- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Wednesday, 10 October 2018 21:12
- Hits: 4884
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
สงครามการค้ากดดัน IMF ตัดลด Trade Volume และ GDP Growth โลก และปัญหาค่าเงินโลกที่ผันผวน กดดัน Fund Flow ไหลออก รวมถึงมีแรงขายรับงบหุ้นรายตัวในกลุ่ม ธ.พ. ที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ กดดันดัชนี กลยุทธ์ยังเน้นหุ้นเกาะกระแสการลงทุนในประเทศ ความคืบหน้าการลงทุนใน EEC (BGRIM, EASTW) ก่อสร้าง (CK, STEC) และหุ้นที่มีผลประกอบการเด่นใน 3Q61 (TPIPP, RJH) Top Picks CPALL(FV@B80) รับกระแสเทศกาลกินเจ และ BGRIM(FV@32) เป็นหุ้นเติบโตและยังรับผลบวกจากความคืบหน้า EEC
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. ดัชนีฯ ยังไม่ผ่าน 1700 จุด
วานนี้ดัชนีหุ้นไทยยังผันผวน โดยเปิดตลาดภาคเช้าสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ 12 จุด แต่กลับถูกแรงขายช่วงบ่ายกดดัน และปิดตลาดฯ ที่ 1,696.92 จุด เพิ่มขึ้น 0.7 จุด หรือ 0.04% มูลค่าซื้อขาย 5.25 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มีแรงซื้อหุ้นพลังงานใหญ่คือ PTTEP + 2.07% PTT + 0.97% ตามด้วยพลังงานทดแทน GULF +4.23% และ EA +1.67% ตามด้วยหุ้นใหญ่ กลุ่ม ธ.พ. BBL และ KBANK และหุ้นเล็ก คือ SKN ปรับตัวขึ้นโดดเด่นเกือบ 15% หลังฝ่ายวิจัยออกบทวิเคราะห์วานนี้ โดยคาดผลกำไร 2H61 จะกลับมาเติบโตสูง ด้วยกำลังการผลิตใหม่ของโรงงาน MDF Line 2 เข้าหนุนเต็มปี ตรงข้าม หุ้นการเงินรายย่อยกลับมีถูกขายทำกำไร KTC (-4.3%) AEONTS (-1.5%) และ MTC (-3.9%)
คาดว่าดัชนีหุ้นไทยยังแกว่งต่ำกว่า 1700 จุดอีกระยะ โดยมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด สะท้อนจากล่าสุด IMF ปรับลด GDP Growth โลกลง ผลจากสงครามการค้า และค่าเงิน เอเชียยังอ่อนค่า ยังกดดันเงินทุนไหลออก ส่วนในประเทศ คาดจะเห็นแรงขายงบ 3Q61 ของกลุ่มธนาคารที่จะทยอยประกาศปลายสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้า
IMF ตัดลด GDP Growth โลก กังวลสงครามการค้า
รายงานล่าสุด IMF ได้ปรับ GDP Growth โลกในปี 2561-62 ลงเหลือ 3.7%yoy เท่ากัน จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% ในทั้ง 2 ปี โดยประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ปรับลดลง
นำโดยสหรัฐ ปรับลดปี 2562 เหลือ 2.5% จากเดิม 2.7% ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังคงปี 2561 ที่ 2.9% เพราะยังได้รับผลบวกจากการลดภาษีนิติบุคคล
ตามมาด้วย ยุโรป ปรับลดปี 2561 เหลือ 2.0% จากเดิม 2.2% แต่ยังคงปี 2562 ที่ 1.9% หลักๆมาจากการปรับเยอรมนี ปี 2561 เหลือ 1.9% จากเดิม 2.2% และ ปี 2562 เหลือ 1.9% จากเดิม 2.1% ตามด้วย ฝรั่งเศส ปี 2561 เหลือ 1.6% จากเดิม 1.8% และปี 2562 เหลือ 1.6% จากเดิม 1.7% และกลุ่ม PIIGS พบว่าสเปนปี 2561 ตัดเหลือ 2.7% จากเดิม 2.8% แต่ปี 2562 คงที่ 2.2%, โปรตุเกส ปี 2561 ตัดเหลือ 2.3% จากเดิม 2.4% แต่คงปี 2562 ที่ 1.8% ทั้งนี้ยกเว้น กรีซที่ยังคงปี 2561 ที่ 2.0% แต่ปรับเพิ่มปี 2562 เป็น 2.4% จาก 1.8% และอิตาลียังคงปี 2561-62 ที่ 1.2% และ 1.0%
ส่วนอังกฤษยังคงปี 2561-62 ที่ 1.4%, 1.5% ตามลำดับ และตรงข้ามญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มคือ 2561 เพิ่มเป็น 1.1% จากเดิม 1.0% และยังคงปี 2562 ที่ 0.9%
ฝั่งประเทศเกิดใหม่ คือ จีน ปรับลดปี 2562 เหลือ 6.2% จากเดิม 6.4% แต่ยังคงปี 2561 ที่ 6.6%, ตามมาด้วยอินเดีย ปี 2562 ตัดเหลือ 7.4% จากเดิม 7.5% แต่ยังคงปี 2561 ที่ 7.3% และอาเซียน ปี 2562 ตัดเหลือ 5.2% จากเดิม 5.3% แต่คงปี 2561 ที่ 5.3% ขณะที่ไทยปรับเพิ่มปี 2561 เป็น 4.6%จาก 3.9% และเพิ่มปี 2562 เป็น 3.9% จาก 3.8% เนื่องจากทำไว้ต่ำในช่วงก่อนหน้า
การปรับลดเป็นเพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรวม 3 ครั้งมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ปรับลดปริมาณการค้าโลก เหลือ 4.2% ในปี 2561 จากเดิม 4.8% ส่วนในปี 2562 เหลือ 4% จากเดิม 4.5% และเชื่อว่าหากสหรัฐมีการขึ้นต่อรอบที่ 4 อีก 2.67 แสนล้านเหรียญฯ เท่ากับที่สินค้านำเข้าสหรัฐฯ จากจีนจะถูกเก็บภาษีชนิด ซึ่งน่าจะกดดันให้มีโอกาสปรับลด GDP Growth อีกรอบ
