WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      คาดว่าการปรับโครงภาษี น่าจะเป็นแรงกดดันต่อ SET Index โดยตรง กลยุทธ์ให้ปรับลดพอร์ตลงทุนโดย ถือหุ้น 30% และถือเงินสด 70% และเลือกซื้อรายหุ้น โดยเฉพาะหุ้นปันผล หรือมีผลกำไรฟื้นตัวในงวด 2H57 เลือก SAMART(FV@B32) เป็น Top pick

ตลาดหุ้นน่าจะได้รับแรงกดดันจากการยกเลิก LTF
       ดังที่ได้นำเสนอแผนการปรับโครงสร้างภาษีของรัฐ (Market Talk วันศุกร์ที่ผ่านมา) โดยเฉพาะแนวคิดในการยกเลิกสิทธิภาษีของผู้ซื้อกองทุนระยะยาว (LTF) แต่ยังคงสิทธิของผู้ซื้อกองทุนสำหรับผู้ที่จะเกษียณอายุ (RMF) ในเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างมาก เพราะว่าการให้สิทธิลดหย่อนภาษีดังกล่าว มิใช่แต่ส่งเสริมให้มีการลงทุนระยะกลาง-ยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือของรัฐ ในการช่วยพยุงตลาดหุ้นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมาตรการหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ในภาวะที่เกิดปัญหากดดันอย่างหนัก ไม่ว่าจะปัจจัยการเมืองในประเทศ หรือจากภายนอก (เทียบกับในอดีต ที่ภาครัฐเคยพยายามเข้ามาช่วยเหลือ หรือพยุงหุ้นโดยการระดมเงินจากโบรกเกอร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาสนับสนุน แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่ประสบความสำเร็จเลย)
      เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยนับจากนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ กองทุน LTF ณ สิ้นเดือน ส.ค.57 จำนวน 53 กอง มูลค่า 2.45 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 27.6% ของมูลค่าสุทธิของเงินกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมด หรือ Equity Fund หรือเป็นเงินรวม 8.88 แสนล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นได้รวม RMF 129 กอง มูลค่าราว 1.54 แสนล้านบาท และอีกราว 4.89 แสนล้านบาท เป็นกองทุนทั่วไป) ทั้งนี้ไม่รวมกองทุนตราสารหนี้ และตราสารการเงินระยะสั้น และ property fund อีกกว่า 2.86 ล้านล้านบาท) ขณะที่ฐานะสุทธิของกองทุนหุ้น เท่าที่ได้ตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีเงินสดอยู่ในมือเพียง 3.75% ของเงินลงทุนในกองทุนตราสารทุนทั้งหมด ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2-10% ถือว่ากองทุนหุ้นได้เข้าลงทุนเต็มที่แล้ว ทำให้เชื่อว่านับจากนี้น่าจะเป็นทยอยขายมากกว่าซื้อ ประกอบกับตลาดหุ้นไทยมีค่า Expected PER กว่า 16 เท่า ซึ่งอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการที่จะทำให้ SET Index ปรับขึ้นไปจากนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกใหม่ๆ พร้อมทั้งแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนที่มีความต่อเนื่องในระดับสูง แต่จากการศึกษาข้อมูลสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ พบว่าโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อเข้ามาหนาแน่นเหมือนช่วงในอดีต อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งทำให้ SET Index มีโอกาสผันผวนในทิศทางขาลง กลยุทธ์ระยะจึงยังแนะนำให้ขายทำกำไร โดยให้ถือหุ้นเพียง 30% และ ถือเงินสด 70% ทั้งนี้ให้เลือกซื้อหุ้นปันผลสูง (INTUCH 6.44%, ADVANC 5.68%) หรือ เงินปันผลสูง และ P/E ต่ำ ได้ PTTGC 4.87% P/E 9.5 เท่า และ BECL 4.8% และ P/E 10.3 เท่า และ RML 5.8% และ P/E 5.14 เท่า

สหรัฐและยุโรป คว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม
      เศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรายงานล่าสุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 2.5% mom และสูงกว่าที่คาด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี สอดคล้องกับยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.6%mom (มากกว่าเดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.3%mom) เป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน น่าจะหนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็น 70% ของ GDP และน่าจะหนุนให้เศรษฐกิจงวด 3Q57 เป็นไปตามคาดคือ เติบโตเฉลี่ย 1.2% ใน 2H57 เพื่อให้ทั้งปีเติบโต 1.7% ตาม IMF คาด) ทั้งนี้แม้ตลาดแรงงานยังมีโอกาสจะฟื้นตัวได้มากกว่าปัจจุบันที่มีอัตราการว่างงานที่ 6.1% ก็ตาม ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะนำไปใช้ในการตัดสินใจกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ติดตามผลการประชุม FOMC ในระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ หลังจากการตัดลด QE จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกโดยรวม
สหรัฐ และยุโรป ยกระดับการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพิ่มระดับการเผชิญหน้าที่มากขึ้น โดยล่าสุด สหรัฐ และ ยุโรป ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รอบใหม่ กล่าวคือ กระทรวงการคลังสหรัฐ สั่งห้ามการทำธุรกรรมด้านการธนาคาร, พลังงาน และ กลาโหม ต่อรัสเซีย โดยห้ามจัดสรรเงินกู้ให้แก่ บริษัท โอเอโอ แก๊สพรอมเนฟท์ และ โอเอโอ ทรานส์เนฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ยุโรปได้คว่ำบาตรเพิ่มเติมไปแล้วล่าสุดรวม 15บริษัท และเพิ่มบุคคลอีก 24 ราย
?? ขณะที่ก่อนหน้า ยุโรปได้จำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทน้ำมันและปิโตรเลียมของรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่หลายรายที่กู้เงินกับยุโรป ส่งผลให้รัสเซีย ตอบโต้โดยการยกเลิกการนำเข้าอาหารจากสหรัฐ และยุโรป ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับรัสเซียได้เตรียมมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม โดยอาจจะทำการปิดน่านฟ้า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้น่าจะส่งผลร้ายต่อสายการบินยุโรป ที่กำลังประสบปัญหาการเงินอาจถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิงมากขึ้น จากการบินอ้อม โดยสรุปตราบที่ความขัดแย้งในภูมิภาคยังมีน่าจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า หรือ เติบโตน้อยกว่าคาด

ต่างชาติขายภูมิภาคต่อเนื่อง แต่กลับซื้อไทยเล็กน้อย
        วันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 299 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 41% จากวันก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขายสุทธิรายประเทศ เริ่มจากไต้หวันขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 142 ล้านเหรียญฯ และ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ที่กลับขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 และเพิ่มขึ้น 11% เป็น 108 ล้านเหรียญฯ อินโดนีเซียขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว เพิ่มขึ้น 30% เป็น 66 ล้านเหรียญฯ และ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่เบาบางเพียง 6 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 11% จากวันก่อนหน้า) สวนทางกับไทยที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 23 ล้านเหรียญฯ (หรือ 737 ล้านบาท หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
เป็นที่สังเกตว่า ต่างชาติได้ขายสุทธิตลาดหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 พร้อมด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นเพียง ไทย ที่กลับมาซื้อสุทธิ แต่ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะตลาดหุ้นไทย เป็นเพียงตลาดเดียวที่ถูกขายสุทธิอย่างหนักในช่วงก่อนหน้า กล่าวคือนับตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึงปัจจุบันยังมียอดซื้อสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท สวนทางกับประเทศอื่นๆ ทุกประเทศที่กล่าวข่างต้น กลับมียอดซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปรับโครงสร้างภาษี LTF ข้างต้น แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ น่าจะเป็นปัจจัยที่ถ่วงให้ต่างชาติชะลอการเข้าซื้อตลาดหุ้นไทยนับจากนี้

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!