- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Monday, 06 August 2018 22:42
- Hits: 2277
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ธนาคารพาณิชย์ทยอยขึ้นดอกเบี้ยรายย่อย สะท้อนต้นทุนการเงินที่เพิ่มตามตลาดโลก ล่าสุด SCB นำร่องขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ก่อนหน้านี้ TCAP นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ ทำให้หุ้นสถาบันการเงินกลับมานำตลาดอีกครั้ง ขณะที่หุ้นน้ำมันน่าจะทรงตัว เพราะยังมีปัญหาในแหล่งผลิต แต่ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐยังมีอยู่ ทำให้ดัชน่าจะบวก-ลบใกล้ 1700 จุด กลยุทธ์การลงทุนยังแนะนำให้หลบเข้าหุ้น Domestic เช่น โรงพยาบาล ธนาคารพาณิชย์ และค้าปลีก (BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top picks คือ BBL(FV@B220), AMATA([email protected]) น่าจะได้กระแสเชิงบวกจากการขยายฐานการผลิต BMW ในประเทศไทย
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวันศุกร์…. SET ยังยืนเหนือ 1700 จุด
วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังแก่วงตัวได้ในแดนบวกและปิดตลาดที่ระดับ 1712.09 จุด เพิ่มขึ้น 3.81 จุด หรือ 0.22% มูลค่าการซื้อขาย 4.75 หมื่นล้านบาท ดัชนีฯ เริ่มกลับมาทรงตัวบริเวณ 1700-1710 จุด โดยมีหุ้น ธ.พ.ฟื้นตัวคือ KBANK BBL KTB ตามด้วยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน-สาธารณูปโภค (BPP BGRIM EA TTW) และหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย (LH SPALI AP) ตรงข้าม หุ้นค้าปลีกมีแรงขายแม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะขยับขึ้นต่อเนื่องก็ตาม (ROBINS, MAKRO, CPALL) และแรงขายรับงบ 2Q61 ที่กำไรออกมาต่ำกว่าคาด เช่น ADVANC
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ น่าจะแกว่งตัวบวก-ลบใกล้ 1700 จุด โดยได้แรงหนุนจากหุ้นธนาคาร หลังจาก SCB นำร่องขึ้นดอกเบี้ยบ้าน และหุ้นน้ำมัน จากปัญหาความขัดแย้งในแหล่งผลิตน้ำมันยังมีอยู่ ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ยังมีน้ำหนักกดดันเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และตามด้วยแรงขายรับงบ 2Q61 ของ Real sector
จีนจะตอบโต้การค้าสหรัฐ วงเงิน 1.1 แสนล้านเหรียญ
ความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐ – จีนกลับมากดดันอีกครั้ง หลังจากมีการตอบโต้รอบ แรก (6 ก.ค. อัตราภาษี 25%) มูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ โดยสหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารอบ 2 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ แม้ได้เลื่อนการประกาศจากเดิมที่กำหนดไว้ต้น ส.ค. แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ และล่าสุด สหรัฐยังประกาศขึ้นภาษีเข้ารอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญฯ เป็น 25% จากเดิมประกาศจะเก็บที่ 10% หลักๆ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าจำเป็น อาทิ สินค้าเกษตร ประมง, เครื่องนุ่งห่ม, เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะทำประชาพิจารณ์วันที่ 5 ก.ย.
ขณะที่จีนพร้อมตอบโต้เต็มที่ แต่วงเงินที่จีนจะตอบโต้ได้ไม่น่าจะเกิน 1.3 แสนล้านเหรียญ เท่ากับที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ทั้งจีนได้ขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐรอบแรก 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ และพร้อมจะตอบโต้รอบ 2 อีก 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ และล่าสุด จีนประกาศจะตอบโต้คืนในรอบที่ 3 วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญฯ อัตราภาษี 5-25% หลักๆ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (รายละเอียดดังตาราง)
อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีในรอบแรก อาทิ ฝั่งสหรัฐ ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ถั่วเหลือง และ ฝั่งจีน คือ ผู้ผลิตรถยนต์ BMW , Tesla ทยอยขึ้นราคาสินค้า เพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นต้น ขณะที่ผลกระทบประเทศในฝั่งเอเซีย จะได้รับผลกระทบทางอ้อมและน่าจะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า
ราคาน้ำมันยังลงยาก ตราบที่ยังมีปัญหาแหล่งผลิตของโลก
ราคาน้ำมันดิบโลกยังยืนบริเวณ 70 เหรียญฯ เนื่องจากยังกดดันจากปัญหาในแหล่งผลิตสำคัญๆ เช่น เวเนซุเอล่า (ราว 4.5% ของการผลิตในโอเปค) ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่สหรัฐคว่ำบาตรการค้า กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจในชะลอตัว และเงินเฟ้อสูง รวมถึงปัญหาการเมือง ภายในประเทศ ล่าสุด คือ ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา เพิ่งรอดชีวิต จากการถูกลอบสังหารด้วยการโจมตีทางอากาศจากโดรน แต่ทหารได้รับบาดเจ็บ 7 นาย
อีกประเทศที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตรคือ อิหร่าน (ผลิตวันละ 3.81 ล้านบาร์เรลราว 11.9%) ห้ามทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านภายในวันที่ 4 พ.ย. ทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการแผนซ้อมรบ และขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งอาจทำให้มีอุปสรรคในการขนส่งน้ำมันดิบบริเวณดังกล่าวที่เป็นทางผ่านในการส่งออกน้ำมันดิบราว 30% ของการส่งออกทั้งหมดของโลก
อย่างไรก็ตามสหรัฐยังคงผลิตน้ำมันทดแทนการนำเข้า ล่าสุดผลิตวันละ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดเป็นประวัติการณ์) และประเทศกลุ่ม OPEC ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือน ก.ค. ราว 7 หมื่นบาร์เรล/วัน อยู่ที่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรล/วัน (เป็นระดับสูงสุดของปีนี้) เพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่หายไป แต่คาดว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยปัญหาระยะสั้น ๆ
ขณะที่ฝั่งความต้องการคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก แต่จะเห็นผลในปี 2562 อย่างไรก็ตามราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)
คาด ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยฯ ในรอบนี้ เพื่อหนุนเศรษฐกิจ
ต่างประเทศ สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักกับวันที่ 8 ส.ค. รายงานยอดส่งออกและนำเข้าของจีนเดือน ก.ค. ซึ่งการส่งออกของจีนมีแนวโน้มค่อยๆชะลอตัว สะท้อนจากที่ในเดือน เม.ย. ขยายตัว 12.9% เหลือ 12.6% และ 11.3% ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ตามลำดับ และในเดือน ก.ค. ตลาดคาดขยายตัวที่ 10%yoy ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้น
และในไทยวันที่ 8 ส.ค. การประชุม กนง. แม้เชื่อว่ารอบนี้ จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยฯ เพราะเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. ยังอยู่ที่ 1.46%yoy ใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% อย่างไรก็ตาม แต่เชื่อว่าจะไม่สามาถรอดพ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยตามกระแสโลกได้ สะท้อนจาก Bond Yield 10 ปีของไทย ล่าสุดอยู่ที่ 2.73% ปรับเพิ่มขึ้นจากปลายเดือนก่อนที่ราว 2.71% และถือว่ายังอยู่ในระดับสูงจากช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่อยู่ที่ราว 2.56% จึงคาดว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะเกิด 1 ครั้ง 0.25% เป็น 1.75% ในช่วง 4Q61 หลังจากเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ค. ขยายตัว 1.46%yoy จาก 1.38% ในเดือน มิ.ย. และราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงเหนือ 70 เหรียญ (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 68.83 เหรียญ) ทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสขยับไปแตะ 1.59% ในเดือน ส.ค. และ 1.79% ใน ก.ย. และ 2.01% ใน ธ.ค.
