- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 13 September 2018 15:12
- Hits: 3267
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ผู้ประกอบการขั้นปลายของสหรัฐรวมตัวค้านการขึ้นภาษีจีน และ fund flow ไหลออก ยังมีน้ำหนักกดดันดัชนี แม้ระยะสั้นพายุเฮอริเคนที่อ่าวเม็กซิโก หนุนหุ้นน้ำมันและโรงกลั่น กลยุทธ์ยังชอบหุ้น Domestic Play ที่อิงสาธารณูปโภค (RATCH, EASTW, SEAFCO) สินค้าอุปโภคบริโภค (ROBINS, BJC) มีเงินสดสุทธิ (VGI, MACO, PLANB) และหุ้นส่งออก (CPF, TU, HANA) Top Pick SEAFCO(FV@B11) ทำกำไรสูงต่อเนื่อง จากความคืบหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้า ส้ม/ชมพู และ The One Bangkok ยังมีโอกาสได้งานใหม่ ทางด่วนดาวคะนอง และลงทุนระยะสั้น PTT(FV@B54) ราคาหุ้นลงจนมี upside สูง และน่าจะได้ประโยชน์จากพายุเฮอริเคน
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. กลุ่มพลังงานประคองตลาดฯ ปิดบวก
วานนี้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงบ่าย หนุนดัชนีกลับมายืนแดนบวกและปิดตลาดที่ 1679.39 เพิ่มขึ้น 6.97 จุด หรือ 0.42% มูลค่าการซื้อขาย 5.97 หมื่นล้านบาท ดัชนีได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่ม ปตท. หลังมีแรงเก็งกำไรหุ้น PTT ไล่ราคาขึ้นมาปิดที่ 49.50 บาท (+1.54%) ตามด้วย PTTEP (+2.17%) และ PTTGC(+0.65%) ขณะที่กลุ่ม ธ.พ. มีแรงรีบาวด์ของหุ้นขนาดใหญ่ทั้ง KBANK(+1.48%) KTB(+1.05%) และ SCB(+2.4%) ขณะที่กลุ่ม ICT ราคาหุ้น DTAC ร่วงหนัก 5.14% หลัง กสทช. มีมติไม่เยียวยาคลื่น 850 Mhz
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัว ผันผวนต่ำกว่า 1690 จุด โดยยังให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าโลก แม้สหรัฐยังรีรอที่จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 2 แสนล้านเหรียญฯ หลังทำ public hearing แล้ว และจะเพิ่มการกีดกันอีก 2.6 แสนล้านเหรียญ หรือรวมเป็นกว่า 5 แสนล้านเหรียญฯ กลุ่มผู้ประกอบการขั้นปลายกว่า 60 อุตสาหกรรม รวมตัวเพื่อกดดันประธานาธิบดี ซึ่งทำให้สหรัฐอาจจะกลับเข้ามาเจรจากับจีนอีกรอบ แต่พายุเฮอริเคนที่เกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโก จะหนุนน้ำมัน และ ค่าการกลั่นช่วงสั้น จึงถือเป็นปัจจัยหุ้น PTTEP, PTT, TOP, ESSO, BCP แต่เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับความเสียหายช่วงสั้น ๆ
สหรัฐเตรียมคุยกับจีน..ลดแรงกดดันผู้ประกอบการขั้นปลาย
สงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นโลก หลังทำประชาพิจารณ์รอบ 3 สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 25% ราว 2 แสนล้านเหรียญฯ เสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังรีรอที่จะประกาศ และสหรัฐยังมีแผนที่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนรอบที่ 4 อีก 2.67 แสนล้านเหรียญฯ รวมทั้งหมด 4 รอบ จะเท่ากับสหรัฐจะขึ้นภาษีจากจีนทุกรายการ เท่ากับยอดที่นำเข้าทั้งหมดในปี 2560 ที่ 5.17 แสนล้านเหรียญฯ
เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขั้นปลาย และต่อผู้บริโภค มากสุด ทำให้เกิดแรงต่อต้านเกิดขึ้น โดยเมื่อวานนี้ผู้ผลิตในสหรัฐทั้งหมด 60 อุตสาหกรรม ตั้งแต่ผลิตของเล่น จนถึงเทคโนโลยี รวมตัวประท้วง ใช้ชื่อว่า Americans for Free Trade และทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐได้ส่งคำเชิญไปยังจีน เพื่อเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการกับจีนอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 5 จากครั้งหลังสุด เมื่อ 22-23 ส.ค. แต่ไม่มีข้อสรุป การเจรจารอบนี้เป็นเพียงการซื้อเวลา เชื่อว่าการกีดกันการค้าโลกยังมีอยู่
