WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ASPบล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
  เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2562 ตามวงจรเศรษฐกิจและสงครามการค้า สะท้อนจาก IMF ปรับลด volume trade ลง ขณะที่สหรัฐมีโอกาสดึงเศรษฐกิจโลกลง จากเงินเฟ้อที่พุ่งเร็ว  และมีน้ำหนักมากกว่า Earnings Preview/Results ของไทย กลยุทธ์ฯ เน้นหุ้นปัจจัยสี่ (BJC, BH) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW, DTAC) ปลอดภัยดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK, PLANB) และได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks: GFPT(FV@14) และ CPF(FV@B30) ราคาหมูขยับเหนือต้นทุน กำไรเพิ่มต่อเนื่องใน 2H61
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้…. SET index ผันผวน 
  SET index วานนี้ แกว่งตัวผันผวนโดยระหว่างวันลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,616 จุด ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาปิดที่ 1,626.07 จุด ลบเพียง 1.62 จุด หรือ -0.1% มูลค่าซื้อขาย 4.79 หมื่นล้านบาท ดัขนีถูกกดหลักจาก AOT ปัจจัยพื้นฐานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยฯ แต่ภาพทางเทคนิคค่อนข้างเป็นสัญญาณลบ เนื่องจากราคาหลุดเส้น EMA 200 วัน พร้อม MACD ตัด Signal line ลง ขณะที่หุ้นน้ำมัน PTTEP (-3.70%) ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันโลก และหุ้น PTTGC (-2.29%) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 ลดลง 14.1%qoq ตรงข้ามกลุ่มการเงิน KTC ฟื้นตัวกลับ +25.54% ขณะที่กลุ่มธ.พ. ได้ sentiment บวก หลัง กกบ. เลื่อนใช้ TFRS9 ไปอีก 1 ปี เป็น 1ม.ค.63
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้น่าจะยังแกว่งตัวในทิศทางลดลง โดยการลดลงของหุ้นน้ำมันตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่หลุด 70 เหรียญฯ และน่าจะมีน้ำหนักหักล้างการเลื่อนใช้ IFRS9 ไปเป็นปี 2563 
เศรษฐกิจสหรัฐใกล้ Peak เงินเฟ้อเร่งตัว ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น
  การแถลงสุนทรพจน์ของประธานกลางสหรัฐ (Fed)  นาย Jerome Powell  ในรอบครึ่งปี ต่อ สภาคองเกรส  แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ยังแข็งแกร่ง  สะท้อนตลาดแรงงาน เข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ (Full employment)  สะท้อนจากอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. ที่ 4.0% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 18 ปี  และยังคงเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ทำให้แผนการขึ้นดอกเบี้ยยังจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 2 ครั้งจากการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งในปีนี้  ASPS เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐใกล้แตะระดับสูงสุด จึงน่าจะเห็นอัตราการขยายของเศรษฐกิจรายไตรมาสทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ก่อนที่อัตราการขยายตัวจะเริ่มลดลงในปี 2562  สะท้อนจากที่ IMF คาด GDP Growth ของสหรัฐราว  2.9%ในปี 2561  และชะลอ2.7% ในปี 2562  (จาก 2.3% ในปี 2560)  และเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมา ล่าสุด เดือน มิ.ย.  เพิ่ม 2.9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอาจจะแตะ 3% นอกเหนือจากแรงกดดันจากต้นทุน (Cost Push) คือ ราคาน้ำมันดิบที่ยืนเหนือ 70 เหรียญฯ และผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน  ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น 25% ตามภาษีนำเข้า  ซึ่งกดดันให้ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด  และน่าจะกดดันให้ การเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวเร็วกว่าปกติที่ค่อยๆ ลดลงในลักษณะเป็น Soft Landing 
ราคาน้ำมันยังลง จาก supply ที่เพิ่ม และดอลลาร์แข็ง  
  Dollar Index  ที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น (ตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าราว 3.1%ytd เป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นทองคำและน้ำมันดิบ นอกเหนือจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน จะทำให้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกจะชะลอลงโดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐบริโภคราว  24.9 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิด 25.5%ของการบริโภคน้ำมันในตลาดโลก   รองลงมาอันดับ 2 คือจีน 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน ราว 12.8%  น่าจะกดดันหุ้นน้ำมันลงต่อ  ขณะที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137
