WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
 
กลยุทธ์การลงทุน
  ค่าเงินเอเชียที่มีแนวโน้มอ่อนตัว กดดันเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง คาดว่าน่าจะเห็นการปรับฐานของหุ้นน้ำมันหลังจากตอบราคาน้ำมันดิบโลกที่ยืนเหนือ 80 เหรียญฯ รวมถึงแรงขายรับงบกลุ่ม ธ.พ. ที่จะทยอยประกาศสัปดาห์นี้ (เริ่ม TISCO 11 ต.ค.) น่ากดดันดัชนีปรับฐานทดสอบแนวรับ 1715-1,720 จุด กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นเกาะกระแสการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะความคืบหน้าการลงทุนใน EEC (ดีต่อ BGRIM, EASTW) และภาคก่อสร้าง (CK, STEC) และระยะสั้นยังให้น้ำหนักหุ้นที่มีผลประกอบเด่นใน 3Q61 (TPIPP, RJH) Top Picks BGRIM(FV@B32), CPALL(FV@B80) รับกระแสเทศกาลกินเจ
 
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET Index ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นภูมิภาค
  วันศุกร์ที่ผ่านมา SET ปรับตัวลง สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ระหว่างวันดัชนีหลุดแนวรับ 1720 จุด ก่อนจะขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,720.52 จุด ลดลง 8.88 จุด หรือ 0.51% มูลค่าซื้อขาย 4.7 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงขายทำกำไรตลอดทั้งวันในกลุ่มพลังงาน หุ้นขนาดใหญ่ทั้ง PTT,  PTTEP ลดลง 0.9% และ 2% ตามลำดับ ตามด้วยการกลุ่ม ธ.พ.และค้าปลีก  ตรงข้ามกับกลุ่มสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ฯ และ รถบรรทุก อย่าง  MTC  และ THANI +2.5% และ +1.7% เพราะคาด 3Q61 กำไรทำ new high  
  คาด SET Index ยังอยู่ช่วงพักฐาน และทดสอบแนวรับ 1715-1720 จุด โดยมีปัจจัยเรื่องค่าเงินโลกผันผวน โดยเฉพาะเอเชียที่กลับมาอ่อนค่า เช่น รูปี รูเปียห์ และบาท  และการรายงานงบ 3Q61 ของกลุ่ม ธ.พ. น่าจะมีแรงขายรับงบรายตัว ส่วนนโยบายกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัจจัยหนุนตลาด โดยเฉพาะความคืบหน้าของการอนุมัติโครงการลงทุน EEC (ดีต่อ EASTW, BGRIM)     
 
สงครามการค้า กดดันจีนใช้นโยบายการเงินอ่อนตัวสวนทางสหรัฐ  
  การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง สะท้อนอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. ลดลงอยู่ที่ 3.7% ระดับต่ำสุดในรอบ 49 ปี อยู่ใกล้ภาวะจ้างงานเต็มที่ (Full employment) ซึ่งนำไปสู่การขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเห็นได้จากบริษัท Amazon (ผู้ให้บริการ E-commerce รายใหญ่ของสหรัฐ) ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่พนักงานในสหรัฐ จากเดิม 7.25 ดอลลาร์/ช.ม. เป็น 15 ดอลลาร์/ช.ม. มีผลวันที่ 1 พ.ย. 
  และผลกระทบสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น  เป็นอีกเป็นปัจจัยที่จะเร่งให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มเร็วขึ้น และตอกย้ำ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1 ครั้งราว 0.25% ปีนี้ และ 3 ครั้งปี 2562 และ 2 ครั้งปี 2563  กดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐลดความร้อนแรงลง
  ขณะที่ฝั่งเอเชีย เมื่อคืนที่ผ่านมา จีนได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Reserve requirement ratios: RRRs) นับเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 ของปีนี้ ลดลง  1% เหลือ 15.5%  เพื่อรองรับผลกระทบของสงครามการค้า สะท้อนจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีนชะลอตัวชัดเจนขึ้นคือ ดัชนียอดสั่งซื้อเพื่อส่งออก (New export orders PMI) เดือน ก.ย. ชะลอตัวลงติดต่อเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 2 ปี 7 เดือน  ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคการผลิต (manufacturing  PMI) เดือนเดียวกันชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4  เดือน
 
ค่าเงินโลกผันผวน เอเชียกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง
  ค่าเงินโลกที่ผันผวน เกิดจากประเทศที่มีปัญหาพื้นฐาน ทั้งขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ อาจจะทำให้เผชิญปัญหาการชำระค่าสินค้านำเข้าและหนี้ต่างประเทศ  ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินตกต่ำ ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับหลายประเทศ เช่น เปโซอาร์เจนติน่า (ขาดดุลทั้ง 2 ส่วน คือ ขาดดุลการค้าในปี 2560 แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน 8 ปี และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ,  ลีราตุรกี (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมานานเกิน 25 ปี และตอกย้ำจากปัญหาส่งออกเหล็กและอลูมิเนียม เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม  1 เท่าตัว 
  เช่นเดียวกับในแถบเอเซียบางประเทศซึ่งค่าเงินอ่อนค่าแรง    ที่เผชิญปัญหาขาดดุลทั้งคู่และยังพึ่งพาหนี้สินต่างประเทศ โดยเฉพาะ รูปีอินเดีย (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน 13 ปีและขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 2545 และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศราว  0.76 เท่า) และ รูเปียห์อินโดนีเซีย (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันราว  6 ปี และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศต่ำเพียง 0.39 เท่า)  
  ขณะที่ไทย แม้ช่วงสั้นเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่า แต่เป็นการปรับเนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปีบาทแข็งค่ามากเกินไป ขณะที่ไทยมีสถานะการเงินแข็งแกร่งมาก จากการที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าติดต่อกัน 4 ปีและยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศสูงถึง 1.63 เท่า
 