และในวันนี้มีการประชุมธนาคารกลางสองแห่งคือธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคาดว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ อังกฤษ คาดน่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% หลังขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ไปเมื่อเดือน ส.ค. แม้เงินเฟ้อเดือน ก.ค. สูง 2.5% ( เป็นผลจาก ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าราว 12.3% ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น) ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าอังกฤษน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในปี 2562 และยุโรป คาดดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% เช่นกัน แม้ว่าเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 2.0% จาก 1.1% ในเดือน ก.พ. แต่จากเศรษฐกิจยุโรปที่ยังฟื้นตัวแตกต่างกัน และใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเดียวกัน การปรับนโยบายการเงินจึงขาดความเป็นอิสระ
สต็อกน้ำมันลดลงกว่าคาดและพายุเฮอริเคน หนุนน้ำมันฟื้นช่วงสั้น
สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ(EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ที่ 5.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าตลาดคาดจะลดลง 8 แสนบาร์เรล ผลจากยังอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลขับขี่ และผลกระทบจากพายุเฮอริเคน Florence รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ สร้างความเสียหายต่อประชาชนราว 1 ล้านคน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังจากพายุสงบ
และ Supply น้ำมันในอิหร่านที่หายไปช่วงสั้น สะท้อนจาก ยอดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ล่าสุด เดือน ส.ค. ต่ำกว่า 70 ล้านบาร์เรลในครั้งแรกตั้งแต่เม.ย. 2560 เนื่องจากคู่ค้าอิหร่านหยุดซื้อน้ำมัน หลังจากสหรัฐประกาศคว่ำบาตรต่ออิหร่านซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 พ.ย. แต่เชื่อว่ากลุ่ม OPEC ที่ยังเดินหน้าเพิ่มการผลิต ชดเชยส่วนหายไป ภายใต้สัญญาการคงกำลังการผลิตของ OPEC และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยังมีอยู่ถึงสิ้นปีนี้
ASPS ยังเชื่อว่าระยะกลาง-ยาว ราคาน้ำมันยังมีโอกาสย่อตัว จากประเด็นสงครามการค้าโลก กดดันความต้องการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะสหรัฐบริโภคสูงสุดของโลกราว 24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5% และจีนอันดับ 2 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8%
แม้ ASPS ยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นพลังงานและโรงกลั่นน้อยกว่าตลาด แต่ปัจจัยหนุนระยะสั้น จากภัยธรรมชาติ สร้างความเสียหายกับโรงกลั่น ทำให้การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปอาจจะน้อยกว่าปกติหนุนค่าการกลั่นช่วงสั้น ดีต่อหุ้นโรงกลั่น TOP BCP ESSO SPRC รวมถึงหุ้นน้ำมันบางตัวที่ราคาลงแรงจนราคาหุ้นมี Upside ราว 10% เช่น PTT(FV@B54) จึงยังแนะนำลงทุนระยะสั้น นอกจากเชื่อว่าราคาหุ้น PTT ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นผลจากความกังวลปัญหาสงครามการค้าแล้ว น่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินปันผลงวด 1H61 ที่ล่าช้ากว่าปกติ
กรณีแย่มูลค่า DTAC จะลดราว 6.8 บาท สะท้อนในราคาแล้ว???
