- Details
- Category: บทวิเคราะห์
- Published: Friday, 06 July 2018 17:31
- Hits: 10008
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
ความกลัวเข้าครอบงำ เพราะสงครามการค้าเริ่มแล้ววันนี้ กระทบเศรษฐกิจใน 2H61 และปี 2562 และจะเพิ่มมากขึ้นหากสหรัฐยังแข็งกร้าวต่อจีน ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กำไรงวด 2Q61 มีแนวโน้มหดตัว QoQ นำโดยกลุ่มแบงก์คาด -11% และที่มิใช่แบงก์ เช่น BEAUTY, TU กลยุทธ์ฯ เน้นหุ้นอุปโภคบริโภค (DTAC, BJC) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW) หุ้นปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK, PLANB) หุ้นอาหาร-ส่งออก หนุนจากเงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks: BBL(FV@B220), KBANK(FV@B227) และ BJC(FV@B69)
ย้อนรอยตลาดหุ้นวานนี้ ….SET index แพนิค
วานนี้ SET Index เผชิญกับแรงขายตลอดทั้งวันทำให้ระหว่างวันดัชนีฯ หลุด 1,600 จุด ก่อนจะขึ้นมาปิดที่ 1601.42 จุด ลดลงแรง 27.78 จุด หรือ 1.71% มูลค่าการซื้อขาย 5.57 หมื่นล้านบาท ภาพรวมทุกๆ อุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ของกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ PTT, PTTEP, PTTGC, IVL รวมถึงหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก EA ร่วงแรงเกือบ 10% ตามด้วยหุ้น กลุ่มธ.พ. รับตัวลงทั้งกลุ่ม (ยกเว้น KTB บวกสวนตลาดฯ 1.18%) ส่วนรายหุ้นอย่าง BEAUTY ยังร่วงต่ออีก 21% ทำให้หุ้น BEAUTY กลายเป็นหุ้นใน SET 100 ที่ราคาปรับตัวลงมากที่สุดของปี 2561 ขณะที่หุ้นสาธารณูปโภคสามารถยืนแกร่งเหนือตลาดฯ (GLOW, TTW)
แนวโน้มดัชนีตลาดวันนี้ กลับมาแกว่งในกรอบ 1615-1584 จุด ยังให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าจีน สหรัฐที่มีแล้วในวันนี้ และกำไรตลาดหุ้นในงวด 2Q61 ไม่สดใสนัก
การกีดการค้าจีน-สหรัฐเริ่มแล้ว vs สหรัฐมีท่าทีอ่อนที่จะตอบโต้การค้ายุโรป
ปัจจัยต่างประเทศที่มีน้ำหนัก คือ วันนี้เป็นวันที่สหรัฐและจีนจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 25% ต่อกัน อย่างเป็นทางการรอบแรก วงเงิน 3.4 หมื่นล้านเหรียญ โดยสหรัฐมุ่งไปที่สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นกลุ่มเทคโนโลยี, ขนส่ง อาทิ อากาศยาน, ยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนจีนได้เน้นไปที่สินค้าเกษตรและเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ อาทิ ถั่วเหลือง, เนื้อหมู, ยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่รอบ 2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญ จะเป็นสินค้าใดบ้าง ขึ้นกับผลการทำประชาพิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวในสหรัฐ ภายในเดือน ก.ค. และคาดจีนก็พร้อมตอบโต้กลับในวงเงินที่เท่ากัน
อย่างไรก็ตามในฝั่งของสหรัฐ–ยุโรป เริ่มมีท่าทีผ่อนคลายขึ้น หลังจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมายุโรป ประกาศพร้อมจะตอบโต้ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐรอบที่ 2 วงเงิน 2.94 แสนล้านเหรียญฯ (หลังจากได้ขึ้นรอบแรกวงเงิน 3.3 พันล้านเหรียญฯ ไปเมื่อ 22 มิ.ย.) หากสหรัฐ จะขึ้นภาษียานยนต์และชิ้นส่วนกับยุโรป 20% จากเดิม 2.5% ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สินค้า safeguard ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าการศึกษาผลกระทบจะเสร็จสิ้นตามแผนในอีก 2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามท่าทีของสหรัฐดูผ่อนคลายลง สะท้อนจาก ทูตของสหรัฐประจำเยอรมนี เปิดเผยว่าประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมจะยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป ดังกล่าวข้างต้น หากยุโรปยินยอมที่จะยกเลิกการเก็บภาษีจากสหรัฐ สินค้ากลุ่มแรกวงเงิน 3.3 พันล้านเหรียญฯ และให้ยุโรปจะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 10% ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้น
และมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ คือ อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. ซึ่งตลาดคาดว่าจะยังทรงตัวที่ 3.8% เท่ากับเดือน พ.ค. (ต่ำสุดในรอบ 18 ปี) ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะจ้างงานเต็มที่ (Full employment) หนุนให้เงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งล่าสุดขยายตัว 2.8% ในเดือน พ.ค. (สูงสุดในรอบ 6 ปี) และหนุนให้ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ดอกเบี้ยสหรัฐ ณ สิ้นปีอยู่ที่ราว 2.5% จากล่าสุดที่ 1.75% ในเดือน มิ.ย. แต่คาดว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าประเด็นสำคัญอย่างสงครามการค้า
สต๊อกน้ำมันเพิ่ม สวนทางตลาดคาดว่าจะลดลง
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานสต็อกน้ำมันดิบพลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 1.245 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตลาดคาดจะลดลง 5.4 ล้านบาร์เรล ความแตกต่างเป็นผลจากมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด 1.4 ล้านบาร์เรล /วัน อย่างไรก็ตามปัญหาขาดแคลน supply ระยะสั้น ๆ ยังมีอยู่ เพราะแม้สหรัฐเรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบีย (ผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรลราว 31.4%ของกำลังการผลิตกลุ่ม OPEC) เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 2 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อชดเชยผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่าน (บริษัทน้ำมันทั่วโลกยุติการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พ.ย.) และเวเนซูเอลา แต่คาดว่าซาอุดิอาระเบีย จะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามคำขอจากสหรัฐได้ทันที เพราะจะเป็นการละเมิดข้อตกลงควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าปัญหา Oversupply น่าจะกลับมาเมื่อสัญญาควบคุมการผลิตสิ้นสุดลง และ สหรัฐยังคงเพิ่มการผลิตต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น Dollar Index ยังมีแนวโน้มแข็งค่า แม้ช่วงสั้นอาจชะลอลง (แข็งค่าต่อเนื่องราว 2.44%นับตั้งแต่ต้นปี) จากดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐในอัตราเร่ง และความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอจากผลกระทบสงครามการค้าโลกจะชัดเจนขึ้นใน 2H61และต่อเนื่องในปี 2562 (ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย ytd 68.09 เหรียญฯ) และน่าจะกดดันหุ้นน้ำมันลงมาต่ำกว่า 70 เหรียญฯ ขณะที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)
ดัชนีความเชื่อมั่นทำสถิติสูงสุดรอบ 5 ปี แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าสงครามการค้า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.5%mom อยู่ที่ 81.3 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรหลักๆ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (leading Economic indicator) ที่หนุนยอดค้าปลีก โดยเฉพาะยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า แต่เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้าโลก จะมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นใน 2H61 จะบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะถัดไป จึงแนะนำสะสมหุ้นค้าปลีกที่มีธุรกิจกระจายตัว และราคาหุ้นมี upside โดยในกลุ่มคือปลีก ยังชอบ BJC(FV@B69) มากสุด เพราะธุรกิจหลัก ค้าปลีกและธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (83% ของรายได้)
ต่างชาติขายสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค รวมถึงไทย
วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ด้วยมูลค่าขายสุทธิรวม 316 ล้านเหรียญ และยังเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกขายสุทธิ 201 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิวันเดียว) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ 54 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิ 2 วัน), อินโดนีเซีย 10 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4), ฟิลิปปินส์ 10 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิ 2 วัน) และไทยที่ถูกต่างชาติขายสุทธิอีก 41 ล้านเหรียญ หรือ 1.35 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่สลับมาขายสุทธิ 371 ล้านบาท (หลังจากซื้อสุทธิ 4 วัน ด้วยมูลค่า 1.40 หมื่นล้านบาท)
ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิเล็กน้อย 260 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ยังทรงตัวอยู่ระดับ 2.78%
กำไรงวด 2Q61 โดยรวมดูไม่ดี หดตัวจากงวด 1Q61
เข้าสู่การทำ Earnings Preview งวด 2Q61 ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มลดลงจาก 1Q61 นำโดยกลุ่มธนาคารฯ ที่คาดว่าจะลดลง 11%QoQ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการลดค่าธรรมบริการธุรกิจ on-line ตามกระแสโลกและพฤติกรรมของคนที่เน้นทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่าน Smartphone มากกว่าการติดต่อผ่าน counter แต่คาดว่าผลกระทบจะค่อยๆ ลดลง และจะกระทบกับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ KBANK มากสุด ส่วนธนาคารพาณิชย์รายย่อยกระทบเล็กน้อย ตัวอย่าง TCAP (Buy FV@B65) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 ราว 1.84 พันล้านบาท ลดลง 2.9% qoq (แต่เพิ่มขึ้น 10.1% yoy) แรงฉุดหลักมาจากค่าใช้จ่ายภาษีฯ ที่เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยฯ จากอัตรา 4.6% 1Q61 เป็น 13.0% เพราะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลง (เป็นของบริษัท TBANK ซึ่งรับโอนกิจการ SCIB ที่มีขาดทุนสะสมติดมา) อย่างไรก็ตาม คาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ลดลง ตามคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น และ สินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์ ที่อยู่อาศัยและกลุ่ม SME รายเล็ก เป็นต้น และกำไรน่าจะทรงตัวทุกไตรมาสที่เหลือของปี 2561
ขณะที่กลุ่มที่มิใช่ธนาคารน่าจะมีแนวโน้มลดลงตามผลของฤดูกาล เช่น กลุ่มโรงกลั่น และปิโตรเคมี ที่อิงตามเศรษฐกิจโลก ตามด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยในกลุ่มความงาม (BEAUTY, RS, DDD) ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าปลอม น่าจะกดดันผลกำไร 2Q61 เป็นต้นไป ทำให้กำไรสุทธิทั้งปีต่ำกว่าคาด และทำให้ ASPS ปรับลดประมาณการลงเฉลี่ย 25% ในช่วง 2561-2562 พร้อมกับปรับ Long-term growth ลงจาก 3% เหลือ 2% ได้มูลค่าหุ้นหลังปรับประมาณการที่ 11 บาท ยังแนะนำซื้อ ภายใต้สมมติฐานว่ากิจการยังคงดำเนินงานอยู่ต่อไป และมีแนวโน้มจะปรับลดหุ้นที่เกี่ยวกับความงามบริษัทอื่นๆ ตาม เช่น RS เพราะเชื่อว่าสงครามทางการค้า น่าจะทำให้กำลังซื้อสินค้าฟุ่นเฟือยลดลง ทั้งจากคนในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน
และที่ ASPS ทยอยประเมินคือ หุ้นอาหารส่งออก TU(ซื้อ: FV@B21) คาดจะขาดทุนสุทธิ 302 ล้านบาท ในงวด 2Q61 เพราะตั้งสำรองค่าใช้จ่ายคดีความฮั้วราคาขายทูน่าในสหรัฐฯราว 1.3 พันล้านบาท (40 ล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 1.07 พันล้านบาท ฟื้นตัวอย่างมีนัยฯ จากธุรกิจทูน่าและกุ้งฟื้นตัวชัดเจน เพื่อสะท้อนผลขาดทุนดังกล่าว ASPS มีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ลงราว 25% จากเดิม และลดมูลค่าเหมาะสมอยู่ที่ 20.50 บาท (หลังประกาศงบ 2Q61)โดยคาดงบ 2H61 จะฟื้นตัวจาก 1H61 จากต้นทุนทูน่าที่ต่ำตั้งแต่งวด 1H61
ภรณี ทองเย็น เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO10907