WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
 
กลยุทธ์การลงทุน
  ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ ตอกย้ำเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นสหรัฐ ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มชะลอตัว  ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐยังมีอยู่ ยังหนุน Fund Flow ไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยกว่าทั้งหุ้นกู้และทองคำ  กลยุทธ์ในภาวะตลาดหุ้นขาลง แนะนำหุ้นขายหุ้นอิงเศรษฐกิจภายนอก เข้าหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีค่า Beta P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง ในกลุ่มโรงไฟฟ้า (GLOW, EGCO, RATCH, TPIPP) น้ำดิบและน้ำประปา (EASTW, TTW) และการบริโภคในประเทศ (ADVANC, SAT, CPALL, BJC) Top Picks GLOW ([email protected])  และ  EASTW(FV@B13) ล้วนได้ประโยชน์จากความคืบหน้า EEC   
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. SET Index ร่วงหนัก 35 จุด 
  วานนี้ SET Index เปิดตลาดร่วงลง 17 จุด แกว่งตัวลงทำ Low ใหม่ที่ 1618 จุด ก่อนจะขึ้นมาปิดที่ 1623.37 จุด ลดลง 35.19 จุด หรือ 2.12% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท ปัจจัยลบรุมล้อมกดดัน ทั้งต่างประเทศ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งกว่า 4% ส่วนในประเทศ ตัวเลขส่งออกไทยเดือน ก.ย. -5.2% กดดันตลาดหุ้นไทยร่วงต่อเนื่อง โดยกลุ่มหลักๆ ทั้งพลังงาน-น้ำมัน PTT PTTEP ราคาหุ้นร่วงแรงกว่า 3% และ 8% กลุ่ม ธ.พ. ปรับตัวลงทั้งกลุ่ม เว้น KKP (+0.36%) รับงบ 4Q61 เติบโตโดดเด่นจากบันทึกค่าธรรมเนียมดีล IPO รายใหญ่ทั้ง 3 ราย (OSP, TFIFF, PR9) กลุ่มค้าปลีก-อาหาร CPALL (-3.08%) OSP ลดลง อีก 3% ปิดที่ 23 บาท ต่ำกว่าราคา IPO 25 บาท ส่วนรายหุ้น SCC (-0.97%) หลังรายงานงบ 3Q61 กำไรลดลง 20% yoy   
  แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ มีโอกาสอ่อนตัวทดสอบแนวรับ 16005 จุด ปัจจัยกดดันยังมาจากfund flow ไหลออก ตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน  น่าจะกดดันราคาน้ำมันดิบโลกลงมาแตะ 70 เหรียญฯ ในเร็ว ๆนี้   
 
ตลาดหุ้นโลกสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะชะลอตัว  
  ความกังวลของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ตามที่ Fed ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นในปีนี้อีก 1 ครั้ง 0.25% เป็น 2.5% และในปี 2562-2563 มีแผนจะขึ้นอีก 3 และ 2 ครั้ง ตามลำดับ ส่งผลให้ดอกเบี้ยฯสหรัฐปลายปี 2562-2563 อยู่ที่ราว 3.25% และ 3.75%  เพื่อกำจัดเงินเฟ้อนั้น  แท้จริงน่าจะเป็นเพราะ ความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะชะลอต้ว หลังจากได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สะท้อนจาก อัตราการว่างงาน ล่าสุด เดือน ก.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 49 ปี อยู่ที่ 3.7%  พร้อมกับเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นใกล้ 3% (ราวเดือน มิ.ย.-ก.ค.)  หนุนให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 
 
  ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐที่มีสัญญาณชะลอตัว คือ ตลาดบ้าน พบว่า ทั้งยอดขายบ้านมือสอง (Exiting home sale)   และบ้านใหม่ (New home sale) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และ 4  ตามลำดับและ ปัจจัยกดดันอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ   และหากพิจารณาการผลิต คือ PMI พบว่าลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. จนถึงเดือน ส.ค. แม้เดือน ก.ย.จะขยับขึ้นช่วงสั้น 
  และเมื่อมาพบว่าการประกาศสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีกับจีน นับจาก ก.ค.  ครั้งแรก   เดือน ส.ค. และ ก.ย.เป็นครั้ง 3 รวม 2.5 แสนล้านบาท ไม่รวมการกดดันคู่ค้าอื่น ๆ ทั้ง NAFTA และ การขึ้นภาษี Safe Guard  ซึ่งล้วนกดดันให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐให้ชะลอตัวมากกว่าควรจะเป็น หรืออาจจะนำไปสู่ Hard Landing  จากที่ควรจะเป็น Soft Landing  เพราะการใช้นโยบายการเงินตึงตัว ค่อย ๆ แตะเบรกเศรษฐกิจมิให้ร้อนแรงเกินไป  เป็นเพราะความใจร้อนของผู้นำสหรัฐ ที่ต้องการลดความยิ่งใหญ่ของจีน   
  ภาพเหล่านี้ทาง ASPS ได้กล่าวถึงและเขียนใน Market Talk มาตลอด และวันนี้ดูเหมือนตลาดจะรับรู้ในประเด็นเหล่านี้ จึงได้นำมากล่าวย้ำกันอีกครั้ง โดยสรุป ASPS ยังคงดัชนีเป้าหมายปี 2561-2562  โดยอิง P/E 15  เท่า หากใช้ EPS ปี 2561 และ 2562 ที่  108 บาท และ 115.5 บาท ได้จะดัชนีเป้าหมายสิ้นปี  2561 1620 จุด   และ  สิ้นปี 2562 1733 จุด  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี จึงหันไปใช้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2562 แทน ทำให้เชื่อว่า downside ตลาดหุ้นจำกัด (ติดตามอ่านรายละเอียดใน Invest+ 4 Quarter 2018 ออกเมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตามขึ้นกับความเสี่ยงที่สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบใหม่ 2.6 แสนล้านเหรียญฯ หรือไม่ ติดตามผลสรุปในการประชุม G-20  30 พ.ย. – 1 ธ.ค.
 
ระยะยาวราคาน้ำมันน่าจะยังลงต่อ..สต๊อกน้ำมันดิบเพิ่ม และ Demand โลกชะลอตัว
  สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบล่าสุด เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 สัปดาห์ (โดยเพิ่มขึ้น 6.34 ล้านบาร์เรล (เทียบกับคาดจะเพิ่ม 3.69 ล้านบาร์เรล) ผลจากฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และปัญหาด้าน supply ที่มีแนวโน้มผ่อนคลาด เพราะคาดว่าสัญญาในการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบระหว่าง OPEC และ Non OPEC ที่จะสิ้นสุด ธ.ค. 2561  หลังจากที่ควบคุมการผลิตนานถึง  3 ปี โดยล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย(ผู้ผลิตน้ำมันราว 32.1% ของกำลังการผลิตทั้งใน OPEC) พร้อมผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อชดเชย Supply ที่หายไปจากอิหร่านราว 5-6 แสนบาร์เรลต่อวัน  หลังสหรัฐคว่ำบาตรทางการค้าอิหร่านตั้งแต่ มิ.ย. (มีผลบังคับใช้ 4 พ.ย.)  
  ขณะที่ด้านความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก  คือ สหรัฐเป็นผู้ใช้น้ำมันสูงสุด ราว 25.5% ของการบริโภคน้ำมันทั่วโลก  และจีนเป็นผู้ใช้น้ำมันอันดับ 2 ราว 12.8%    
  คาดราคาน้ำมันดิบดูไบยังอยู่ในทิศทางขาลง  แม้ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 70.95 เหรียญฯ เทียบกับ ASPS สมมติฐานราคาน้ำมันดิบปี 2561 ที่ 65 เหรียญฯ  แต่ยังสอดคล้องกับ ปี 2562 ที่กำหนดไว้ที่  70  เหรียญฯ และ 75 เหรียญฯ ในปี 2563 เป็นต้นไป  จึงยังคงแนะนำ switch  PTTEP(FV’62@B 161), PTT(FV@B54)  
 
