WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซีย พลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
 
กลยุทธ์การลงทุน
  ภาพรวมตลาดหุ้นวันนี้น่าจะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยในต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่โตน้อยกว่าคาด Bond Yield สหรัฐฯที่สูงขึ้น ส่วนในประเทศประเด็นหลักยังเป็นเครื่องการประกาศผลประกอบการ 3Q61 โดยจะเป็นคิวของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCC และ PTTEP ส่วนสถานการณ์ของ Fund Flow ยังไหลออกต่อเนื่อง คาด SET Index มีโอกาสปรับฐานต่อ กลยุทธ์เน้นลงทุนรายหุ้น Top Picks GLOW ([email protected]) และ SAT (FV@B29)
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว SET Index ลงไปเกือบ 30 จุด
  ศุกร์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งในแดนลบตลอดวัน ปิดที่ 1667.91 จุด ลดลง 15 จุด หรือ 0.89% มูลค่าการซื้อขาย 6.23 หมื่นล้านบาท ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับลดลง 28.25 จุด ภาพรวมของตลาดฯ ยังเผชิญแรงกดดันจาก Fund Flow ที่ไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาดฯ ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ (PTT AOT CPALL) ยังถูกขายต่อ และยังมีแรงขายรับงบ 3Q61 ของหุ้นกลุ่ม ธ.พ. หลังรายงานเสร็จสิ้นเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา ตามด้วยแรงขายทำกำไรกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ทั้ง MTC และ SAWAD ปรับตัวลดลง 3% และ 5% ตามลำดับ 
  แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดดัชนีมีโอกาสแกว่งตัวลงต่อ แนวรับ 1650/1665 จุด แนวต้าน 1685 จุด คาดมูลค่าการซื้อขายวันนี้น่าจะเบาบางเนื่องจากพรุ่งนี้เป็นวันหยุด นักลงทุนจึงน่าจะทยอยขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมยังคงเป็นไปในเชิงลบโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ทั้งประเด็นเดิม เช่น สงครามการค้าสหรัฐ-จีน, Fed ขึ้นดอกเบี้ย, ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่โตน้อยกว่าคาด รวมทั้งประเด็นใหม่อย่างสหรัฐเตรียมถอนตัวข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับรัสเซีย โดยรวมจึงน่าจะยังกดดันสินทรัพย์เสี่ยงตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมทั้งไทยต่อไป 
 
หลายปัจจัยจากต่างประเทศ ยังกดดันตลาดหุ้นโลก 
  วันศุกร์ที่ผ่านมา จีนรายงาน GDP Growth งวด 3Q61 ขยายตัว 6.5%yoy ต่ำกว่า 2Q61 ที่ 6.7% และ 1Q61 ที่ 6.8% และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี GDP จีนขยายตัว 6.67%yoy ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวดังที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้า เช่น ดัชนี PMI ภาคผลิต และ PMI ยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออก (New export orders PMI) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งสาเหตุบางส่วนมาจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน  
  ขณะที่สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางสำคัญของโลก โดยธนาคารกลางแคนาดา (BOC) จะประชุมวันที่ 24 ต.ค. ซึ่งตลาดคาด BOC จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ในรอบนี้ ภายหลังจากที่ขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ จากเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ขยายตัว 2.2%yoy สูงกว่าเป้าที่ 2.0% และในวันที่ 25 ต.ค. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีกำหนดประชุม ตลาดคาดจะยังคงยืนยันถึงการยุติมาตรการ QE ในช่วงปลายปีนี้ และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 0%ต่อไปถึงกลางปีหน้า สะท้อนถึงการใช้มาตรการทางการเงินแบบเข้มงวดแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนทางด้านเอเชีย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประชุมวันที่ 23 ต.ค. ตลาดคาดน่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.75% หลังจากที่อินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว  5 ครั้งในปีนี้ เพราะค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่า 12%ytd นับเป็นประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยมากสุดในเอเชีย ทางฝั่งสหรัฐ วันที่ 26 ต.ค. สหรัฐจะรายงาน GDP Growth 3Q61 คาดเติบโต 3.3%qoq (Annualized) ลดลงจาก 2Q61 ที่โต 4.2% (Annualized) หรือ 3.0%yoy ใน 3Q61 จาก 2.9%yoy ใน 2Q61 
  ทั้งจากกระแสการขึ้นดอกเบี้ยโลก และเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังขยายตัว อาจเป็นแรงกดดันให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับมาอีกครั้ง หนุน Bond Yield สหรัฐปรับขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.184% และกดดันตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น และล่าสุด สหรัฐประกาศจะถอนตัวออกจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ (INF) ที่สหรัฐทำไว้กับรัสเซียตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยสหรัฐกล่าวว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงจีนไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อตกลงนี้ด้วย จากความเสี่ยงข้างต้นคาดว่า จะยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ Fund Flow ยังไหลออกจากหุ้น และมีแนวโน้มไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย
 