ต่างชาติขายหุ้นในภุมิภาคทั้ง 5 ประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 4
  วันศุกร์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าสูงถึง 806 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ  เริ่มจากเกาหลีใต้ขายสุทธิ 380 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) ตามมาด้วยไต้หวัน 257 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), อินโดนีเซีย 83 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 27 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 69 ล้านเหรียญ หรือ 2.28 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 701 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4)
  Bond Yield สหรัฐฯ ขยับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 3.23% (สูงสุดในรอบ 7 ปี 3 เดือน)  กดดันให้ต่างชาติลดพอร์ตการลงทุนในหุ้น  ยังกดดัน Fund Flow ไหลออกสุทธิ   ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย ขยับตัวขึ้นอยู่ที่ 2.872% แม้ยังน้อยกว่าสหรัฐฯ แต่มีโอกาสเพิ่มต่อ หาก ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้
 
หุ้นเด่นเกาะกระแสกินเจ ร้านสะดวกซื้อเด่น : CPALL, BJC 
  ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจในวันที่ 9 – 17 ต.ค. 61 (เริ่มต้นล้างท้องวันที่ 8 ต.ค. นี้)  เป็นการถือศีลจีน และกินอาหารจำพวกพืชผัก ไม่มีเนื้อสัตว์ และของปรุงรสต้องห้ามบางอย่าง โดยในแต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพราะเทศกาลกิจเจมีขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ของทุกปี ซึ่งหนุนผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม  ปีนี้ทางหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงกินเจสูงสุดในรอบระยะสำรวจ 11 ปี อยู่ที่ 45,937 ล้านบาท เติบโต 1.9%YoY ฝ่ายวิจัยฯจึงได้ทำคัดกรองหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเทศกาลนี้ คือ กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ตรงกันข้ามหุ้นที่กระทบ คือ กลุ่มจำหน่ายเนื้อสัตว์ มีรายละเอียดดังนี้
 
กลุ่มที่ได้ประโยชน์เทศกาลกินเจ
  กลุ่มค้าปลีก ปัจจุบันส่วนใหญ่คนกินเจจะเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจ เช่น ผักสด, ผลไม้ และอาหารเจปรุงสำเร็จ จากร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อมากขึ้น เพราะสะดวก และตอบโจทย์ความต้องการไลฟ์สไตล์คนเมือง ช่วยหนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อีกทั้งในไตรมาส 4 ยังเป็นช่วง High Season ของกลุ่มฯ ช่วยหนุนผลประกอบการให้โดดเด่นในช่วงที่เหลือของปี โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว คือ CPALL(FV’62@B80) มีสาขา 7-Eleven ทั่วประเทศเกินกว่า 10,000 สาขา และในช่วงฤดูกินเจ 7-Eleven มีการขายอาหารเจพร้อมทานที่หลากหลาย   และสะดวกในการซื้อ, BJC(FV’62@B72) ช่วงกินเจจะมีแคมเปญกระตุ้นยอดขายในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการลูกค้า หนุนยอดขาย BIG C ที่มีกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการขายอาหารเจปรุงสำเร็จในห้าง เพื่อเป็นการเพิ่มยอดขายอีกทาง  
  กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากได้ ประโยชน์ทางตรงจากเทศกาลกินเจแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาสนใจรักสุขภาพมากขึ้น หนุนยอดขายไม่ได้จำอยู่เฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว แม้จะเป็นหุ้นทีฝ่ายวิจัยแนะนำ “Switch”  น่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวก อาจเก็งกำไรระยะสั้น คือ TKN(FV’62@B18) เพราะ นอกจากประเด็นเรื่องกินเจดังกล่าวแล้ว ช่วงต้นไตรมาส 4 เข้าสู่ช่วง Golden Week ของประเทศจีน ช่วยหนุนยอดขายในจีนที่สัดส่วนสูงถึง 35% ของยอดขายรวมของ TKN  ส่งผลให้กำไรไตรมาส 4 ฟื้นตัวได้ดี และหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯไม่ได้ศึกษา อย่าง MALEE, TIPCO  โดยช่วงเทศกาลกินเจห้ามดื่มนมวัว ทำให้นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ขายดีขึ้น
 
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเทศกาลกินเจ
  กลุ่มอาหารจำหน่ายเนื้อสัตว์ อย่าง CPF(FV@B30), GFPT(FV@B14), TU([email protected]), TFG([email protected]), BR(FV@B6) ได้รับผลกระทบช่วงสั้นจากเทศการกินเจ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง Low Season กดดันราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีผลตอบแทนในอดีตช่วงกินเจปรับตัวลงไม่มากนัก และมีบางบริษัทที่มี Upside สูงเกินกว่า 20% อย่าง TU และ CPF หากราคาปรับตัวลดลง ถือเป็นโอกาสซื้อสะสมเพื่อลงทุนระยะยาว  
  และจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณในอดีต ย้อนหลัง 3 ปี (2558 – 2560)  หุ้นทั้งหมดที่กล่าวมา ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์เทศกาลกินเจ ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลตลอด 3 ปี และให้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกบริษัท ในทางตรงกันข้ามหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงจำกัด
 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO14761

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!