หากยกเลิก LTF จะมีเม็ดออกจากตลาดหุ้นสูงสุด 2.2 แสนล้านบาทปีหน้า
  1 ในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจกดดันตลาดในปี 2562 คือ การยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่กำลังจะหมดอายุปี 2562   ทั้งนี้เพราะ
  เม็ดเงินจากกองทุน LTF ถือเป็นแรงซื้อหลักของนักลงทุนสถาบันฯที่นำไปลงทุนในตลาดหุ้นไทย และจากการศึกษากองทุน LTF ทั้งหมดในประเทศ 87 กองทุน พบว่า มีมูลค่ารวม 3.78 แสนล้านบาท (ข้อมูลสิ้นสุด ณ เดือน ก.ค. 2561) และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25.4% ของมูลค่ากองทุนรวมหุ้นทั้งหมดในประเทศ (กองทุนรวมหุ้นทั้งประเทศมีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 1.49 ล้านล้านบาท) ดังนั้นหากมีการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF น่าจะกดดันแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันฯลดลงไปถึง 1 ใน 4 ของเงินลงทุนเดิม
  และหากพิจารณาในรายละเอียดนับเฉพาะกองทุน LTF ที่ครบกำหนดขายได้ในปี 2562 โดยการ มูลค่าทรัพย์สินการถือครอง LTF ที่ 3.78 แสนล้านบาท (ข้อมูลสิ้นสุด ณ เดือน ก.ค. 2561)  มาหักออกจากเงินลงทุนในกองทุน LTF ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2559 ถึง 7M61 (จะไถ่ถอนได้เมื่อครบ 7 ปีปฏิทินคือปี 2565) ซึ่งเมื่อปรับมูลค่าตามราคาตลาดฯจะอยู่ที่ 1.57 แสนล้านบาท (กองทุน LTF ที่ซื้อในช่วงปี 2559 ถึง 7M2561 ซึ่งจะครบกำหนดและสามารถไถ่ถอนคืนได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนระยะเวลาการถือครองกองทุน LTF จาก 5 ปีปฎิทิน เป็น 7 ปีปฎิทิน) จะเหลือเม็ดเงินที่พร้อมไถ่ถอนคืนได้ในปี 2562 สูงถึง 2.2 แสนล้านบาท และในจำนวนนี้จะสามารถแบ่งเม็ดเงินดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน คือ
  เงินลงทุนในกองทุน LTF ปี 2558 ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท และน่าจะพร้อมขายได้ในปี 2562 เนื่องจากมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่า SET Index ณ ปัจจุบันอยู่มาก โดยมีต้นทุนเฉลี่ยราว 1,367 จุด
  เงินลงทุนในกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2557 ที่ครบกำหนด แต่ยังไม่ถูกไถ่ถอนอีกกว่า 1.42 แสนล้านบาท
 
  กรณีเลวร้ายที่สุด หากไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาชดเชยกองทุนประหยัดภาษี LTF คาดว่าจะมีเม็ดเงิน LTF พร้อมรอขายในปี 2562 สูงถึง 2.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องรอติดตามว่า หากมีการจัดตั้งกองทุนประเภทใหม่ออกมาทดแทน หรือกำหนดเงื่อนไขการต่ออายุ LTF แบบใหม่จะช่วยชดเชยเม็ดเงินที่ไหลออกจากกองทุน LTF ได้มากน้อยเพียงใด
 
หลากหลายปัจจัยกดดัน Fund Flow ไหลออกในเดือน ต.ค.
  ปัจจัยภายนอกทั้งความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐผ่านพ้นจุดสูงสุด, ราคาน้ำมันปรับตัวลง, และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปันป่วนและผันผวนตามๆกัน ขณะที่ Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 17 อีก 739 ล้านเหรียญ (ส่งผลให้เดือน ต.ค. ต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในปีนี้ถึง 1.06 หมื่นล้านบาท) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศเช่นเดิม เริ่มจากตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 336 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8) ตามมาด้วยไต้หวัน 224 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 17), อินโดนีเซีย 45 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 39 วัน) สำหรับตลาดหุ้นไทย หลังจากเปิดทำการหลังจากหยุดไปวันพุธ ต่างชาติยังคงขายสุทธิออกมาอีกต่อเนื่องกว่า 121 ล้านเหรียญ หรือ 3.9 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 15 วัน) ทำให้ยอดขายสุทธิสะสมของต่างชาติในปี 61 ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 2.63 แสนล้านบาท (ytd) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่วานนี้สลับมาขายสุทธิ 916 ล้านบาท 
  ความผันผวนของตลาดหุ้นโลกส่งผลให้ต่างชาติโยกเงินไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ถูกซื้อสุทธิมากขึ้นสังเกตได้จาก Bond Yield 10 ปี สหรัฐ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 3.10% แต่ผลตอบแทนยังจูงใจ และกดดัน Fund Flow มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคอีก
 
กลยุทธ์การลงทุนภายใต้ดัชนีขาลง : Domestic Play ที่มี PER ต่ำ Beta ต่ำ ปันผลสูง
  ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ส่งผลให้ SET Index ในปีนี้ปรับฐานไปแล้วกว่า 7.4%ytd ขณะที่กระแส Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วสูงกว่า 2.6 แสนล้านบาท และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่มีการไหลออกของกระแสเงินเช่นกัน
  ท่ามกลางการปรับฐานของตลาดฯ กลยุทธ์การลงทุนจึงควรเลือกหุ้น Domestic Play อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ควบคู่กับหุ้นปันผลสูง
  และอาจหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่อิงกับ Global Play หรืออิงกับการส่งออก ยกเว้น หุ้นส่งออกอาหาร ยังสามารถลงทุนได้ คือ CPF ([email protected]) และ GFPT (FV@B16
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO15402

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!