ต่างชาติขายหุ้นภูมิภาคในเดือน ต.ค. สูงสุด เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ในปีนี้
  วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีก 513 ล้านเหรียญ (ขายต่อเนื่อง 14 วัน) หนุนให้เดือน ต.ค. เป็นเดือนที่มียอดขายสุทธิสูงสุดในปีนี้กว่า 8.67 พันล้านเหรียญ (mtd) โดยวานนี้ต่างชาติยังขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 182 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยไต้หวัน 120 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 14), ฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 37 วัน), อินโดนีเซีย 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิสูงสุดในภูมิภาค 190 ล้านเหรียญ หรือ 6.18 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 13 วัน มีมูลค่ารวมสูงถึง 5.01 หมื่นล้านบาท) หนุนยอดขายสุทธิสะสมของต่างชาติในปี 61 ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 2.58 แสนล้านบาท (ytd) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 1.49 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) 
  ปัจจุบันการเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับขึ้นตาม และล่าสุด Bond Yield 2 ปี สหรัฐขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 2.912% ขณะที่ Bond Yield 10 ปี สหรัฐ เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ 3.25% (ณ 9 ต.ค. 61) ด้วยผลตอบแทนที่จูงใจกดดัน Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาค และโยกเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น
ข้อมูลแสดงเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรายเดือนของแต่ละประเทศในภูมิภาค
 
หุ้นอสังหาฯ เชื่อราคาดูดซับเรื่องเกณฑ์ LTV ไปมากแล้ว ... โดดเด่นด้วย  Dividend Yield สูง
  นับจากวันที่ 4 ต.ค.61 ซึ่ง ธปท. เสนอมาตรการปรับลด LTV มาสู่ 80% สำหรับบ้านหลังที่ 2 และบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ปรับลดลงกว่า 4.14% ซึ่งถือว่าได้ดูดซับปัจจัยลบดังกล่าวไปมากแล้ว แต่ในอีกทางหนึ่งหากพิจารณาจากผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาดเป็น เนื่องจากวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่มีการทำ Public Hearing ที่เริ่มต้นตั้งแต่ 11 ต.ค. จึงมีโอกาสเห็นการผ่อนคลายมาตรการหลังจากนี้ ขณะที่กลุ่มที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 รวมกับบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท ประเมินว่าอาจมีสัดส่วนราว 25% และส่วนใหญ่อยู่ในคอนโดฯ นอกจากนี้ ในงวด 4Q61 คาดว่าจะเห็นการเร่งโอนฯ และระบายสต๊อก หนุนกำไรโดดเด่น ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวทำให้หุ้นอสังหาฯ หลายบริษัทให้ Dividend Yield สูงกว่า 6% ต่อปี และอาจถือเป็นโอกาสในการทยอยซื้อลงทุน อย่างเช่น LH ([email protected]), LPN (FV@B 13.5), PSH (FV@B 26.80), QH FV@B 4.30)
 
มาตรการต่ออายุลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF ยังไม่ชัดเจน มีผลต่อการขับเคลื่อน SET Index
  ประเด็นการไม่ต่ออายุลดหย่อนภาษีสำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ถือว่ายังกดดันต่อ SET Index แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีความพยายามหามาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบในซึ่งอาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกองทุนประเภทใหม่มาทดแทน LTF การดูแลกองทุน LTF เดิมที่จะกลายเป็นกองทุนเปิด Equity Fund หลังปี 2562 อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเห็นการยืดเวลาการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF ต่อไป ก็ยังไม่ชัดเจน
  ทั้งนี้ หากไม่มีการต่ออายุมาตการลดหย่อนภาษีหลังปี 2562 จริง คาดว่าจะเห็นแรงขายคืนจากผู้ที่ซื้อ LTF ครบ 5 ปีปฏิทิน คือ ตั้งแต่ปี 2558 (ปีสุดท้ายที่ใช้เกณฑ์ 5 ปีปฏิทินก่อนเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ 7 ปีปฏิทิน ตั้งแต่ปี 2559) ซึ่งประเมินได้ว่ามีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท (ปรับเป็นมูลค่าตลาดฯ) ส่งผลต่อ SET Index ให้ปรับขึ้นได้ยากลำบากยิ่งขึ้น 
 