เลื่อน IRFS9 เป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้น
  วานนี้ กกบ. มีมติให้เลื่อนใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ออกไปจากกำหนดเดิม 1 ปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 สร้าง sentiment เชิงบวกให้กับกลุ่ม ธ.พ. ช่วงสั้นเท่านั้น  เนื่องจาก ธ.พ. ส่วนใหญ่ได้เตรียมการสำรองหนี้ฯ เผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ไปมากแล้ว (รายละเอียดดังตารางด้านล่าง) หาก ธ.พ. ใดมีความพร้อมสามารถเริ่มใช้ก่อนในปี 2562 คู่ขนานไปกับงบการเงินฯ เพื่อรองรับการใช้จริงในปี 2563 ก็สามารถทำได้ 
  ขณะที่กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อกลุ่มฯ เท่าใดนัก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ยังอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและระบบ 
  โดยรวมประเด็นนี้จึงมีน้ำหนักต่อ SET Index น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงให้น้ำหนักไปที่ผลการดำเนินงาน 2Q61มากกว่า โดยภาพรวมคาดกำไรทั้งกลุ่มจะลดลง 11%qoq ซึ่งเป็นผลกระทบจากการลดค่าธรรมบริการธุรกิจ on-line เชื่อว่าจะกระทบกับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ KBANK มากสุด รองลงมาคือ SCB, KTB และ BBL ตามลำดับ ส่วนธนาคารพาณิชย์รายย่อยกระทบเล็กน้อย  และกำไรน่าจะทรงตัวทุกไตรมาสที่เหลือของปี 2561  
  รวมทั้งประเด็นดอกเบี้ยที่คาดว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้จากดอกเบี้ยและผลประกอบการโดยรวมคาดกำไรสุทธิกลุ่ม ธ.พ. ปีนี้เติบโต 7.1%yoy 
ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย หลังจากขายมาตลอดทั้งเดือน ก.ค.
  วานนี้ต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่าราว 192 ล้านหรียญ และเป็นการขายสุทธิถึง 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 127 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 51 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 5 วัน), ฟิลิปปินส์ 9 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 9), ไต้หวัน 6 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ยกเว้นตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียวที่ถูกต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย 0.37 ล้านเหรียญ หรือ 12 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิตลอดทั้งเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวม 1.69 หมื่นล้านบาท) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 2.2 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2)
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิอีก 368 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.73%
Results & Earnings Preview
  ช่วงสัปดาห์นี้บริษัทจดทะเบียนได้ทยอยประกาศผลการดำเนินงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มที่ LHFG(Buy:[email protected]) กำไรสุทธิ 2Q61  สูงกว่าคาด  เท่ากับ 806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% qoq และ 30.8% yoy หนุนจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ต่ำเกินคาด ขณะที่การเติบโตของธุรกิจหลักยังเป็นไปตามคาด เติบโต 2.6% qoq และ 3.6% yoy ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายใหญ่  ส่วนแนวโน้มกำไร 3Q61 จะขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ อย่างไรก็ตามการที่ธุรกิจหลักยังกระจุกสินเชื่อรายใหญ่ จะกดดัน NIM  และทำให้ ROE ลงไปไกล้เคียงกลุ่มฯ จึงปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 1.70 บาท (เดิม 2.05 บาท)
  ตามด้วย DTAC (Buy:FV@B68) มีกำไร 2Q61 อยู่ที่ 179 ล้านบาทตามคาด ลดลง 86.3%qoq เกิดจากการเริ่มรับรู้ต้นทุนคลี่นใหม่ 2300 MHz สามารถให้บริการลูกค้า 4G แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้สามารถรักษาฐานลูกค้าได้ดีขึ้น   และหากเข้าร่วมประมูล  คลื่น 900 MHz จะเพิ่มประสิทธิภาพบริการ 3G-4G ได้มากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขบางประกาศ ทำให้ DTAC ยังต้องตัดสินใจอีกครั้ง ส่วนคลื่น 2G ไม่พอสามารถขอโรมมิ่งกับ ADVANC เป็นต้นทุนเพิ่มจากสมมติฐานปัจจุบัน   ขณะที่แนวโน้มกำไร 2H61 คาดจะดีขึ้น และราคาหุ้นลงมาสะท้อนความเสี่ยงไปมากแล้ว
ส่วนหุ้นอื่นๆ อยู่ระหว่างทำ Earning Preview ออกมา คือ
  SAWAD (Buy:FV@B40) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 เท่ากับ 589 ล้านบาท เติบโต 4.4% qoq และ 93.5% yoy หากไม่รวมค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงค่อนข้างมีนัยฯ ภาพรวมธุรกิจหลักยังค่อนข้างทรงตัว โดย spread คาดลดลงเล็กน้อย สำหรับ 2H61 คาดจะดีขึ้น ทั้งสินเชื่อ และ spread  ภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจที่เน้นเพิ่มการปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถผ่าน BFIT (SAWAD ถือหุ้น 46%) มากขึ้น  และสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ควบคู่กับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่ดำเนินการภายใต้ SAWAD  อย่างไรก็ตาม ภาพรวมปี 2561 คาดเติบโตเพียง 4.8% yoy จาก  yield  ที่ลดลงตามการแข่งขันที่ยิ่งรุนแรงในอุตสาหกรรมและกฎระเบียบที่เข้มงวด ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับลด Fair value ปี 61 เหลือ 40 บาท (เดิม 60 บาท)
  PTTGC (Buy:FV@B98) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 ราว 1.06 หมื่นล้านบาท ลดลง  14.1%qoq โดยกดดันจากบันการตั้งสำรองฯ ของบริษัทย่อยคือ  GGC (PTTGC รับรู้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 73%) ราว 1.5 พันล้านบาท ขาดทุนจาก Fx ราว 800 ล้านบาท  และ spread ของปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่ปรับตัวลดลง (วัตถุดิบคือ Natha จะเพิ่มตามราคาน้ำมัน) มากกว่า โอเลฟินส์ (ต้นทุนเป็นก๊าซธรรมชาติ ทำให้ เพิ่มช้ากว่า Natha)  และstock gain น้ำมัน  ส่วนทิศทางกำไร 3Q61 น่าจะทำจุดต่ำสุดของปี กดดันจาก spread ทั้งกลุ่มโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ จาก supply ใหม่เข้ามาเต็มที่  รวมทั้งคาด ไม่มีการบันทึก stock gain น้ำมันเช่นที่เกิดขึ้นในงวด 1H61  จึงแนะนำซื้อลงทุนรับเงินปันผลที่ สูงกว่า 5%p.a.
  SPALI (Buy:[email protected]) คาดกำไร 2Q61 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40%qoq  จากการโอนฯ แนวราบและคอนโด (สัดส่วนใกล้เคียง 50%) แต่กำไรจะลดลง 8%yoy จากค่าใช้จ่ายการขายและบริหารที่สูงขึ้น ภาพรวมปีนี้ ทั้งยอดขายและยอดโอนฯ ยังเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท ณ สิ้น 2Q61 มี backlog 4.24 หมื่นล้านบาท รองรับรายได้ 5 ปืข้างหน้า ส่วน tender offer หุ้น MK ทั้งหมด 992 ล้านหุ้น ราคาขั้นต่ำ 4.1 บาท คาดเสร็จราว ก.ย.61 ทำให้ SPALI ได้ประโยชน์จาก land bank ที่ MK มีกว่า 1 พันไร่ โดยเชื่อว่ามีสภาพคล่องเพียงพอ ต่อการซื้อหุ้น ลงทุนโครงการใหม่ และเงินปันผล
สะสมหุ้น Domestic Play กระทบจากสงครามการค้าล่าช้า 
  ตลาดยังผันผวน การประกาศงบ 2Q61 มีน้ำหนักน้อยกว่าผลกระทบจากสงครามการค้า  ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจโลกปี 2562 กลยุทธ์การลงทุนให้น้ำหนักลงทุน 40% ของพอร์ต เน้นหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ และมีเกราะป้องกันจากดอกเบี้ยขาขึ้น  ชอบ TTW, RATCH, BJC, DTAC, ADVANC, BBL, KBANK และ BH  
  และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะหุ้นชิ้นส่วนฯ ที่เชื่อว่าตอบรับผลกระทบด้านลบจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐต่อจีนไปแล้ว แต่ราคาหุ้นชิ้นส่วนฯ เริ่มมี upside จำกัดเช่น  HANA(FV@40)  จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เพราะเป็นหุ้น ที่ไม่มีหนี้สิน จึงปลอดภัยจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น มากสุดในกลุ่มฯ
  ส่วนหุ้นอาหารส่งออก กระทบจากสงครามการค้าน้อย และราคาหุ้นยังฟื้นตัวไม่มาก เพราะราคาเนื้อสัตว์ ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว  ชอบ GFPT(FV@14), CPF(FV@30)
นักวิเคราะห์:
  ภรณี ทองเย็น           เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
  เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม           เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
  พบชัย ภัทราวิชญ์           เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
  ภราดร เตียรณปราโมทย์          เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
   ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์           เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
   โยธิน ภูคงนิล               ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
  เจิดจรัส แก้วเกื้อ                 ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
  วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร          ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO11426

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!