- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 16 August 2018 17:15
- Hits: 4114
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกมีน้ำหนักมากขึ้น วิกฤตการเงินตุรกีเป็นจุดเริ่มต้น ขณะที่ดอลล่าร์แข็งค่า กดดันสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันต่ำกว่า 70 เหรียญฯ ส่วนกำไรตลาดหุ้นไทยงวด 1H61 ยังเป็นไปตามคาด ทำให้ยังคง EPS ตลาดที่เดิม และดัชนีเป้าหมายที่ 1,662 จุด อิง P/E 15 เท่า กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play (ROBINS, DTAC, DCC, EASTW, SPF) หรือหุ้น 2 Low คือ Beta และ P/E ต่ำ เลือก DCC([email protected]) และ EASTW(FV@B13) เป็น Top picks
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทย …. SET ร่วงต่ออีก 20 จุด
วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อ โดยเปิด gap ร่วงลงเกือบ 7 จุด และแกว่งตัวลงตลอดทั้งวันปิดตลาดที่ 1676.29 จุด ลดลง 19.06 จุด หรือ 1.12% มูลค่าการซื้อขาย 5.38 หมื่นล้านบาท เป็นการปรับลงทุกกลุ่มฯ นำโดยโดยหุ้นน้ำมัน PTT, PTTEP ตามราคาน้ำมันดูไบที่หลุด 70 เหรียญฯ เป็นครั้งแรก นับจากกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ตามด้วยแรงขายรับงบ 2Q61 ของหุ้นกลุ่ม ICT อย่าง TRUE -5.51% ADVANC -3.25% (ลดลง 6.5 บาท มากกว่าเงินปันผลที่จ่าย 3.78 บาท/ต่อหุ้น) และ DTAC -2.72%) เช่นเดียวกับค้าปลีก ปรับลดทั้งกลุ่ม COM7 -2.13% และ ROBINS -3.5%) ยกเว้น BEAUTY ฟื้นตัวสวนตลาด 12.75% น่าจะเป็นเพราะราคาหุ้นลดลงมากเกินไป สะท้อนกำไรงวด 2Q61 ต่ำกว่าคาด และราคาหุ้นที่ลดลงทำให้มีค่า P/E เหลือ 14 เท่า จากที่เคยสูงเกือบ 40 เท่า
แนวโน้ม SET Index วันนี้มีโอกาสลงมาที่แนวรับ 1665 จุด จากปัญหาเศรษฐกิจตุรกี น่าจะลุกลามมายุโรป และ สหรัฐ ซึ่งยังคงใช้นโยบายกีดการค้าจีน ต่อเนื่อง ขณะที่ดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าต่อ กดดันสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดูไบหลุด 70 เหรียญฯ
ปัญหาสภาพคล่องตุรกี กดดันค่าเงินโลก
สภาพคล่องทางการเงินในตุรกีน่าจะมีน้ำหนักกดดันตลาดเงินและตลาดหุ้นโลกเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาขาดดุลการค้า-ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาระหนี้สินต่างประเทศ ล้วนกดดันเงินเฟ้อและค่าเงิน ซึ่งเป็นเหตุทำให้เงินทุนไหลออก และเชื่อว่าได้ลุกลามมายังประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่ยังพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนจากค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาคดังภาพ ทำให้วานนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียเรียกประชุมพิเศษพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้อีก 0.25% เป็น 5.5% (เงินเฟ้อ 3.18%) เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก
เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา ที่ประชุมธนาคารกลางวานนี้ สรุปให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 5% เป็น 45% เพื่อสกัดกั้นเงินเงินเฟ้อที่สูง 31.21% และเงินทุนไหลออก
น้ำมัน และ Soft commodity ลดลงสวนดอลลาร์ที่แข็งค่า
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เป็นเพียงสกุลเดียวที่แข็งค่ามากสุด รองลงมาคือเงินเยน ท่ามกลางค่าเงินโลกที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ เพราะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งสุด และมาตรการกีดกันการค้าโลก กดดันให้สินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง รวมถึงสินค้า Soft commodity เริ่มจาก :
น้ำมันดิบดูไบ ลดลงแรงจากจุดสูงสุดเมื่อ 29 มิ.ย. ที่ 76.77 เหรียญฯ/บาร์เรล ล่าสุดลงอยู่ที่ 69.5 เหรียญฯ หรือลดลงราว 9.43% (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 69.03 เหรียญฯ เทียบกับสมมติฐาน ASPS คาดปีนี้ที่ 65 เหรียญฯ) ขณะที่ supply เพิ่มขึ้น จากสหรัฐยังคงผลิตแทนการนำเข้า (ล่าสุดผลิตวันละ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์) และกลุ่ม OPEC ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยกำลังผลิตที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอเล่า ขณะที่ข้อตกลงให้จำกัดกำลังการผลิตระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC และ non-OPEC) จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ น่าจะกดดันหุ้นน้ำมันลงต่อ ยังแนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)
