- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 05 October 2018 17:25
- Hits: 4753
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
อาจจะเห็นดัชนีปรับฐานที่แนวรับ 1,720 จุด โดยมีแรงกดดันจากการปรับฐานของราคาน้ำมันดิบโลกกระทบต่อกลุ่มพลังงาน แต่กระแสการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะความคืบหน้าการลงทุนใน EEC เป็นปัจจัยหนุนรายตัว ทั้งโรงไฟฟ้า (BGRIM) และภาคก่อสร้าง (CK, STEC) ขณะที่ระยะสั้นยังให้น้ำหนักหุ้นที่มีผลประกอบเด่นใน 3Q61 (TPIPP, RJH) Top picks เลือก BGRIM(FV@B32) และ TPIPP([email protected])
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. ดัชนีปรับฐาน หลังไม่ผ่าน 1740 จุด
วานนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนลบตลอดทั้งวัน ระหว่างวันร่วงลงกว่า 20 จุด ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาปิดที่ 1,729.40 จุด ลดลง 12.56 จุด หรือ 0.72% มูลค่าซื้อขาย 6.4 หมื่นล้านบาท ภาพรวมยังเป็นแรงขายทำกำไรในแทบทุกกลุ่มฯ นำโดยพลังงาน PTT PTTEP ค้าปลีก CPALL BJC BEAUTY ขณะที่หุ้นใหญ่กลุ่ม ธ.พ. KBANK BBL KTB ยังยืนทรงตัว ส่วนกลุ่ม อสังหาฯ-ที่อยู่อาศัย มีประเด็นเฉพาะกลุ่มฯ หลัง ธปท. ออกเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ให้เพิ่มเงินดาวน์เป็น 20% ของมูลค่าบ้าน แต่โดยรวมผลกระทบค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามเห็นการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่ม ทั้ง LH QH และ SIRI ส่วนกลุ่มชิ้นส่วน KCE และ HANA ฟื้นแรงสวนทางตลาดฯ เพิ่มขึ้น 2.33% และ 3.16% ตามลำดับ หลังค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า
คาด SET Index วันนี้ยังพักตัวโดยน่าจะมีแนวรับ 1725-1720 จุด โดยมีแรงขายในหุ้นน้ำมัน ตามการปรับฐานของน้ำมันดิบโลก ขณะที่ยังให้น้ำหนักรายหุ้นที่เติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งการลงทุน EEC (EASTW, BGRIM) และ หุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการ 3Q61 โดดเด่น เช่น หุ้นโรงไฟฟ้า TPIPP GUNKUL และโรงพยาบาล RJH, BCH เป็นต้น
ครม. อนุมัติแผนลงทุน EEC vs BGRIM เติบโตตามแผนลงทุน
ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านการเมือง ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งในต้นปี 2562 แผนการลงทุนภาครัฐยังคงล่าช้า แต่ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้อนุมัติงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก “ EEC” 4 โครงการ วงเงิน 4.7 แสนล้านบาท (จากงบลงทุนใน EEC ทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาท รวม 5 ปี ในช่วง 2559-2564) แยกเป็น 1) สนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านบาท 2) ท่าเรือมาบตาพุต 5.5 หมื่นล้านบาท 3) ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา 1.0 หมื่นล้านบาท และ 4) ท่าเรือแหลมฉบัง Phase3 1.14 แสนล้านบาท จากก่อนหน้านี้ได้อนุมัติโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 2.4 แสนล้านบาท (ทับซ้อนกับโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว 7 ปีมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท)
ระหว่างที่รอการพัฒนาโครงการต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่น ๆ คู่ขนานกันไปด้วย เช่น การจัดหาโรงไฟฟ้า รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจในเขต EEC ดังที่ได้นำเสนอไปวานนี้ถึงกรณีที่ BGRIM แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้รับคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาระยะแรก มูลค่า 3.6 พันล้านบาท ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 80 MW, โรงไฟฟ้าโซลาร์ 15 MW, ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 50 MWh คาดจะ COD ได้ภายในเดือน ม.ค. 2564 ผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) กว่า 10%
โครงการดังกล่าวคิดเป็น 4.6% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดในปัจจุบันของ BGRIM และประเมินเบื้องต้น อาจจะเพิ่มมูลค่าพื้นฐานราว 1-1.5 บาท/หุ้น จากมูลค่าปัจจุบันที่ 32บาท/หุ้น ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยจะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้ง หลังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริหาร โดยยังคงคำแนะนำซื้อ และยังมีโอกาสได้โครงการระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 80 MW, โรงไฟฟ้าโซลาร์ 55 MW มีมูลค่ารวมประมาณ 2,300 ล้านบาท
ดัชนีความเชื่อมั่นอ่อนตัวลง สอดคล้องกลุ่มค้าปลีกอ่อนตัวช่วงสั้น ชอบ CPALL