SKN หุ้น Turnaround นับจาก 4Q61
หุ้น SKN เข้าซื้อขายตลาดครั้งแรกเมื่อ 26 เดือน ก.ย. 2560 ด้วยราคาเปิดที่ 9.5 บาท สูงกว่าราคา IPO 7.30 บาท และราคาได้ทำสถิติสูงสุดในวันแรก 10.40 บาท แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นลดลงยาวและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และทำจุดต่ำสุดไว้ที่ 4.49 บาทเมื่อ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เพราะผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดจากปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะเศษไม้ที่สูงขึ้น และผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปีที่ผ่านมา (90% ของรายได้มาจากการส่งออก) เชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ และเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในปีนี้ และโรงงานผลิตแผ่นไม้ MDF Line 2 (กำลังการผลิต 2.6 แสน ลบ.ม./ปี) เดินหน้าได้ตามแผน โดยเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เดือน ก.ย. 2561 และ SKN กลายเป็นผู้ผลิตไม้ MDF รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ (กำลังการผลิตรวม 5 แสน ลบ.ม./ปี) ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องกลับมา Coverage อีกครั้ง
หุ้นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ SKN คือ ผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ 3Q61 และ ปี 2562 จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะได้รับ Order ล่วงหน้าสำหรับโรงงานใหม่แล้ว 4.55 หมื่นลบ.ม. จะส่งมอบ 4Q61 หนุนปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนลบ.ม. และต้นทุนวัตถุดิบเศษไม้ยางพาราที่สูงนั้นได้เริ่มคลี่คลาย เพราะโรงเลื่อยไม้กลับมาผลิตและส่งออกไม้แปรรูปเพิ่มขึ้น ทำให้ Supply เศษไม้ยางพาราในตลาดเพิ่มขึ้น
ปี 2562 คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 65% หนุนด้วยกำลังการผลิตใหม่เข้าเต็มปี ทำให้ กำไรปี 2562 เติบโตเกือบเท่าตัวหรือราว 97.1% จากปีก่อนหน้า และปี 2563 ต้นทุนจะลดลง จากโรงผลิตกาวแห่งใหม่ที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุน หนุนกำไรเติบโตต่อ 9% YoY
ประเมินมูลค่าหุ้น อิงค่า P/E ปี 2562 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ประกอบการประเภทเดียวกันในต่างประเทศ ที่ซื้อขายกันที่เฉลี่ย 19.2 เท่า (ฮ่องกง, มาเลเซีย อินเดีย และ VGN ของไทยที่ P/E ปี 2562 15.6 เท่า) จะอยู่ที่ 6.8 บาทต่อหุ้นขณะที่ราคาตลาด SKN มีค่า P/E เพียง 9.63 เท่า พบว่ายังมี Upside แต่หลังจากที่นักวิเคราะห์ ASPS ได้ออกรายงาน Company Update วานนี้ หุ้น SKN ได้ขึ้น 15% จึงแนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
มีแรงขายรับงบ.. TISCO แจ้งงบ 11 ต.ค. นี้ vs BAY ขายหุ้น NTL 50%
สัปดาห์นี้ เข้าสู่การประกาศผลการดำเนินงาน 3Q61 ในวันที่ 11 ต.ค. กลุ่ม ธ.พ. นำโดย TISCO จะรายงานงบ 3Q61 เป็นแห่งแรก ที่เหลือจะประกาศสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ ASPS ประเมินว่า ธ.พ. 10 แห่ง ที่ศึกษามีกำไร 5.18 หมื่นล้านบาท ลดลง 3% QoQ (แต่เพิ่มขึ้น 9.2% yoy) จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและรายได้อื่นๆ ลดลง และหักล้างรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตจากลูกค้าทุกกลุ่ม แต่ประเด็นความเสี่ยงคือ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มจะตกชั้นเป็นหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งเป็นผลให้ ธปท. ออกหลักเกณฑ์ใหม่ควบคุม มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 62 คาดแม้ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัว แต่น่าจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น ยังคงชอบ BBL, TCAP
