- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 18 September 2014 17:07
- Hits: 1887
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
แม้สหรัฐยังคงดอกเบี้ยระยะสั้น แต่ในสิ้นปี 2558 กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 1.375% จากเดิมกำหนดไว้ 1.125% ยังเป็นประเด็นที่มีโอกาสกลับมากดดันตลาดหุ้นได้ กลยุทธ์ยังเน้นขายทำกำไรขายหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงๆ และเลือกซื้อเป็นรายหุ้น วันนี้เลือก RS(FV@B10) เป็น Top pick หลัง กสทช. ชำระหนี้แล้ว แม้จะต่ำกว่าต้นทุนก็ตาม
สหรัฐ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยระยะยาว เพิ่มจากประมาณการเดิม
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา สรุปว่ายังคงยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม โดยยังใช้เหตุผลเดิม ๆ คือ ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ (แม้อัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 6.1%) และอัตราเงินเฟ้อ ที่ชะลอตัว โดยเดือน ส.ค.อยู่ที่ระดับ 1.7%yoy ต่ำกว่าตลาดคาด และต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% (และเพียง 1.2%ytd) เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และยังต้องการความยืดหยุ่นในการปรับดอกเบี้ย โดยยังคงใช้ถ้อยคำเดิมคือ “อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นในเวลาที่เหมาะสม (Considerable Time)” หลังตัดลด QE ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. นี้
ทั้งนี้ FED คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะค่อยๆ ขยายตัว โดยอยู่ในกรอบ 2-3% และอัตราการว่างงานจะสามารถลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5% ภายในปี 2560 พร้อมกำหนดดอกเบี้ยนโยบายในสิ้นปี 2558 น่าจะขึ้นมาที่ระดับ 1.375% สูงขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ที่ 1.125% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และในปี 2560 น่าจะขึ้นไปสู่ระดับ 3.75% ในสถานการณ์นี้ถือว่ากำลังสวนทางกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาคือ มีการลดดอกเบี้ยจาก 2% เหลือ 1% ในเดือน ต.ค. 2551 และเหลือ 0.25% ในเวลาต่อมา พร้อม ๆ กับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่าน QE ดังที่ทราบ ๆ กัน เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์มในสหรัฐ กดดันให้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทุกอย่างย่ำแย่ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการการเงินผ่อนคลายทุกอย่างล้วนหนุนตลาดหุ้นโลก ตรงข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย อาจจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นได้ทุกครั้งที่มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนไทย วานนี้ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2%ต่อปี (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7) เพื่อหนุนเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว และมีความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นจาก เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากประเทศคู่ค้าหลัก ๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน และคาดว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตราบที่ราคาน้ำมันดิบโลก (ดูไบ) ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ 95 เหรียญฯต่อบาร์เรล รวมทั้งผลจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยการปรับลดการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และการตัดลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันลดลง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่า กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยต่อไปในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ และต่อเนื่องในอีก 6 เดือนแรกของปี 2558
ดอลล่าร์กลับมาแข็งค่าต่อ กดดันน้ำมันและทองคำต่อ
หลังการประชุมของ FED ยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวต่อหลังจากที่ปรับฐานวานนี้ โดยล่าสุดได้ดีดขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยล่าสุด Dollar Index ดีดขึ้นมาอยู่ที่ 84.798 จากวานนี้ปิดที่ 84.345 สวนทางกับเงินสกุลหลักของโลกที่อ่อนค่าลงเพียงชั่วข้ามคืน โดยยูโรอ่อนค่าลงไป 0.8% อยู่ที่ 1.2854 ดอลลาร์/ยูโร จากวานนี้ที่ 1.2958 ดอลลาร์/ยูโร และเยนอ่อนค่าลงไป 1.12% ที่ 108.42 เยน/ดอลลาร์ จาก 107.12 เยน/ดอลลาร์ เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าลงเช่นกัน (ริงกิต 0.65%, รูเปียห์ 1.14%, เปโซ 0.38%, บาท 0.4%) การแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์ และ บวกกับเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอในบางพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริโภคหลักของโลก เช่น จีน และ ยุโรป ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำ ก็ยังปรับลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะลดลงต่อเนื่อง จากระดับสูงสุด 1,334 เหรียญฯต่อทรอยออนซ์ เมื่อ 10 ก.