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย. 2561 ลดลง 1.08% จากเดือนก่อนหน้า ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เพราะกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ, นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลงกว่าปกติจากผลกระทบของเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และผลกระทบของสงครามการค้าโลก คาดว่าสงครามการค้าน่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชัดขึ้นในช่วง 4Q61 ถึง 2562
แต่อย่างไรก็ตาม เข้าสู่ช่วง 4Q61 เป็น High Season การจับจ่ายใช้สอย (สัปดาห์หน้าจะเข้าสู่ช่วงกินเจ) รวมถึงการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. จะปัจจัยหนุนการจับจ่ายใช้สอยได้อีกทางหนึ่ง โดยรวมกลุ่มค้าปลีก ยังแนะนำ Selective ลงทุนหุ้นรายตัว อาทิ CPALL (FV@B80) ราคาหุ้นสะท้อนผลขาดทุนของการไปลงทุนในต่างประเทศผ่าน MAKRO แล้ว และคาดว่าจะกลับมาเติบโตดีขึ้นหลังปี 2562 , BJC (FV@B69) กำไรปี 2561 เติบโตมากสุด 38.2% และการเติบโตในระยะยาวชัดเจนสุด และ ROBINS(FV@B68) แนะนำสะสมราคาอ่อนตัว ขณะที่ COM7 , BEAUTY ราคาหุ้นเต็มมูลค่าเหมาะสมไปแล้ว
ธปท. ควบคุมการปล่อยสินเชื่อบ้าน กดดันหุ้นอสังหาฯ
วานนี้ ธปท. ออกเกณฑ์ในการควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 และราคาเกิน 10 ล้านบาท คือ ควบคุมวงเงินสินเชื่อฯ ต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ไม่เกิน 80% ของมูลค่าบ้าน/คอนโดมิเนียม (ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเป็น 20%) ซึ่งวงเงินสินเชื่อดังกล่าวจะต้องรวม top-up loan หรือวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตกแต่งที่ใช้หลักประกันเดียวกัน จากเดิมที่คิดแยกกัน ทำให้ผู้กู้บางรายได้วงเงินกู้จริงเกิน 100% ของหลักประกัน ภายใต้เกณฑ์ใหม่ ทำให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะกดดันอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 17.6%
ขณะที่ผู้ซื้อบ้านหลังแรก และราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังใช้เกณฑ์เดิม คือ LTV Ratio 90% สำหรับคอนโดมิเนียม และ 95% สำหรับบ้าน แต่หาก ธ.พ. ปล่อยกู้เกินเกณฑ์ที่ ธปท กำหนดไว้ จะต้องเพิ่มน้ำหนักค่าความเสี่ยงของสินเชื่อฯ ต่อเงินกองทุน จาก 35% เป็น 75%
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อ ธ.พ. คาดว่าจำกัด โดยการควบคุมสินเชื่อประเภทนี้ น่าจะกระทบการปล่อยเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 17% ของสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่ง ธ.พ. ก็มีการปรับตัวด้วยการลดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ๆ โดยเน้นไปที่การควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เดิม หรือมุ่งไปยังสินเชื่อ high yield อื่นๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยกลุ่ม ธ.พ. ฝ่ายวิจัยยังชอบ BBL และ TCAP
ขณะที่การขยายธุรกิจพัฒนาบ้านขาย แม้เกณฑ์ใหม่จะควบคุมสินค้าทุกประเภททั้งแนวราบและคอนโดฯ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการเรียกเก็บเงินดาวน์ในอัตรา 15 – 20% อยู่แล้ว และเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ก็มักจะเก็บเงินดาวน์สูงกว่า 20% ส่วนแนวโน้มการโอนฯ ในงวด 4Q61 เชื่อว่าจะเห็นการเร่งโอนฯ และขายบ้านพร้อมโอนฯ มากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ตัวเลือการลงทุนช่วงนี้ จึงเน้นหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูง คือ LH, QH และ SC
Bond Yield สหรัฐ เพิ่มขึ้นต่อ กดต่างชาติลดพอร์ตหุ้นในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.15 พันล้านเหรียญ (สูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 473 ล้านเหรียญ (หลังจากหยุดทำการในวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวัน 446 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), อินโดนีเซีย 77 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3), ฟิลิปปินส์ 8 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิติดต่อกันนานถึง 26 วัน) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 153 ล้านเหรียญ หรือ 4.96 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 3.44 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3)
การไหลออกของ Fund Flow ติดต่อกัน 3 วัน ในตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค กดดันให้ดัชนีในแต่ละประเทศปรับฐานลงแรง หลักๆมาจากประเด็น Bond Yield สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 3.19% (ระหว่างวันขึ้นไปสูงถึง 3.23% สูงสุดในรอบ 7 ปี 3 เดือน) จูงใจให้ต่างชาติลดพอร์ตหุ้นและหันไปลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ของไทย ขยับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี 8 เดือน มาอยู่ที่ 2.87% แม้ยังน้อยกว่าสหรัฐฯ แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หาก ธปท. ปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO14681