- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Tuesday, 04 September 2018 22:09
- Hits: 1951
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
SET ยังขาดแรงขับเคลื่อน โดยยังให้น้ำหนักสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ประกาศเพิ่มเติม 5 ก.ย. นี้ ขณะที่เงินเฟ้อไทยขึ้นยืนเหนือดอกเบี้ยนโยบาย เป็นสัญญาณว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่ยังมีช่องว่างจากดอกเบี้ยต่างประเทศ ทำให้ fund flow ยังชะลอไหลเข้า กลยุทธ์ให้ปรับพอร์ตและเลือกเป็นรายหุ้นเน้น Domestic Play ที่ P/E และ Beta ต่ำ (DCC, CPF, RATCH, EASTW) เติบโตสูง 2H61 หรือหุ้น Laggard (BH, SCCC) หุ้นอาหารส่งออกเข้าสู่ High Season (CPF) หรือมีเงินสดสุทธิ (VGI, MACO, PLANB) Top Pick MACO([email protected]) สื่อนอกบ้านที่เติบโตแรง
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย ... มูลค่าซื้อขายเบาบาง SET Index เคลื่อนไหวจำกัด
SET Index วานนี้ แกว่งบวก-ลบ สลับกัน และปิดตลาดที่ 1721.21 จุด ลดลงเล็กน้อย 0.37 จุด หรือ -0.02% มูลค่าการซื้อขายราว 3.7 หมื่นล้านบาท โดยมีหุ้นใหญ่ช่วยประคองตลาด คือ PTT, TOP, CPALL ตามด้วยหุ้นขนาดกลาง-เล็ก CBG+6.49%, DDD+11.93% ตรงข้ามหุ้นที่กดดันตลาดคือ ICT (ADVANC TRUE) ธ.พ. และ รายตัว IVL และ BEAUTY เป็นต้น
แนวโน้มตลาดฯ ไทยน่าจะยังปรับฐานโดยน่าจะกลับมาทดสอบ 1700 จุดอีกครั้ง โดยให้น้ำหนักต่อ สงครามการค้าสหรัฐ กับคู่ค้าหลักๆ จีน ยุโรป และแคนาดา เป็นต้น และเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นหนุนดอกเบี้ยขาขึ้น ถือเป็นอุปสรรคต่อตลาดอีกประการ
สหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจีนอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ
ปัจจัยต่างประเทศ น่าจะมุ่งไปในวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งจะประกาศผลการทำประชาพิจารณ์ของสหรัฐ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าจีนรอบที่ 3 ซึ่งสาระสำคัญอยู่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหรือไม่ จากล่าสุดที่จะเพิ่มวงเงินอีกราว 2 แสนล้านเหรียญ และอัตราภาษี 25% ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศพร้อมจะมีผลบังคับใช้ภาษีหลังประชาพิจารณ์เสร็จสิ้น ซึ่งจีนจะตอบโต้อย่างไรเพราะจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 1.54 แสนล้านเหรียญฯ ทำให้วงเงินตอบโต้สหรัฐน่าจะจำกัด
และในวันเดียวกันสหรัฐมีแผนเจรจากับแคนาดาอีกครั้ง หลังจากปลายสัปดาห์ที่แล้วการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามสภาคองเกรสมีกำหนดเวลาพิจารณาข้อตกลงการค้าภายใน 60 วันหลังจากที่ผลสรุปการเจรจาเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามแม้สหรัฐอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ แต่ผลกระทบสุดท้ายมีแต่ผู้แพ้ คือประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย กระทบมากสุดจากการที่ต้องจ่ายสินค้าแพงขึ้น ซึ่งจะผลักดันเงินเฟ้อและหนุนใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นของตุรกี ที่น่าจะเป็นสนใจอีกครั้ง คือวานนี้ รายงานเงินเฟ้อเดือน ส.ค.พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ 17.9% จาก 15.8% ใน ก.ค. เป็นผลจากค่าเงินลีราเทียบดอลลาร์อ่อนค่าราว 75%นับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนนี้สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 17.75% ทำให้ตลาดคาดว่าการประชุมของธนาคารกลางตุรกีในสัปดาห์หน้าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ ซึ่งปัญหาค่าเงินลีราที่อ่อนค่า ทำให้มีลูกหนี้ในตุรกีต้องเผชิญหนี้สินสกุลเงินท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้จะกระทบต่อฐานะเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ และผู้ลงทุนหรือเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ยุโรปราว 73.3% ของเจ้าหนี้ตุรกีทั้งหมด
เงินเฟ้อไทยทะลุเกินดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยมีโอกาสขึ้น 0.25% ปีนี้
กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 1.62%yoy แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี และเพิ่มจาก 1.46% ในเดือน ก.ค. (สูงกว่าที่ ASPS คาด 1.59%) ทั้งนี้เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวด น้ำมันเพิ่มขึ้น 12.03%, ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 5.86%, ข้าวและแป้งเพิ่มขึ้น 4.26%, เคหสถานเพิ่มขึ้น 1.13% ขณะที่หมวดที่ยังหดตัว คือ เนื้อสัตว์ลดลง 0.38% (เดือน ก.ค. ลดลง 1.89%) และ ผักผลไม้ลดลง 1.27% (เดือน ก.ค. ลดลง 4.88%)
แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ ASPS คาดว่าน่าจะยังมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น 1.78% ในเดือน ก.ย. และจะแตะ 2% ในช่วงปลายปี (ภายใต้สมมติฐาน FX 33 บาทต่อดอลลาร์ และน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2561 ที่ 65 เหรียญฯต่อบาร์เรล) จะเห็นว่าเงินเฟ้อสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% น่าจะกดดันให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งจะเริ่มเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่น่าจะดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดีต่อหุ้นมีฐานะเป็น Net cash position
ผลจากสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้หลายประเทศเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น ขณะที่ไทย คงไม่อาจเลี่ยงได้เช่นกัน (ดังที่กล่าวข้างต้น) โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น คือ
1. หุ้นธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อกว่า 70% เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับ หนุน NIM ดีขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ลดลง แต่ราคาหุ้นมี upside จำกัด แนะนำลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว ชอบ BBL(FV@B220) และ TCAP (FV@B65)
2. หุ้นที่มีสถานะเงินสด (Net Cash) มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
กลุ่มรับเหมาฯ คือ STEC, SYNTEC, PYLON, STPI, BJCHI
กลุ่มชิ้นส่วนฯ คือ HANA, DELTA, SVI
กลุ่มยานยนต์ คือ IRC, STANLY
ธุรกิจสนามบิน คือ AOT
ธุรกิจสื่อนอกบ้าน คือ PLANB, VGI, MACO
อย่างไรก็ตามหุ้น Net Cash ดังกล่าว ราคาหุ้นปรับขึ้นจน upside เริ่มจำกัด ยกเว้น STEC มี upside 10.6%, PYLON มี upside 9.4%, STANLY มี upside 12.0%, VGI มี upside 27.2% และ MACO มี upside 24.1%
ตรงข้ามกับบริษัทที่มี Gearing สูง และมีสัดส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวน่าจะกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เช่น THAI มี Gearing สูงถึงกว่า 4.7 เท่า และ มีภาระดอกเบี้ยลอยตัวถึง 40% ขณะที่ DTAC แม้มี Gearing สูงราว 1.36 เท่า และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยลอยตัวทั้ง 100% ก็ตาม แต่ DTAC มี Interest Coverage Ratio ที่ 1.4 เท่า และกระแสเงินสดมั่นคง จึงมีความสามารถในการจ่ายชำระต้นทุนทางการเงินได้เพียงพอ
อีกกลุ่มที่น่าจะกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นคือ กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง เนื่องจากมีสัดส่วนดอกเบี้ยรับคงที่ถึง 98% ของโครงสร้างสินเชื่อ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นดอกเบี้ยคงที่ 56% ของต้นทุนรวม ทำให้มีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มเร็วกว่าดอกเบี้ยรับที่ได้รับจากากรปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้จากการศึกษาของนักวิเคราะห์ ASPS พบว่าหากอัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 25 bps จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิกลุ่มปี 2562 ลดลง 0.9%
นอกจากนี้ธุรกิจนี้ยังเผชิญกับความเสี่ยง พรบ. กำกับดูแล Non-Bank ที่นอกจากจะจำกัดการคิดรายได้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมแล้ว (ผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อภายใต้สัญญาเงินกู้ยืม (Loan contract) จะคิดดอกเบี้ยไม่เกินเพดานตามกรอบกฎหมายอยู่แล้ว แต่การนำค่าธรรมเนียมจัดการสินเชื่อรวมไว้ในอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้า ทำให้สูงเกินเพดานที่กฎหมายกำหนด) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาควบคุม ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถฯ อีก จากปัจจุบันที่ไม่ได้อยู่ภายใน ธปท. ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายเดิม และรายใหม่
เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นทั้งไทยและเทศฯ แต่เข้า Bond ต่อเนื่อง
วานนี้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้น 293 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน) ยกเว้นตลาดหุ้นไต้หวันเพียงแห่งเดียวที่ถูกซื้อสุทธิ แต่แรงซื้อลดลงเหลือเพียง 14 ล้านเหรียญ ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศต่างชาติขายสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกถูกขายสุทธิ 217 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 21 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ 13 ล้านเหรียญ, และไทยที่ต่างชาติยังขายสุทธิอีก 57 ล้านเหรียญ หรือ 1.85 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7 มูลค่าขายรวม 9.47 พันล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิเล็กน้อย 351 ล้านบาท (ซื้อสุทธิติดต่อกัน 13 วัน มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.35 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 3.11 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 มีมูลค่ารวมสูงถึง 6.17 หมื่นล้านบาท) กดดัน Bond Yield 10 ปี ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.73% แม้ต่างชาติจะขายหุ้นไทย แต่เงินทุนที่ไหลเข้าตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.45% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 32.67 บาท/ดอลลาร์
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO13337