วานนี้ กสทช. มีมติไม่ออกมาตรการเยียวยาคลื่น 850 MHz ให้กับ DTAC ซึ่งหลังจากนี้ DTAC จะต้องไปรอคำตัดสินของศาลปกครองว่าจะให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ยังอยู่บนคลื่น 850 MHz หรือไม่ (คาดตัดสินก่อนสัมปทานสิ้นสุด 15 ก.ย. 61) ทั้งนี้ ในกรณีศาลไม่ให้ความคุ้มครอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะมีกับลูกค้า DTAC 2 ส่วน คือ
1. ลูกค้าจำนวนราว 9.0 หมื่นราย (บน 3G) ที่จดทะเบียนบนคลื่นสัมปทาน 850 MHz จะซิมดับ
2. ลูกค้าจำนวน 1.0 ล้านรายที่ย้าย (4G) ที่ย้ายไปคลื่นอื่นของ DTAC ที่เหลืออายุให้บริการ คือ 1800 MHz (ใบอนุญาตสิ้นสุดปี 2576), 2100 (ใบอนุญาตสิ้นสุดปี 2570) และ 2300 MHz (เช่าจาก TOT สิ้นสุดสัญญาปี 2568) ที่การใช้งานอาจจะ สะดุดไปบ้าง เพราะการลงทุนในคลื่นยาวทั้ง 3 คลื่นยังครอบคลุมพื้นที่ให้บริการไม่เต็มที่ ปัจจุบันจึงต้องมีการโรมมิ่งกับคลื่น 850 MHz (ปัจจุบัน 850 MHz ครอบคลุม 94% ของประชากร ส่วน 1800 และ 2100 MHz ครอบคลุมราว 90% ขณะที่ 2300 MHz คลื่นใหม่เพิ่งครอบคลุม 40% เท่านั้น ซึ่งคาด DTAC จะต้องหามาตรการฉุดรั้งลูกค้า ระหว่างรอการลงทุนโครงข่ายครอบคลุมมากขึ้น
กรณีที่เลวร้ายสุดดังที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ที่ DTAC อาจจะสูญเสียลูกค้าไปทั้ง 2 กลุ่มรวม 1.09 ล้านราย นั้น เชื่อว่าไม่เกิดขึ้น เพราะ DTAC ยังมีเวลาในการย้ายลูกค้าก่อนสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. แต่แน่นอนประสิทธิภาพการใช้งานคงไม่ดีเท่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้มีการโยกย้ายผู้ใช้บริการไปยังค่ายของคู่แข่งขัน ซึ่งน่าจะดีต่อ ADVANC และ TRUE ทั้งนี้กรณีที่เลวร้าย แต่ไม่ถึงที่สุด คาดว่า DTAC มีโอกาสสูญเสียลูกค้า 2/ 3 ของ 1.09 ล้านราย คือ
ลูกค้า 9.0 หมื่นราย DTAC อาจพอมีเวลาที่จะย้ายมายังคลื่นใหม่ได้อีกราว 3 วัน ผ่านกำลังให้บริการระบบกลางที่ย้ายลูกค้าได้วันละ 6.0 หมื่นราย แต่หากไม่มีการย้ายเลยและเกิดซิมดับ คาดลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะไปซื้อซิมใหม่ (เหมือนช่วง ADVANC และ TRUE สิ้นสุดสัมปทาน) ซึ่งประเมินว่าเป็นไปได้ที่ DTAC จะเสียลูกค้าอาจจะไปอยู่กับคู่แข่งราว 2 ใน 3 เท่ากับ 6.0 หมื่นราย
และ เช่นเดียวกับ ลูกค้า 1.0 ล้านรายที่จะประสบปัญหาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม อาจจะย้ายออกไปคู่แข่ง 2 ใน 3 เท่ากับ 6.7 แสนราย
รวมแล้วคาด DTAC น่าจะเสียลูกค้าไม่เกิน 7.0 แสนราย (3.2% ของลูกค้าที่มี 21.6 ล้านราย) ภายใต้สมมติฐาน ARPU กลุ่มซิมดับ 147 บาท (เท่าลูกค้าเติมเงินปัจจุบัน) และARPU กลุ่มใช้งานไม่สะดวก 200 บาท จะกระทบรายได้ DTAC ปีละ 1.6 พันล้านบาท คิดเป็น 2% ของรายได้ปี 2562 แต่จะกระทบกำไรลดลงจากเดิม 25.9% และมูลค่าหุ้น 6.5 บาท หรือลดลงราว 9.6% เหลือ 61.50 บาท (Fair Value ปัจจุบัน 68 บาท) เมื่อเทียบกับราคาหุ้น DTAC ที่ลงมาระดับหนึ่งแล้ว เชื่อว่าสะท้อนความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามจะปรับลด Fair Value เมื่อกรณีถึงที่สุด หรือหลังคำตัดสินของศาล
เงื่อนไขทางกฎหมายพร้อมเลือกตั้ง...บวกต่อตลาดเล็กน้อย
12 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว.ฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปคือ 13 ก.ย.2561 ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน หลังจากวันที่ลงประกาศ ซึ่งน่าจะราว 11 ธ.ค.2561 เมือนับจากวันที่ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือก ทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน
พัฒนาการของเหตุการณ์ที่มาถึงจุดนี้ต้องถือว่าเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการจนครบถ้วนแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการขั้นตอนทางการปฎิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ
คสช. ต้องออกประกาศคลายล็อคทางการเมืองเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองอยู่ในสภาวะที่พร้อมสำหรับการทำไพรมารีโหวต และส่ง ส.ส. ลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยคาดว่าประกาศคลายล็อคทางการเมืองน่าจะถูกประกาศออกมาในเร็ววันนี้
ด้าน กกต. ก็ต้องดำเนินความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และงานธุรการต่างๆ
อย่างไรก็ตามมาถึงจุดนี้ พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่เป็นการหาเสียงในการเลือกตั้งได้ จนกว่าหลังจาก 11 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่ง คสช.ต้องมีประกาศเพื่อปลดล็อคทางการเมืองออกมาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหรือเร็วสุด 24 ก.พ.2562 หรืออย่างช้าสุด 5 พ.ค. 2562 ถือ เป็นปัจจัยบวกต่อ Sentiment การลงทุนใน SET Index
ต่างชาติยังคงขายหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
วานนี้ต่างชาติยังเดินหน้าขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีก 426 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขายสุทธิ 307 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2), ไต้หวัน 7 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในกลุ่ม TIP ที่ถูกขายสุทธิ คือ อินโดนีเซีย 46 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 8), ฟิลิปปินส์ 16 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 10) และไทยที่ต่างชาติยังเดินหน้าขายสุทธิอีก 50 ล้านเหรียญ หรือ 1.63 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 14 และมียอดขายสุทธิรวม 2.04 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 1.51 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ต่อจากนี้ต้องรอดูว่า พัฒนาการทางการเมืองจะหนุนให้ Fund Flow ไหลกลับมาตลาดหุ้นไทยหรือไม่
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิ 6.29 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) โดยเป็นการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 364 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 5.92 พันล้านบาท
SET ยังผันผวนและต่ำกว่า 1690 จุด เน้น Domestic Play
ภาพดัชนีระยะกลาง ยังคงกังวลสงครามการค้าและความผันผวนค่าเงิน กดดัน fund flow ไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงการปรับลดประมาณการกำไรตลาดฯ ปี 2561 ลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษในงวด 2Q61 โดยรายการใหญ่ที่สุดได้แก่ การบันทึกด้อยค่าโครงข่ายโทรศัพท์บ้านและโครงข่ายที่ล้าสมัยของ TRUE กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท, ค่าใช้จ่ายความเสียหายจากวัตถุดิบคงคลังสูญหายของ GGC กว่า 2 พันล้านบาท กระทบ PTTGC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และค่าใช้จ่ายในการไกล่เกลี่ยคดีความของ TU กว่า 1.5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ การปรับลดประมาณการฯ ยังมาจากหุ้นที่ผลการดำเนินงาน 1H61 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น TPIPL, VNG, TASCO รวมทั้งหุ้นที่ผลการดำเนินงานปกติ 2H61 มีโอกาสต่ำกว่าที่คาด อาทิ IRPC, MINT, CK, SYNTEC, TVO, TMB และหุ้นโรงไฟฟ้า เช่น TPIPP, BCPG และ GPSC เป็นต้น