งบฯ 3Q61 กลุ่ม ธ.พ. ดีกว่าคาด ส่วนสัปดาห์นี้ SCC และ PTTEP รายงานงบฯ
  ผลการดำเนินงาน 3Q61 กลุ่ม ธ.พ. 10 แห่งที่ศึกษา มีกำไรสุทธิเติบโตสูงกว่าคาด เท่ากับ 5.49 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.0% qoq และ 15.9% yoy เนื่องจากกำไรสุทธิของ TMB ที่สูงเกินคาดมาก จากการขายและปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน บลจ.ทหารไทยฯ ขณะที่ ธ.พ.อื่นๆ สามารถทำกำไรสุทธิได้ตามคาด โดยปัจจัยหนุนหลัก ยังมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาพรวมธุรกิจและคุณภาพสินทรัพย์เติบโตได้ตามคาดโดยเฉพาะสินเชื่อ ผลจากแรงส่งเศรษฐกิจที่ยังดี
  โดยรวม แล้วกำไรสุทธิ 9M61 คิดเป็นสัดส่วน 81% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2561 ที่ประเมินไว้เดิม ทั้งนี้ ภายหลังประกาศงบ 3Q61 ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 ของ LHFG, TISCO และ TMB (ปรับลดปี2562) ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 0.8% มาอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท แต่ปี 2562 ลดลง 0.3% จากเดิม อยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ เท่าตลาด เน้นเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานเด่น พร้อมคาดหวังปันผลเฉลี่ย 4-5% p.a. คือ BBL(FV@B233)  และ KBANK (FV@B252)
 
  สำหรับสัปดาห์นี้ จะมีการประกาศงบของกลุ่ม Real sector คือ SCC (Buy:FV’62@B515) คาดกำไรหดตัว 7%yoy เหลือ 1.09 หมื่นล้านบาท จาก Spread ธุรกิจปิโตรเคมีลดลงและต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ส่วนธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่ถูกกดดันจากต้นทุนถ่านหิน มีเพียงธุรกิจ Packaging กำไรเติบโตดี ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมีการปรับลดประมาณการฯ ปี 61-62 เหลือ 4.78 หมื่นล้านบาท และส่งผลกำไรลดลง 13% จากปี 2560 สะท้อนผลจากสงครามการค้า,ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และธุรกิจปิโตรเคมีที่เข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น     อย่างไรก็ตาม แม้ปรับ Fair Value ลงเหลือ 515 บาท แต่พื้นฐานธุรกิจที่มั่นคง ยังแนะนำ ซื้อ
  PTTEP (FV’62@B161) คาดกำไรสุทธิ 1.15 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นสูงถึง 220.4%qoq หลักๆ มาจากการบันทึกกลับเป็นผลประโยชน์ทางภาษีจากบาทแข็งค่าขึ้น แม้จะมีปัจจัยกดดันจากบันทึกขาดทุนการขายมอนทาราราว 2.4 พันล้านบาท ส่วนกำไรปกติ เติบโต 8.7%qoq ที่1.16 หมื่นล้านบาท ผลจากราคาและปริมาณขายเพิ่ม ทั้งนี้ ฝ่านวิจัยได้มีการปรับเพิ่มประมาณการฯปี 2561 มาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาทสะท้อนการเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบปี 2561 เป็น70 จากเดิม 65 เหรียญ/บาร์เรล แต่ยังคงสมมติฐานปี 2562-63 ที่ 70และ75 เหรียญ/บาร์เรล แม้ปรับไปใช้ Fair Value ปี 62 ที่ 161 บาท แต่ upsideจำกัด ยังไม่เหมาะซื้อลงทุนยามนี้
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO15281

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!