ขณะที่ BAY แจ้งข่าวต่อ SET เรื่องการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นใน บ.ย่อย โดยการขายเงินลงทุนใน บ.เงินติดล้อฯ (NTL) ที่ถือหุ้น 100% เหลือ 50% ให้กับ Siam Asia Credit Access Ltd. ซึ่งเป็น private equity กลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการขายเพื่อลดความซ้ำซ้อนของธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่ง BAY มีสินเชื่อบุคคลหลายประเภทอยู่แล้ว ได้แก่ First Choice และสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของบัตรกรุงศรีฯ ทั้งนี้ แม้การขายหุ้นดังกล่าว อาจกระทบศักยภาพการทำกำไรของสินเชื่อ high yield ไปบ้าง (คาดกำไรสุทธิปี 2562 ภายหลังปรับปรุงกำไรฯ ของ NTL ลดลงจาก 25,187 ล้านบาท เหลือ 24,051 ล้านบาท) แต่คาดว่า BAY จะสามารถผลักดันสินเชื่อ high yield อื่นๆ มาทดแทนได้ จึงไม่น่ากระทบต่อ ROE มากนัก
อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ BAY บันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุน และมีโอกาสเพิ่มกำไรสุทธิปี 2562 ได้จากเดิมอีก 8.7% - 27.2% ขึ้นอยู่กับจะขาย NTL ที่ PBV เท่าใดในช่วง 1 – 4 เท่า ซึ่งประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ P/BV 3 เท่า ถือเป็น upside ส่วนเพิ่มให้มูลค่าพื้นฐานปี 2562 เป็น 44.37 – 45.12 บาท ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการเดิมก่อน โดยปรับไปใช้ Fair Value ปี 62 ที่ 44.40 บาท และปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น ซื้อ
หุ้นมิใช่ธนาคารมีแนวโน้มทรงตัวจากงวด 2Q61
ขณะกลุ่มที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เฉพาะ sector ที่มี market cap. ใหญ่ ประเมินว่าผลการดำเนินงานส่วนใหญ่ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เริ่มจากหุ้น Global ในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเลียม คาดกำไรเติบโตเล็กน้อยจาก 2Q61 ตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากสิ้น 2Q61 ราว 4 – 5 เหรียญฯ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี คาดอ่อนตัวลงจากภาพรวม Spread ลดลง (ทั้งกลุ่มโอเลฟินส์และกลุ่มอะโรเมติกส์ จาก supply ใหม่) และ ธุรกิจโรงกลั่นมีการปิดซ่อมบำรุง เช่น โรงกลั่น IRPC, PTTGC และเช่นเดียวกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะมีการ shutdown โรงไฟฟ้าหงสา และ BLCP
ส่วนหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศน่าจะทรงตัว เริ่มจากหุ้น ICT งวด 3Q61 คาดจะไม่มีการบันทึกกำไรพิเศาที่เกิดจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TRUE และ JAS) ตามด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง คาดกำไรทรงตัว (หลักๆมาจาก SCCC) และ รับเหมาก่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ SEAFCO, CK
โดยรวมคาดว่ากำไรสุทธิตลาดฯ 3Q61อยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท ลดลง QoQ แต่เพิ่ม YoY เมื่อรวมกับกำไรสุทธิ 1H61 ที่ 5.5 แสนล้านบาท คาดว่ากำไรตลาดฯ 9M61 จะอยู่ที่ราว 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 75% ของประมาณการฯ ทั้งปีที่ 1.07 ล้านล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 108 บาท ณ ดัชนีตลาดมีราว P/E 15.7 เท่า แต่คาดว่าจะลดลงเหลือ 15.2 เท่า ในปี 2562 ซึ่งใกล้กับภูมิภาคทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่อยู่ราว 14-15 เท่า
ต่างขาติขายสุทธิต่อเนื่อง vs สถาบันไทยสลับซื้อ หลังขาย 5 วัน
วานนี้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้หยุดทำการ เนื่องจากเป็นวันแห่งอักษรเกาหลี “Hangul Day” ส่วนตลาดหุ้นอื่นๆ ยังคงเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ต่างชาติเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่าอีก 346 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกขายสุทธิ 183 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 20 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ฟิลิปปินส์ 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 29 วัน) และไทยขายสุทธิสูงถึง 140 ล้านเหรียญ หรือ 4.63 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 2.75 ล้านบาท (หลังจากขายติดต่อกัน 5 วัน)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 3.26 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทยทรงตัวอยู่ที่ 2.88%
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO14876