ภายหลังปรับลดประมาณการลงกำไรตลาดฯ จะเหลือ 1.07 ล้านล้านบาท ลดลงราว 2.96 หมื่นล้านบาท หรือ 2.69% จากเดิมคิดเป็น EPS 108.17 บาทต่อ หุ้น เติบโต 10.1%yoy ซึ่งน่าจะมีผลทำให้ P/E ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่าประมาณการ EPS เดิม (ที่ 110.78 บาท กำหนดดัชนีเป้าหมายปี 2561 ที่ 1662 จุด อิง P/E 15 เท่า) ส่วนปี 2562 ปรับลดประมาณการฯ ลงเล็กน้อย 5.8 พันล้านบาท หรือ 0.01% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้ EPS ที่ 115.3 บาท เติบโต 7%yoy
และเมื่อพิจารณา Expected P/E ของ SET Index ปัจจุบัน อยู่ที่ราว 15.6 เท่า ต่ำกว่าภูมิภาค คือ ฟิลิปปินส์ 17.3 เท่า มาเลเซีย 17.4 เท่า อินเดีย 16.8 เท่า ยกเว้นตลาดหุ้นจีนต่ำเพียง 10.7 เท่า เชื่อว่ายังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบของสงครามการค้า แต่หากเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า ตลาดหุ้นไทยยังสูงกว่าหลายตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปที่มี Expedted P/E เฉลี่ย 13-14 เท่า โดยตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐเล็กน้อย
และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PEG Ratio (P/E หารด้วย EPS Growth) ของปี 2561 พบว่าตลาดหุ้นไทยมี PEG Ratio ที่ 1.54 สูงกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค คือ อินโดนีเซีย 0.86, จีน 1.29, เวียดนาม 1.16 ยกเว้นฟิลิปปินส์ 3.16 และตลาดพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ (Dow Jones 0.68, S&P500 0.86) ญี่ปุ่น 0.83 และอังกฤษ 0.98 จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ตลาดหุ้นไทยและภูมิภาค ค่อนข้างแพงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้กระแส Fund Flow ยังไม่ไหลกลับเข้ามา
ภาพระยะกลางยังแนะนำให้ใช้กลยุทธ์เลือกลงทุนรายหุ้นที่กระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยสุด หรือ Domestic Play ดังที่ได้กล่าวไว้ด้านล่าง แต่ระยะสั้น ๆ ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว จากพายุเฮอริเคนที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น แนะนำลงทุนระยะสั้น ในหุ้นพลังงานที่เริ่มมี upside เช่น PTT(Switch:FV@B54) และ ตามด้วยหุ้นโรงกลั่นที่คาดว่าจะเห็นการดีดตัวในช่วงสั้น ๆ จากกำลังการกลั่นที่จะลดลงจากปิดโรงกลั่น เพราะปัญหาของภัยธรรมชาติ แต่สถานการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ
หุ้นในกลุ่ม Domestic Play คือ
หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคในประเทศ : ROBINS, BJC, ADVANC
หุ้นก่อสร้าง และ วัสดุก่อสร้าง : SCC, SCCC, DCC, SEAFCO
หุ้นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน : EASTW, TTW, RATCH, BGRIM
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
ธนาคาร : BBL, TCAP
มีเงินสดสุทธิ : VGI, MACO, PLANB
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า และราคาหุ้นยัง Laggard : TU, CPF, HANA
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO13742