ค. 2557 ลงมาที่ 1,222 เหรียญ/ทรอยออนซ์ หรือลดลง 8.95% และ มีโอกาสที่จะลงไปแตะที่ 1,200 เหรียญฯ ต่อ ทรอยออนซ์ ในไม่ช้า และเช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบดูไบล่าสุดยังยืน อยู่ที่ 95.89 เหรียญ/บาร์เรล เทียบกับระดับสูงสุดที่ 111.3 เหรียญฯต่อบาร์เรล เมื่อ 19 มิ.ย. 2557 หรือลดลง 13.77% และอาจจะทำให้มีโอกาสแกว่งตัวในระดับต่ำกว่า 100 เหรียญฯ ต่อไป
ต่างชาติยังขายสุทธิในภูมิภาค
วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แต่ยอดขายลดลงถึง 81% เหลือเบาบางเพียงราว 69 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) โดยที่เป็นการสลับซื้อขายเบาบางรายประเทศ ขายสุทธิสูงสุดคือไต้หวันขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 6 แต่ลดลง 68% เหลือราว 79 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วย อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 7 ราว 46 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 6% จากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 5 ราว 12 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเกือบ 4 เท่าตัว) สวนทางกับ ไทย ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 69 ล้านเหรียญฯ (2.2 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่าเท่าตัว) และ สุดท้ายคือ เกาหลีใต้สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 5 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 4 วันหลังสุด)
ทั้งนี้ แม้ว่าต่างชาติจะซื้อสุทธิหุ้นไทยถึง 2.2 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน) แต่หากตัดยอด Big Lot ของ BBL และ KBANK รวม 1.8 พันล้านบาท (เป็นคาดการณ์จาก NVDR) คาดว่ายอดซื้อสุทธิจะเหลือเพียง 443 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ FED มีกรอบการขึ้นดอกเบี้ย และจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดน่าจะให้ความสนใจต่อจากนี้
Sentiment เชิงบวกต่อ RS หลัง กสทช. ยอดจ่ายหนี้
เป็นที่สรุปว่า กสทช ยอมจ่ายเงินให้กับ RS 369.86 ล้านบาท จากที่เคยตกลงกันในทั้งหมด 427 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างราว 57.155 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการชดเชยต้นทุนค่าเสียโอกาสให้กับ RS ในกรณีที่ คสช. ต้องการคืนความสุขให้ประชาชน โดยการสั่งให้ RS ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกปี 2557 ในช่วงที่ผ่านมา ให้กับประชาชนได้ชมกันผ่านโทรทัศน์ฟรีทีวี โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทำให้ RS ต้องสูญเสียโอกาสในการขาย และรับซื้อคืนกล่องรับชม (sunbox) ดังที่ประเมินเงินชดเชยไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตามแม้เงินที่ได้รับชดเชยจะน้อยกว่าต้นทุนที่สูญเสียไป แต่ยังดีกว่าที่คณะกรรมการตรวจสอบเงินชดเชยภาครัฐเคยสรุปเงินชดเชยไว้ก่อนหน้าที่ 220 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่า RS น่าจะบันทึกรายได้ในงวด 3Q57 แต่โดยรวมอาจจะทำให้กำไรสุทธิทั้งปีของ RS อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 449 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์กลุ่มบันเทิงของ ASP ยังคงประมาณการเดิมไปก่อน เพราะขณะนี้ RS ยังมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เชื่อว่าจะสร้างรายได้ และกำไรชดเชยได้บางส่วน จากการที่ RS ได้ร่วมมือกับ CTH (ให้บริการเคเบิ้ลทีวี) ในการได้สิขสิทธิ์สมาชิกช่องพรีเมียรลีก ซึ่งจะทำให้ RS สามารถนำกล่อง sunbox ที่เหลืออยู่จำนวนมาก (จากผลกระทบจากที่ไม่สามารถขายได้ดังกล่าวข้างต้น) มาขายเพิ่มรับชมช่องพรีเมียรลีกได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตั้งสำรองฯ ขาดทุนจากลิขสิทธิ์บอลโลก (อันเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น) ซึ่งได้บันทึกแล้วในงวด 1H57 ราว 54 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำกลับมาบันทึกเป็นรายได้อีกครั้ง จึงทำให้กลับมาชื่นชอบหุ้น RS อีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจหลักคือ ทีวีดาวเทียม ของ RS (มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในช่วงทีวีดาวเทียม) ถือว่ามีแนวโน้มสดใส สะท้อนได้จากอัตราการใช้เวลาการโฆษณารวมเพิ่มขึ้นจาก 45% ในงวด 2Q57 เป็น 50% เทียบกับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก เฉลี่ย 30% (ไม่รวม BEC ที่ 80-90% และช่อง 7 ราว 70%)
ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล