- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Thursday, 19 July 2018 22:50
- Hits: 3138
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
เศรษฐกิจในประเทศยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคครัวเรือนและการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ดีขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หนุนเศรษฐกิจปีนี้ยังทำได้ 4.4% ตามคาด แต่ปี 2562 ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกกับผลกระทบทางการค้า ขณะที่เข้าสู่การรายงานงบ 2Q61 ของกลุ่มแบงก์ ซึ่งอาจจะเห็นแรงขายรับงบ กลยุทธ์ฯ เน้นหุ้น Domestic Play ปัจจัยสี่ (BJC, BH) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW, DTAC) ปลอดภัยดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, PLANB) และได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks เลือก CPF(FV@B30) และ RATCH(FV@61)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้…. SET index ฟื้นตัวขึ้นต่อ
SET index วานนี้ ปิดตลาดที่ 1,635.85 จุด เพิ่มขึ้น 9.78 จุด หรือ 0.6% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.66 หมื่นล้านบาท กลุ่มพลังงานโดยเฉพาะ PTT +3.66% และมี impact ต่อตลาดราว 4.9 จุด ตามด้วยกลุ่มธ.พ. บวกยกกลุ่ม ยกเว้น BBL ปิดทรงตัวที่ 194 บาท และ BAY -1.26% โดยภาพรวมยังคงได้ sentiment บวกจากการเลื่อนใช้ IFRS9 แต่ต้องระวังแรงขายทำกำไรหลังประกาศงบฯ ขณะที่ KTC รีบาวด์ขึ้นต่ออีก 2.5 จุด (+8.62%) ตรงข้ามกับกลุ่มขนส่ง AOT -0.81% กลุ่มส่งออก-อาหาร CPF -0.96% และหุ้นรายตัวอื่นๆ EGCO TOP CENTEL ปิดลบกดดันตลาดเล็กน้อย
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้อาจฟื้นต่อ แต่ยังเผชิญกับแนวต้าน 1640 จุด โดยการให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มพลังงานน่าจะกดดันตลาดตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่การฟื้นตัวกลุ่มธนาคาร หลังผ่อนคลาย จากการการเลื่อนใช้มาตรฐาน IFRS9 แต่ก็ต้องระวังแรงขายทำกำไรระยะสั้น จากช่วงของการประกาศงบ 2Q61 นับจากปลายสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้า
สงครามการค้ากระทบการส่งออกสิงคโปร์
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่เกิดขึ้น รอบแรกวันที่ 6 ก.ค. อัตรา 25% วงเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญฯ และรอบ 2 ของสหรัฐ อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ น่าจะทราบผลในสิ้นเดือน ก.ค. วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญ และต้องติดตามสหรัฐจะเพิ่มวงเงินอีก 2 แสนล้านเหรียญฯ (รวมเป็น 2.5 แสนล้านเหรียญฯ) ซึ่งจะเริ่มประชาพิจารณ์ใน 20-23 ส.ค.
ทั้งนี้เริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้า สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกประเภทปรับลดลงตั้งแต่เริ่มมีประเด็นสงครามการค้า ปลายเดือน มี.ค.-ปัจจุบัน อาทิ ทองแดง, สังกะสี (Zinc), เมล็ดถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง, ราคาน้ำมันดิบ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม Market talk วันที่ 12 ก.ค.)
และเริ่มเห็นผลกระทบต่อ การค้าระหว่างประเทศของประเทศในเอเซียที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบ (Supply Chain) ให้กับจีน (จีนนำเข้าจากตลาดเอเซียสูงสุดราว 48.5% ของการนำเข้าในตลาดโลก) กล่าวคือ ยอดส่งออกของสิงคโปร์ ล่าสุด เดือน มิ.ย. ขยายตัวเพียง 1.1%yoy โดยตลาดส่งออกสำคัญหดตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะ จีนหดตัวสูงสุด 15.8%yoy เทียบกับ ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. ที่หดตัว 2.2% และหดตัว 6% ตามลำดับ และสินค้าส่งออกหลักๆ คือ ปิโตรเคมี 16% ของยอดส่งออกสินค้าไปทั่วโลก รองลงมาคือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 13%, คอมพิวเตอร์ 3.9% สารเคมี 3.3% เป็นต้น
ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มต่ำกว่า 70 เหรียญฯ จาก supply ที่เพิ่ม
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบพลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าตลาดคาดจะลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล และปัญหา Oversupply ในสหรัฐ สะท้อนจากกำลังการผลิตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดเป็นประวัติการณ์) จาก 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ก่อนหน้า
นอกเหนือจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน จะทำให้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจะชะลอลงโดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐบริโภคราว 24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5%ของการบริโภคน้ำมันในตลาดโลก รองลงมาอันดับ 2 คือจีน 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8% และ Dollar Index ที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ครั้งในปีนี้ (ตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าราว 3.1%ytd) น่าจะกดดันหุ้นน้ำมันลงต่อ ขณะที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)
ยอดขายรถยนต์ฟื้นต่อเนื่องทั้งใน&ต่างประเทศ ชอบ STANLY
ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน มิ.ย. 2561 จำนวน 8.8 หมื่นคัน สูงขึ้น 26% YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการจัดโปรโมชั่นของค่ายรถยนต์และธนาคารพาณิชย์ และเช่นเดียวกันยอดส่งออกเติบโต 2% yoy อยู่ที่ 9.5 หมื่นคัน มาจากตลาดตะวันออกกลาง (สัดส่วนราว 9% ของยอดส่งออก) ภาพรวมทำให้ยอดผลิตรถยนต์เดือน มิ.ย. เติบโต 8% yoy อยู่ที่ 1.89 แสนคัน และส่งให้ยอดผลิตรถยนต์ 2Q61 เพิ่มขึ้น 11% yoy เท่ากับ 5.17 แสนคัน
โดยสรุปงวด 1H61 ยอดผลิต / ยอดขาย / ยอดส่งออกรถยนต์ เพิ่มขึ้น 11%, 19% และ 5% yoy ตามลำดับ แต่ด้วยฐานสูงช่วง 2H60 จึงน่าจะเห็นการเติบโตในอัตราที่ลดลงช่วง 2H61 ประกอบกับตลาดส่งออกรถยนต์มีความเสี่ยงจากตลาดอเมริกาเหนือ คือ เม็กซิโก, สหรัฐฯ และแคนาดา ซึ่งมี สัดส่วนรวมกันราว 8% ของยอดส่งออกรวม ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ มีแผนเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์กับไทย, เม็กซิโกและแคนาดา (ไทยส่งไปเม็กซิโกและแคนาดาเพื่อใช้สิทธิ FTA ไปยังสหรัฐฯ) หากถูกจัดเก็บภาษี ย่อมกระทบยอดส่งออกของไทย จึงคงประเมินยอดผลิตรถยนต์ปี 2561 อย่างอนุรักษ์นิยมเติบโต 6% yoy จำนวน 2.1 ล้านคัน (สอดคล้องกับคาดการณ์ยอดผลิตของ ส.อ.ท.)
ASPS คาดการณ์กำไรปกติ กลุ่มฯงวด 2Q61 อ่อนตัว QoQ ตามปัจจัยทางฤดูกาล แต่สูงขึ้น YoY หนุนด้วยยอดขายบริษัทในกลุ่มฯ ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกับภาคการผลิตรถยนต์ นอกจากนี้การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง สำหรับกำไรปกติปี 2561 ประเมินเติบโต 12% yoy ที่ 5,385 ล้านบาท ชอบ STANLY (FV@B299) มี upside มากสุด แต่หุ้นมีสหภาพคล่องน้อย รองลงมา SAT ([email protected]) มี Upside 9% แต่มีจุดเด่น Div Yield สูง 4.3% ส่วน AH(FV@B43) แม้ยังแนะนำซื้อ แต่มีความเสี่ยงที่ ถือหุ้น 25.1% ใน SATHI ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรป น่าจะได้รับผลกระทบ หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทั่วโลก 25% จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราต่ำ
รัฐขยายฐานภาษีโดยจะเก็บผู้ค้า Online รายใหม่ ดีต่อ BJC, HMPRO
ล่าสุดภาครัฐเตรียมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากผู้ให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รายใหญ่จากต่างประเทศ (มีรายได้จากการให้บริการในไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี) แบ่งออกเป็น 2 ช่องทาง คือ
1) ผู้ให้บริการดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม คอนเทนต์ หรือดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ เช่น การโฆษณา ดาวน์โหลดเกม-เพลง-สติกเกอร์ การจองห้องพัก เรียกแท็กซี่ เป็นต้น (ผู้ให้บริการเหล่านี้ เช่น Google, Facebook, Line) และ
2) เจ้าของสินค้าของไทยที่วางขายสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (แต่เว็บไซต์ไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้า) ต้องยื่นเสีย VAT ส่วนเจ้าของเว็บไซต์ ก็ต้องเสีย VAT จากรายได้ค่าเช่าการให้บริการเช่นกัน
ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประเด็นบวกต่อภาครัฐ ในการที่จะขยายฐานรายได้ภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 3 พันล้านบาท เนื่องจากการซื้อขายแต่ละครั้งจะมี transaction ในการทำธุรกรรมที่ชัดเจน อีกทั้งผู้ให้บริการจากต่างประเทศมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลเป็นหลัก
นอกจากนี้น่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก ซึ่งมีมูลค่าตลาดฯ ปีละราว 2 ล้านล้านบาท แต่เป็นธุรกรรม online ราว 3% ซึ่งที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทย แม้จะมีการให้บริการ online แต่ก็เสีย VAT ตามกฏหมาย (ROBINS, HMPRO, BIGC) ทำให้มีความเสียเปรียบในแง่ของการแข่งขันด้านราคา ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และน่าจะทำให้การแข่งขันลดน้อยลง
เริ่มมีแรงซื้อหุ้นจากต่างชาติกลับเข้ามาบ้างในบางประเทศ แต่ยังขายไทย
ต่างชาติเริ่มสลับมาซื้อหุ้นในภุมิภาคบ้างในบางประเทศ ส่วนภาพรวมวานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 341 ล้านหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และเป็นการซื้อสุทธิ 3 ประเทศ คือ ไต้หวันถูกซื้อสุทธิ 301 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 69 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และฟิลิปปินส์ 4 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 9 วัน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศถูกขายสุทธิ คือ อินโดนีเซียถูกขายสุทธิ 2 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) และไทยต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 30 ล้านเหรียญ หรือ 1.01 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิเล็กน้อยในวันก่อนหน้า) ต่างกับสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิ 2.57 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติสลับมาขายสุทธิ 1.57 พันล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.76%
Earnings Result TCAP กำไรดีจากการขายรถยนต์ยึด
หลังจาก TISCO รายงานงบ 2Q61 เป็นรายแรก วานนี้หุ้น ธ.พ. รายงานรายงานเพิ่มเติมคือ
TCAP(Buy: FV@B65) กำไรสุทธิ 2Q61 สูงกว่าคาด อยู่ที่ราว 2.05 พันล้านบาท เติบโต 8.0% qoq และ 22.4% yoy แม้มีแรงฉุดจากค่าใช้จ่ายภาษีฯ ที่เพิ่มขึ้น, รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่หดตัว และกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้า, Fx, กำไรจากการขายเงินลงทุนที่ลดลง แต่ชดเชยได้จากการขายรถยนต์ที่ยึดมา (NPA) ราว 288 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ ส่งผลให้กำไร 1H61 อยู่ที่ 50% ของประมาณการฯ ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการเดิม โดยประเมินแนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลัง ยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ คาดกำไรทั้งปี เติบโต 12.5%YoY
ส่นที่อยู่ระหว่างทำ Earning Preview คือ
VGI (Buy: [email protected]) คาดกำไรสุทธิ 1Q61/62 อยู่ที่ 230 ล้านบาท +31% YoY หนุนจากรายได้สื่อโฆษณาที่เพิ่มขึ้นทั้งบน BTS และกลางแจ้ง แต่ลดลง 20% QoQ เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการใช้งบโฆษณาที่สะสมมาจากเดือน ต.ค.60 ทำให้รายได้สูงกว่าปกติ และมองกำไรปี 61/62F อยู่ที่ 1,235 ล้านบาท เติบโต 46% YoY จากการขยายตัวของสื่อทุกประเภทตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม และคาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก Kerry จำนวน 180 ล้านบาท ในปีนี้
TTW (Buy: [email protected]) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 เพิ่มขึ้น 4%qoq เท่ากับ 696 ล้านบาท หนุนจากปริมาณการขายน้ำประปาที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้นทุกพื้นที่บริการ อีกทั้งยังหนุนจากส่วนแบ่งกำไร CKP ที่ดีขึ้นตามฤดูกาล สำหรับระยะถัดไป คาดกำไรจะเติบโตเด่นสุดในงวด 4Q61 เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงงานอุตสาหกรรมเร่งผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่งวด 3Q61 แนวโน้มกำไรจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ จากแรงซื้อของผู้ใช้น้ำประปาที่จะยังเพิ่มขึ้นได้ดีจากสถิติในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โรงผลิตน้ำประปาแห่งใหม่ อ.กระทุ่มแบน แม้จะเริ่มผลิต แต่ยังมีความเสี่ยงเพราะยังไม่มีสัญญาซื้อขายน้ำประปากับภาครัฐ
IRPC (Buy: [email protected]) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 เท่ากับ 4.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 45.9%qoq หากไม่นับรวม Stock gain น้ำมัน 2.2 พันล้านบาท คาดกำไรปกติลดลง 32.8%qoq อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท กดดันหลักจากค่าการกลั่นที่ลดลง สำหรับแนวโน้มกำไร 3Q61 ลดลง QoQ จากแผนหยุดซ่อม Hyvahl 40 วัน และหยุดหน่วยกลั่น RDCC เพื่อ tied-in โครงการ Catalyst Cooler 26 วัน (เลื่อนจาก ก.พ. 62) และ GIM ลดลง 0.3-0.4 $/bbl อีกทั้งคาดไม่มีบันทึกกำไรสต๊อกน้ำมัน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดประมาณการและมูลค่าพื้นฐานลงเหลือ 7.7 บาท (เดิม 7.9 บาท) เพื่อสะท้อน shutdown ซึ่งไม่ได้รวมไว้ก่อนหน้า
CPN (Buy: FV@B95) คาดกำไร 2Q61 อยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท โต +17% yoy จากรายได้อสังหาฯ (ปีก่อนไม่มีรายได้ส่วนนี้) และจากการโอนฯ 3 คอนโดใหม่ ขณะที่รายได้ค่าเช่าบริการคาดเพิ่ม 4% yoy ซึ่งมาจากโครงการใหม่เซ็นทรัลโคราช และมหาชัย (เปิด พ.ย. 2560) ชดเชยผลกระทบจากการปิดปรับปรุงเซ็นทรัลเวิล์ด สำหรับ 2H61 จะเติบโตขึ้น จากการเปิดศูนย์การค้าใหม่ 2 แห่ง (ภูเก็ต เฟส 2 และ เซ็นทรัล I-City มาเลเซีย) นอกจากนี้การปรับปรุงเซ็นทรัลเวิลด์ที่จะแล้วเสร็จใน 3Q61 และเปิดบริการเต็ม 4Q61 จะหนุนต่ออัตราการเช่าและค่าเช่าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO11501