ธนาคารพาณิชย์เริ่มขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อย น่าจะกดดันหุ้นอสังหาฯ
ทางด้านสถาบันการเงินในประเทศ พบว่าเริ่มตระหนักถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ล่าสุด SCB นำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 0.05% ในบางแคมเปญตั้งแต่ไตรมาส 2 อีกทั้งยังได้มีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ 0.5-1% (มีผล 15 ส.ค. นี้) เช่นเดียวกับ TCAP ก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยการจัดแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากประกาศ สคบ.เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
เชื่อว่าหลังจากนี้ จะทำให้ ธ.พ. แห่งอื่นๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตามเช่นกัน โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากสินเชื่อเคหะและสินเชื่อรถยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้ส่วนต่าง spread เพิ่มมากขึ้น (จากเดิมที่ทรงกับลง) เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อของ ธ.พ.ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 56% เทียบกับเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่ง ธ.พ. ที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะ ธ.พ. ที่มีสถานภาพในตลาดเงินเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิ (Net Lending) จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ยืมสุทธิ (Net Borrowing)
จากการประเมินของฝ่ายวิจัย พบว่าทุก 25 bp ของอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 5.6% โดย KTB กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด 11.71% ตามด้วย BBL 8.07% TMB 7.99% และ LHFG 5.82% ตรงข้ามกับ BAY, TISCO, KKP และ TCAP ที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีสัดส่วนโครงสร้างสินเชื่อ กับเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นลอยตัวน้อยกว่าคงที่ เมื่อรวมกับปัจจัยพื้นฐาน จึงยังแนะนำ BBL (FV@B220)
ตรงกันข้าม น่าจะทำให้การปล่อยสินเชื่อบ้านแก่ผู้ซื้อ ตลาดกลาง-ล่าง เผชิญปัญหา การปฏิเสธในการปล่อยสินเชื่อมากชึ้น แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาบ้านเพื่อขายในตลาดกลาง-บน ยังคงไปได้อยู่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ ได้ให้น้ำหนักกับการพัฒนาตลาดบ้านเดียว หรือตลาดบนมากขึ้น (LH, QH, PF, SC) เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมเน้นตลาดกลาง-บนมากขึ้น (SIRI, RML, ORI, SPALI, SIRI, SF) เป็นต้น ผลกระทบจึงน่าจะจำกัด ส่วนที่เน้นตลาดกลาง – ล่าง อาจจะกระทบมากกว่ากลุ่มที่กล่าวก่อนหน้า คือ PSH, LPN
สงครามการค้า, Bond Yield ที่สูงขึ้นยังกดดันเงินทุนไหลออก
แม้วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 208 ล้านหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) แต่ตลาดฯน่าจะกลับมาให้น้ำหนักกับประเด็นสงครามการค้า รวมถึงการเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันให้ Fund Flow มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียต่อจากนี้ หากพิจารณาเป็นรายประเทศในวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ถูกขายสุทธิ 12 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธติดต่อกัน 9 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 4 ประเทศ ต่างชาติซื้อสุทธิ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 119 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) ตามมาด้วยไต้หวัน 84 ล้านเหรียญ, ฟิลิปปินส์ซื้อสุทธิเล็กน้อย 1 แสนเหรียญ และไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิ 17 ล้านเหรียญ หรือ 560 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5) ต่างกับสถาบันฯที่สลับมาขายสุทธิ 712 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 1.30 พันล้านบาท ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ของไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.72% แต่ยังน้อยกว่า Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ 2.95% ทำให้ Fund Flow มีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบดีกว่า อีกทั้ง Fund Flow ที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นเอเชีย อาจมีสะดุดบ้าง หาก Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐ ยังขยับขึ้นต่อเนื่อง
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO12121