป็นต้น
มาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนที่มีผลแล้ว และกำลังพิจารณาเพิ่ม
ที่มา : ASPS รวบรวม
ต่างชาติสลับมาขายหุ้นภูมิภาค กังวลสงครามการค้าเพิ่มขึ้น
วานนี้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นภูมิภาคปรับฐานแรง (ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการ) ขณะเดียวกันต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 546 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และเป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ที่กลับมาซื้อสุทธิ 10 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 8 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศ สลับมาขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 302 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2), ไต้หวัน 188 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว) และไทยที่ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 66 ล้านเหรียญ หรือ 2.18 พันล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิอีก 1.54 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 มีมูลค่ารวม 5.09 พันล้านบาท)
คาดตลาดหุ้นไทยมีแรงกดดันจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับฐานแรงกว่า 7% (ลดลง 30% ตั้งแต่ต้น ต.ค.) และหุ้นในดัชนีดาวโจนส์ติดลบทั้ง 30 บริษัท ในคืนที่ผ่านมา รวมถึงต่างชาติหันไปพักเงินลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างตราสารหนี้ไทย โดยวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิราว 4.8 พันล้านบาท
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
ปรับลดกำไรตลาดปี 2562 จากราคาน้ำมันต่ำกว่าคาด
ภาพรวมผลประกอบการ 3Q61 จากข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 19 พ.ย. 61 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ ทั้งสิ้น 569 บริษัท คิดเป็น 93% ของ Market Cap ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ 2.56 แสนล้านบาท ยังไม่รวมกำไรสุทธิของ AOT ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.6 พันล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิ 3Q61 น่าจะอยู่ที่ราว 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปตามคาด ใกล้เคียงกับ 2Q61 และดีกว่า 3Q60 ที่มีกำไรสุทธิ 2.15 แสนล้านบาท หรือเติบโตกว่า 20%yoy
เป็นที่สังเกตว่า กลุ่มฯ ที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิทั้ง yoy และ qoq ในไตรมาสนี้ จะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง โรงพยาบาล ธุรกิจการเงิน ยานยนต์ ขณะที่กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี เติบโตทั้ง yoy และ qoq เช่นกัน
ส่วนกลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิเติบโต yoy แต่ลดลง qoq ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฯ ที่มี Market Cap ขนาดกลาง–เล็ก คือ กลุ่มประกันฯ สื่อ-บันเทิง และท่องเที่ยว-โรงแรม กลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิลดลง yoy แต่เพิ่มขึ้น qoq คือ กลุ่มส่งออกอาหาร
และกลุ่มฯ ที่กำไรสุทธิลดลงทั้ง yoy และ qoq คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ICT อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง
โดยรวม กำไรสุทธิตลาดฯ 9 เดือน รวมอยู่ที่ 8.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 75.2% ของประมาณการฯ ทั้งปีที่ 1.07 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการ 4Q61 คาดชะลอตัวลงจาก 3Q61 ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่ม ICT กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ตรงข้ามกับกลุ่มที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นใน 4Q61 คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม รวมทั้งสนามบิน-สายการบิน จากการเข้าสู่ช่วง High Season ของฤดูกาลท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมีการปรับปรุงประมาณการฯ ปี 2561 เล็กน้อย โดยกลุ่มฯ ที่ปรับขึ้นคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (KTB และ TMB) กลุ่มพลังงาน (หลักๆ มาจาก IRPC และ PTTEP) กลุ่มชิ้นส่วนฯ (DELTA, HANA) และกลุ่มประกันฯ (BLA) ส่วนกลุ่มฯ ที่ปรับลง คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC, TASCO, VNG) กลุ่มขนส่ง (THAI และ AAV) กลุ่มอาหาร (TU, BR) แต่โดยสุทธิแล้ว กำไรสุทธิตลาดฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 4.3 พันล้านบาท และ EPS ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 108.5 บาท จากเดิม 108 บาท
ส่วนปี 2562 คาดกำไรตลาดจะเติบโตในอัตราลดลง เพราะมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2562 ลง 5 เหรียญฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรกลุ่มพลังงานลดลง 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการปรับลดกำไรฯ ของกลุ่มปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง และ ICT โดยรวมกำไรตลาดฯ ลดลงจากประมาณการเดิมราว 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิตลาดฯ ปี 2562 อยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท และ EPS เหลือ 112.2 บาท/หุ้น จากเดิม 115 บาท/หุ้น และอัตราการเติบโตเหลือเพียง 3%yoy หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มฯพบว่าที่ เติบโตได้ดีกว่าตลาดฯ เพราะฐานเดิมต่ำคือ สื่อ-บันเทิง เติบโต 46% ตามมาด้วย กลุ่มรับเหมาฯ 26%, ICT 15% และค้าปลีก 10% ส่วน กลุ่ม ธ.พ. และปิโตรเคมี เติบโตใกล้เคียงตลาดคือ 5% และ 4% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มพลังงาน หดตัว 6%
หากอิงกำไรใหม่ปี 2562 และ PER ที่ 15 เท่า จะได้ดัชนีเป้าหมายปี 2562 ที่ 1683 จุด แต่หากอิง PER 16 เท่า จะได้ดัชนีเป้าหมาย1795 จุด ซึ่งมี upside 12% กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ควบคู่กับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ
ภรณี ทองเย็น
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร
ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์