ทองแดง ปรับลดลงต่อเนื่องจนล่าสุด อยู่ที่ 5,801 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ลดลงถึง 26.4% จากจุดสูงสุดในรอบ 4 ปี ที่ระดับ 7,332 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 61 ถือเป็นผลบวกต่อกลุ่มชิ้นส่วนฯ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์เป็นต้น โดยจีนเป็นผู้บริโภคทองแดงรายใหญ่ของโลก คือกว่า 45% ของการใช้ทองแดงทั่วโลก
KCE ([email protected]) ใช้ทองแดงราว 20% ของต้นทุนวัตถุดิบ หรือคิดเป็น 10% ของต้นทุนขาย โดยราคาทองแดงเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่ากับ 6,815 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่สมมติฐาน ทองแดงที่ 6,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน น่าจะส่งผลให้กำไรสุทธิของ KCE มีแนวโน้มเพิ่มกว่า ประมาณการ แต่อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้ตอบรับไปแล้ว
ขณะที่ HANA ([email protected]) มีการใช้ทองแดงน้อย จึงได้รับประโยชน์ไม่มาก แต่กลับได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากสุด เพราะมีฐานการผลิตในจีน คิดเป็นราว 22% ของกำลังการผลิตได้รวม หรือ รายได้จากฐานการผลิตในจีนคิดเป็น 13% ของรายได้รวม แต่ได้รวมผลกระทบดังกล่าวไว้ในประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 แล้ว แต่ราคาหุ้น มี upside จำกัด
สังกะสี (Zinc) ปีนี้ราคาลดลงไปแล้ว 23%ytd โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน มิ.ย. ลดลงแรงจาก 3,212 เหรียญต่อตัน สู่ 2,300เหรียญต่อตัน หรือลดลงถึงกว่า 28.3% ทำราคาต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี
นิกเกิล (Nickel) เป็นโลหะที่นำมาใช้เคลือบโลหะเพื่อป้องกันสนิม ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า สเตนเลสสตีล และอุตสาหกรรมเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ สำหรับราคานิกเกิลในตลาดล่วงหน้า LME (London Metal Exchange) วานนี้อยู่ที่ 12,865 เหรียญต่อตัน ซึ่งราคานิกเกิลลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่เคยสูงถึง 15,845 เหรียญต่อตัน หรือลดลงไปแล้วกว่า 23.1% แต่อย่างไรก็ตามราคานิกเกิลได้ฟื้นตัวในช่วงหลัง ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้น 9.3%ytd เพราะ ฟิลิปปินส์ ผู้ส่งออกนิกเกิลรายใหญ่ลำดับ 2 ของโลก ได้ลดการส่งออกในปีนี้ลง 17% หลังทยอยปิดเหมือง
รวมถึง soft commodity เช่น เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง สืบเนื่องจากประเทศจีน (ผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของโลกราว 97 ล้านตัน) ประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐฯ (ผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับ 2 ของโลกจำนวน 56.2 ล้านตัน) โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าถั่วเหลือง ในอัตรา 25% กดดันราคาเมล็ดถั่วเหลือง และราคากากถั่วเหลือง ในตลาดโลก (CBOT) ปรับตัวลดลง 18% และ 12% QTD มาอยู่ที่ 8.68 เหรียญสหรัฐ/บุชเชล และ 333 เหรียญสหรัฐ/ช็อตตัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ TVO([email protected]) ในฐานะผู้นำเข้าถั่วเหลืองมาแปรรูปเป็นกากถั่วเหลืองและน้ำมันพืช
ทั้งนี้ราคากากถั่วเหลืองที่อ่อนตัวลงเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากจะมีวัตถุดิบกากถั่วเหลือง (ปกติใช้กากถั่วเหลืองราว 30% ของวัตถุดิบอาหารสัตว์) ในการผลิตอาหารสัตว์ถูกลง ส่งผลบวกต่อ CPF (FV@B30) GFPT (FV@B14) TFG ([email protected]) และ BR ([email protected]) นอกจากนี้การที่จีนตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกเนื้อหมูไปจีนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ยางพารา แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราในจีน(ผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก) ที่ลดลงตามเศรษฐกิจจีนที่เติบโตในอัตราชะลอลง และภาวะ oversupply จากการที่ประเทศไทย (ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่) มีฝนตกชุกกว่าปกติ ขณะที่การการฟื้นตัวของราคายางพาราเป็นไปค่อนข้างยาก ตราบที่สงครามการค้า สหรัฐ-จีน ยังมีอยู่ ล่าสุด ราคายางแท่งอยู่ที่ 1.35 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ต่ำกว่าราคายางแท่งเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2561 เท่ากับ 1.43 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน (ปรับลดลง 15.5% จากราคาสูงสุดเดือน ม.ค. ที่ 1.54 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) เป็นลบต่อ STA ([email protected]) แม้เป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก (รายได้ยางแท่งราว 70%)
น้ำตาล ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำตาลโลกยังเผชิญปัจจัยกดดันจากส่วนเกินผลผลิตน้ำตาลที่เกินดุลในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยบทวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยน้ำตาลชั้นนำของโลก F.O. Lichts ฉบับเดือนเม.ย. 61 ได้คาดการณ์ส่วนเกินผลผลิตน้ำตาลในปี 2560/61 (สิ้นปีบัญชีต.ค. 61) ไว้ที่ 10.5 ล้านตัน และคาดส่วนเกินผลผลิตน้ำตาลโลกจะลดลงเหลือ 6.1 ล้านตันในปี 2561/62 กดดันราคาน้ำตลาดดิบโลกอ่อนตัวลงจนล่าสุดอยู่ที่ 10.23 เซ็นต์/ปอนด์ ต่ำกว่าราคาน้ำตาลดิบโลกเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีบัญชี 2560/61 อยู่ที่ 12.94 เซ็นต์/ปอนด์ และต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปี 2560/61 ไว้ที่ 14.50 เซ็นต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าปี 2560/61 ไว้ทั้งหมดแล้ว ที่ราคาเฉลี่ยราว 14.50 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่า KSL ก็ได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าไว้ที่ราคาใกล้เคียงกัน
วิกฤตตุรกี กดดันเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
วิกฤตค่าเงินผันผวนของตุรกี บวกกับดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าต่อเนื่อง กดดันให้วานนี้ Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นทุกประเทศในภูมิภาคกว่า 220 ล้านเหรียญ (ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการ) และเป็นการขายสุทธิติดต่อกัน 4 วัน เริ่มจากอินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 24 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ตามมาด้วยไต้หวัน 19 ล้านเหรียญ (หลังซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), ฟิลิปปินส์ 12 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 5) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 59 ล้านเหรียญ หรือ 1.96 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 2 วัน) มิหนำซ้ำยังชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 5.0 พันสัญญา (ชอร์ตสุทธิเป็นวันที่ 4 มูลค่ารวมกว่า 2.31 หมื่นสัญญา) เช่นเดียวกับสถาบันฯที่ขายสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อย 96 ล้านบาท (ขายสุทธิวันที่ 3)
ความกังวลต่อปัจจัยภายนอก ยังส่งผลให้ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 1.31 หมื่นล้านบาท ส่วน Bond Yield 10 ปี ของไทยอยู่ที่ 2.72% ยังน้อยกว่า Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ 2.86% กดดันให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบดีกว่า
กำไร 1H61 ใกล้ประมาณการ..คง EPS และดัชนีเป้าหมาย 1662 จุด
สรุปผลการดำเนินงานงวด 2Q61 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 554 บริษัท คิดเป็น 99% ของ Market Cap. รวม กำไรสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะที่ประกาศ 2Q60 พบว่าเติบโตราว 17.6%yoy แต่หากเปรียบเทียบกับ 1Q61 พบว่าไตรมาสนี้กำไรฯ ลดลงราว 10.6%qoq และเฉพาะ Real Sector มีกำไรสุทธิรวมกันราว 1.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9%yoy แต่ลดลง 13.9%qoq
และหากเทียบเป็นรายกลุ่มฯ สามารถสรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานได้ดังนี้
กลุ่มฯ ที่ผลประกอบการเติบโตทั้ง yoy และ qoq คือ
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เติบโต 17.1%yoy และ 1.9%qoq หลักๆ มาจาก KTB (139.3%yoy,13.6%qoq) จากรายได้อื่น เช่นเดียวกับ KKP (30.9%yoy,2.5%qoq)
กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1,896.1%yoy และ 47.3%qoq จากฐานที่ต่ำในงวด 2Q60 คือ SEAFCO (144.9%yoy,78.3%qoq) รวมทั้งการขาดทุนที่ลดลงของ STPI
กลุ่ม ICT เติบโต 125.5%yoy และ 48.6%qoq มาจาก JAS และ TRUE ที่พลิกกลับมากำไร จากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน
กลุ่มที่กำไรเติบโต yoy แต่หดตัว qoq คือ
กลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 69.2%yoy แต่อ่อนตัวลงเล็กน้อยเพียง 0.7%qoq หลักๆ มาจาก VNT, GGC และ PTTGC กำไรจากการดำเนินงานปกติที่ลดลงตาม spread ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงจากทั้งธุรกิจอะโรเมติกส์และธุรกิจโอเลฟินส์ รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมฯ ลดลง อีกทั้งมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษความเสียหายจากวัตถุดิบคงคลังของบริษัทลูก GGC
กลุ่มที่กำไรเติบโต qoq แต่หดตัว yoy คือ
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 65.8%qoq แต่หดตัว 10.2%yoy หลักๆ จาก WHA (-68.8%yoy,-61.1%qoq) อ่อนตัวลงตามฤดูกาลและไม่มีบันทึกกำไรพิเศษจากการขายทรัพยสินเข้ากอง REIT, AMATA(-26.7%yoy,-41.9%qoq) เพราะค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และ LH (-5.1%yoy,-38.9%qoq) เกิดจากการตั้งประมาณการหนี้สินค่าซ่อมสาธารณูปโภคและสำรองค่าคดีความ และกำไรปกติที่ลดลง ขณะที่ ANAN (+109%yoy,+303.5%qoq) จากการโอนโครงการ JV ขนาดใหญ่ Aston Chula-Silom และ Ashton Asoke
กลุ่มที่กำไรหดตัวทั้ง yoy และ qoq คือ
กลุ่มค้าปลีก หดตัว 5.8%yoy และ 4.3%qoq หลักๆ มาจากธุรกิจความสวยความงาม BEUYTY (-6.2%yoy,-9.2%qoq), KAMART(-32.9%yoy,-41.9%qoq) ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค MAKRO (-9.6%yoy,-31.6%qoq) ส่วน CPALL, BJC แม้ yoy จะขยายตัว แต่ qoq หดตัวลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
กลุ่มพลังงาน ลดลง 0.4%yoy และ 36.1%qoq หลักๆ มาจากหุ้นน้ำมัน PTT(-4.1%yoy,-24.5%qoq), PTTEP (-52.4%yoy,-73.2%qoq) เกิดจากผลกระทบเชิงลบทางภาษีจากเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่หุ้นโรงไฟฟ้า BGRIM(-48.8%yoy,-70.2%qoq)ขาดทุน Fx, และ GLOW (-36.5%yoy,-31.3%qoq)ต้นทุนค่าก๊าซซและถ่านหินเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน บวกกับค่า Ft ที่ถูกตรึงไว้ และการปิดซ่อมบางหน่วยผลิต ทำให้บริษัทมีกำไรที่ลดลง
โดยรวมพบว่า กำไร 1H61 ทำได้ราว ราว 5.55 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของประมาณการ หรือ ที่ประมาณการทั้งปีที่ทำไว้ 1.1 ล้านล้านบาท โดยหากพิจารณาเป็นรายกลุ่มพบว่าใกล้เคียงหรือดีกว่าคาดเกือบทุกกล่าคือ กลุ่ม ICT 61%, อสังหาริมทรัพย์ 56%, กลุ่มท่องเที่ยว 56%, กลุ่มปิโตรเคมี 54% ที่เหลือใกล้เคียงกับประมาณการ
หากยังอิงกำไรตลาดปี 2561 ที่ 110.78 บาทต่อหุ้น พบว่า Expected P/E 2561 พบว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15.30 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่าง ฟิลิปปินส์ 17.41เท่า มาเลเซีย 17.16 เท่า เวียดนาม 16.62 เท่า แต่สูงกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 14.78 เท่า ทั้งนี้ไม่รวมตลาดหุ้นจีน แม้ Expected P/E ต่ำเพียง 11.1 เท่า แต่เชื่อว่ายังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและกำไรตลาดหุ้นในปี 2562 ชัดเจนขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นไทย จึงยังคงดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2561 ที่ 1662 จุด อิง P/E 15 เท่า ภายใต้สมมติฐานที่ fund flow ยัไงไมไหลกลับเร็ว แม้ว่าได้ขายหุ้นไทยไปเกือบ 1.8 แสนล้านบาทนับจากต้นปีนี้ก็ตาม
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12522